• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม  12 ตุลาคม 2567

คีล (Kiel) เป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของรัฐชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ (Schleswig-Holstein) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเยอรมนี โดยมีประชากรประมาณ 247,700 คน (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565) (European Parliament election, 2024) เป็นเมืองที่มีบริเวณติดทะเลจึงเป็นเมืองท่าที่พลุกพล่านและสำคัญแห่งหนึ่งของเยอรมนี นอกจากนั้น ยังเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในด้านอุตสาหกรรมการต่อเรือ และกิจกรรมการแข่งขันเรือใบที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงกลางเดือนมิถุนายน นอกจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมืองคีลแล้ว เมืองแห่งนี้ยังได้รับการรับรองว่าเป็นเมืองปลอดขยะแห่งแรกของเยอรมนี โดยได้รับ Zero Waste Cities Certification ซึ่งเป็นมาตรฐานของสหภาพยุโรปที่ให้การรับรองโดยเครือข่าย Zero Waste Europe เพื่อช่วยขับเคลื่อนเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคในการจัดการปัญหาขยะและนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้อย่างจริงจัง                    เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองปลอดขยะ เมืองคีลได้มีการกำหนดและบังคับใช้มาตรการจัดการขยะจำนวนถึง 107  มาตรการ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 โดยมีเป้าหมายที่จะลดขยะให้ได้โดยเฉลี่ยต่อคน ร้อยละ 15 ภายในปี พ.ศ. 2578 รวมถึงตั้งเป้าจะลดขยะครัวเรือนและจากกิจการพาณิชย์ให้ได้ครึ่งหนึ่ง พร้อมกำหนดว่าจะสร้างขยะเพียง 50 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ตัวอย่างมาตรการที่มีการนำมาใช้ อาทิ การแจกเงินจำนวน 210 ดอลลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้จ่ายในการซื้อผ้าอ้อมที่ทำจากผ้าธรรมชาติแทนผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ใช้แล้วทิ้ง การแจกถุงบรรจุผักและผลไม้ที่สามารถใช้ซ้ำได้ในการจัดงานต่าง ๆ ของเมือง การยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียว การใช้ระบบ pay-as-you-throw ที่คิดค่าจัดการขยะครัวเรือนตามนำหนักขยะที่ทิ้ง การนำผมที่ตัดทิ้งจากร้านตัดผมมาใช้เป็นวัสดุกรองน้ำมันออกจากน้ำ การสนับสนุนการจัดงานในรูปแบบ sustainable events ที่ห้ามการใช้ช้อนส้อมหรือที่บรรจุอาหารแบบใช้แล้วทิ้งในงานกิจกรรมสาธารณะ หรือการแบ่งบันอาหารที่เหลือจากงานกิจกรรมสาธารณะต่าง ๆ หรือจากร้านอาหารและครัวเรือนให้แก่ผู้ยากไร้ เพื่อลดปริมาณขยะอาหาร เป็นต้น                     ขยะเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก อันได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนวีถีชีวิตไปในแนวทางที่ไม่บริโภคนิยมจนเกินไปและมุ่งลดขยะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลกที่ต้องสร้างความสมดุลในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน 


 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม   11 ตุลาคม 2567   

     การพัฒนาเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทเป็นสังคมเมืองอย่างรวดเร็ว เมืองใหญ่กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และเทคโนโลยี โดย UN ระบุว่าในปี 2565 มากกว่าครึ่งของประชากรไทยจะอาศัยในเขตเมือง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 70% ภายในปี 2593 ซึ่งเมืองใหญ่ 5 อันดับแรกของประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา อุบลราชธานี เชียงใหม่ และขอนแก่น และด้วยความหนาแน่นของจำนวนประชากรและการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง จึงนำมาสู่การใช้ทรัพยากรเกินขีดความสามารถ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้ง เมืองที่ขยายตัวก่อให้เกิดขยะมหาศาล ทั้งจากการดำเนินชีวิตประจำวันและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หากขยะไม่ได้รับการจัดการที่ดี จะส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก โดยเฉพาะก๊าซมีเทนจากหลุมฝังกลบ โดยในปี 2566 กรุงเทพมหานคร เป็นลำดับแรกใน 5 เมืองใหญ่ ที่มีปริมาณขยะมูลฝอยสูงที่สุดถึงประมาณ 12,748 ตัน/วัน รองลงมาคือนครราชสีมา อุบลราชธานี เชียงใหม่ และขอนแก่น มีปริมาณขยะมูลฝอยประมาณ 2,588, 1,514, 1,475 และ 1,402 ตัน/วัน ตามลำดับ                    

     หลายเมืองใหญ่เริ่มนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการจัดการขยะ อาทิ การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste-to-Energy) รวมถึงการประยุกต์ใช้แนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการจัดการขยะไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายหรือเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน โดยเฉพาะการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางจากครัวเรือน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะที่จะถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบและเพิ่มประสิทธิภาพในการรีไซเคิลได้อย่างดี 

บทความนี้ขอยกตัวอย่างโครงการจัดการขยะต้นทางในกรุงเทพมหานครและขอนแก่น ดังนี้                    

     - “#ไม่เทรวม” โดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งเชิญชวนประชาชนเริ่มต้นคัดแยกขยะแบบง่าย ๆ ก่อนทิ้ง โดยให้แยกขยะทั่วไปหรือขยะแห้ง ลงในถุงดำ และเศษอาหาร ลงในถุงใสหรือถุงสีเขียว อีกทั้งรถขยะที่ใช้เก็บก็จะมีถังแยกสำหรับขยะเศษอาหารโดยเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจว่าขยะที่คัดแยกไว้แล้วจะไม่ถูกนำไปรวมกันอีกในปลายทาง การคัดแยกขยะจะช่วยให้จัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถส่งขยะไปจัดการถูกที่ เช่น ส่งขยะไปรีไซเคิล ผลิตปุ๋ยหมัก หรือใช้เป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) เป็นต้น                    

     - “ขอนแก่น Zero Waste” เป็นโครงการที่เทศบาลนครขอนแก่นร่วมมือกับชุมชน ภายใต้แนวคิด “ขยะเกิดที่ไหน กำจัดที่นั่น” เพื่อจัดการขยะอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นทาง โดยเน้นการคัดแยกขยะออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) ขยะอินทรีย์ ซึ่งจะนำไปทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ แล้วจึงแจกจ่ายให้แก่ชุมชน (2) ขยะรีไซเคิล รายได้จากการขายขยะจะนำเข้าสู่กองทุนฌาปนกิจที่เรียกว่า "กองทุนฌาปนกิจเปลี่ยนขยะเป็นบุญ" ซึ่งเมื่อสมาชิกเสียชีวิต จะมีการหักจากบัญชีคนละ 20 บาทเพื่อจ่ายให้กับครอบครัว (3) ขยะมูลฝอย มีการกำหนดวันที่รถเทศบาลจะมารับขยะและนำไปแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า และ (4) ขยะอันตรายและขยะติดเชื้อ มีถังและจุดทิ้งเฉพาะ เพื่อให้รถเทศบาลมาจัดเก็บและนำไปจัดการอย่างปลอดภัย โครงการดังกล่าวดำเนินการมานานกว่า 10 ปี จนชุมชนได้รับรางวัล “โครงการชุมชนปลอดขยะ Zero Waste” และเป็นต้นแบบเรียนรู้ด้านการจัดการขยะให้กับชุมชนอื่น ๆ                    

     การจัดการขยะต้นทาง ไม่ใช่เพียงแค่การลดปริมาณขยะ แต่ยังเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนให้หันมาคัดแยกขยะ การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการจัดการขยะ รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เมืองสามารถรับมือกับความท้าทายนี้ได้ในอนาคต เมืองใหญ่ที่เติบโตอย่างยั่งยืน คือ เมืองที่สามารถจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

"ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน"


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  10 ตุลาคม 2567

ที่มา https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000096095

World Ecolabel Day (วันฉลากสิ่งแวดล้อมโลก) ถูกกำหนดไว้คือวันพฤหัสบดีที่ 2 ของเดือนตุลาคม ซึ่งในปีนี้ (2024) ตรงกับวันที่ 10 ตุลาคม 2567 เป็นวันที่ทั่วโลกเฉลิมฉลองและตระหนักถึงความสำคัญของฉลากสิ่งแวดล้อม (Ecolabels) ในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการใช้ฉลากสิ่งแวดล้อมช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดผลกระทบทางลบต่อโลกและสิ่งแวดล้อมสำหรับประเทศไทย

ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะในเรื่องการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน

สำหรับอนาคตของฉลากสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย จะมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการผลักดันให้เกิดการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน การขยายตัวของตลาดสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการในประเทศอีกด้วย

สำหรับ 6 แนวคิดการพัฒนาฉลากสิ่งแวดล้อมในระดับโลก ได้แก่ 1.การตระหนักรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม 2.การตั้งฉลากแรก 3.การสร้างมาตรฐานสากล 4.การก่อตั้งเครือข่ายการรับรองคุณภาพสิ่งแวดล้อม 5.การเพิ่มขึ้นของความต้องการตลาด และ6.การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ

World Ecolabel Day นี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนามาตรฐานฉลากสิ่งแวดล้อมต่อไปเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในระดับประเทศและสนับสนุนให้ผู้บริโภคทั่วโลกเข้าใจถึงความสำคัญของการเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  9 ตุลาคม 2567

ที่มา: https://www.matichon.co.th/economy/news_4835702

ดร. สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรไทย และนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติแห่งราชอาณาจักรไทย (สทนช.)

สำหรับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านน้ำระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ให้มีประสิทธิภาพที่ครอบคลุมประเด็นด้านน้ำในเรื่องต่าง ๆ อาทิ การจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการและน้ำบาดาลเพื่อความยั่งยืน นโยบายด้านทรัพยากรน้ำ การป้องกันภัยพิบัติและระบบเตือนภัยล่วงหน้า การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการทรัพยากรน้ำข้ามพรมแดนภายใต้ผลประโยชน์ร่วมกัน การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติของทั้งสองประเทศผ่านกรอบความร่วมมือที่มีอยู่เดิมในอนุภูมิภาค รวมทั้งระบบสารสนเทศ การสร้างแบบจำลอง การจัดการและการใช้ข้อมูล และเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจและการเสริมสร้างศักยภาพในการจัดการทรัพยากรน้ำ เป็นต้น


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  8 ตุลาคม 2567

ที่มา : มติชนออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/court-news/news_4833608)

กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จพระราชดำเนิน เปิดงานวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 17วันนี้ 7 ตุลาคม 2567 เวลา 15.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดงานวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2567 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร โดยมี นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย คณะผู้บริหาร และข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข เฝ้ารับเสด็จฯ

นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กราบบังคมทูลรายงานว่ากระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานหลักในการอภิบาลระบบส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของใต้ฝ่าละอองพระบาทมาดำเนินงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มวัย กรมอนามัยได้จัดงานวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นประจำทุกปี กลุ่มเป้าหมายประกอบด้วย บุคลากรด้านสาธารณสุข นักวิชาการจากองค์กรต่างๆภาคีเครือข่ายจากทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี และประสบการณ์ สร้างแรงจูงใจในการดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ระหว่างเจ้าหน้าที่สาธารณสุขสหวิชาชีพ และภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้ง สร้างกระแสให้สังคมตระหนักและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อประชาชนสุขภาพดีในโอกาสนี้ ได้พระราชทานรางวัล Princess Health Award ให้กับบุคคลและองค์กรที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม จำนวน 3 รางวัล ดังนี้ 1) รางวัลบุคคลดีเด่นประเภทบริหาร ได้แก่ ศาสตราจารย์ เกียรติคุณ นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 2) รางวัลบุคคลดีเด่นประเภทวิชาการ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ภาสกร แช่มประเสริฐ รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารเมืองอัจฉริยะ และ3) รางวัลองค์กรดีเด่น ได้แก่ เทศบาลเมืองยโสธร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร พร้อมทอดพระเนตร บอร์ดนิทรรศการงานวิชาการด้านการส่งเสริมสุขภาพและด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การดำเนินงานสุขภาพอนามัยเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) การดำเนินงานควบคุมและป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน การดำเนินงานสมดุลสุขภาพและเส้นทางสุขภาวะที่ดี และการดำเนินงาน Lifestyle Medicine เวชศาสตร์วิถีชีวิต


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  7 ตุลาคม 2567

ที่มา https://www.amarintv.com/spotlight/sustainability/detail/69972

โลกของเรากำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหญ่ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ตั้งแต่ระดับชุมชน ไปจนถึงระดับโลก ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง และทวีความรุนแรงขึ้น เป็นสัญญาณเตือน ที่เราไม่อาจเพิกเฉยได้อีกต่อไป “การปรับตัว” จึงกลายเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถรับมือ และอยู่รอด ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และ “การออกแบบ”คือ เครื่องมือทรงพลังที่จะช่วยให้เราปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน และสอดคล้องกับธรรมชาติ

  ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้น สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจในวงกว้าง ตั้งแต่ระดับชุมชน ประเทศ ไปจนถึงระดับโลก การเสวนา “Design for Climate Adaptation : ออกแบบเพื่อปรับตัวเมื่อโลกวิกฤต” จึงเกิดขึ้นเพื่อร่วมหาทางออก โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขามาร่วมพูดคุย ถึงแนวทางการออกแบบเพื่อปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดความเสี่ยง และบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  6 ตุลาคม 2567

ที่มา: https://siamrath.co.th/n/571188

การท่าเรือแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจกในท่าเรือ ได้ขยายการดำเนินงานตามแนวคิด Low Carbon Port เพื่อตอบสนองต่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) โดยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขององค์กร มุ่งเน้นการใช้พลังงานทดแทนและเทคโนโลยีสะอาดตามโมเดล BCG (Bio-Circular for Green Model) และการสร้างความร่วมมือในห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำ โดยมีโครงการที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชน เช่น

โครงการ พลังงานทดแทนเพื่อชุมชน เป็นการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ในระบบสูบน้ำ เพื่อการผลิตน้ำประปาให้กับชุมชนรอบท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนมากกว่า 6 สถานี ซึ่งครอบคลุมการใช้งานได้ถึง 2,216 ครัวเรือน ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 48,000 บาทต่อปีโครงการ “คมนาคมร่วมใจ ปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติ” มีเป้าหมายในการปลูกต้นไม้ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 720,000 ต้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้โลก ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างแหล่งที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ป่า นอกจากนี้ ยังได้มอบเงินเพื่อสนับสนุนโครงการป่าสิริเจริญวรรษฯ และศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์

ทั้งนี้ การท่าเรือฯ ได้ตั้งเป้าหมายในการสร้างท่าเรือสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ด้วยเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นในการส่งเสริมและร่วมมือในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งมีความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยมุ่งหวังให้เกิดการเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน


NBT CONNEXT  5 ตุลาคม 2567

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในภาคกลางในวันนี้ปริมาณน้ำที่เขื่อนเจ้าพระยาปล่อยมาอยู่ที่ 1,994 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และอีกไม่นานจะปล่อยขึ้นไปจนถึงประมาณ 2,000 ไม่เกิน 2,400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งปริมาณน้ำเต็มความจุที่สุดของแม่น้ำเจ้าพระยาที่อยู่ที่ประมาณ 2,700 ไม่เกิน 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้เราเห็นว่าวันนี้น้ำที่ปล่อยผ่านจากเขื่อนเจ้าพระยานั้นจะกระทบกับสองฝั่งของเจ้าพระยาแน่นอน นอกจากนั้นทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา เข้ามาทางแม่น้ำท่าจีน หรือไปสู่แม่น้ำน้อย ปริมาณน้ำที่พยามจะผันออกไปยังทุ่งตะวันตกและทุ่งตะวันออกนั้นเพิ่มปริมาณมากขึ้นประมาณ 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีในแต่ละข้าง 

นายวราวุธ กล่าวว่า ดังนั้นปริมาณน้ำที่จะไหลลงมาอยู่ทางพื้นที่ของที่ลุ่มภาคกลางจะเพิ่มปริมาณมาก และพี่น้องประชาชนจะต้องได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน ในส่วนของกระทรวง พม. เราได้เตรียมพื้นที่ พร้อมทั้งถุงยังชีพ ทีมงานเจ้าหน้าที่ของกระทรวง พม. ที่จะเข้าไปช่วยเยียวยา พูดคุยกับพี่น้องประชาชน และยังมีการเตรียมพื้นที่ของกระทรวง พม. จัดเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวในการรองรับผู้ประสบภัย ใน 6 จังหวัดภาคกลาง จำนวน 17 แห่ง ดังนี้

1. จังหวัดสุพรรณบุรี 3 แห่ง ได้แก่

- ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดสุพรรณบุรี

- บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสุพรรณบุรี

- สำนักงานการเคหะจังหวัดสุพรรณบุรี

2. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 4 แห่ง ได้แก่

- ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

- บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา

- ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุวาสนะเวศม์

- การเคหะบ่อโพง

3. จังหวัดนครปฐม 4 แห่ง ได้แก่

- ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดนครปฐม

- บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนครปฐม

- สำนักงานเคหะสาขา 1

- สำนักงานเคหะสาขา 2 

4. จังหวัดชัยนาท 2 แห่ง ได้แก่

- ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดชัยนาท

- บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดชัยนาท

5. จังหวัดสมุทรปราการ 3 แห่ง ได้แก่

- ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดสมุทรปราการ

- ศูนย์พัฒนาศักยภาพและฝึกอาชีพคนพิการพระประแดง

- สถานสงเคราะห์คนพิการพระประแดง

6. กรุงเทพมหานคร 1 แห่ง ได้แก่

- สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านเกร็ดตระการ

ส่วนในพื้นที่ภาคเหนือมีศูนย์พักพิงชั่วคราว 8 จังหวัด 26 แห่ง ได้แก่ 1.จังหวัดเชียงราย 7 แห่ง ได้แก่

- ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงราย

- ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวจังหวัดเชียงราย

- บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงราย

- ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดเชียงราย

- บ้านเอื้ออาทรจังหวัดเชียงราย (ริมกก)

- บ้านเอื้ออาทรจังหวัดเชียงราย (แม่สาย 1)

- บ้านเอื้ออาทรจังหวัดเชียงราย (แม่สาย 2)

2. จังหวัดเชียงใหม่ 8 แห่ง ได้แก่

- บ้านเอื้ออาทรจังหวัดเชียงใหม่ (สันผีเสื้อ)

- บ้านเอื้ออาทรจังหวัดเชียงใหม่ (หนองหอย)

- บ้านเอื้ออาทรจังหวัดเชียงใหม่ (หนองหอย 2)

- สถานสงเคราะห์เด็กบ้านเวียงพิงค์

- สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านเชียงใหม่

- บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเชียงใหม่

- ศูนย์พักพัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการหยาดฝน

- ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุบ้านธรรมปกรณ์

3. จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2 แห่ง ได้แก่

- ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดแม่ฮ่องสอน

- บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน

4. จังหวัดลำพูน 2 แห่ง ได้แก่

- ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวจังหวัดลำพูน

- บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดลำพูน

5. จังหวัดลำปาง 1 แห่ง ได้แก่

- ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ

6. จังหวัดพะเยา 2 แห่ง ได้แก่

- บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดพะเยา

- ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดพะเยา

7. จังหวัดน่าน 2 แห่ง ได้แก่

- บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดน่าน

- ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดน่าน 

8. จังหวัดแพร่ 2 แห่ง ได้แก่

- บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดแพร่

- ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดแพร่

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด 20 แห่ง ได้แก่

1. จังหวัดหนองคาย 3 แห่ง ได้แก่ 

- บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดหนองคาย

- สถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็กจังหวัดหนองคาย

- นิคมสร้างตนเองโพนพิสัย

2. จังหวัดเลย 2 แห่ง ได้แก่

- บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดเลย

- ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดเลย

3. มุกดาหาร 2 แห่ง ได้แก่

- บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดมุกดาหาร

- ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดมุกดาหาร

4. จังหวัดบึงกาฬ 2 แห่ง ได้แก่

- บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดบึงกาฬ

- ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดบึงกาฬ

5. จังหวัดอุบลราชธานี 2 แห่ง ได้แก่

- ศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการบ้านศรีวนาไล

- ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดอุบลราชธานี

6. จังหวัดนครพนม 3 แห่ง ได้แก่

- บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดนครพนม

- ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัดนครพนม 

- ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม

7. จังหวัดขอนแก่น 3 แห่ง ได้แก่

- บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดขอนแก่น

- ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวรัตนาภาจังหวัดขอนแก่น

- ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดขอนแก่น

8. จังหวัดอุดรธานี 3 แห่ง ได้แก่

- นิคมสร้างตนเองเชียงพิณ

- นิคมสร้างตนเองห้วยหลวง

- สถานสงเคราะห์เด็กหญิงจังหวัดอุดรธานี

หากประชาชนผู้ประสบภัยมีความประสงค์ที่จะมาใช้พื้นที่ของกระทรวง พม. เรายินดีให้บริการซึ่งสถานที่เรามีความปลอดภัยมีทั้งที่อยู่ที่พักอาศัยและห้องน้ำเตรียมบริการ 24 ชั่วโมง หากต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ขอให้โทรติดต่อมาที่ สายด่วน พม. โทร. 1300 ของศูนย์เร่งรัดจัดการสวัสดิภาพประชาชน  (ศรส.) กระทรวง พม. เราพร้อมส่งทีมปฏิบัติการหน่วยเครื่องที่เร็วลงพื้นที่ช่วยเหลือโดยด่วน 

นอกจากนี้ ตนขอเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำแม่ปิงสูงขึ้นมากอย่างไม่เคยเจอมาก่อนสะท้อนให้เห็นว่าวันนี้ธรรมชาติกำลังเคาะประตูพวกเรามนุษยชาติอย่างเต็มที่แล้ว มาช่วยกันเป็นกำลังใจให้กับพี่น้องชาวเชียงใหม่และเชียงรายฝ่าฟันวิกฤตนี้ไปด้วยกัน พวกเรากระทรวง พม. จะคอยทำหน้าที่อย่างเต็มที่ในการประสานงานช่วยสนับสนุนและเยียวยาพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.