• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  26 มกราคม 2566

ค่าฝุ่น PM 2.5 กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เกินมาตรฐานในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 22 พื้นที่ เนื่องจากสภาพอากาศปิดและลมสงบ โดยต้องเฝ้าระวังพิเศษวันที่ 27 – 28 มกราคม และ 1 – 2 กุมภาพันธ์

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า วันนี้ (26 ม.ค.66) ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศดีถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยค่าฝุ่นยังคงปรับตัวสูงอยู่ในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 22 พื้นที่ เช่น ริมถนนพญาไท เขตราชเทวี , ริมถนนพระรามที่ 4 หน้าสามย่านมิตรทาวน์ เขตปทุมวัน , ริมถนนพระราม 3 เขตยานนาวา , เขตดอนเมือง , ริมถนนลาดกระบัง เขตลาดกระบัง , ริมถนนพหลโยธิน เขตบางเขน เนื่องจากอากาศปิดและลมสงบ ส่งผลให้ฝุ่นสะสมตัวขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 จำเป็นต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษวันที่ 27 – 28 มกราคม และ 1 – 2 กุมภาพันธ์ เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่งและปิด บริเวณพื้นที่กรุงเทพกลาง กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ (พื้นที่ท้ายลม) จึงขอความร่วมมือประชาชนบำรุงดูแลรักษารถยนต์อย่างสม่ำเสมอ จอดรถให้ดับเครื่อง ลดการเผาในที่โล่ง และขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์ หากอยู่บริเวณพื้นที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือ พื้นที่สีส้ม ให้หลีกเสี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ทั้งแบบค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงและแบบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซด์ Air4Thai.com และ bangkokairquality.com หรือทางแอปพลิเคชั่น Air4Thai และ AirBKK แล้วยังติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์คุณภาพอากาศผ่านทาง Facebook Fanpage ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 มกราคม 2566

ศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร เผยแพร่ข้อมูลผลการตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 เมื่อเวลา 07.00 น. ที่ผ่านมา ตรวจวัดค่าฝุ่นละออง PM2.5 ได้ 21-48 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ 36.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกพื้นที่ที่มีการตรวจวัด ภาพรวมปริมาณฝุ่นมีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับเมื่อวานนี้ในช่วงเวลาเดียวกัน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันนี้ - 28 มกราคม 2566 จะมีสภาวะอากาศปิดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการสะสมของฝุ่นละออง PM2.5 ทรงตัว และช่วงวันที่ 27-28 มกราคม จะมีสภาพอากาศที่นิ่งและปิด ขอให้ประชาชนในพื้นที่กรุงเทพกลาง กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ รวมถึงปริมณฑล ควรเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของฝุ่นละออง โดยสามารถติดตามข่าวสารได้ทางแอปพลิเคชัน AirBKK เว็บไซต์ airbkk.com และ pr-bangkok.com รวมถึงทาง Facebook สำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร หากพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษสามารถแจ้งเบาะแส ผ่านทาง Traffy Fondue


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 มกราคม 2566

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 59,053 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 77 ของความจุอ่าง เป็นน้ำใช้การได้ 35,111 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาพรวมปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์ดี จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงแล้งปีนี้ทั้งประเทศไปแล้ว 10,092 ล้านลูกบาศก์เมตร ฃ

จากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้และทะเลอันดามันมีกำลังแรง ส่งผลให้ในช่วงระหว่างวันที่ 27-29 ม.ค. นี้ ภาคใต้ตอนล่างจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง รวมทั้งเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งบริเวณอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด พร้อมยังได้กำชับในส่วนของการรักษาระดับน้ำใต้ดินในบริเวณพลุ รวมทั้งการพร่องน้ำและระบายน้ำเพื่อรักษาสมดุลและเป็นการป้องกันการเกิดอัคคีภัยในพื้นที่อีกด้วย พร้อมติดตามตรวจสอบปริมาณน้ำจากสถานีอุทกวิทยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้ทัน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 มกราคม 2566

วันนี้ (23 ม.ค.66) นายยศฐ์วพงศ์ วัชรมโนภาส นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการ พร้อมเจ้าหน้าที่ ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา ปลัดอำเภอเฉลิมพระเกียรติ องค์การบริหารส่วนตำบลช้างทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ตัวแทนเจ้าหน้าที่ฟาร์มไก่ เข้าร่วมประชุมและลงพื้นที่ตรวจสอบแก้ไขเหตุร้องเรียนปัญหาน้ำผุดในพื้นที่การเกษตรทำให้พืชผลการเกษตรเสียหาย ตำบลช้างทอง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา มีข้อสรุปดังนี้

1. จากการประชุมสรุปข้อมูลเบื้องต้นทราบว่าพื้นที่ทำการเกษตรเป็นพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง และปลูกอ้อย เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2565 ถึงปัจจุบัน ยังมีน้ำซึมใต้ผิวดิน ส่งผลให้การปลูกมันสำปะหลังมีความเสียหายไม่ได้ผลผลิต และไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่เพื่อตัดอ้อยได้ โดยพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผลกระทบ มีฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีบ่อพักเก็บน้ำทิ้งและเมื่อช่วงปีที่ผ่านมาได้มีฝนตกอย่างต่อเนื่องทำให้ระดับน้ำในบ่อสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 50 เปอร์เซนต์

2. ตรวจสอบบริเวณพื้นที่การเกษตรที่ได้รับผล กระทบพบว่ามีสภาพพื้นดินโดยรอบมีความชื้นแชะ และมีน้ำผุดจากใต้พื้นดินอย่างต่อเนื่อง โดยมีโดยมีระยะห่างจากบ่อพักน้ำทิ้งฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ที่ใกล้ที่สุดประมาณ 160 เมตร ได้ตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้นด้วยเครื่องวัดภาคสนามพบว่า มีค่า TDS เท่ากับ 255 มก./ล

3. ตรวจสอบบริเวณบ่อพักน้ำทิ้งของฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่พบว่ามีระดับน้ำสูงกว่าระดับพื้นที่การเกษตร ขณะตรวจสอบไม่พบการระบายน้ำทิ้งออกนอกบริเวณสถานประกอบการ มีปริมาตรน้ำทิ้งในบ่อประมาณ 40,000 ลูกบาศก์เมตร ได้ตรวจวัดคุณภาพน้ำเบื้องต้นด้วยเครื่องวัดภาคสนามพบว่า มีค่า TDS เท่ากับ 7,650 มก./ล

4.สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 (นครราชสีมา) จะส่งรายงานการตรวจคุณน้ำเบื้องต้นให้อำเภอเฉลิมพระเกียรติเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการหาสาเหตุถึงผลกระทบดังกล่าว

ทั้งนี้คณะผู้ตรวจสอบได้มีข้อเสนอแนะหาขอพิสูจน์ โดยขุดดินตามแนวขวางกับทิศทางการไหลบริเวณระหว่างที่การเกษตรกับแนวบ่อพักน้ำทิ้งฟาร์มเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อให้ได้ข้อยุติ และช่วยเหลือ หรือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 มกราคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนฟ้าคะนองในภาคใต้ พร้อมระวังระดับน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ 8 จังหวัดลุ่มต่ำริมปากแม่น้ำถึงวันที่ 26 มกราคมนี้

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (22 ม.ค.66) ว่า ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักมากบริเวณ จ.นราธิวาส , ยะลา และสงขลา พร้อมทั้งเฝ้าระวังระดับน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ลุ่มต่ำริมปากแม่น้ำถึงวันที่ 26 มกราคม โดยระดับน้ำทะเลหนุนจะขึ้นสูงสุดวันที่ 23–24 มกราคม จะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้น อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทย และปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำบริเวณปากแม่น้ำในพื้นที่ จ.นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และนราธิวาส


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 มกราคม 2566

กรมทรัพยากรธรณี ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 23 มกราคมนี้ในพื้นที่ 8 จังหวัด หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง

ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ได้ออกประกาศขอให้อาสาสมัครเครือข่ายกรมทรัพยากรธรณีและประชาชนทั่วไปเฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 23 มกราคมในพื้นที่จังหวัด

นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่มบริเวณอำเภอศรีนครินทร์ ศรีบรรพต กงหรา ตะโหมด จังหวัดพัทลุง // อำเภอหาดใหญ่ สะบ้าย้อย สะเดา รัตภูมิ เทพา จะนะ จังหวัดสงขลา // อำเภอโคกโพธิ์ สายบุรี จังหวัดปัตตานี // อำเภอบันนังสตา ธารโต เบตง ยะหา จังหวัดยะลา และอำเภอระแงะ ศรีสาคร สุคิริน รือเสาะ แว้ง เจาะไอร้อง จะแนะ จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทย และภาคใต้ ทำให้มีฝนตกหนักต่อเนื่องวัดปริมาณน้ำฝนในรอบ 24 ชั่วโมงได้มากกว่า 100 มิลลิเมตร อาจส่งผลให้เกิดดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากได้

ทั้งนี้ ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณี เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยและวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง หากเกิดเหตุให้แจ้งเตือนสถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากให้ประชาชนในหมู่บ้านได้รับทราบ และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมปฏิบัติตามแผนเฝ้าระวังด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 มกราคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคใต้ 11 จังหวัด พร้อมระวังเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 25 มกราคม

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (20 ม.ค.66) ว่า ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.สงขลา และสตูล โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในภาคใต้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ เฝ้าระวังปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เนื่องจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 25 มกราคม ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ประกอบกับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร พร้อมทั้ง ให้กรมทรัพยากรน้ำเฝ้าระวังพื้นที่มีความชื้นในดินสูงช่วงวันที่ 20 – 25 มกราคม เพื่อแจ้งเตือนสถานการณ์ได้ทันท่วงที

ทั้งนี้ กอนช. ยังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังระดับน้ำทะเลหนุนสูงในพื้นที่ลุ่มต่ำริมปากแม่น้ำของภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยช่วงวันที่ 21 – 26 มกราคมนี้ โดยระดับน้ำทะเลหนุนจะขึ้นสูงสุดในวันที่ 23 – 24 มกราคม อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมชายฝั่งทะเลอ่าวไทยใน จ.สุราษฎร์ธานี สงขลา นครศรีธรรมราช ปัตตานี และนราธิวาส


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19 มกราคม 2566

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศแจ้งเตือนเรื่อง ฝนตกหนักถึงหนักมากและคลื่นลมแรงบริเวณภาคใต้ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ในช่วงวันที่ 20-25 มกราคม นี้ บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต กระบี่ พัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลากนั้น จึงได้สั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนัก โดยเน้นย้ำให้เฝ้าติดตามและตรวจสอบสภาพอาคารชลประทานให้มีประสิทธิภาพพร้อมใช้งาน รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ตลอดจนปรับการระบายน้ำให้เหมาะสม สอดคล้องกับสถานการณ์

นอกจากนี้ ยังได้กำชับเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เพื่อเตรียมรับมือน้ำหลาก และเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำประจำจุดพื้นที่เสี่ยงให้สามารถเข้าให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.