• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 กุมภาพันธ์ 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกบางแห่งในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักต่อเนื่อง จากอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและหย่อมความกดอากาศต่ำ

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (4 ก.พ.66) ว่า ภาพรวมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ส่วนภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.ปัตตานี , นราธิวาส และสุราษฎร์ธานี เนื่องจากมีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นเข้ามาปกคลุมอ่าวไทยและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้น ซึ่งมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้และทะเลอันดามัน ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณเกาะบอร์เนียว ส่งผลภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่งและต้องเฝ้าระวังสถานการณ์ต่อเนื่อง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  1 กุมภาพันธ์ 2566

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันเร่งหาแนวทางแก้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ป่าชายเลน เพื่อเพิ่มการป้องกันและปรามปราบการรุกป่าชายเลน

นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกันหาแนวทางการแก้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ป่าชายเลน หลังเกิดกรณีการตรวจสอบเอกสารสิทธิที่ดินในพื้นที่ป่าชายเลน 93 ฉบับต่อแปลง เนื้อที่กว่า 2,574 ไร่ โดย ทช. ส่งเรื่องให้กรมที่ดินพิจารณาดำเนินการแล้ว เพื่อหารือแนวทางการแก้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ป่าชายเลนที่รับผิดชอบ และข้อมูลการออกเอกสารสิทธิในเขตพื้นที่ป่าชายเลนที่อาจจะออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือคลาดเคลื่อน เพื่อให้กรมที่ดินพิจารณาเพิกถอนหรือแก้ไขตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทั้งนี้ การป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ชายเลนเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่มุ่งเน้นให้ทุกฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันอย่างจริงจังและเข้มข้น โดย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ให้ ทช. กำชับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เข้มงวดตรวจตรา ลาดตระเวน เฝ้าระวัง ควบคุม ป้องกัน และปราบปรามต่อเนื่องสม่ำเสมอ พร้อมให้บังคับใช้กฎหมายตามกระบวนการขั้นตอนทางกฎหมาย ข้อระเบียบ มาตรการ และแนวทางปฏิบัติ รวมถึง บูรณาการกฎหมายหาข้อกำหนดรูปแบบความเกี่ยวเนื่อง เพื่อร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันและปราบปรามการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนในพื้นที่รับผิดชอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวย้ำว่า ปัจจุบัน ทช.ให้ความสำคัญการแก้ปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อทำประโยชน์ในเชิงธุรกิจต่อเนื่อง เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าชายเลนก่อให้เกิดการสูญเสียและส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลนอย่างมาก ดังนั้น ทช. จึงให้หน่วยงานในพื้นที่เร่งประสานความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทะเล เพื่อช่วยกันสอดส่องดูแลและเป็นกำลังสำคัญแจ้งเบาะแสต่างๆป้องกันและแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนได้รวดเร็ว โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามนโยบายอย่างเคร่งครัดในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และแก้ปัญหาบุกรุกป่าชายเลน พร้อมวางแผนฟื้นฟูฟื้นที่ป่าชายเลนให้กลับคืนมาสมบูรณ์อีกครั้ง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  31 มกราคม 2566

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) กล่าวว่า วันนี้ (31 ม.ค.66) ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลคุณภาพอากาศปานกลางถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

โดยค่าฝุ่นกลับมาสูงขึ้นในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 67 พื้นที่ เช่น ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน แขวงบางนา เขตบางนา ตำบลทรงคนอง อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ , แขวงดินแดง เขตดินแดง ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี ตำบลอ้อมน้อย อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื่องจากอากาศปิดและลมอ่อน ประกอบกับการจราจรหนาแน่นในหลายพื้นที่ ส่งผลให้ฝุ่นเกิดการสะสมตัว

ศูนย์แบบจำลองคุณภาพอากาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 จำเป็นต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษวันที่ 1–4 กุมภาพันธ์ 2566 เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่งและปิด บริเวณพื้นที่กรุงเทพกลาง กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ (พื้นที่ท้ายลม) ขอความร่วมมือประชาชนบำรุงดูแลรักษารถยนต์อย่างสม่ำเสมอ จอดรถให้ดับเครื่อง ลดการเผาในที่โล่งและขอให้ประชาชนเฝ้าระวังสถานการณ์ หากอยู่บริเวณพื้นที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 สูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือพื้นที่สีส้ม ให้หลีกเสี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากอนามัย หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์

ทั้งนี้ สามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศได้ ทั้งแบบค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงและแบบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ผ่านทางเว็บไซด์ Air4Thai.com และ bangkokairquality.com หรือทางแอปพลิเคชัน Air4Thai และ AirBKK แล้วยังติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์คุณภาพอากาศผ่านทาง Facebook Fanpage ศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  31 มกราคม 2566

สำนักงาน ก.พ.ร. นำแผนแนวทาง “OG & MP” มาขยายผลช่วยแก้วิกฤตมลพิษฝุ่น PM 2.5 ในจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่มีความโปร่งใสและเท่าเทียมกันทางสังคม

วันนี้ (31 ม.ค.66) นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นำส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประชุมร่วมกับคณะของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนัก ก.พ.ร.) ซึ่งนำโดย นายไมตรี อินทุสุด ประธานอนุกรรมการเกี่ยวกับการส่งเสริมและพัฒนาระบบการบริหารราชการในส่วนภูมิภาคและท้องถิ่น และนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม เพื่อร่วมหารือเรื่องแผนการขยายผลแนวทางการพัฒนาระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5)

โดยก่อนหน้านี้ ทางสำนัก ก.พ.ร. ได้จัดทำกรอบแนวทางการเสริมสร้างระบบนิเวศภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมาย หรือ “OG & MP” (Open Government and Meaningful Participation Ecosystem) และได้นำกรอบแนวทางดังกล่าวมาดำเนินนำร่อง ภายใต้การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่จังหวัดลำปาง และสิงห์บุรี ในปี 2564-2565 และในปีงบประมาณ 2566 ได้กำหนดขยายผลตามแผนแนวทาง OG & MP มาใช้ในการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารราชการตามหลักการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมที่เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง หวังแก้วิกฤตด้วยความร่วมมือรูปแบบใหม่ระหว่าง “องค์กรภาครัฐ-เอกชน-ประชาชน-ประชาสังคม” ที่มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบและความเท่าเทียมกันทางสังคม

โดยที่ประชุมครั้งนี้ มีประเด็นหารือใน 4 หัวข้อหลัก ประกอบด้วย พื้นที่ดำเนินการ แนวทางการพัฒนาระบบนิเวศฯ การมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในการดำเนินการ ซึ่งในเบื้องต้นจังหวัดเชียงใหม่ได้มีการนำเสนอพื้นที่ให้ทางสำนัก ก.พ.ร. ให้เข้ามาดำเนินการเป็นพื้นที่ต้นแบบ คือ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เขตพื้นที่รอยต่อระหว่างอำเภอแม่ออนและอำเภอสันกำแพง ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่เกิดไฟไหม้ซ้ำซาก แต่ละครั้งสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง แก้ปัญหาได้ยาก ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาให้แน่ชัดอีกครั้ง และเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  30 มกราคม 2566

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ร่วมกันผลักดัน "กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก" หวังลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพในไทย

นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย ได้จัดประชุมเผยแพร่สรุปผลการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพสมัยที่ 15 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง "กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก" เพื่อมุ่งสู่โลกที่มนุษย์อยู่อย่างเป็นมิตรกับธรรมชาติ พร้อมบรรยายในหัวข้อ "Tackling Biodiversity & Climate Crises Together" เพื่อนำเสนอความสำคัญของการเชื่อมโยงการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่สามารถดำเนินการแยกกันได้ โดยจะพูดคุยถึงประเด็นการรับรองกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโสกฉบับใหม่ต่อจากแผนกลยุทธ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และเป้าหมายไอจิซึ่งสิ้นสุดลงตั้งแต่ปี 2563 หลังได้เจรจาต่อรองนานกว่า 4 ปี ซึ่งกรอบงานโลกฉบับใหม่นี้ได้รับการรับรองใช้ชื่อว่า "กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก" มี 4 เป้าประสงค์หลักที่ต้องการให้บรรลุวิสัยทัศน์ปี 2050 - การอยู่ร่วมกันอย่างสอดคล้องและเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ภายในปี 2050 และเป้าหมายที่ต้องการให้บรรลุภายใน 2030 แบ่งเป็น 3กลุ่ม คือ ลดภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น การฟื้นฟู การเพิ่มพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง การลดมลพิษ และการกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานที่มีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ // การไช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เช่น การใช้ผลิตภัณฑ์จากฐานชีวภาพ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรและประมงในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสุดท้าย กลไกการผลักดันให้ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นกระแสหลัก เช่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนมากขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน การเสริมสร้างสมรรถนะ

เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวย้ำว่า กรอบงานคุนหมิง-มอนหรีออลฯ มีความสำคัญเพราะเป็นกรอบที่ประเทศภาคีจะนำไปถ่ายทอดสู่การดำเนินงานในระดับประเทศผ่านการจัดทำเป้าหมายระดับชาติ กลยุทธิ์และแผ่นปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (NBSAP) ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ ซึ่ง สผ. ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ จะขับเคลื่อนงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศในระยะต่อไป โดยต้องการแรงผลักดันจากภาครัฐกำหนดนโยบายต่างๆและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม พร้อมกับการรับรองกรอบงานคุณหมิง-มอนทรีออลฯ ซึ่งที่ประชุม CBD COP 15 ได้นำเสนอชุดตัวชี้วัดต่างๆเพื่อติดตามการดำเนินงานตามเป้าหมาย ทั้งนี้ ประเทศภาคีสามารถเลือกมาใช้ได้ตามความเหมาะสมกับบริบทของประเทศ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  29 มกราคม 2566

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศวันนี้ (29 ม.ค.66) ว่า ภาพรวมภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.ปัตตานี , นราธิวาส และนครศรีธรรมราช เนื่องจากอิทธิพลมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดปกคลุมอ่าวไทย ภาคใต้ และทะเลอันดามัน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่า ได้สนับสนุนเครื่องมือ เครื่องจักรแก้ปัญหากำจัดผักตบชวาและวัชพืช บริเวณแหล่งน้ำบุ่งหาดกองสิน ต.เขาท่าพระ อ.เมืองชัยนาท จ.ชัยนาท โดยแหล่งน้ำดังกล่าวประชาชนใช้ประโยชน์ประมาณ 1,500 ครัวเรือน มีวัชพืชกีดขวางทางเรือเดินประมาณ 24,000 ตัน ทำให้แหล่งน้ำมีสภาพเสื่อมโทรมประชาชนไม่สามารถใช้น้ำจากแหล่งน้ำบุ่งหาดกองสิน เพื่อการอุปโภค-บริโภคได้ โดยกรมเจ้าท่าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้ร่วมกันพิจารณาหาแนวทางการแก้ปัญหาแหล่งน้ำบุ่งหาดกองสินอย่างเร่งด่วน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 มกราคม 2566

ภาครัฐ เพิ่มความเข้มงวดและจุดตรวจจับรถยนต์ควันดำในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากขึ้น เพื่อลดการเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 ในเขตเมืองลง

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่ตรวจวัดต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และเมืองหลัก พบมีค่าสูงขึ้น ซึ่งยานยนต์เป็นแหล่งกำเนิดสำคัญของฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะรถยนต์ดีเซล ตามแผนเฉพาะกิจเพื่อการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 2566 ให้ความสำคัญกับมาตรการตรวจรถควันดำ จึงได้เพิ่มจุดตรวจและความเข้มงวดการตรวจสอบตรวจจับระงับการใช้รถควันดำจนกว่าจะนำไปปรับปรุงแก้ไข เพื่อป้องปรามไม่ให้มีรถควันดำเข้ามาในเขตเมือง ภาพรวมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 - 27 มกราคม 2566 คพ. ร่วมกับ กรมการขนส่งทางบก , กองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และกรุงเทพมหานคร ตรวจควันดำรถทุกประเภท ทั้งรถบรรทุก รถรับจ้างประจำทาง รถรับจ้างไม่ประจำทาง ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลรวม 39,909 คัน พบเกินค่ามาตรฐานและพ่นห้ามใช้ 178 คัน โดยแยกเป็นรถบรรทุก 30,794 คัน พ่นห้ามใช้ 135 คัน รถโดยสารประจำทาง 7,528 คัน พ่นห้ามใช้ 38 คัน และรถโดยสารไม่ประจำทาง 1,587 คัน พ่นห้ามใช้ 5 คัน ขณะที่ผลการตรวจทั่วประเทศตรวจแล้ว 81,759 คัน พบควันดำร้อยละ 30 ขึ้นไป พ่นห้ามใช้ค่า 597 คัน

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวย้ำว่า ภาครัฐ จะเพิ่มความเข้มงวดเรื่องการตรวจจับควันดำ “ตรวจจับ ปรับจริง–ห้ามใช้รถควันดำ” บังคับใช้บทลงโทษสูงสุด ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ตั้งจุดตรวจสอบตรวจจับรถควันดำทุกประเภท ครอบคลุมถนนสายหลักสายรอง ทั้งขาเข้า-ออก 20 จุดต่อวัน แล้วจากสถานการณ์ฝุ่นละอองที่สูงขึ้นต้องขอความร่วมมือเจ้าของยานพาหนะในการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ เพื่อลดมลพิษทางอากาศและสุขภาพอนามัยของทุกคน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  27 มกราคม 2566

รายงานพิเศษ : “คุมเข้มมาตรการลดฝุ่นละออง PM 2.5 ในเขตเมืองช่วงปลายเดือนมกราคมถึงปลายกุมภาพันธ์นี้

หน่วยงานภาครัฐคุมเข้มมาตรการรับมือช่วงฝุ่นละออง PM 2.5 มีโอกาสรุนแรงขึ้นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หลังพบมีความแห้งแล้งมากจนทำให้ฝุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้นกระทบสุขภาพของประชาชน

ช่วงปลายเดือนมกราคมถึงปลายกุมภาพันธ์นี้ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะเกิดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 สะสมและหนาแน่นเป็นพิเศษ จากสภาพอากาศปิดในรูปแบบฝาชีครอบและลมสงบ เพราะประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของฤดูหนาว จึงเกิดการสะสมตัวของฝุ่นได้ง่ายกว่าช่วงฤดูกาลอื่นๆ แต่ปีนี้ถือว่าโชคดีที่ไทยเจอปัญหาฝุ่นรุนแรงเป็นบางช่วงเวลาไม่ได้เกิดติดต่อกันหลายวันเหมือนกับปีที่ผ่านมา ซึ่งในเขตเมืองส่วนใหญ่ฝุ่นละอองจะเกิดจากยานพาหนะเป็นหลัก โดยเฉพาะรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ โรงงานอุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง จำต้องจำกัดจำนวนและลดการระบายมลพิษจากแหล่งกำเนิดลงให้ได้ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนลง

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ปีนี้มีความแห้งแล้งมากกว่าปีที่ผ่านมา จึงเป็นปัจจัยเสริมทำให้ฝุ่น PM 2.5 อาจจะรุนแรงขึ้น ทำให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์และช่วงเวลาการเกิดฝุ่นรุนแรงขึ้น เช่น หันมาใช้รถโดยสารสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อลดความแออัดของระบบจราจร // ตรวจควันดำจากรถบรรทุกในพื้นที่ไซด์งานก่อสร้างอย่างเข้มข้น // ขอความสมัครใจจากภาคเอกชน Work From Home // ขอให้ประชาชนงดออกกำลังกายกลางแจ้ง // ให้โรงเรียนขอให้ปิดหน้าต่างและงดทำกิจกรรมนักเรียนนอกอาคาร นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) เล่าว่า แม้สถานการณ์ฝุ่นประเทศไทยช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาจะดีขึ้นมากจากมาตรการต่างๆ แต่โอกาสที่ค่าฝุ่นจะเกินมาตรฐานในระดับสูงยังเกิดขึ้นได้ ทั้งจากปัจจัยอุตุนิยมวิทยาที่ควบคุมไม่ได้และปัจจัยที่ควบคุมได้ที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์

สำหรับมาตรการลดฝุ่นปีนี้ภาครัฐเน้นลดการระบายฝุ่นละอองในแต่ละพื้นที่ อย่างในเขตเมือง ลดมลพิษแหล่งกำเนิดจากการจราจรและโรงงานอุตสาหกรรมเป็นสำคัญ โดยการจราจร ขอความร่วมมือให้บำรุงรักษาเครื่องยนต์ทั้งส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน เพิ่มความเข้มงวดตรวจวัดควันดำและขยายพื้นที่ตรวจวัดควันดำเพื่อควบคุมตั้งแต่ต้นทาง ส่วนโรงงานอุตสาหกรรม จะตรวจกำกับโรงงานอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการปล่อยมลพิษสูงร้อยละ 100 ตลอดปี และกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการฟุ้งกระจายของฝุ่น เช่น โรงงานที่ใช้หม้อน้ำ โรงงานที่ใช้ถ่านหิน โรงงานหลอมเหล็ก โรงงานผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ รวมทั้ง ควบคุมสถานประกอบการ เช่น กิจการผสมซีเมนต์ กิจการหลอมโลหะ อู่พ่นสีรถยนต์ กิจกรรมผลิตธูป


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.