• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  16 เมษายน 2567

ที่มา https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2775786

ขยะพลาสติกเป็นปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย และหนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดขยะพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อม คือ การไม่คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง การทิ้งขยะพลาสติกกระจัดกระจาย ก่อให้เกิดปัญหาการอุดตันตามท่อระบายน้ำ ขยะลอยในแม่น้ำลำคลอง บางส่วนไหลลงสู่ทะเล

“ฝาพลาสติก” เป็นหนึ่งใน 5 อันดับแรกของขยะที่พบมากที่สุดบนชายหาดทั่วโลก เพราะ “ฝาขวด” มักถูกทิ้งไว้กระจัดกระจาย ไม่ได้ติดอยู่กับตัวขวด ทำให้ยากต่อการเก็บรวบรวม โออิชิ กรีนทีในฐานะผู้ผลิต จึงมีความมุ่งมั่นร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว ด้วยการสร้างสรรค์ฝาขวด PET ดีไซน์ใหม่ หรือฝาขวดรักษ์โลก ที่ติดอยู่กับขวด เพื่อลดการทิ้งขยะแยกชิ้น

โดยได้ตั้งเป้าเปลี่ยนฝาขวดดีไซน์ใหม่กับผลิตภัณฑ์ทุกรสชาติและทุกขนาด ประเดิมในไตรมาส 2/2567 ซึ่งเราหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งก้าวของการสร้างความยั่งยืนให้กับโลก และเชื่อว่าจะสร้างประสบการณ์การดื่มที่ดีขึ้นให้กับผู้บริโภค เพราะเมื่อเปิดขวดแล้ว ฝาขวดยังคงอยู่กับขวด โดยไม่ต้องแยกถือขวดกับฝา


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  15 เมษายน 2567

ที่มา: https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_274831

กรมประมง ได้จัดตั้งโครงการ “ขยะคืนฝั่ง ทะเลสวยด้วยมือเรา” ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดติดทะเลจำนวน 23 จังหวัด และได้นำหลักโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model มาประยุกต์ใช้ผ่านกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ภายใต้การมีส่วนร่วมของชาวประมง องค์กรชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ปัญหาขยะทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมประมงได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะ ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับประเทศที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือและให้ความสำคัญ เนื่องจากส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการประกอบอาชีพการทำการประมง โดยการนำแนวคิดไม่สร้างขยะในท้องทะเลและการเก็บขยะในท้องทะเลมาแปลงเป็นทุน สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ปลูกจิตสำนึกและส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์ ถ่ายทอดความรู้ถึงปัญหาที่มาของขยะในทะเลและวิธีจัดการกับขยะอย่างถูกต้องเพื่อเป็นการแก้ปัญหาขยะทะเลได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการให้ความสำคัญในพัฒนาการประมงด้วยหลักโมเดลเศรษฐกิจ BCG Model การใช้ประโยชน์ทรัพยากรประมงและสิ่งแวดล้อมอันอุดมสมบูรณ์ของไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการเกษตรที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รวมทั้ง Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 และ แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2563 – 2565 เพื่อร่วมกันนำขยะขึ้นมาจากทะเลและนำไปกำจัด สร้างการตระหนักรู้ และการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน อันจะทำให้ทะเลไทย เป็น “ทะเลสะอาด”

โดยล่าสุด กรมประมงร่วมกับสมาคมประมงบ้านแหลม ชาวประมงพาณิชย์จังหวัดเพชรบุรี และภาคเอกชนผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ได้มีการขยายผลนำขยะทะเลที่เก็บได้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยมีกรรมวิธีผลิตด้วยการหลอมแปรรูปขยะเป็นเส้นใยรีไซเคิลผสมกับเส้นใยอื่น จากนั้นนำไปถักทอขึ้นรูปใหม่เป็นเสื้อ โดยเสื้อ 1 ตัวผลิตจากขยะขวดพลาสติกจำนวน 8.5 ขวด ซึ่งเป็นขยะพลาสติกที่ถูกเก็บรวบรวมจากทะเล สอดรับแนวคิดในการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนสูงสุด เปลี่ยนขยะให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่า ลดขยะพลาสติกและลดโลกร้อน ผลักดันให้ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ขยายออกไปในวงกว้าง ด้วยแนวคิด “Extended Producer Responsibility (EPR)” คือ การขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตครอบคลุมตลอดห่วงโซ่วงจรผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ผลิตไปจนถึงขั้นตอนหลังการบริโภค


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  14 เมษายน 2567

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/local/2777281

“เราสามารถนำของเหลือใช้อย่างแกลบและขยะโซลาร์เซลล์มาทำให้เป็นวัสดุขั้วไฟฟ้า ที่มีชื่อว่า นาโนซิลิกอน ในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนได้ บ้านเรามีแกลบเป็นของเหลือทิ้งทางการเกษตรปริมาณมหาศาล แต่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมมูลค่าไม่สูงมาก แถมมูลค่าเหล่านั้นไม่ได้คืนกลับสู่เกษตรกรแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีขยะโซลาร์เซลล์ ที่หมดอายุการใช้งานราว 4,000 ตัน ในปี 2565 คาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าขยะโซลาร์เซลล์จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงหลักล้านตัน และบ้านเราไม่มีกระบวนการนำโซลาร์เซลล์ที่พังมารีไซเคิลเป็นแผงโซลาร์เซลล์ใหม่ หรือผลิตเป็นอย่างอื่น เพราะมองว่าต้นทุนสูง ไม่คุ้มที่จะลงทุน ที่ผ่านมาจึงกำจัดด้วยการทิ้งในหลุมฝังกลบแทบทั้งหมด เมื่อฝนตกน้ำท่วม สารเคมีที่อยู่ในนั้นก็อาจจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมได้”

รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง อาจารย์สาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ผู้อำนวยการโรงงานแบตเตอรี่และพลังงานยุคใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกถึงโครงการที่ได้รับรางวัลชนะเลิศด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ประเภทหน่วยงานภาครัฐ จากรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2566 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ที่สามารถนำ “แกลบ” และ “ขยะโซลาร์เซลล์” เข้าไปยืนในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯในอีกไม่ถึง 10 ปีนี้

รศ.ดร.นงลักษณ์ อธิบายต่อไปว่า แบตเตอรี่มีส่วนประกอบสำคัญและมีมูลค่าสูงอยู่ 2 ส่วน คือ ขั้วไฟฟ้าฝั่งขั้วบวก หรือแคโทด (Cathode)..ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นสารประเภทลิเทียม ขั้วไฟฟ้าฝั่งขั้วลบ หรือแอโนด (Anode) มีองค์ประกอบเป็นสารประเภทกราไฟท์และซิลิกอน ปัจจุบันผู้ผลิตแบตเตอรี่รายใหญ่ของประเทศไทยยังนำเข้าวัสดุเคมีภัณฑ์ทั้งขั้วบวกและขั้วลบจากต่างประเทศ 100% เพราะบ้านเราไม่มีเหมืองแร่เหมือนออสเตรเลีย และอเมริกาใต้ ซึ่งขั้นตอนกว่าจะได้วัสดุเคมีภัณฑ์ประเภทซิลิกอนมานั้น ต้องดูดทรายจากทะเลมาเผาด้วยอุณหภูมิกว่า 2,000 ๐C..หรือขุดภูเขาหาแร่ควอตซ์ การทำเหมืองจึงจัดเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง หากไทยมีวัสดุที่จะช่วยให้การผลิตแบตเตอรี่เกิดขึ้นได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แถมยังช่วยลดการเกิดขยะให้กับโลก ก็ถือเป็นตัวเลือกที่ควรได้รับการพัฒนา ทั้งนี้ โซลาร์เซลล์ 1 แผงจะมีซิลิกอนประมาณ 1 กก. ส่วนแกลบก็เป็นพืชที่มีส่วนผสมของซิลิกอน สูงที่สุดในบรรดาพืชทั้งหมดที่เรามี ดังนั้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนาขึ้น จะเป็นการสกัดวัสดุที่ชื่อว่า “นาโนซิลิกอน” จากแกลบและแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อใช้ผลิตเป็นขั้วลบในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ซึ่งการเอาแกลบมาทำเป็นนาโนซิลิกอนจะใช้อุณหภูมิในการเผาต่ำกว่า 600­-700 ๐C..น้อยกว่าการใช้พลังงานในอุตสาห กรรมการผลิตแร่รูปแบบเหมืองหลายเท่าตัว เพราะการทำเหมืองมันคือการขุด เผา ล้าง และทำลาย จึงส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง ต่างจากนาโนซิลิกอนที่ได้จากแกลบและขยะโซลาร์เซลล์ ซึ่งนอกจากจะมีประสิทธิภาพมากกว่าวัสดุนาโนซิลิกอนรูปแบบเดิมแล้วยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีกระบวนการสังเคราะห์ที่ง่ายกว่า คนผลิตได้รับความเสี่ยงจากอันตรายที่ต่ำกว่า จึงช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับประเทศไปได้หลายเท่า ปัจจุบันนาโนซิลิกอนจากแกลบและแผงโซลาร์เซลล์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นพัฒนาขึ้น ถูกใช้เป็นวัสดุขั้วลบในแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่สามารถรองรับการทำงานได้หลากหลาย ทั้งกลุ่มอุปกรณ์พกพา กลุ่มการเดินทางและขนส่ง และกลุ่มกักเก็บพลังงาน ซึ่งแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่มีซิลิกอนเข้าไปเป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตจะมีจุดเด่นตรงที่น้ำหนักเบา เก็บพลังงานความจุไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 15 ทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ชนิดนี้ มีระยะการขับเคลื่อนได้ไกลกว่าเดิม ลดโอกาสการระเบิด ปลอดภัยกว่าวัสดุที่ใช้ในท้องตลาดทั่วไป และรองรับการชาร์จเร็วกว่าเดิม 4 เท่า


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  13 เมษายน 2567

ที่มา https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/849166

ปัญหาสิ่งแวดล้อมไทยยังน่าห่วง ทั้งโลกเดือด และไฟป่า ฝุ่นควัน ล่าสุดน่าห่วงสถานการณ์ทะเลเดือด-รวน พร้อมเร่งหาสาเหตุหญ้าทะเลตายทั้งอ่าวไทย-อันดามัน เกิดจากเขื่อน หรือโลกร้อน เผยสำรวจพะยูนพบแค่ 70-80 ตัว จากที่เคยเชื่อว่ามี 200 กว่าตัว

ล่าสุดจากการประเมินก่อนหน้านี้ว่ามีพะยูน 200 กว่าตัว แต่ล่าสุดจากการใช้โดรนบินลาดตระเวนทุกจังหวัดผลออกมาเราเจอพะยูนประมาณ 70-80 ตัวเท่านั้น ดังนั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วงว่าสิ่งที่คิด และเชื่อมั่นว่าเมื่อ 2-3 ปียังเห็นอยู่เลย จ.ตรัง ที่มีสัญลักษณ์เป็นพะยูน ตอนนี้อาจจะไม่ใช่แล้ว อาจจะไม่เหลืออีกต่อไป ถ้าไม่ทำอะไรเลย ซึ่งเรื่องนี้ต้องมาทำการสำรวจใหม่ทั้งหมด

นอกจากนี้ในภาคเหนือในเรื่องไฟป่าน่าเป็นห่วง ตั้งแต่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ขึ้นไปถึงภาคเหนือตั้งแต่ จ.เชียงใหม่ เชียงราย ทำให้เกิดภาวะฝุ่นควันอย่างหนัก รวมทั้งการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน และวิธีแก้ฝุ่นทำอย่างอื่นไม่ได้นอกจากต้องใช้ฝนหลวงอย่างเดียว ฝนหลวงก็ต้องใช้ความชื้น ถ้าความชื้นไม่ถึง 50% ก็ทำฝนหลวงไม่ได้

ปัญหาดังกล่าวได้ทับถมเป็นปัญหาซ้อนปัญหา พอฝุ่นเกิดขึ้นมาก จ.เชียงใหม่ ที่เป็นแอ่งกระทะ ฝุ่นก็กักอยู่อย่างนั้นซึ่งฝุ่นเกิดทั้งจากไฟป่า การเผาไหม้ทางการเกษตร หรือเกิดจากประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาบางครั้งการจะเปลี่ยนแปลงได้ต้องเริ่มจากจุดเล็กๆ คือตัวเองก่อน เพื่อให้เกิดความยั่งยืน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  12 เมษายน 2567

ที่มา: https://mgronline.com/qol/detail/9670000031192

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ตอกย้ำการเป็นองค์กรชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงรุก สู่การปฏิบัติร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม จับมือ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (DCCE) เตรียมเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติหลักสูตรการจัดการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล 14 – 15 พฤษภาคมนี้ ณ โรงแรมดิ อิมเพรส น่าน จังหวัดน่าน และระบบออนไลน์ Zoom

ธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเสาหลักด้านเศรษฐกิจของประเทศที่สามารถเพิ่มมูลค่า GDP และนำมาซึ่งรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก พร้อมทั้งเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งจังหวัดน่านซึ่งจัดว่าเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูงและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ โดยศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เลือกให้จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการจัดการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล โดยผู้ประกอบการโรงแรมและที่พัก และผู้สนใจจะได้รับความรู้ อาทิ โอกาสจากการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการท่องเที่ยว และการระดมความคิดเห็นและการฝึกปฏิบัติการท่องเที่ยวคาร์บอนนิวทรัลที่จังหวัดน่าน

สำหรับการจัดการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล (Carbon Neutral Tourism) คือ การท่องเที่ยวที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ของภาครัฐ ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อลดผลกระทบจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการท่องเที่ยวรูปแบบดังกล่าวจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจของประเทศ และภาพลักษณ์ของประเทศ ใน 6 ด้าน คือ 1) ด้านการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 2) ด้านการสร้างการรับรู้และตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3) ด้านการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว 4) ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการสร้างภาพลักษณ์ 5) ด้านการสร้างโอกาสและการต่อยอดให้กับผู้ประกอบการและชุมชน และ 6) ด้านการดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  11 เมษายน 2567

ที่มา : mcot.net  (https://www.mcot.net/view/464XyVWf)

วช. แถลงข่าวเปิดตัว “การขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ครั้งที่ 1”

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานแถลงข่าวการขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ครั้งที่ 1 เพื่อประเมินผลผลิตผลลัพธ์ ผลกระทบของโครงการวิจัย วิเคราะห์ และขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การนำไปใช้ประโยชน์จริง โดย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ผู้อำนวยการแผนงานศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการ และ ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม วช. กล่าวสรุปการแถลงข่าว ณ ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการในรูปแบบภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดผลสำเร็จ นำส่งสู่ผู้ใช้ประโยชน์ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “ศูนย์ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์งานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” เพื่อใช้เป็นกลไกการดำเนินงานในส่วนขยายผลงานวิจัย โดยการประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรมการติดตาม หลังโครงการเสร็จสิ้น ทำให้เห็นภาพรวมผลสำเร็จของงานวิจัยในมิติที่กว้างขึ้น ขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่มือผู้ใช้ประโยชน์ โครงการวิจัยที่สามารถขับเคลื่อนขยายผลสู่การนำไปใช้ประโยชน์จริงทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผลงานวิจัยที่มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ผลงานวิจัยที่มีผู้แสดงเจตจำนงนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และผลงานวิจัยที่มีการใช้ประโยชน์ในระดับนโยบายรศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ผู้อำนวยการแผนงานศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ กล่าวถึง แผนงานวิจัยศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. เพื่อประเมินผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบของโครงการวิจัย และขับเคลื่อนขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในกลุ่มเป้าหมายภาคส่วนต่าง ๆ นั้น โดยระยะแรกได้ดำเนินการประเมินโครงการวิจัยที่ได้รับทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2557 – 2563 จำนวนรวมทั้งสิ้น468 โครงการ ในเบื้องต้นพบว่ามีโครงการวิจัยที่สามารถขับเคลื่อนขยายผลสู่การนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างเป็นรูปธรรม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 โครงการวิจัยที่มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยจัดตั้งธุรกิจเริ่มต้น และผลิตผลิตภัณฑ์จำหน่ายในท้องตลาดอย่างต่อเนื่องหรือผลิตเพื่อทดสอบตลาด กลุ่มเรื่องที่ 2 โครงการวิจัยที่มีผู้แสดงเจตจำนงนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ กลุ่มเรื่องที่ 3 โครงการวิจัยที่มีการใช้ประโยชน์ในระดับนโยบายโดยมีการประกาศใช้แล้ว


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  10 เมษายน 2567

ที่มา https://www.seub.or.th/bloging/news/global-news/2024-92/

ท่ามกลางการพัฒนาของมนุษย์อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ได้สร้างภัยเงียบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ผกผันไม่เสถียร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ที่ดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้มากกว่าหลายล้านปีหรือมากกว่านั้น

การศึกษาล่าสุดได้เน้นย้ำถึงอนาคตอันหายนะของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ได้เผยให้เห็นความหลากหลายทางชีวภาพที่ใช้เวลาวิวัฒนาการหลายล้านปีนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกทำลายอย่างถาวร เช่น ในปี 2022 ปลาฉลามปากเป็ดจีน (Chinese Paddlefish) ที่มีการวิวัฒนาการมากกว่า 190 ล้านปีหนึ่งในปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีถิ่นกําเนิดในแอ่งแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำฮวงโหของจีนได้รับการประกาศว่าสูญพันธุ์

ผลการศึกษาล่าสุดนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในความพยายามที่จะวางแผนการอนุรักษ์ในอนาคต การรวบรวมข้อค้นพบเหล่านี้เข้ากับกรอบความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกของสหประชาชาติ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะป้องกันแนวโน้มการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพภายในปี 2030  ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปกป้องประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกของเรา

เพื่อจัดการกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น จำเป็นต้องมีแนวทางหลายแง่มุม แนวทางนี้ควรเกี่ยวข้องกับการสร้างพื้นที่คุ้มครองมากขึ้น การบังคับใช้กฎระเบียบด้านการประมงและการล่าสัตว์ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และการส่งเสริมแนวทางปฏิบัติในการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน การศึกษาและความตระหนักรู้มีความสำคัญเท่าเทียมกัน เนื่องจากสามารถช่วยสร้างการสนับสนุนจากสาธารณะสำหรับโครงการริเริ่มด้านการอนุรักษ์ได้

ขณะที่เรายืนอยู่บนทางแยก การตัดสินใจของเราในวันนี้จะเป็นตัวกำหนดมรดกของเราสำหรับคนรุ่นอนาคต ระหว่างโลกที่ปราศจากมรดกทางธรรมชาติ หรือโลกที่สิ่งมีชีวิตในความหลากหลายอันน่าทึ่งยังคงเจริญรุ่งเรือง


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  9 เมษายน 2567

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/local/2776842

พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ทส. ร่วมประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะภายใต้หุ้นส่วนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระหว่างองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยมี Mrs. Armida Salsiah Alisjahbana รองเลขาธิการสหประชาชาติ และเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ สำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) Mrs. Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน

พล.ต.อ. พัชรวาท กล่าวต่อว่า ทส. มีนโยบายในการขับเคลื่อนการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างยั่งยืน เพราะปัญหาขยะกลายเป็นวิกฤติสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก การกำจัดขยะมูลฝอยของประเทศไทย พบว่ามีขยะอินทรีย์เป็นสัดส่วนมากที่สุด ส่วนขยะรีไซเคิลหากมีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากจะสามารถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย ทส. จึงมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและข้อมูลด้านวิชาการสนับสนุนการทำงานของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เกิดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและนำขยะต่าง ๆ ที่ถูกคัดแยกไปใช้ประโยชน์ใหม่ มุ่งสู่การสร้างสังคมขยะเหลือศูนย์

ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้เป็นการเน้นย้ำการสร้างชีวิตที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดสำหรับทุกคน การจัดตั้งธนาคารขยะในระดับประเทศถือเป็นก้าวสำคัญที่สามารถขยายไปสู่การมีส่วนร่วมขององค์กรอื่น ๆ ให้เข้ามาร่วมมือสนับสนุนให้เกิดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างเป็นระบบครบวงจร ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับสาธารณชนทุกภาคส่วน


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.