• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

“Weather Whiplash” ต้นเหตุไฟป่าแอลเอ กับโอกาสเกิดในเอเชีย และไทย

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  16 มกราคม 2568

ที่มา: https://www.tnnthailand.com/news/social/186372/

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์เรื่องเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าที่มหานคร Los Angeles สหรัฐอเมริกา ซึ่งโอกาสเกิดที่ประเทศไทยมีไม่น้อย โดยระบุว่า โลกจะเกิดปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็วจากสภาพอากาศที่เปียกชื้นสุดขั้วไปสู่อากาศที่แห้งแล้งมากเรียกว่า Weather Whiplash โดยเกิดขึ้นเพิ่มจาก 31% เป็น 66% ในปี 2025 เป็นผลทำให้เกิดลมพัดแรงสุดขั้วและเกิดไฟป่าอย่างรุนแรง

การเกิดไฟป่าอย่างรุนแรงในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2025 โดยสาเหตุเกิดจากการ Weather Whiplash โดยในปี 2022 เกิดภาวะภัยแล้งตลอดทั้งปี ต้นไม้และพืชพันธุ์ต่าง ๆ แห้งตายเป็นจำนวนมาก แต่ในปี 2023 เกิดฝนตกอย่างหนักเกือบทั้งปี ทำให้พืชพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ในเขตป่าไม้เจริญเติบโตและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว แต่ในทางตรงกันข้าม ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2024 ถึงมกราคม 2025 กลับเกิดสภาพอากาศแห้งแล้งแบบสุดขั้ว ทำให้พืชพันธุ์ต่าง ๆ ที่เจริญเติบโตกับแห้งเฉาตายจำนวนมาก เมื่อเกิดไฟไหม้ป่าทำจึงให้ พืชพันธุ์ต่าง ๆ เกิดไฟไหม้ลุกลามไปทั่วอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพของอากาศแบบสุดขั้วดังกล่าว ทำให้เกิดความผิดปกติของลมที่พัดจากทะเลทรายไปสู่ชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกของ Los Angeles เรียกว่า “ลมซานตาอนา” (Santa Ana) ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้นโดยมีความเร็วถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เกิดในช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศแห้งแล้งจัด พัดพาไฟ เข้าไปยังในเขตเมือง ทำให้เกิดไฟไหม้บ้านเมืองมากกว่า 60,000 แห่ง

ปรากฎการณ์ Weather Whiplash มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้มากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ด้านโลกร้อนได้คาดการณ์ว่า มีโอกาสเกิดได้ในทวีปแอฟริกา เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียกลาง ดังนั้นประเทศไทยอาจจะมีไฟป่า เกิดขึ้นอย่างรุนแรง และมีลมแรงมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว หากปีไหนมีฝนตกมาก และสวิงไปสู่อากาศที่แห้งแล้งอย่างรวดเร็ว


© 2025 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.