• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  1 มีนาคม 2566

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ผลักดันเครือข่าย ทสม. เข้ามามีบทบาทการจัดการขยะที่ต้นทางในชุมชน และนำขยะไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นางภาวินี ณ สายบุรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมบทบาทเครือข่าย ทสม. ในการจัดการขยะที่ต้นทาง โดยมีเครือข่าย ทสม. กรุงเทพมหานคร 43 เขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อให้เครือข่าย ทสม. กรุงเทพมหานครมีองค์ความรู้ มีทักษะ เป็นเครื่องมือใช้ในระดับพื้นที่เชื่อมโยงกับชุมชน เป็นผู้นำด้านการจัดการปัญหาขยะที่ต้นทางในชุมชน สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในพื้นที่ และถ่ายทอดให้กับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดการขยะที่ต้นทางและเสริมสร้างความรู้ // ริเริ่มแนวคิดการจัดการขยะที่ต้นทาง // นวัตกรรมการจัดการขยะอินทรีย์โดยใช้หนอนแมลงวันลาย และการทำจุลินทรีย์ ทำน้ำหมักจากเศษขยะเหลือใช้ // Workshop จัดทำแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานของเครือข่าย ทสม. ในการจัดการขยะที่ต้นทางแบบบูรณาการมุ่งสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (BCG Model) เนื่องจากเครือข่าย ทสม. เป็นกำลังหลักในระดับพื้นที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองสำคัญที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนนโยบายด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะนำองค์ความรู้กลับไปใช้ประโยชน์ขับเคลื่อนงานด้านการจัดการขยะที่ต้นทางในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เกิดการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญสร้างเศรษฐกิจ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม

รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า สส. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพ ทสม. เป็นผู้นำสู่การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการขยะที่ต้นทางแบบครบวงจร ด้วยการส่งเสริมการคัดแยกขยะตามหลักการ 3Rs ได้แก่ Reduce การลดปริมาณขยะให้น้อยลง // Reuse การใช้ซ้ำ ใช้แล้วใช้อีก และ Recycle การนำไปแปรรูปเพื่อกลับมาใช้ใหม่ รวมถึง การสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ การสนับสนุนการนำนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco - design) สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG Model” ที่บูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจในสามมิติไปพร้อมกัน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงการนำวัสดุต่างๆกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่มุ่งแก้ปัญหามลพิษลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 กุมภาพันธ์ 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำหลากในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง 4 จังหวัดต่อเนื่องถึงวันที่ 2 มีนาคมนี้ เนื่องจากอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (28 ก.พ.66) ว่า ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง เนื่องจากอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามันมีกำลังแรง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยมีกำลังแรงเช่นกัน ทำให้ต้องระวังน้ำหลากถึงวันที่ 2 มีนาคมนี้ ในพื้นที่ จ.สงขลา บริเวณ อ.กระแสสินธุ์ ควนเนียง จะนะ เทพา บางกล่ำ เมืองสงขลา ระโนด รัตภูมิ และหาดใหญ่ // ปัตตานี บริเวณ อ.กะพ้อ โคกโพธิ์ ทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ เมืองปัตตานี ไม้แก่น ยะรัง ยะหริ่ง สายบุรี และหนองจิก // ยะลา บริเวณ อ.รามัน และนราธิวาส บริเวณ อ.จะแนะ เจาะไอร้อง ตากใบ เมืองนราธิวาส บาเจาะ ยี่งอ ระแงะ รือเสาะ แว้ง สุคิริน สุไหงโก-ลก และสุไหงปาดี รวมทั้ง เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  27 กุมภาพันธ์ 2566

นางวิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช) แถลงการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อร่วมสร้างโมเดลสวนลดฝุ่น PM2.5 และการเฝ้าระวังฝุ่น PM2.5 ณ ศูนย์ข้อมูลสารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ อาคาร ชั้น 1 อาคาร วช.8 ว่า ที่ผ่านมาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศ การจัดภูมิทัศน์โดยใช้พรรณไม้ลดฝุ่น เป็นทางออกในการแก้ปัญหานี้ได้โดยใช้กลไกความร่วมมือทางวิชาการทุกภาคส่วนทั้งเครือข่ายนักวิจัย สถาบันวิจัยและหน่วยงานต่างๆ

นางวิภารัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในฐานะหน่วยบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมตามแผนงานสำคัญของประเทศ ซึ่งในแผนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วช. มุ่งเน้นการวิจัยและนวัตกรรมเชิงรุก เพื่อนำไปสู่การกำหนดแผนงานวิจัยให้ตอบโจทย์ผู้ใช้ประโยชน์และความต้องการของประเทศ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  26 กุมภาพันธ์ 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักและน้ำหลากในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง 4 จังหวัด ช่วงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (26 ก.พ.66) ว่า ภาพรวมภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้น โดย 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์สภาพอากาศพบมีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักและฝนตกสะสมในภาคใต้ตอนล่างช่วงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม ทำให้ต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากใน 4 จังหวัด คือ สงขลา // ปัตตานี // ยะลา และนราธิวาส พร้อมระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำโก-ลก รวมถึง ระวังคลื่นซัดฝั่งที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชน และผู้ประกอบกิจการบริเวณแนวชายฝั่งทะเลตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช จนถึง จ.นราธิวาส

ทั้งนี้ กอนช. ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ พร้อมปรับการบริหารจัดการน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก น้ำในลำน้ำ เขื่อนระบายน้ำ และประตูระบายน้ำให้สอดคล้องกันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้วยการเร่งระบายและพร่องน้ำรองรับสถานการณ์ฝนที่คาดว่าจะตกหนัก


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 กุมภาพันธ์ 2566

ค่าฝุ่น PM 2.5 ในภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ยังสูงในหลายพื้นที่ โดยต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า วันนี้ (25 ก.พ.66) ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด พบค่าฝุ่น PM 2.5 ปรับตัวสูงขึ้น โดยสูงในระดับสีส้ม 21 พื้นที่ และสีแดง 5 พื้นที่ บริเวณ ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง // ต.นาจักร อ.เมือง จ.แพร่ // ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก // ต.น้ำรึม อ.เมือง จ.ตาก และ ต.ธานี อ.เมือง จ.สุโขทัย อยู่ที่ 92 - 131 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพราะยังพบการเผาในที่โล่งและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีผลต่อการสะสมของฝุ่น พร้อมขอความร่วมมือประชาชนงดการบริหารจัดการเชื้อเพลิงจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง ทั้งนี้ ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือมีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงบริเวณภาคเหนือตอนล่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ และช่วงวันที่ 1 - 4 มีนาคม โดยเฉพาะช่วงต้นเดือนมีนาคมเป็นช่วงที่ควรเฝ้าระวังมากที่สุด ขณะที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบหลายพื้นที่ค่าฝุ่น PM 2.5 ปรับตัวลดลงทุกพื้นที่ ภาพรวมคุณภาพอากาศดีมากถึงปานกลาง

สำหรับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยค่าฝุ่นปรับตัวลดลงหลายพื้นที่พื้นที่ จากการจราจรหนาแน่น สภาพอากาศเปิดและลมแรง จึงช่วยกระจายการสะสมตัวของฝุ่นได้มากขึ้น แต่ยังเกินมาตรฐานในระดับสีส้ม 43 พื้นที่ เช่น ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน // เขตคลองสามวา // ริมถนนกรุงเกษม เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย // ริมถนนพระรามที่ 4 หน้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน // ริมถนนลาดกระบัง เขตลาดกระบัง // ริมถนนดินแดง เขตดินแดง // ริมถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ เขตธนบุรี // ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี // ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร // ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ อยู่ที่ 52 - 80 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ช่วงวันที่ 1 - 4 มีนาคม มีแนวโน้มฝุ่นละอองขึ้นสูงอีกบางพื้นที่ ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทางแอปพลิเคชั่น Air4Thai


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 กุมภาพันธ์ 2566

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA (จิสด้า) ใช้ดาวเทียมติดตามการเกิดไฟป่าพบจุดความร้อนในไทยสูงกว่า 2,000 จุด โดยเฉพาะป่าสงวนแห่งชาติและป่าอนุรักษ์ ส่วนจุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านยังคงเป็นเมียนมาสูงสุดกว่า 3,000 จุด

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA (จิสด้า) ได้เปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) เมื่อวานนี้ (23 ก.พ.66) พบจุดความร้อน (Hotspot) ทั้งประเทศ 2,269 จุด พบมากที่สุดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 633 จุด // พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 1,016 จุด // พื้นที่เกษตร 217 จุด // พื้นที่เขต สปก. 144 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 20 จุด ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุด คือ กาญจนบุรี 357 จุด // ตาก 182 จุด // อุตรดิตถ์ 136 จุด // ชัยภูมิ 135 จุด และกำแพงเพชร 114 จุด ทั้งนี้ จากการตรวจสอบค่าฝุ่น PM 2.5 ผ่านแอปพลิเคชัน “เช็คฝุ่น” พบหลายพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น อำนาญเจริญ ยโสธร ร้อยเอ็ด มหาสารคาม นครพนม อยู่ระดับที่เริ่มมีผลต่อสุขภาพ รวมถึง กรุงเทพมหานครด้วย จึงควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้งเพื่อป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจที่อาจจะตามมา สำหรับจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านพบสูงสุดในเมียนมา 3,142 จุด รองลงมาคือ กัมพูชา 2,514 จุด , สปป.ลาว 1,582 จุด , เวียดนาม 371 จุด และมาเลเซีย 19 จุด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 กุมภาพันธ์ 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนฟ้าคะนองบางพื้นที่ในภาคใต้ ขณะที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งปรับปรุงซ่อมแซมฝายและขุดลอกลำน้ำแก้ปัญหาตื้นเขิน เพื่อรับมือช่วงหน้าแล้งนี้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (23 ก.พ.66) ว่า ภาพรวมภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ส่วนคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีกำลังอ่อนลง โดยอ่าวไทยตอนล่างมีคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณอ่าวไทยตอนล่างเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย โดยเฉพาะมีฝนตกปานกลางบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน , พระนครศรีอยุธยา และพังงา ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า ได้เร่งขุดลอกแม่น้ำคำ ตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย คาดว่า จะช่วยเพิ่มรองรับน้ำในหน้าน้ำหลาก การอุปโภค-บริโภค และการเกษตร รวมทั้ง ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร การกัดเซาะตลิ่ง โดยมีประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากการขุดลอกประมาณ 500 ครัวเรือน และมีพื้นที่ทางการเกษตร ประมาณ 20,800 ไร่

ขณะที่ กรมชลประทาน เร่งหาแนวทางซ่อมแซมฝายยางท่าลาด จังหวัดฉะเชิงเทรา หลังตรวจสอบสภาพฝายยางเพื่อเตรียมพร้อมส่งน้ำช่วงหน้าแล้งนี้ หลังพบรอยฉีกขาดบริเวณรอยต่อที่ยึดติดกับฐานคอนกรีตด้านล่างที่ไม่สามารถช่อมแซมได้ จึงแก้ปัญหาเร่งด่วนด้วยการขอรับการสนับสนุนงบประมาณปี 2566 เพิ่มเติมจัดซื้อวัสดุจัดทำทำนบชั่วคราว (กระสอบทราย Big Bag) ปัจจุบันยังคงเสริมทำนบชั่วคราวเป็นระยะตามสภาพการชำรุดที่เกิดจากกระแสน้ำที่ไหลผ่านอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวระหว่างรอการจัดสรรงบประมาณ เพื่อปรับเปลี่ยนฝายยางเป็นการถาวรที่มีความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้นและรื้อเปลี่ยนฝายยางเดิม พร้อมซ่อมบำรุงระบบสูบน้ำของฝายยางเป็นการถาวรให้บริหารจัดการน้ำอย่างครอบคลุมในพื้นที่ของโครงการชลประทานฉะเชิงเทรา จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่อย่างมาก


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 กุมภาพันธ์ 2566

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ผลักดันใช้เทคโนโลยีอวกาศจัดทำบัญชีคาร์บอนให้กับประเทศไทย เพื่อลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกและช่วยประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าได้อย่างถูกต้อง

นายปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ในฐานะประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก (CEOS) กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. , หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม , หน่วยงานต่างประเทศ Silva Carbon และคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก หรือ CEOS ได้จัดงานสัมมนา “Carbon Accounting :Observation from Space รู้เท่าทันเทคโนโลยีกับการใช้ดาวเทียมวัดค่าคาร์บอนเครดิต” เพื่อสร้างการรับรู้การใช้เทคโนโลยีอวกาศจัดทำบัญชีคาร์บอนให้กับประเทศไทยลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญและใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียมสำรวจการกักเก็บคาร์บอนมานานแล้ว และปรับปรุงพัฒนาเทคนิคใหม่ๆให้มีมาตรฐานสากลต่อเนื่อง ทำให้การจัดทำบัญชีคาร์บอนให้กับประเทศไทยถือเป็นความท้าทายในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ เพื่อการเฝ้าระวังและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้โลก จะส่งผลต่อการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ทั้งนี้ จากการประชุม CEOS Plenary 2022 ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก หรือ CEOS ที่มีหน่วยงานด้านอวกาศระดับโลกเข้าร่วมประชุม ที่ สาธารณรัฐฝรั่งเศสเมื่อปลายปีที่ผ่านมานั้น GISTDA ในฐานะประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลกปี 2023 หรือ CEOS Chair 2023 ได้ผลักดันประเด็นการลดการปลดปล่อยคาร์บอน เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยนำข้อมูลจากดาวเทียมและเทคนิคที่เกี่ยวข้องมาใช้เป็นเครื่องมือสำรวจและตรวจวัดการกักเก็บคาร์บอน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และแก้ปัญหานำไปสู่การบรรเทาปัญหาโลกร้อนสอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC)

ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวย้ำว่า จำเป็นต้องให้ความรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าการใช้เทคโนโลยีจากดาวเทียม เพื่อการสำรวจการกักเก็บปริมาณคาร์บอนในพื้นที่ป่า พื้นที่เกษตร และพื้นที่อื่นๆ แสดงให้เห็นวิธีการที่เป็นมาตรฐานในการกักเก็บคาร์บอนและแสดงความพร้อมของไทยที่จะใช้เทคโนโลยีอวกาศจัดการคาร์บอนเครดิตนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ชุมชนและประเทศ เนื่องจากความเป็นจริงการสำรวจพื้นที่ภาคสนามไม่สามารถใช้แรงงานคนวัดต้นไม้ได้ทุกต้น ดังนั้น การนำเทคโนโลยีจากดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศเข้ามาสนับสนุน จะทำให้สามารถจำแนกประเภทป่าไม้และประเมินความหนาแน่นชั้นเรือนยอดต้นไม้จากแบบจำลองเชิงพื้นที่ เพื่อประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าได้อย่างถูกต้องเพียงพอกับการใช้งาน ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ช่วยประหยัดเวลา และแรงงานคนที่ต้องใช้สำรวจภาคสนามและลดความผิดพลาดจากการสำรวจด้วย โดยข้อมูลที่ได้จากการสำรวจและวิเคราะห์นี้จะถูกรวบรวมนำไปสู่การจัดทำ “บัญชีคาร์บอนให้กับประเทศไทย” เพื่อใช้เป็นแนวทางให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศต่อไป


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.