• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  4 ตุลาคม 2567

ที่มา https://www.prachachat.net/economy/news-1666930

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จับมือภาคีเครือข่าย พร้อมสมาชิกใหม่ 48 ราย ประกาศแนวทางส่งคืนบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ เตรียมรับ พ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนในปี 2570 ปิดช่องโหว่กฎหมายขยะเดิมหลัง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่แค่เก็บขน กำจัด ไม่คัดแยก

ผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่หรือ SMEs ต้องมีความตื่นตัว เนื่องจากหลายมาตรการในต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก รวมถึงหาก พ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน ประกาศใช้ ทุกบริษัทก็จะต้องเข้าร่วมและดำเนินการตาม ซึ่งปัจจุบัน สถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) ภายใต้การดำเนินงานของ ส.อ.ท. ได้ประสานกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ในการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่ภาคบังคับ โดยคาดว่าจะเริ่มประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้ในปี 2570 นี้

ภาคอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ซึ่งที่ผ่านมา TIPMSE ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการเตรียมความพร้อม ทั้งในแง่ของการให้ความเห็นต่อการพัฒนาร่างกฎหมาย EPR การพัฒนามาตรการจูงใจ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อรองรับระบบ EPR การส่งเสริมการออกแบบตามหลักการการออกแบบเพื่อการรีไซเคิล (Design-for-recycling หรือ D4R) การสื่อสารเพื่อกระตุ้นให้เกิดการดำเนินการ (Call to Action) ในห่วงโซ่ความรับผิดชอบ และการนำหลักการ EPR มาสู่การทดลอง ทั้งโมเดลเก็บกลับในพื้นที่เป้าหมายในโครงการ Pack Back จังหวัดชลบุรี

ทั้งนี้ การพัฒนากลไก EPR โดยใช้ระบบภาคการผลิต จะเป็นเครื่องมือและกลยุทธ์ที่สำคัญในการเดินหน้าสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) สอดรับนโยบายภาครัฐในการนำโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ที่เรียกว่า “BCG” (Bio-Circular-Green Economy) หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว ที่นำเอาจุดแข็งของประเทศไทยมาพัฒนา


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  3 ตุลาคม 2567

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/environment/1147295

นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีเปิด การประชุมเพื่อลดมลพิษทางอากาศ โดยการหลีกเลี่ยงการเผาในภาคการเกษตร: สร้างความร่วมมือเพื่อพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืนในการแทนที่การเผาไหม้พืชผล จัดขึ้นโดย Friends of Thai Agriculture หรือ FTA ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในทุกภาคส่วน และ พันธมิตรระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาของประเทศไทย และลดการเผาในภาคการเกษตร ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทยและประชากรทั่วโลก

ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯได้ริเริ่มนโยบายหลายด้าน เพื่อลดผลกระทบจากการเผาในพื้นที่เกษตรกรรมขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติโดยเครือข่ายเกษตรกรที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ คือ Smart Farmer และ Young Smart Farmer ภายใต้ “โมเดล 3R” ประกอบด้วย

1.Re-Habit: การเปลี่ยนพฤติกรรมของเกษตรกร ส่งเสริมวิธีปฏิบัติทางการเกษตรที่ไม่เผา สนับสนุนการนำเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดการเศษซากพืชในรูปแบบที่ไม่จำเป็นต้องเผา ส่งเสริมมาตรฐานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

2.Replace with High-Value Crops: ส่งเสริมให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกพืชแบบดั้งเดิมไปสู่การปลูกพืชทางเลือกที่ให้กำไรสูงกว่า โดยเฉพาะในพื้นที่สูง

3.Replace with Alternate Crops: สำหรับพื้นที่ต่ำ และนอกเขตชลประทาน สนับสนุนการเปลี่ยนพืชที่เสี่ยงต่อการเผา เช่น ข้าวนอกฤดูไปเป็นพืชที่ต้องการ การจัดการเศษซากพืชด้วยการเผาที่น้อยกว่า ได้แก่ ข้าวโพด หรือ พืชตระกูลถั่ว เน้นการจัดการเศษซากพืชที่ดีขึ้นโดยเปลี่ยนของเสียทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  2 ตุลาคม 2567

ที่มา : The Bangkok insight (https://www.thebangkokinsight.com/news/environmental-sustainability/1391020/)

รายชื่อ “พื้นที่ชุ่มน้ำ” ของประเทศไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ“ (Ramsar sites) ภายใต้อนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำ (Convention on Wetlands) จ๋านวน 15 แห่ง ดังนี้

1. พรุควนขี้เสียน ลำดับที่ 948 (13 กันยายน 2541) จังหวัดพัทลุง

2. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงโขงหลง ลำดับที่ 1098 (5 กรกฎาคม 2544) จังหวัดบึงกาฬ

3. ดอนหอยหลอด ลำดับที่ 1099 (5 กรกฎาคม 2544) จังหวัดสมุทรสงคราม

4. ปากแม่น้ำกระบี่ ลำดับที่ 1100 (5 กรกฎาคม 2544) จังหวัดกระบี่

5. เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองบงคาย ลำดับที่ 1101 (5 กรกฎาคม 2544) จังหวัดเชียงราย

6. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเฉลิมพระเกียรดิสมเด็จพระเทพรัตนสุดาฯ (พรุโต๊ะแดง) ลำดับที่ 102 (5 กรกฎาคม 2544)จังหวัดนราธิวาส

7. อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง – ปากแม่น้ำตรัง ลำดับที่ ที่ 1182 (14 สิงหาคม 2545) จังหวัดตรัง

8. อุทยานแห่งชาติแหลมสน – ปากน้ำกระบุรี – ปากคลองกะเปอร์ ลำดับที่ 1183 (14 สิงทาคม 2545) จังหวัดระนอง

9. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ลำดับที่ 1184 (14 สิงหาคม 2545) จังหวัดสุราษฎร์ธานี

10. อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ลำดับที่ 1185 (14 สิงหาคม 2545) จังหวัดพังงา

11. อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยอด ลำดับที่ 222238 (14 มกราคม 2551) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

12. กุดทิง ลำดับที่ 1926 (19 มิถุนายน 2552) จังหวัดบึงกาฬ

13. เกาะกระ ลำดับที่ 2152 (12 สิงหาคม 2556) จังหวัดนครศรีธรรมราช

14. หมู่เกาะระ – เกาะพระทอง ลำดับที่ 2153 (12 สิงหาคม 2556) จังหวัดพังงา

15. แม่น้ำสงครามตอนล่าง ลำดับที่ 2420 (15 พฤษภาคม 2562) จังหวัดนครพนม


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  1 ตุลาคม 2567

ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1147053

รศ.ดร.ธนารัตน์ ชลิดาพงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในประเทศไทย มุ่งเป้าแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นซึ่งปัญหาเร่งด่วนอย่างอุทกภัยก็สามารถใช้เทคโนโลยี AI ทางด้านวิชั่น (VISION) มาช่วยเฝ้าระวังได้

กระบวนการ Deep Learning คือ การให้ AI เรียนรู้จากฐานข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งปกติจะเรียนรู้จากภาพนิ่ง แต่การพัฒนาให้ AI จับวัตถุจากภาพเคลื่อนไหวเป็นการยกระดับขึ้นอีกขั้น เพราะมีโจทย์ทางวิชั่นเกิดขึ้น 2 โจทย์คือ การพัฒนาแบบจำลอง เพื่อใช้ในการการตรวจจับวัตถุ (Object Detection) ให้ AI ตรวจจับวัตถุที่สนใจในภาพและจำแนกประเภทได้อย่างถูกต้อง และกระบวนการติดตามวัตถุ (Object Tracking) ให้ AI เรียนรู้ว่าวัตถุในเฟรมนี้อยู่ตรงไหนในเฟรมถัดไป

รศ.ดร.เจนยุกต์ โล่ห์วัชรินทร์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การทำงานครั้งนี้เป็นงานวิจัยที่ทำร่วมกับ Ocean Cleanup องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านเทคโนโลยีเพื่อกำจัดขยะพลาสติกในมหาสมุทรจากเนเธอร์แลนด์ ที่มีการคัดเลือกแม่น้ำเจ้าพระยาของประเทศไทย ร่วมกับประเทศแอฟริกาใต้และโดมินิกันเป็นตัวแทนของแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านชุมชนเมืองใหญ่สู่มหาสมุทร

หากมีข้อมูลปริมาณและประเภทของขยะที่มากเพียงพอ จะช่วยให้เกิดนโยบายการจัดการขยะตามแนวทาง Circular economy ได้แม่นยำมากขึ้น อีกทั้งการจัดการขยะแบบดั้งเดิมด้วยการเพิ่มรอบรถเก็บขยะ ย่อมส่งผลต่อการปล่อยคาร์บอนจากการขนถ่ายขยะ แต่หากมีการจัดการเฉพาะจุดฮอตสปอต (พื้นที่ที่ขยะถูกนำมากองทิ้งไว้) แยกขยะตั้งแต่ต้นทาง หรือส่งเสริมวัสดุทางเลือก ก็จะทำให้ลดการปล่อยคาร์บอนของเมืองได้ด้วย ตามแนวทาง Carbon Neutrality


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  30 กันยายน 2567

ที่มา: https://www.posttoday.com/general-news/lifestyle/713936

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับนานาชาติ ได้จัดสัมมนา Action Alert ! Accelerating Towards Sustainable Tourism in Thailand เตรียมความพร้อมให้กับภาคธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยได้ปรับตัวกับข้อบังคับใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปที่จะมีผลบังคับใช้ภายใน 2 ปีข้างหน้า โดยมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกว่า 1,000 รายเข้าร่วมสัมมนา

นายธีระศิลป์ เทเพนทร์ รองผู้ว่าการด้านดิจิทัล วิจัย และพัฒนา ททท. กล่าวว่า ภายใต้ข้อกำหนดใหม่ EU ต้องทำงานกับคู่ค้าที่มีมาตรการด้านการจัดการความยั่งยืนที่น่าเชื่อถือ ซึ่งประเด็นนี้มีความสำคัญมากหากผู้ประกอบการไทยยังไม่มีแนวทางการจัดการด้านความยั่งยืน อาจเป็นอุปสรรคในการเป็นคู่ค้ากับบริษัทท่องเที่ยวจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา และลดโอกาสในการเข้าถึงตลาดที่มีขนาดใหญ่และกำลังซื้อสูง

สำหรับข้อบังคับใหม่ของสหภาพยุโรป คือ Corporate Sustainability Reporting Directive (CSRD) ซึ่งเป็นข้อบังคับใหม่ว่าด้วยการรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม และ Corporate Sustainability Due Diligence Directive (CSDDD) ข้อบังคับว่าด้วยการสอบทานด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะต้องเริ่มเข้าสู่กระบวนการทั้งหมดนี้ ภายในปี 2026 และรายงานการดำเนินการในปี 2027 ซึ่งผู้ประกอบการจำเป็นต้องมีความเข้าใจ และมีความพร้อมต่อกฎเกณฑ์ใหม่ที่เคร่งครัดมากขึ้น

สำหรับงาน Action Alert ! นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงทางเลือกโดยสมัครใจ แต่เป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ธุรกิจท่องเที่ยวไทยต้องเตรียมรับมือและปรับตัว เพื่อสร้างระบบนิเวศใหม่ (New Ecosystem) ด้วยสินค้าและบริการที่ได้รับการรับรองจากองค์กรที่น่าเชื่อถือ (Sustainable Certified Operators) อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้านานาชาติ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดสากล


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  29 กันยายน 2567

ที่มา : thansettakij.com (https://www.thansettakij.com/business/economy/607764)

”เผ่าภูมิ โรจนสกุล“ รมช.คลัง เผยคลังพร้อมออกมาตรการภาษี-การเงิน หนุนเศรษฐกิจสีเขียว เตรียมคลอด ”ภาษีคาร์บอน“ มีผลบังคับใช้ในปี 67

วันที่ 26 ก.ย. 67 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “นโยบายการเงินสีเขียว รับมือภาวะโลกเดือด” ในงานสัมมนา Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green จัดโดยฐานเศรษฐกิจ ว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นที่จะต้องเดินหน้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว เพื่อความอยู่รอดทางชีวิต และเพื่อความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในหมวกของกระทรวงการคลังนั้น จะผลักดันทางด้านภาษี และมาตรการทางการเงิน ซึ่งขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาภาษีคาร์บอนขั้นสุดท้าย คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ในเร็วๆ นี้ เพื่อให้เริ่มมีผลบังคับใช้ได้ทันภายในปี 2567 นี้ สำหรับแนวคิดการเดินหน้าภาษีคาร์บอน หรือ Carbon..Tax นั้น เกิดจากปัญหาหลักของประเทศไทยสำคัญที่สุด คือ คนผลิตที่ไม่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ถูกจ่ายราคาในการสร้างมลพิษ ซึ่งเวลานี้มีความสำคัญ หากไม่มีราคาที่ต้องจ่ายในการสร้างมลพิษ ทุกคนก็ปล่อยมลพิษ ฉะนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในประเทศ คือ ราคาของคาร์บอน (Carbon..price) ซึ่งกรมสรรพสามิตได้คิดกลไกผ่านการสร้างภาษีคาร์บอน ที่เข้าไปในสินค้าที่ผลิต หรือสร้างมลพิษสูง เช่น น้ำมัน แต่ไม่ทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น เพราะเราใช้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในของกรมสรรพสามิต “ยกตัวอย่างวิธีการคำนวณ เช่น เดิมการเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 6 บาท หากปรับเปลี่ยนแล้วจะกลายเป็นเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 5 บาท แต่ส่วนที่เหลือเป็นภาษีคาร์บอน ฉะนั้น ราคาที่ประชาชนต้องจ่ายภาษีน้ำมันเท่าเดิม ซึ่งสมการคิดของภาษีคาร์บอน คือ นำคาร์บอนที่อยู่ในน้ำมัน คูณด้วยราคาต่อยูนิต ออกมาเป็นราคาที่ประชาชนต้องจ่ายเป็นภาษีคาร์บอน ฉะนั้น ต่อจากนี้ประเทศไทยจะมีราคาของคาร์บอนอยู่ในสินค้าที่ผลิตคาร์บอน“

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินภาษีดังกล่าว จากนี้จะเกิดแรงจูงใจในการผลิตสินค้า ที่มีคาร์บอนต่ำลง เพราะท่านจะเสียภาษีคาร์บอนที่ต่ำลง ผู้ที่ผลิตสิ่งนั้นได้ ก็จะเป็นผู้ชนะในตลาด ส่งผลให้เกิดการหาน้ำมันที่สะอาดขึ้น ถือเป็นการใช้มาตรการทางภาษีสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตต่างๆ กลับกันหากไม่สนใจ หรือละเลยสิ่งแวดล้อม ราคาที่ต้องจ่ายก็จะสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ราคาในจุดแรกไม่กระทบประชาชน

นอกจากนี้ กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต ยังอยู่ในช่วงพิจารณาภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันใช้ภาษีแบตเตอรี่อัตราเดียว ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ชนิดใดก็ตาม แต่ต่อไปนี้จะมีระบบขั้นบันได เนื่องจากแบตเตอรี่แต่ละชนิด สร้างขึ้นมามีความแตกต่างกัน การจัดเก็บภาษีก็ควรมีความแตกต่างกัน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตผลิตแบตเตอรี่สะอาดขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมสรรพสมิต ใช้มาตรการสนับสนุนในมิติของรถอีวี ไม่ว่าจะเป็น EV 3.3 และ EV 3.5..เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ต้องมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย และผลิตรถอีวีชดเชยในประเทศไทย ซึ่งจะมีรถต้องผลิตชดเชยไม่ต่ำกว่า 1 แสนคัน ถือเป็นมาตรการทางภาษีที่ไทยสนับสนุนให้เป็นจุดศูนย์กลางในการผลิตรถอีวี และยังได้สิทธิประโยชน์ในเชิงสิ่งแวดล้อม


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  28 กันยายน 2567

ที่มา https://www.seub.or.th/bloging/work/2024-275/

จากเดือนธันวาคม พ.ศ. 2534 จนมาถึงวันนี้ เกือบ 33 ปี ที่ผ่านมา เมื่อมองย้อนกลับไปยังเกณฑ์พิจารณาต่างๆ ก็พบโจทย์ที่น่าสนใจว่า คุณค่าความสำคัญของผืนป่ามรดกโลกยังครบถ้วนตามเกณฑ์ที่ระบุไว้หรือไม่ หรือในแง่ของการทำงานดูแลรักษาผืนป่า สัตว์ป่า และระบบนิเวศ จะยังสามารถต่อยอดจากสิ่งที่พัฒนามาแล้วไปในทิศทางใด มิติไหน เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นในอนาคต

หากกล่าวถึงผืนป่ามรดกโลกแห่งแรกของประเทศไทย คงต้องย้อนไปถึงการทำเอกสารเสนอชื่อต่อองค์การยูเนสโก คุณอรุณี อิ้วเจริญ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมชำนาญการพิเศษ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยงานที่มีหน้าที่ผลักดันการขึ้นทะเบียนมรดกโลก

“การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมีวัตถุประสงค์หลักๆ คือ การอนุรักษ์คุณค่าของแหล่งมรดกโลกเพื่อส่งไปยังคนรุ่นถัดไป”

คุณอรุณี กล่าวต่อว่า เมื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว คณะกรรมการมรดกโลกจะมีมติเสนอประเด็นควรติดตามเฝ้าระวังออกมาทันที แต่ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ไม่มีมติในวันรับรอง ซึ่งหมายความว่า ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ผ่านด้วยเกณฑ์ที่มีศักยภาพ และเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก (ในสมัยนั้น) คณะกรรมการมรดกโลกจึงไม่กังวลเรื่องการบุกรุกมากนัก

ด้วยการทำงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า การศึกษาวิจัย และการบริหารพื้นที่เชิงวิชาการ ทุกวันนี้ผืนป่ามรดกโลกทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง จึงแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนโดยรอบ ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งยังให้ก่อประโยชน์แก่คนเมืองที่อยู่ห่างไกลออกไปอีกประการ ซึ่งทราบหรือไม่ว่า น้ำจากโรงประปามหาสวัสดิ์รับมาจากแม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำแควตอนบน ลำห้วยขาแข้ง และลำน้ำสาขาต่าง ๆ จากพื้นที่มรดกโลก มาช่วยผลักดันน้ำเค็มช่วยแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ให้กระทบการผลิตน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 27 กันยายน 2567

ที่มา: https://mgronline.com/business/detail/9670000089565

เอสซีจี เดินหน้ามอบทุนการศึกษา Sharing the dream ในภูมิภาคอาเซียนต่อเนื่อง ผ่านแนวคิด ‘Green Generation’ เพื่อส่งเสริมการศึกษาและสร้างพลังคนรุ่นใหม่ให้มีจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมและมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตยั่งยืน ตามแนวทาง ‘Inclusive Green Growth’ ของเอสซีจี ที่มุ่งสร้างการเติบโตในทุกมิติ ลดความเหลื่อมล้ำสังคม เพื่อความยั่งยืนในภูมิภาค โดยปี 2567 ได้เริ่มมอบทุนการศึกษาที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย แก่นักเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัย 410 ทุน เพื่อส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาอินโดนีเซีย 2588 หรือ Golden Indonesia 2045 ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

นายปรเมศวร์ นิสากรเสน ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี มุ่งมั่น สนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน ตามแนวทาง ‘Inclusive Green Growth’ ในทุกมิติ ทั้งธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โครงการ SCG Sharing the Dream ในปีนี้ จึงได้ส่งเสริมแนวคิด Green Generation เพื่อส่งเสริมพลังคนรุ่นใหม่ให้มีความเข้าใจ และมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกัน พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตเยาวชน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมตามกลยุทธ์ ESG4Plus ของเอสซีจี

นางหทัยชนก ฤทธาคนี ฟรูโม อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูต กรุงจาการ์ตา กล่าวว่า ในปีหน้า ไทยและอินโดนีเซียจะเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปี ของความสัมพันธ์ทางการทูต โครงการทุนการศึกษา Sharing the Dream มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสองประเทศ เพื่อให้เยาวชนสามารถเข้าถึงการศึกษาและเพื่อการพัฒนาศักยภาพให้มีความรู้ จิตสำนึกใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อม และได้รับโอกาสในการลงมือทำจริง เพื่อขับเคลื่อนอินโดนีเซียสู่ความยั่งยืนได้


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.