• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์   27 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำวังล้นตลิ่ง หลังเขื่อนกิ่วลมปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำ รวมถึง แม่น้ำชีและแม่น้ำมูลล้นตลิ่งกระทบหลายพื้นที่

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (27 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนเริ่มมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ส่วนมากบริเวณด้านรับมรสุม และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกสูงสุดบริเวณ จ.บึงกาฬ 157 มิลลิเมตร , เพชรบุรี 152 มิลลิเมตร และนครนายก 116 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำวังล้นตลิ่ง หลังเขื่อนกิ่วลมปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำเป็น 201 – 250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ริมตลิ่งสองฝังแม่น้ำวังใน จ.ลำปาง และตาก // เฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำชีล้นตลิ่งใน จ.มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ถึงวันที่ 31 สิงหาคมนี้ และเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำมูลล้นตลิ่งใน จ.ศรีสะเกษ บริเวณ อ.ราษีไศล ยางชุมน้อย อุทุมพรพิสัย เมืองศรีสะเกษ และกันทรารมย์ ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 51,480 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 63 และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 7 แห่ง คือ แม่งัด กิ่วลม ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง บางพระ และบึงบอระเพ็ด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหาอ่างเก็บน้ำลำตะโคง จ.บุรีรัมย์ ถูกน้ำกัดเซาะบริเวณรอยต่อทำนบดินกับตัวอาคารระบายน้ำล้น และเกิดการกัดเซาะดินยุบตัวบริเวณรอยต่ออาคารทางระบายน้ำล้น โดยกรมชลประทานได้แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณด้านท้ายน้ำแล้ว พร้อมเร่งระบายน้ำเพื่อลดระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำผ่านทางอาคาร Gate Spillway ในอัตรา 104 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งศักยภาพของลำน้ำด้านท้ายอ่างเก็บน้ำสามารถรองรับได้ 150 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อปิดรอยกัดเซาะดังกล่าวด้วยกระสอบทราย (Big bag) และแผ่นเหล็กชีทไพล์


สำนักข่าว กรมประ่ชาสัมพันธ์  26 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เร่งระบายน้ำเหนือให้ไหลออกสู่ทะเลรองรับปริมาณน้ำฝนรอบใหม่ช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ โดยขอให้แจ้งเตือนท้ายน้ำล่วงหน้าหากเขื่อนปรับเพิ่มการระบายน้ำ เบื้องต้นกรมชลประทานเร่งพร่องน้ำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเก็บเกี่ยวข้าวก่อนน้ำหลากหรือใช้เป็นทุ่งรับน้ำ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามีแนวโน้มทรงตัวและลดลง เบื้องต้นกรมชลประทานได้ระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เนื่องจากคาดการณ์จะมีฝนตกเพิ่มมากขึ้นช่วงเดือนกันยายน จากร่องมรสุมที่จะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศลาวตอนบนและเวียดนามตอนบน ประกอบกับ มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น อาจส่งผลให้มีฝนตกเกิดน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำเจ้าพระยาไหลลงเหนือเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง จึงต้องเตรียมพร้อมรองรับน้ำหลาก โดยให้กรมชลประทานพิจารณาพร่องระดับน้ำหน้าเขื่อนเจ้าพระยาให้มีพื้นที่รองรับน้ำหลากและหน่วงชะลอน้ำ ควบคู่กับแจ้งเตือนประชาชนเตรียมรับมือล่วงหน้าหากจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำ ทั้งนี้ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสูบน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ลุ่มต่ำโดยเร็วและให้ปฏิบัติตามมาตรการเตรียมรับมืออุทกภัย ทั้งการกำหนดพื้นที่เฝ้าระวัง กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง และเตรียมพร้อมด้านเครื่องจักร-เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือได้ทันที ส่วนกรณีจำเป็นต้องปรับเพิ่มการระบายน้ำให้กรมชลประทานแจ้งเตือนจังหวัดในพื้นที่ท้ายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ ขณะเดียวกัน กรมชลประทาน ยังเร่งพร่องน้ำในคลองชลประทานต่างๆในเขตพื้นที่ชลประทาน ให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวได้แล้วเสร็จ เพื่อเตรียมการหากจำเป็นต้องใช้พื้นที่ลุ่มต่ำเป็นทุ่งรับน้ำหลากในช่วงตั้งแต่กลางเดือนกันยายนนี้ กล่าวถึงเกณฑ์การบริหารจัดการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยากรณีมีการระบายน้ำและอาจก่อให้เกิดน้ำท่วมด้านท้ายน้ำหรือเหนือน้ำ

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้ให้หน่วยงานขออนุญาตต่อคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำล่วงหน้า 3 วัน เพื่อพิจารณาเห็นชอบหากเป็นกรณีฉุกเฉินให้ขออนุญาตประธานคณะอนุกรรมการฯ พิจารณาเห็นชอบและให้รายงานคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งในการอนุญาตกำหนดให้ปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาแบบขั้นบันได แล้วต้องบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพของพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตร


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทั่วประเทศและเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันใน 22 จังหวัด พร้อมปรับแผนการบริหารจัดการน้ำและเร่งระบายน้ำจากแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมากรองรับผลกระทบจากอิทธิพลของพายุ

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (25 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.บุรีรัมย์ 121 มิลลิเมตร , นครราชสีมา 112 มิลลิเมตร และปราจีนบุรี 82 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน บริเวณ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ ตาก กาฬสินธุ์ นครพนม บึงกาฬ สกลนคร หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ นครนายก ระยอง จันทบุรี และตราด และเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำชีล้นตลิ่งในพื้นที่ จ.มหาสารคาม จ.กาฬสินธุ์ จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร จ.ศรีสะเกษ จ.อุบลราชธานี ช่วงวันที่ 26 – 31 สิงหาคมนี้ ขณะเดียวกันยังต้องเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาถึงวันที่ 29 สิงหาคม จะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.90 – 2.20 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่ จ.นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 51,154 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 62 และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง คือ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง บางพระ หนองปลาไหล และบึงบอระเพ็ด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง ภาพรวมระยะนี้ประเทศจะมีแนวโน้มฝนตกลดลง แต่บางจุดยังมีฝนตกต่อเนื่องและตกหนักในบางพื้นที่ โดยประเมินสภาพฝนพบฝนจะกลับมาตกเพิ่มขึ้นถึงวันที่ 27 สิงหาคมนี้ แล้วลดลงอีกครั้งช่วงวันที่ 28 - 29 สิงหาคมนี้ จะมีฝนตกเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์แนวโน้มพายุโซนร้อน “หมาอ๊อน” จะไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย พร้อมได้กำชับให้หน่วยงานทีเกี่ยวข้องปรับแผนการบริหารจัดการน้ำและเร่งระบายน้ำจากแหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก โดยเฉพาะช่วงเวลาที่ฝนตกน้อยลงเพื่อเพิ่มพื้นที่รองรับน้ำไว้ล่วงหน้า แต่ต้องไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน

ทั้งนี้ ยังให้กรมชลประทานประเมินสถานการณ์เพื่อพิจารณาปรับเพิ่มอัตราการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ปัจจุบันมีการระบายน้ำในอัตรา 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที // เขื่อนอุบลรัตน์ ปรับเพิ่มการระบายแบบขั้นบันไดจาก 15-25 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จนถึงวันที่ 27 สิงหาคมนี้ // เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปรับการระบายเป็น 500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จนถึงปลายเดือนสิงหาคมนี้ ปัจจุบันลุ่มน้ำป่าสักตอนบนระดับน้ำเริ่มลดลงต่ำกว่าตลิ่งแล้ว ซึ่งปริมาณน้ำหลากนี้จะไหลลงเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และบริเวณลุ่มน้ำป่าสักตอนล่างท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นแต่ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง โดยได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเพื่อช่วยเหลือประชาชนแล้ว


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 สิงหาคม 2565

การประชุมรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 ณ โรงแรมเลอเมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้อำนวยการบริหารสำนักเลขาธิการเอเปค โดยการประชุมครั้งนี้ ได้ร่วมหารือใน 2 หัวข้อหลัก ได้แก่ "สมดุลในทุกด้าน: ความยั่งยืนในการจัดการทรัพยากรป่าไม้" และ "ดุลยภาพทุกด้าน การค้าผลิตภัณฑ์ป่าไม้ที่เก็บเกี่ยวอย่างถูกกฎหมาย

สำหรับการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีเอเปคด้านป่าไม้ ครั้งที่ 5 ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศไทย จะเป็นเวทีที่ส่งเสริมความร่วมมือในการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ การป้องกันการลักลอบค้าไม้อย่างผิดกฎหมาย การบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังเป็นโอกาสในการเพิ่มความร่วมมือด้านเศรษฐกิจเพื่อการจัดการและฟื้นฟูป่าอย่างยั่งยืน

ภายในบริเวณพื้นที่จัดงาน ยังมีนิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการป่าไม้ ประกอบด้วย การสร้างคาร์บอนเครดิตจากกิจกรรมการปลูกต้นไม้ ปลูกป่า และการอนุรักษ์ป่า การนำเสนอผลิตภัณฑ์ตัวอย่างที่ทำมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น หลอดต้นไม้ ครามโดนัท การนำผลิตภัณฑ์จากป่าชุมชน อย่างกาแฟอาราบาซอลท์ ชาใบเมี่ยง เป็นต้น ทุกผลิตภัณฑ์ล้วนแต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนในท้องถิ่น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก พร้อมเฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาจากฝนตกหนักและการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (23 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักบริเวณ จ.สุโขทัย 91 มิลลิเมตร , กระบี่ 56 มิลลิเมตร และยโสธร 49 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน บริเวณ จ.เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน พิษณุโลก เพชรบูรณ์อุตรดิตถ์ ตาก กาฬสินธุ์ นครพนม บึงกาฬ สกลนคร หนองคายอุดรธานี อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ ระยอง จันทบุรี ตราดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 50,736 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 62 และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง คือ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง บางพระ หนองปลาไหล และบึงบอระเพ็ด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ และพื้นที่ใกล้เคียงช่วงวันที่ 24–29 สิงหาคมนี้ เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ประกอบกับ มีฝนตกบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและลุ่มน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก จะทำให้มีน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 1,500-1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และเขื่อนพระรามหกมีน้ำไหลผ่านในเกณฑ์ 400-500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้นช่วงวันที่ 24–29 สิงหาคม ประมาณ 1.90–2.20 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่ จ.นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักถึงหนักมากในภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก พร้อมปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์แบบขั้นบันไดวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน หลังน้ำในลำน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (22 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกสูงสุดบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน 150 มิลลิเมตร , พังงา 142 มิลลิเมตร และจันทบุรี 81 มิลลิเมตร ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 50,388 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 61 และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง คือ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง บางพระ หนองปลาไหล และบึงบอระเพ็ด พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันถึงวันที่ 25 สิงหาคมนี้ หลังคาดการณ์สถานการณ์น้ำในลำน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณ 50 เซนติเมตร ถึง 1 เมตร จึงขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำชี ลำน้ำยัง และลุ่มน้ำมูล

ขณะที่คณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดได้มีมติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ (กฟผ.) ปรับเพิ่มการระบายน้ำเขื่อนอุบลรัตน์จากเดิมวันละ15 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพิ่มขึ้นเป็นขั้นบันไดวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จนถึงอัตราการระบายไม่เกิน 25 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยยังไม่มีผลกระทบด้านท้ายน้ำ คือ วันที่ 22-23 สิงหาคม ระบายวันละ 15 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน // วันที่ 24 สิงหาคม ระบายวันละ 18 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน และวันที่ 25 สิงหาคม ระบายวันละ 21 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน พร้อมให้ปรับการระบายน้ำตามปริมาณน้ำไหลเข้าในอัตราไม่เกิน 25 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยให้แจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ด้านท้ายเขื่อนรับทราบและเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 สิงหาคม 2565

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เร่งผลักดัน (ร่าง) แผนปฏิบัติการจัดการมลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือน ระยะ 15 ปี หวังแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนเหตุเดือดร้อนรำคาญให้กับประชาชน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้จัดทำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการจัดการมลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือน ระยะ 15 ปี (พ.ศ. 2566 - 2580) ขึ้น โดยได้ดำเนินการศึกษา วิเคราะห์ ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทำการสำรวจ เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับผลกระทบจากแหล่งกำเนิดมลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือนที่แตกต่างกัน พร้อมจัดการประชุมกลุ่มย่อยตามประเภทแหล่งกำเนิดรวม 8 ประเภท คือ การขนส่งทางบก การขนส่งทางราง การขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางน้ำ อุตสาหกรรม การก่อสร้าง กิจกรรมในชุมชน และกิจกรรมสันทนาการ และจัดประชุมระดมความคิดเห็นจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสีย โดยมีเป้าหมายที่จะให้พื้นที่มีสถานีตรวจวัดของ คพ. มีระดับเสียงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 และระดับความสั่นสะเทือนมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ภายในปี 2580 เนื่องจากประเทศไทยมีการเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้มีกิจกรรมต่างๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียงและความสั่นสะเทือนเพิ่มขึ้น แล้วพบมีสถิติเรื่องร้องเรียนเหตุเดือดร้อนรำคาญจากเรื่องดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และการแก้ปัญหาเป็นไปได้ยาก จึงจำเป็นต้องบูรณาการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนากฎหมาย และมาตรฐานวิธีการตรวจวัดระดับเสียงและความสั่นสะเทือนให้มีความทันสมัยเป็นสากลให้สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงจุดและเป็นที่ยอมรับของทุกภาคส่วน

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า แผนปฏิบัติการฯดังกล่าวจะถูกใช้เป็นแผนหลักและทิศทางดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคส่วนต่างๆ เพื่อบริหารจัดการมลพิษทางเสียงและความสั่นสะเทือน โดยครอบคลุมการจัดการแหล่งกำเนิด สิ่งแวดล้อม และชุมชน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และให้แผนแม่บทฯมีความสมบูรณ์ขึ้น


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 สิงหาคม 2565

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมเฝ้าระวังระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาสูงขึ้นจากการปรับแผนระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่ม อาจกระทบพื้นที่ท้ายเขื่อนได้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (20 ส.ค.65) ว่า ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.อุบลราชธานี 112 มิลลิเมตร , สกลนคร 101 มิลลิเมตร และตราด 76 มิลลิเมตร พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก- ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วันนี้ บริเวณ จ. ตาก ระยอง และตราด ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำแหล่งน้ำทุกขนาด 49,936 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 61 และเฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ 9 แห่ง คือ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม ป่าสักชลสิทธิ์ อุบลรัตน์ น้ำพุง บางพระ แควน้อย และบึงบอระเพ็ด

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังได้เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงวันที่ 23 - 25 สิงหาคมนี้ เนื่องจากประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และมีฝนตกหนักในพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยา คาดการณ์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีวัดน้ำจังหวัดนครสวรรค์ (C.2) อยู่ในเกณฑ์ 1,600 – 1,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมีน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาไหลมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาปริมาณ 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในเกณฑ์ 1,900 – 2,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ตามปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนเพิ่มมากขึ้นอยู่ในเกณฑ์ 1,500 – 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะส่งผลให้ระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมประมาณ 40 – 80 เซนติเมตรในช่วงวันดังกล่าวบริเวณชุมชนพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ คลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง // คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ ตำบลหัวเวียง อำเภอเสนา ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.