• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  10 กันยายน 2567

ข้อมูลจาก The World Economic Forum ระบุว่า รายงานความเสี่ยงระดับโลกปี 2567 พบไมโครพลาสติกแพร่หลายทั้งทางบก ทะเล อากาศ และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสุขภาพของมนุษย์ ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าเราอยู่บนปากเหวของวิกฤตสุขภาพพลาสติก

มลพิษที่ได้รับการจัดอันดับในรายงานความเสี่ยงระดับโลกปี 2567 ของ The World Economic Forum ว่าเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอันดับที่ 10 ของโลกในระยะสั้นและระยะยาวจึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการร่วมกันอย่างเร่งด่วน

ส่วนประเทศไทยนั้น มีการบริหารจัดการขยะพลาสติก ได้มีการขับเคลื่อน Roadmap ตามข้อมูลจาก การจัดทำวารสารธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 ซึ่งประกอบด้วย 2 เป้าหมาย ได้แก่เป้าหมายที่ 1 การลดและเลิกใช้พลาสติก และเป้าหมายที่ 2มีการนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายใน พ.ศ. 2570

จากข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลมากในปัจจุบัน หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยด่วน และการปลูกจิตสำนึกให้กับชุมชนในเรื่องของปัญหาขยะที่ถูกทิ้งในแหล่งน้ำรวมถึงสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ต้องตระหนักให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการลดขยะไม่ใช่แค่ความรับผิดชอบของรัฐเพียงอย่างเดียว


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  9 กันยายน 2567

ที่มา: https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4774008

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดกิจกรรมรณรงค์ส่งเสริมการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ในศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้า เพื่อยกระดับการดำเนินงานมุ่งสู่เป้าหมาย Thailand Net Zero 2065 หรือ Roadshow ครั้งที่ 1 โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ณ ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ ไลฟ์สโตร์ งามวงศ์วาน จังหวัดนนทบุรี สร้างพลังความร่วมมือเครือข่ายภาคเอกชน เร่งเดินหน้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาขยะพลาสติก เป็นหนึ่งของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศทั้งทางบกและทางทะเล จึงได้กำหนดเป้าหมาย Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 – 2573 ไว้ 2 ประการ ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 การลดและเลิกใช้พลาสติกด้วยการใช้วัสดุทดแทน ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยในปี พ.ศ. 2562 ได้ประกาศเลิกใช้พลาสติกบางประเภทไปแล้ว ประกอบด้วย พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ็อกโซ่ ไมโครบีดจากพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร และยังมีพลาสติกที่อยู่ระหว่างรณรงค์ให้ลดการใช้ ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วชนิดบาง หรือถุงก๊อปแก๊ป แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก และเป้าหมายที่ 2 การนำขยะพลาสติกเป้าหมายกลับมาใช้ประโยชน์ 100% ภายในปี พ.ศ. 2570 ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ประกอบด้วย ขวดพลาสติก (ทุกชนิด) ฝาขวด บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว ถุงพลาสติกหูหิ้ว และถ้วย/แก้วพลาสติก

ดร.พิรุณ กล่าวต่อว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมลดโลกร้อน ได้เห็นถึงพลังความร่วมมือของภาคเอกชน จึงได้ร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านสะดวกซื้อ ผู้ประกอบการร้านกาแฟที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายสมาคม กว่า 45 หน่วยงาน ซึ่งการดำเนินการที่จะนำไปสู่เป้าหมายตามที่ประเทศไทยกำหนดไว้ได้ จะต้องอาศัยพลังความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน หรือ 4P (Public – Private – People Partnership) ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างการรับรู้ให้สังคมได้ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติก และขอเชิญชวนทุกคน ร่วมกัน ลด ละ เลิก การใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวทิ้ง หันมาใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ 100% พร้อมปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวันให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ลดกิจกรรมที่เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เท่านี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในปกป้อง ดูแล รักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับพวกเราและคนรุ่นต่อไป


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  8 กันยายน 2567

ที่มา : มติชนออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4775227)

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมงมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ กล่าวถึงเรื่องเส้นทางพายุไต้ฝุ่นยางิ ที่ทำให้พื้นที่ทางด้านเหนือของไทยมีฝนตกหนัก และอิทธิพลของพายุดังกล่าวนี้จะถูกความชื้นบริเวณภาคเหนือเหนี่ยวนำเข้ามา ทำให้ภาคเหนือของประเทศไทยมีฝนตกหนักมาก ช่วงวันที่ 6 กันยายนนี้ ว่า เวลานี้ซุปเปอร์ไต้ฝุ่นยางิ กำลังมุ่งหน้าไปทางไห่หนานแบบช้าๆ และภาวะโลกร้อนทำให้พายุลูกนี้เพิ่มกำลังเร็วมากและแรงเป็นพิเศษ

ผศ.ดร.ธรณ์กล่าวว่า ไต้ฝุ่นกับไห่หนาน ฮ่องกง และพื้นที่แถวนี้ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ในอดีตเป็นไต้ฝุ่นขนาดเล็กความรุนแรงต่ำ โลกร้อนไม่ได้ทำให้พายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่พายุแต่ละลูกจะแรงขึ้น เนื่องจากน้ำทะเลร้อนมากกว่าในอดีต ทั้งนี้ น้ำร้อนกับอากาศร้อนยังทำให้ฝนตกหนักกว่าเดิม เกิดน้ำท่วมฉับพลัน/ดินถล่ม“โลกร้อนยังทำให้พายุเพิ่มกำลังเร็วมากจนรับมือแทบไม่ทัน โดยยางิ เปลี่ยนจากพายุโซนร้อนกลายเป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่นในระยะเวลาอันสั้น ผมเคยเขียนถึงเฮอร์ริเคน Otis ที่เข้าเม็กซิโกในปีที่แล้ว พายุเร่งความแรงจากโซนร้อนกลายเป็น Cat5..ภายในเวลา 24 ชั่วโมง พายุมาเร็วมาก ทำให้รับมือไม่ทัน มีผู้เสียชีวิตและสูญหายเกือบร้อย เศรษฐกิจพังพินาศ เสียหายหลายแสนล้านบาท (1.5 หมื่นล้านเหรียญ)” ผศ.ดร.ธรณ์กล่าว

รองคณบดีคณะประมงกล่าวว่า ในรอบ 75 ปีที่ผ่านมา มีพายุไต้ฝุ่นเข้าไห่หนาน 106 ลูก แต่มีแค่ 9 ลูกเท่านั้นที่เป็นซุปเปอร์ไต้ฝุ่น ยางิจึงเป็นพายุที่คาดว่าจะสร้างความเสียหายกับจีนใต้ จนต้องยกระดับการรับมือถึงขั้นสูงสุด ปิดทุกอย่างตั้งแต่พฤหัสค่ำ เมื่อข้ามเกาะไห่หนาน พายุน่าจะลงทะเลอีกครั้ง แล้วตรงมาที่เวียดนามเหนือ เมื่อลงทะเล พายุจะแรงเพิ่มขึ้น ต้องลุ้นว่าจะแรงขนาดไหน

“บ้านเราคงได้รับผลกระทบที่ภาคเหนือ/อีสานตอนบน ต้องติดตามพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด เพราะโลกร้อนทำให้ทุกอย่างแปรปรวน การพยากรณ์ล่วงหน้านานๆ ทำได้ยาก ระวังตัวไว้ ติดตามข้อมูลแบบต่อเนื่อง เตรียมรับมือ เช็กความเสี่ยง คิดถึงเหตุร้ายที่อาจเป็นไปได้ที่จะเกิดกับเรา ป้องกันและจำลองสถานการณ์เพื่อหาทางแก้ไขไว้ล่วงหน้า อย่าประมาทพายุโลกร้อนเด็ดขาดครับ” ผศ.ดร.ธรณ์กล่าว


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  7 กันยายน 2567

ที่มา https://www.dailynews.co.th/news/3829045/

ทีมนักวิจัยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับนักวิจัยจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และเครือข่ายเพื่อนสวนพฤกษ์ อ.แม่สอด จ.ตาก จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ไมซีเลี่ยมรูปหัวใจสำหรับฟื้นฟูป่าธรรมชาติ” และ “ไมโค-บล็อกมวลเบาจากกากกาแฟ” เพื่อสังคมคาร์บอนต่ำและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ผ่านกิจกรรมให้เยาวชนในพื้นที่ได้ร่วมกันสร้างหัวใจไมซีเลี่ยมที่ช่วยปกป้องเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกป่าได้ยั่งยืน และสร้างอิฐชีวภาพจากชีวมวลเหลือทิ้งภาคการเกษตรในพื้นที่ สร้างความตระหนักในเรื่องวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ผืนป่า

“ในปัจจุบัน ‘ไมโค-บล็อกมวลเบาจากกากกาแฟ’ ถือเป็นโครงการนำร่องในการพัฒนาวัสดุและอาคารที่พัก (Homestay) ต้นแบบจากเศษวัสดุทางการเกษตรโดยนำไปผสมกับกลุ่มพืชไร่ข้าวโพด โดยชุมชนและโรงเรียนด้านสิ่งแวดล้อมของ จ.ตาก ในการสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวสีเขียว ชุมชนแนวใหม่ ที่เปิดโอกาสให้คนได้อยู่ร่วมกับพืชและสัตว์ ช่วยให้เกิดมุมมองใหม่ ๆ ให้คนดูเเลธรรมชาติจากใจมากขึ้น โดยสอดแทรกทั้งกิจกรรมและนวัตกรรมวัสดุเพื่อเป็นบ้านที่ปลอดภัยของต้นไม้ เช่น กลุ่มกล้วยไม้ป่า กลุ่มไม้ยาง กลุ่มเห็ดป่า เป็นต้น รวมถึงการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์ในพื้นที่ร่วมกับนวัตกรรมวัสดุเพื่อเป็นบ้านที่ปลอดภัยของแมลงและนก เช่น ผึ้ง ชันโรง และนกโพรงบางประเภท เป็นต้น จึงเป็นการพัฒนาแนวทางการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับธรรมชาติรูปแบบใหม่ของประเทศไทย”


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  6 กันยายน 2567

ที่มา https://www.tnnthailand.com/news/earth/175307/

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผย 5 สาเหตุที่ทำให้โลกร้อนขึ้นอันดับแรกเลย คือ การขนส่งคมนาคม เป็นกิจกรรมอันดับ 1 ของมนุษย์ที่มีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดถึง 27% ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขนส่งส่วนใหญ่ เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิลสำหรับรถยนต์ รถบรรทุก เรือ รถไฟ และเครื่องบิน โดยมากกว่า 90% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการขนส่งเป็นเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียม ซึ่งรวมถึงน้ำมันเบนซินและดีเซลเป็นหลัก

2. การผลิตพลังงานไฟฟ้า สูงสุดเป็นอันดับ 2 หรือเท่ากับ 25% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พลังงานไฟฟ้าที่คนเราใช้นั้นมาจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยส่วนใหญ่เป็นถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ

3. โรงงานอุตสาหกรรม การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมโดยส่วนใหญ่มาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อใช้เป็นพลังงาน คิดเป็นอันดับ 3 หรือเท่ากับ 24%

4. ธุรกิจการค้าและที่อยู่อาศัย คิดเป็นอันดับ 4 หรือเท่ากับ 13% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธุรกิจการค้าและจากบ้านเรือน เกิดขึ้นจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ถูกเผาไหม้เพื่อใช้เป็นพลังงานความร้อนการใช้ผลิตภัณฑ์บางชนิดที่มีก๊าซเรือนกระจก และการจัดการของเสีย

5. การทำเกษตรกรรม ต้องยอมรับว่าการทำเกษตรกรรมนั้น ส่งผลให้โลกเราร้อนขึ้นโดยเฉพาะการเกษตรที่มาจากฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการทำเกษตรกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ คิดเป็น 11% จากกิจกรรมทั้งหมดที่ทำให้โลกร้อนจากฝีมือมนุษย์เป็นอันดับ 5

จากสาเหตุต่างๆเหล่านี้ก็ทำให้โลกของเราร้อนขึ้นในทุกวัน ดังนั้นสิ่งที่เราสามารถควบคุมภาวะโลกร้อนได้ คือต้องจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และลดให้ปริมาณสุทธิเหลือศูนย์เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้ยังต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ เช่น ก๊าซมีเทน ให้เหลือน้อยที่สุดด้วย


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  5 กันยายน 2567

ที่มา : มติชนออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_4772977)

49 ปี สผ. ยึด ขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม-ยุทธศาสตร์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ที่ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ พร้อมถ่ายทอดทางออนไลน์ ทาง Facebook Live สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) มีประชุมวิชาการประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้หัวข้อ “49 ปี สผ. ก้าวไปด้วยกันสู่อนาคตไทยที่ยั่งยืน : ONEP for All, ONEP for Future” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอและเผยแพร่ผลงานวิชาการ และผลการดำเนินงานสำคัญ ตลอดจนทิศทางแนวโน้มการพัฒนาที่จะขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายในระยะถัดไป ให้เกิดความร่วมมือในการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน โดยมีผู้เข้าร่วมงานประชุมวิชาการครั้งนี้กว่า 500 คน จากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา ประชาชน และสื่อมวลชน

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน ได้กล่าวถึงทิศทางการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศที่ดำเนินการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และการปรับตัวเพื่อลดความสูญเสียจากภัยธรรมชาติ พร้อมทั้งได้มอบรางวัลเครือข่ายความร่วมมือด้านความหลากหลายทางชีวภาพ รางวัลเครือข่ายกองทุนสิ่งแวดล้อม และรางวัลเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ศิลปกรรม เมืองเก่า และมรดกโลก จำนวนทั้งสิ้น 36 รางวัล

นายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการสผ.  กล่าว ว่า สผ.ได้คำนึงถึงความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มลพิษ การลดลงของทรัพยากร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินไปสู่การขยายตัวของเมือง สำนักงานฯ จึงได้ขับเคลื่อนนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกับทุกภาคส่วนให้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การสร้างสมดุลและกลมกลืนกับความหลากหลายทางชีวภาพ การยกระดับภารกิจโครงการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การกำหนดพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม และการบริหารกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนโครงการที่นำไปสู่ความยั่งยืน

“การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ วิทยากรรับเชิญจากภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา เยาวชน และนักวิชาการอิสระ ร่วมนำเสนอความคิดเห็นต่อทิศทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่ส่งผลต่อการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้หัวข้อ “Future Living : มองสิ่งแวดล้อมไทยในอนาคต” โดยเฉพาะการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล การพัฒนาเมืองน่าอยู่ รวมถึงการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เป็นต้น นอกจากนั้น ภายในงานได้จัดแสดงนิทรรศการผลงานการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมสำคัญของสำนักงานฯ รวมถึงการร่วมจัดบูธแสดงผลการดำเนินงานและความร่วมมือกับเครือข่ายจากทั่วประเทศ อาทิ ชุมชนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน และราชการ รวมถึงการแสดงผลการพัฒนานวัตกรรมของสำนักงานฯ เพื่อนำไปปรับปรุงการให้บริการแก่ประชาชน รวมถึงผู้มารับบริการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายประเสริฐ กล่าว


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  4 กันยายน 2567

ที่มา https://www.thansettakij.com/climatecenter/sustainability/605639

บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC มีการดำเนินธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นในการนำเสนอสินค้าดี ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยอยู่ภายใต้ 3 หลักใหญ่ ได้แก่ 1. สิ่งแวดล้อม 2. ความรับผิดชอบต่อสังคม และ 3. ธรรมาภิบาล เพื่อให้สอดรับกับแนวคิด ESG (Environment Social Governance) เพื่อให้ทุกชีวิตในสังคมเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน

ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ในเรื่องของการใช้พลังงานในกระบวนการขนส่งของบริษัท ซึ่งได้ดำเนินการในขอบข่ายที่ 1 และ 2 ไปแล้ว และขยายไปยังกลุ่มซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบว่ามีส่วนใดที่จะต้องปรับปรุงหรือพัฒนาต่อไป

โดยได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการรวบรวมจัดเก็บข้อมูลให้มีความแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น นำมาซึ่งการลดต้นทุนการใช้ทรัพยากร ลดความผิดพลาดระหว่างทางได้ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นภายในองค์กรในการคิดค้นนวัตกรรมในการพัฒนาการผลิตสินค้า รวมไปถึงปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับแนวคิด ESG

โดยมีแผนเร่งให้แล้วเสร็จทั้ง 3 ขอบข่ายภายในปี 2568 เพื่อนำไปสู่การตั้งเป้าหมายและกรอบระยะเวลาในการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในระยะต่อไป


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  3 กันยายน 2567

ที่มา: https://siamrath.co.th/n/563202

ไอคอนสยาม และ เมืองสุขสยาม ร่วมกับ ธนาคารกสิกรไทย บริษัท ผลิตภัณฑ์กระดาษไทย จำกัด ใน Fest by SCGP และ Wake Up Waste เตรียมจัดงาน “SOOKSIAM สุขรักษ์โลก ปี 3” ตอกย้ำคอนเซ็ปต์ “สุขเล็ก ๆ ที่ยิ่งใหญ่ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ด้วยการรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีประโยชน์ เปิดตัวสถานีคัดแยกขยะ  Waste Station บริการนักท่องเที่ยวทั่วเมืองสุขสยาม รวบรวมขวดพลาสติกเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก เช่น ผ้าห่มที่ทอจากเส้นใยจากขวดพลาสติก โดยตั้งเป้าไว้ที่จำนวน 2,000 ผืน เพื่อนำผ้าห่มรักษ์โลกไปมอบให้กับเด็ก ๆ ตามโรงเรียนในชนบทใน “โครงการห่มรักษ์ให้น้องอุ่น”

นอกจากนี้ ภายในงานนอกจากได้เพลิดเพลินกับการช้อปสินค้า ECO – Market สินค้าที่ผลิตจากธรรมชาติเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การตกแต่งพื้นที่ด้วยไอเดียสุดเก๋ จากฝาขวดพลาสติก และถุงพลาสติก และร่วมกับกิจกรรม Workshop รักษ์โลกสุดครีเอท พร้อมชมการแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทย โดยงานจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 6 – 18 กันยายน 2567  และจะมีพิธีเปิดงาน “SOOKSIAM สุขรักษ์โลก ปี 3” ในวันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2567 ณ เมืองสุขสยาม ชั้น G ไอคอนสยาม


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.