• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ครม. ไฟเขียวร่างกฎกระทรวง “ยกเว้นภาษีที่ดิน” ทำพื้นที่สีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อม และพื้นที่ทำรถไฟฟ้า

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  19 ธันวาคม 2567

นายพรชัย  ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีการ่างกฎกระทรวงกำหนดทรัพย์สินที่ได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (ฉบับที่..) พ.ศ. …. จำนวน 2 ฉบับ ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 หลักการและเหตุผล : ปัจจุบันพื้นที่สีเขียวเข้าข่ายเป็นที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพซึ่งจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูง จึงทำให้ที่ผ่านมามีผู้ปรับเปลี่ยนที่ดินที่เป็นพื้นที่สีเขียวให้เป็นที่ดินที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรมเพื่อให้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำลง ทั้งนี้ พื้นที่สีเขียวดังกล่าวมีคุณค่าและคุณประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการช่วยดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการช่วยลดปัญหาการกัดเซาะดินและชายฝั่ง

สาระสำคัญ: ยกเว้นภาษีให้แก่พื้นที่สีเขียว โดยกำหนดให้ที่ดินที่จะได้รับยกเว้นภาษีจะต้องเป็นที่ดินซึ่งปกคลุมด้วยพืชพรรณเป็นองค์ประกอบหลัก และมีประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศการดำรงชีวิต หรือคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ตลอดปีภาษี ดังนี้

1. ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ในประเภทการลด ดูดซับ และการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากภาคป่าไม้และการเกษตรจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เฉพาะโครงการที่สอดคล้องกับระเบียบวิธีลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจประเภทปลูกป่าและฟื้นฟูป่า

2. เป็นป่าชายเลน โดยมีรายละเอียดตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งประกาศกำหนด ทั้งนี้ ที่ดินที่เข้าข่ายได้รับยกเว้นจากการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะต้องไม่มีการใช้หาผลประโยชน์ เว้นแต่เป็นการขาย หรือการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตซึ่งได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป

ผลที่คาดว่าจะได้รับ: ช่วยลดปัญหาการแผ้วถางพื้นที่สีเขียว สนับสนุนการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนพื้นที่สีเขียวโดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ฉบับปรับปรุง) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มและพัฒนาพื้นที่สีเขียว ป่าอนุรักษ์ ป่าชุมชน ตลอดจนการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก

ที่มา : PPTVHD36.com (https://www.pptvhd36.com/wealth/economic/238868)


© 2025 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.