• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  21 กุมภาพันธ์ 2568

ที่มา: https://www.naewna.com/business/863057

นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รักษาการผู้ว่าการ กนอ.เปิดเผยว่า ทิศทางและบทบาทของการนิคมอุตสาหกรรมในการขับเคลื่อน Green Transition หรือการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียว เพื่อสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ พร้อมรับมือกับความท้าทายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในยุคปัจจุบัน โดยการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียวเป็นแนวโน้มสำคัญของโลก ซึ่งภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวเพื่อลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ

ทั้งนี้ กนอ. ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลนิคมอุตสาหกรรม มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านนี้ โดยการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในโรงงานอุตสาหกรรม และจัดหาโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับพลังงานทดแทนให้กับผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ทั้งนี้ เทคโนโลยีสีเขียว (Green Technology) เป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร เช่น การใช้ระบบจัดการพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy Management) และการรีไซเคิลของเสียในกระบวนการผลิต ปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งได้เริ่มปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้ เช่น การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ การใช้ระบบบำบัดน้ำเสียแบบปิด และการส่งเสริมการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Production)

นายสุเมธ กล่าวว่า นิคมอุตสาหกรรม กำลังปรับตัวเพื่อเป็นศูนย์กลางการผลิตที่ยั่งยืน โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีสีเขียว พร้อมส่งเสริมให้ผู้ประกอบการลดการใช้พลังงานฟอสซิล และเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน ขณะเดียวกัน กนอ. ยังสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสีเขียว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็น Carbon Neutral หรือ Zero Emission ในอนาคตอันใกล้


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  20 กุมภาพันธ์ 2568

ที่มา : www.77kaoded.com (https://www.77kaoded.com/news/mr-somroj-sumranchararat/14868)

             สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 9 ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่ยมที่ มย.2 (ผาอิง) ตำบลสะเอียบ อำเภอสองอำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีนายดุลยธรรม ทวิชสังข์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 9 นายเพลิน ขวัญนาค ผู้แทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 นายปรีชา โตมี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่ นายวีรพล กึกก้อง ผู้แทนสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 แพร่ ถ่ายก้องไมตรี เทศสูงเนิน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยม นายณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ นายวิชา นรังศรี ประธานมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ และนายศุภชัย บุญทิพย์ นายอำเภอสอง ร่วมกิจกรรม โดยมี นายชัยสิทธิ์ ชัยสัมฤทธิ์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธาน

ในกิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นการรณรงค์ให้ความรู้ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศของประเทศไทยและของโลก การรับรู้ความเสื่อมถอยของระบบธรรมชาติพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่หมดไปกับการพัฒนา ทำอย่างไรจะช่วยกันฟื้นฟูป้องกันให้พื้นที่ชุ่มน้ำยังคงอยู่ต่อไป นอกจากนั้นยังมีนิทรรศการการจัดการขยะ การปลูกผักอินทรีย์ในชุมชน พร้อมทั้งการแสดงของชนเผ่าพื้นเมือง อาทิ ชุมชนชาวอาข่าบ้านแม่พร้าว

นางสาวจิรัชญา จันทร์คำ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ ทรัพยากรน้ำที่ 2 แพร่ สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 9 กรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการสร้างจิตสำนึก ในการปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำตามคอนเซ็ป ประจำปี 2568 “การปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่ออนาคตของเรา” ซึ่งมีทุกภาคส่วนให้ความสำคัญมาร่วมงานรวมทั้งเด็กเยาวชนในพื้นที่โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติแม่ยม แบ่งพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติ

นายวิชา นรังศรี ประธานมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย กล่าวว่าทางมูลนิธิมีการสำรวจทรัพยากรชีวภาพมีความหลากหลายในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศ นำกลับมาวิเคราะห์พบว่า พื้นที่ชุ่มน้ำมันหลายแห่ง ถูกคุกคามทำให้คุณภาพน้ำลดลงจำนวนมากสาเหตุหลักๆประการแรกคือการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ริมน้ำ ที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง 2.อุตสาหกรรมทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนมลพิษ 3.สิ่งกีดขวางลำน้ำจากโครงการก่อสร้างของรัฐเป็นปัญหาต่อการขยายพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำหลายชนิด และอีกประการคือการจับสัตว์น้ำที่ใช้เครื่องมือไม่เหมาะสมรวมทั้งภัยแล้งที่เป็นปัญหาใหญ่ทำให้ระบบนิเวศคุณภาพลดลง เกิดการพังทลายของหน้าดินไหลลงแหล่งน้ำเป็นตะกอนทับถมทำให้เกิดปัญหากับแหล่งน้ำนี่คือปัญหาใหญ่ๆ และโดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำในอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1000 เมตรเป็นแหล่งที่อยู่สำคัญของนกยูง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้น่าจะถูกยกระดับให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  19 กุมภาพันธ์ 2568

ที่มา https://www.posttoday.com/ai-today/719695

รถเก็บขยะ ถือเป็นยานพาหนะสำหรับลำเลียงขยะถูกทิ้งจากการใช้ชีวิตของผู้คนออกจากแหล่งชุมชน เป็นส่วนสำคัญและส่งผลโดยตรงต่อระบบจัดการขยะภายในเมือง ด้วยเหตุนี้นวัตกรรมที่นำมาใช้งานกับรถเก็บขยะจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะเมืองสมัยใหม่ที่ต้องการผลักดันให้เป็นเมืองอัจฉริยะ

ผลงานนี้เป็นของบริษัท Oshkosh Corporation กับการพัฒนา McNeilus Volterra ZFL รถเก็บขยะอัจฉริยะรุ่นล่าสุดของทางบริษัท ตัวรถอยู่ในรูปแบบรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ พร้อมแขนกลสำหรับใช้ในการยกถังขยะเทเข้ามาในตัวรถ ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยไม่ต้องลงจากกรถแม้แต่ก้าวเดียว

ปัจจุบันรถเก็บขยะอัจฉริยะ McNeilus Volterra ZFL ได้รับการเปิดตัวไปแล้วก็จริงแต่ยังไม่มีการเปิดเผยข้อมูลวันวางจำหน่าย คงต้องรอดูกันต่อไปว่ารถยนต์คันนี้จะถูกนำมาใช้งานจริงเมื่อใด แต่เมื่อวันนั้นมาถึงคาดว่ารถเก็บขยะอัจฉริยะนี้จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่เจ้าหน้าที่เก็บขยะอีกมาก


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  18 กุมภาพันธ์ 2568

ที่มา: https://www.naewna.com/local/862214

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ข้อมูลจากรายงาน Climate Risk Index 2025 โดย Germanwatch จัดอันดับประเทศเสี่ยงสูงด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาวในช่วง 30 ปี (1993 – 2022) โดยประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 30 ลดลงจากอันดับ 9 เทียบกับ 4 ปีที่แล้ว (ช่วงปี 2000 – 2019) แต่ยังต้องเตรียมพร้อมตั้งรับและปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนภายใต้ภาวะโลกเดือดอย่างต่อเนื่อง

สาเหตุที่อันดับของประเทศไทยลดลงอย่างมาก มาจากหลายปัจจัย เช่น ตลอดช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศอื่น ๆ เผชิญกับความสูญเสียและความเสียหายจากภัยพิบัติทางสภาพอากาศที่รุนแรงกว่า สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยลดลงเนื่องจากการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับปรุงวิธีการประเมินดัชนีความเสี่ยง ซึ่งเพิ่มตัวชี้วัดจำนวนประชากรที่ได้รับผลกระทบ และปรับเปลี่ยนช่วงระยะเวลาที่นำมาใช้ในการประเมินดัชนีความเสี่ยงด้านสภาพภูมิอากาศระยะยาว จากเดิม 20 ปี เป็น 30 ปี

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช กล่าวทิ้งท้ายว่า ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ติดอันดับต้น ๆ ของประเทศที่มีความเสี่ยงสูงแล้ว ประเทศไทยจะยังคงเผชิญกับผลกระทบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น อุณหภูมิที่สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงฤดูร้อน ภัยแล้ง ปริมาณฝนที่ตกหนักผิดปกติ จนส่งผลให้เกิดน้ำท่วม ดินถล่ม เป็นต้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเตรียมความพร้อมรับมือและการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยและคนไทยมีภูมิคุ้มกันต่อภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ท่ามกลางภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคต


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  17 กุมภาพันธ์ 2568

ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังกลายเป็นความท้าทายระดับโลก การเข้าใจและจัดการคาร์บอน ฟุตพริ้นท์ถือเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินชีวิตและการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นผลลัพธ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จากกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การใช้พลังงาน การขนส่ง และกระบวนการผลิต ตั้งแต่กิจวัตรประจำวันของบุคคล ไปจนถึงการดำเนินงานในระดับองค์กร ทุกการกระทำล้วนมีผลต่อคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จึงเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการลดและชดเชย เพื่อสร้างความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม

การปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์เกิดจากกิจกรรมหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ การจัดงาน และการ ใช้ชีวิตประจำวัน ในภาคธุรกิจ การใช้พลังงาน การขนส่ง และการผลิต ล้วนเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิด ก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้ไฟฟ้าในสำนักงานหรือโรงงาน การเดินทางเพื่อธุรกิจ และการขนส่งสินค้า หรือแม้แต่ การจัดงาน เช่น งานสัมมนา หรืองานแสดงสินค้า ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนจากพลังงานที่ใช้ รวมถึงการเดินทางของผู้ร่วมงาน และปริมาณขยะที่เกิดขึ้น หรือแม้แต่กิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้รถยนต์ การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า หรือการบริโภคอาหาร โดยเฉพาะ เนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม ซึ่งมีการใช้พลังงานสูง ในกระบวนการผลิตและขนส่ง ก็ล้วนส่งผลต่อคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทั้งสิ้น ซึ่งการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์สามารถทำได้หลายวิธี เช่น การปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทน สนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่ง ในชีวิตประจำวันการปิดไฟเมื่อไม่ใช้งาน ใช้ขนส่งสาธารณะ หรือบริโภคอาหารที่ผลิตในท้องถิ่นสามารถช่วยลดผลกระทบได้อีกแนวทางที่สำคัญคือการชดเชยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon..Offset)..ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสนับสนุนโครงการที่ช่วย ดูดซับคาร์บอน เช่น การปลูกป่า หรือการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน ถือเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการจัดการคาร์บอนส่วนที่ไม่สามารถลดได้

สำหรับบางจากฯ การจัดงานแบบ “ปลอดคาร์บอน” หรือ Carbon Neutral Event สะท้อนความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม การประเมินการปล่อยคาร์บอนครอบคลุมตั้งแต่การใช้พลังงานในงาน การเดินทางของผู้เข้าร่วม ไปจนถึงปริมาณขยะที่ เกิดขึ้น วิธีลดผลกระทบมีตั้งแต่การใช้อุปกรณ์รีไซเคิล การลงทะเบียนออนไลน์ การจัดรถรับส่ง ไปจนถึง การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ซ้ำได้ นอกจากนี้ยังมีการชดเชยคาร์บอนผ่านคาร์บอนเครดิตจากหน่วยงานที่ได้รับ การรับรองตั้งแต่ปี 2564 บางจากฯ ได้รับรองการประชุมสามัญ ผู้ถือหุ้นประจำปีเป็น Carbon Neutral Event โดย ลดการใช้พลังงาน บริหารทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ และชดเชยคาร์บอนที่เหลือผ่านคาร์บอนเครดิต

ที่มา : มติชน ออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/local/education/news_5047204)


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  16 กุมภาพันธ์ 2568

ที่มา https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9680000013051

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชน ที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อม ได้ทำโพลสำรวจปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนไทยให้ความสำคัญในปีที่ผ่านมา (2567) พบว่า 3 อันดับแรกที่คนไทยห่วงด้านสิ่งแวดล้อม คือ ปัญหาโลกร้อน รองมาคือปัญหาขยะมูลฝอยที่จัดการไม่ถูกต้อง ปัญหา PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และประเด็นการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มาเป็นอันดับ 4 ขณะที่ผลสำรวจคนไทยมองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมในทุกประเด็น เป็นเรื่องที่เชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน ซึ่งหากไม่ได้รับความร่วมมือในการแก้ไขก็จะส่งผลต่อการจัดการทรัพยากรทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

ผู้ตอบแบบสอบถามได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมทุกเรื่องเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน ดังนั้นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคน ไม่ใช่เพียงคนหนึ่งคน หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือหน่วยงานภาครัฐเท่านั้นเพราะหากลงมือทำโดยไม่ได้รับความร่วมมือก็ไม่สามารถจัดการและแก้ไขปัญหาได้ พร้อมมีข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาครัฐควรมีมาตรการจัดการเรื่องต่าง ๆ อย่างเข้มงวดและชัดเจน ตามลำดับความสำคัญของปัญหาบนพื้นฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  15 กุมภาพันธ์ 2568

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/foreign/2841177

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร เพื่อยุติการผลักดันการใช้หลอดกระดาษของรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน โดยให้ทุกคนกลับไปใช้หลอดพลาสติกอีกครั้ง

ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวซึ่งมีผลทันที จะส่งผลกระทบในหลายรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีการห้ามหรือจำกัดหลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น แคลิฟอร์เนีย โคโลราโด นิวยอร์ก เมน ออริกอน เวอร์มอนต์ โรดไอแลนด์ และวอชิงตัน โดยเฉพาะรัฐที่พรรคเดโมแครตเป็นแกนนำอย่างแคลิฟอร์เนียและนิวยอร์ก ซึ่งมีกฎหมายจำกัดการใช้หลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในร้านอาหารอย่างเข้มงวด ยกเว้นแต่ลูกค้าจะร้องขอเท่านั้น

คาดว่าการยกเลิกมาตรการหลอดกระดาษน่าจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมน้ำมัน เนื่องจากพลาสติกเกือบทั้งหมดทำจากผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซึ่งทรัมป์ได้มุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมดังกล่าวเพื่อเป็นเงินทุนในการเลือกตั้งใหม่ โดยสัญญาในระหว่างการหาเสียงว่าจะยกเลิกกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมหลายด้าน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  14 กุมภาพันธ์ 2568

ที่มา : มติชน ออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/local/education/news_5047204)

รศ.ดร. ชลวิทย์ เจียรจิตต์ รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เปิดเผยว่า เนื่องในเทศกาลวันแห่งความรัก (Valentine’s Day) ว่า “ปัจจุบันสังคมโลกเปลี่ยนไปสู่ความเป็นสากลและมีสื่อดิจิทัล เทคโนโลยีที่ก้าวล้ำทันสมัย ทำให้การแสดงออกหรือการสื่อถึงความรักของคนไม่ว่าจะเป็นหนุ่มสาวเด็กวัยรุ่นหรือเพศต่างๆเปลี่ยนไปด้วย มีการใช้สื่อดิจิทัลมากขึ้น เพราะประหยัดค่าใช้จ่ายรวดเร็วและทันสมัย ขณะที่การให้ดอกกุหลาบแดงให้การ์ดก็อาจจะยังมีอยู่ เมื่อบริบทของความรักเปลี่ยนไปก็อยากให้มองเรื่องของความรัก 3 รูปแบบ คือ บริบทของพ่อแม่ที่อยากให้เข้าใจลูกให้ความรักกับลูกไม่ว่าลูกจะดีความแตกต่างทางเพศหรือสูงต่ำดำขาว สวยไม่สวย หล่อไม่หล่อ ก็รักและยอมรับลูกได้ ประการที่สอง บริบทของเพื่อนพี่น้องคนรอบข้างที่อยากให้ยอมรับ และให้ความรักต่อกันประการที่สาม ที่สำคัญมากคือความรักโลกและรับผิดชอบต่อสังคมโลกใบนี้ของพลเมืองโลกเพื่อก่อให้เกิดสันติสุขร่วมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรักษ์โลก รักสิ่งแวดล้อม ความรักในรูปแบบนี้เป็นความรักที่ยั่งยืน สากล ก่อให้เกิดความปกติสุข ความมั่งคั่งและยั่งยืนของสังคมได้ เหมือนแนวคิดของ มศว. L-O-V-E-S ว่าเราอยากเห็นสังคมโลกที่น่าอยู่ มีความรักต่อเพื่อนมนุษย์ เห็นอกเห็นใจ ให้โอกาส ใส่ใจต่อเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการทำสิ่งที่ดีที่เจริญให้กับสังคมของเรา


© 2025 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.