• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  25 สิงหาคม 2567

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_9373405

พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้มอบหมายให้นายนพดล พลเสน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ ทส. เปิดงานสัมมนาทางวิชาการสัตว์ป่าสวนสัตว์ ครั้งที่ 16 ในหัวข้อ “Connecting people and planet: Exploring zoo knowledge in wildlife conservation” โดยมีนายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดสัมมนา เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรม มารวย การ์เด้น กรุงเทพมหานคร

งานสัมมนาทางวิชาการสัตว์ป่าสวนสัตว์ จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 16 มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ เผยแพร่งานทางวิชาการ และเปิดโอกาสให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างนักวิชาการและหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนางานด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้หัวข้อหลักคือ “เชื่อมโยงผู้คนและโลกของเราไปด้วยกันจากองค์ความรู้สวนสัตว์สู่การอนุรักษ์สัตว์ป่า” มีผู้เข้าร่วมงานและผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมงานมากกว่า 150 คน

นอกจากนี้ นายนพดล พลเสน ยังกล่าวชื่นชมองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในการดำเนินงานด้านการเชื่อมโยงงานอนุรักษ์เข้ากับผู้คนท้องถิ่น อาทิ โครงการอนุรักษ์นกกระเรียนพันธุ์ไทย พญาแร้ง และนกกาฮัง เป็นต้น และยังเชื่อมั่นว่าองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย จะเป็นหน่วยงานสำคัญในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ และเชื่อมโยงผู้คนเข้าหาธรรมชาติได้อย่างยั่งยืนต่อไป


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  24 สิงหาคม 2567

เวียตเจ็ทไทยแลนด์ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) กับ มูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อเดินหน้าโครงการและกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้กองทุนฟลายกรีนฟันด์ของสายการบิน ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสู่การดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของสังคมให้ดียิ่งขึ้น สอดคล้องกับพันธกิจหลักของมูลนิธิชัยพัฒนาในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตผ่านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและการปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อม

โดย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์ และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา พระราชทานพระราชานุญาตให้มูลนิธิชัยพัฒนา ร่วมกับ บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการความร่วมมือกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อการขยายผลโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงสนับสนุนในการดำเนินการใดๆ อันเป็นสาธารณประโยชน์ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของสังคมให้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ก่อตั้งกองทุนฟลายกรีนฟันด์ในปี 2564 เวียตเจ็ทไทยแลนด์มุ่งมั่นสร้างความตระหนักต่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นความร่วมมือระหว่างเวียตเจ็ทไทยแลนด์และมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และโครงการพัฒนาต่างๆ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ให้เกิดประโชน์สูงสุดแก่ชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน

ขณะที่ นายวรเนติ หล้าพระบาง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เวียตเจ็ทไทยแลนด์ กล่าวว่า ได้มุ่งมั่นดำเนินกิจกรรมที่อุทิศตนเพื่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รวมถึงการลดการปล่อยมลพิษจากการปฏิบัติการบิน เพราะฉะนั้นความร่วมมือระหว่างสายการบินฯ และมูลนิธิชัยพัฒนา จึงเป็นโอกาสที่สามารถสนับสนุนฯ บุคลากร ทรัพยากร และความเชี่ยวชาญของบริษัทฯ เพื่อการดำเนินงานต่างๆ ของมูลนิธิฯ รวมถึงโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ชุมชนและโลกของเรา

ส่วน ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า การได้ร่วมมือกับเวียตเจ็ทไทยแลนด์เพื่อการดำเนินกิจกรรมและโครงการพัฒนาต่างๆ โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือนี้น่าจะสามารถร่วมกันบูรณาการงานพัฒนาสังคมควบคู่กับแนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมั่งคงและยั่งยืนต่อไป

ซึ่งกิจกรรมความร่วมมือครั้งแรกภายใต้โครงการ “Fly Green Metro Forest – Mangrove II” นี้ เป็นกิจกรรมปลูกป่าชายเลนและการปล่อยพันธ์ปลาน้ำจืด เพื่อสนับสนุนการบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีทางตามธรรมชาติซึ่งสอดคล้องกับแนวพระราชดำริ ณ โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี โครงการดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้แก่ชุมชนโดยรอบด้วยการบำบัดน้ำเสียตามธรรมชาติเพื่อพัฒนาคุณภาพแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำสำหรับการประกอบอาชีพประมง นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างมีสมดุล ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเวียตเจ็ทไทยแลนด์และกองทุนฟลายกรีนฟันด์สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ th.vietjetair.com

ที่มา : สยามรัฐออนไลน์ (https://siamrath.co.th/n/560117)


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  23 สิงหาคม 2567

ที่มา https://www.dailynews.co.th/news/3779347/

โดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์ได้ปล่อยมีเทนออกสู่ชั้นบรรยากาศ มากกว่า 3 พันล้านตัน หากลดการปล่อยก๊าซเหล่านี้ภายในหนึ่งหรือสองทศวรรษจะช่วยลดอุณหภูมิโลกได้ถึง 0.5 องศาเซลเซียส ดังนั้น หากสามารถยับยั้งการปล่อยมีเทนทั้งหมดจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ได้ ปริมาณความเข้มข้นของก๊าซดังกล่าวจะตํ่าลงได้เทียบเท่ากับโลกในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม

เมื่อมองย้อนกลับมามองสิ่งใกล้ตัวที่เราสามารถทำได้ง่าย ๆ การเปลี่ยนอุปกรณ์ในการทำพลังงานต่าง ๆ ภายในบ้านถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการลดการปล่อยก๊าซมีเทน อาทิ การเปลี่ยนมาใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานสะอาด เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือมลพิษภายในอาคาร อย่างการใช้เตาแม่เหล็กความร้อน ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่าเตาแก๊ส 2-3 เท่า เนื่องจาก “เตาแก๊ส” เป็นอีกหนึ่งตัวการสำคัญของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนจากการศึกษาเกี่ยวกับเตาแก๊สในสหรัฐอเมริกา พบว่า สามในสี่ของการปล่อยก๊าซมีเทนทั้งหมดถูกปล่อยออกมาในขณะที่เตาปิดอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากท่อและข้อต่อที่รั่ว อีกทั้งปริมาณก๊าซมีเทนที่ทำลายสภาพอากาศนั้น ยังเท่ากับปริมาณการปล่อยมลพิษของรถยนต์ครึ่งล้านคันต่อปี


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  22 สิงหาคม 2567

ที่มา: https://www.prachachat.net/public-relations/news-1634970

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้จัดพิธีเปิดการประชุมมหกรรมเครือข่ายภาคประชาชน และภาคีความร่วมมือ “รุก รับ ปรับตัว รวมพลังสามัคคี ลดโลกร้อน” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดี สส. กล่าวว่า ปัญหาโลกร้อนได้ส่งผลกระทบกับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และทุกระบบนิเวศ ซึ่งการแก้ไขปัญหานั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเครือข่ายที่มาในวันนี้เป็นภาคีสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนการทำงานที่มีความสอดคล้องกับแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ความท้าทายที่จะต้องยกระดับการจัดการให้ทันต่อสถานการณ์ใหม่ รวมถึงขยายผลการทำงานให้พื้นที่อื่นได้ร่วมเรียนรู้และนำไปสู่การปฏิบัติได้ ดังนั้น เพื่อให้เครือข่ายภาคประชาชนและภาคีความร่วมมือ สามารถดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันได้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมลดโลกร้อน ได้กำหนดแนวทางการสนับสนุนการดำเนินงาน 8 แนวทาง ได้แก่

1. สนับสนุนการดำเนินงานของเครือข่ายภาคประชาชนในการขับเคลื่อนแนวทางการจัดการโลกร้อนในเชิงนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของแต่ละพื้นที่

2. พัฒนาศักยภาพ บทบาทและเสริมองค์ความรู้เครือข่ายภาคประชาชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

3. สนับสนุนการจัดทำแผนปฏิบัติการที่สอดคล้องกับประเด็นการปรับตัวและสามารถดำเนินงานได้ทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ

4. สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนทั้งเงินกองทุนสิ่งแวดล้อมและกองทุนที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ

5. จัดทำฐานข้อมูลเครือข่ายให้มีความเชื่อมโยงกันกับเครือข่ายของหน่วยงานอื่นและองค์กรที่ร่วมทำงาน

6. สนับสนุนปฏิบัติการในเชิงพื้นที่ในประเด็นที่จะนำไปสู่การลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

7. สนับสนุนเครื่องมือ งานวิชาการ งานวิจัย และกลไกเจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือและพัฒนาเครือข่ายประจำจังหวัด

8. พัฒนาการสื่อสาร สร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโลกร้อน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  21 สิงหาคม 2567

ที่มา https://www.tcijthai.com/news/2024/8/scoop/13823

เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมจากทุกภูมิภาค จัดเวที “สิทธิชุมชนกับสิทธิที่หายไปใน พ.ร.บ.โลกร้อนไทย” เพื่อร่วมกันหารือและแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมกำลังผลักดันให้คณะรัฐมนตรีรับรองในเร็ว ๆ นี้

เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมจากทุกภูมิภาค ยังร่วมกันออกแถลงการณ์ “รัฐบาลใหม่ต้องทบทวนนโยบายการแก้ปัญหาโลกร้อน” เรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ทบทวนนโยบายการแก้ปัญหาโลกร้อน โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ และไม่สนับสนุนกลไกตลาดคาร์บอนเครดิตที่เป็นเพียงการผลักภาระให้ผู้รักษาสิ่งแวดล้อม โดยเน้นย้ำว่า โลกเดือดเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ วิกฤตโลกร้อนที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องล้อเล่น และประชาคมโลกต้องร่วมกันแก้ไขพฤติกรรมการใช้พลังงานและการดำเนินชีวิตที่ก่อให้เกิดมลพิษและก๊าซเรือนกระจก ระบบการค้าขายคาร์บอนเครดิตเป็นการหลอกลวง กลไกตลาดคาร์บอนเครดิตเป็นเพียงการผลักภาระความรับผิดชอบของผู้ก่อมลพิษไปให้ผู้รักษาสิ่งแวดล้อม โดยไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง รัฐบาลใหม่ต้องสร้างนวัตกรรมทางความคิด ล้มเลิกความคิดที่จะผลักดันร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับปัจจุบัน และสร้างวิสัยทัศน์ใหม่ในการแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ทบทวนบทบาทหน้าที่ของ ‘กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ให้เป็นกรมที่ทำหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาโลกร้อนและปกป้องคุ้มครองสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง หาใช่เป็นกรมที่ตั้งขึ้นเพื่อรับรอง ‘ระบบตลาดการค้าคาร์บอน’ เท่านั้น


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  20 สิงหาคม 2567

ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ (https://www.dailynews.co.th/news/3770880/)

ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์ได้ปล่อยก๊าซมีเทนออกสู่ชั้นบรรยากาศ มากกว่า 3 พันล้านตัน หากลดการปล่อยก๊าซดังกล่าวภายในหนึ่งหรือสองทศวรรษจะช่วยลดอุณหภูมิโลกได้ถึง 0.5 องศาเซลเซียส ดังนั้น หากสามารถยับยั้งการปล่อยมีเทนทั้งหมดจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ได้ ปริมาณความเข้มข้นของก๊าซดังกล่าวจะต่ำลงได้เทียบเท่ากับโลกในช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม หากโลกยังคงร้อนขึ้นเรื่อยๆ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เรายังต้องแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซมีเทนจากธรรมชาติที่สูงขึ้น ทั้งจากพื้นที่ชุ่มน้ำเขตในร้อนที่อุ่นขึ้น และการละลายของชั้นดินเยือกแข็งในอาร์กติก การปล่อยก๊าซมีเทนตามธรรมชาติระดับสูงสุดมาจากพื้นที่ชุ่มน้ำและป่าที่ถูกน้ำท่วมตามฤดูกาลในเขตร้อน เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นชื้น และมีออกซิเจนต่ำ เหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ปล่อยก๊าซมีเทน‘ร็อบ แจ็คสัน’ นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เมื่อเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว เขาได้เดินทางไปที่เขตอนุรักษ์ ‘มามิราอูอา’ (Mamirauá) ในป่าอเมซอนของบราซิล ซึ่งเป็นช่วงที่ปรากฏการณ์เอลนีโญกําลังทวีความรุนแรงขึ้น และมหาสมุทรแอตแลนติกเขตร้อนก็ร้อนจัด โดยอุณหภูมิของมหาสมุทรนอกชายฝั่งฟลอริดานั้นเกือบแตะ 40 องศาเซลเซียส หรือ 104 องศาฟาเรนไฮต์ ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับอุณหภูมิจากอ่างน้ำร้อนเดือดๆ อุณหภูมิที่แนะนำสำหรับการทำให้ปลาแซลมอนสุก และอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรสูงสุดที่วัดได้

“น้ำทะเลที่อุ่นในมหาสมุทรแอตแลนติกเขตร้อนมักทำให้เกิดภัยแล้งในอเมซอน ‘อายัน ฟลีชมันน์’ เจ้าบ้านชาวบราซิล ซึ่งเป็นผู้อำนวยการด้านการวิจัยสภาพอากาศที่นั่น เขาบอกกับผมว่าภัยแล้งอาจกำลังใกล้เข้ามาแล้ว ระดับน้ำที่สถานีตรวจวัดในเมืองตาบาทิงกา ประเทศบราซิล ซึ่งอยู่ห่างออกไปหลายร้อยกิโลเมตรทางตอนเหนือของแม่น้ำนั้นอยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยภัยแล้งที่เลวร้ายที่สุดของป่าแอมะซอนเกิดขึ้นในปีที่เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งน้ำทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติกมีอุณหภูมิสูงขึ้น” แจ็คสัน กล่าวพื้นที่ทางทะเลที่สำคัญคือแถบที่ทอดยาวจากเส้นศูนย์สูตร ไปจนถึงคิวบาและฟลอริดาทางตอนใต้ ภัยแล้งรุนแรงที่เกิดจากปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2015–2016 ส่งผลให้อุณหภูมิสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ต้นไม้ตายไปหลายพันล้านต้นจากไฟป่าที่โหมกระหน่ำ และเปลี่ยนป่าแอมะซอนจากที่เคยเปรียบเสมือนฟองน้ำดูดซับคาร์บอนฯ ของทั่วโลกให้กลายเป็นแหล่งคาร์บอนขนาดใหญ่


NBT CONNEXT  19 สิงหาคม 2567

วันนี้ (19 สิงหาคม 2567) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, ปลัดกระทรวงมหาดไทย และคณะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า การเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดเพชรบุรี โดยนายณัฏฐชัย นำพูลสุขสันติ์  ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี หัวหน้าส่วนราชการ ให้การต้อนรับ ณ บริเวณสะพานดำ ข้างจวนผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวให้กำลังใจผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่ายที่พร้อมช่วยเหลือประชาชนและเปิดเผยว่ารัฐบาลมีความห่วงใยเร่งป้องกันปัญหาอุทกภัยทุกด้าน พร้อมกล่าวถึงปัญหาอุทกภัยว่ามีทั้งอุทกภัยน้ำหลาก อุทกภัยน้ำแห้ง  ซึ่งทางกรมป้องกันภัยของกระทรวงมหาดไทยได้เตรียมแผนเผชิญเหตุไว้ในทุกสถานการณ์ การลงพื้นที่มาตรวจความพร้อมของกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยในเขตภาคใต้ตอนบน พร้อมชมการสาธิตในเรื่องของการกู้ภัยการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ การลำเลียงผู้ประสบเหตุ ข้ามสิ่งกีดขวาง ข้ามแม่น้ำเพชรบุรีได้อย่างปลอดภัย เพื่อส่งต่อการรักษาพยาบาลได้อย่างรวดเร็ว

โดย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้เยี่ยมชมรถประกอบอาหารและกล่าวด้วยความน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะเป็นรถที่ได้แนวทางจากรถโรงครัวพระราชทาน ฯ และ  รถครัวสนามจากกองทัพบก เพื่อประกอบอาหารแจกจ่ายชาวบ้านในเขตประสบภัยได้ หลังจากนั้นเยี่ยมชมรถผลิตน้ำดื่ม ที่ช่วยแก้ปัญหาระบบน้ำ หรือระบบการขนส่งถูกตัดขาด ก็สามารถมีฐานเสบียงไว้ดูแลประชาชนทั้งน้ำดื่ม น้ำใช้ และเยี่ยมชมรถเครื่องจักร อุปกรณ์เคลื่อนที่ พร้อมเรือท้องแบนกู้ภัยแม้น้ำเข้าเรือก็ไม่จม

นอกจากนั้น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกล่าวย้ำถึงความพร้อมว่าต้องมีการฝึกซ้อมแผนปฏิบัติตลอดเวลา ให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วแต่ต้องปลอดภัยด้วย มีความชํานาญ แม้เราชนะธรรมชาติไม่ได้ แต่ว่าเราสามารถที่จะทำให้ภัยธรรมชาติทั้งหลายทำอันตรายให้กับเราได้น้อยที่สุด มีวิธีการป้องกันเพื่อรักษาชีวิต และทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

จามรี อนุรัตน์ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบุรี รายงาน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  18 สิงหาคม 2567

ที่มา : Ryt9.com (https://www.ryt9.com/s/prg/3540615)

สถานการณ์ขยะพลาสติก? เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในระดับประเทศ ระดับภูมิภาคและระดับโลก หากยังไม่มีระบบการจัดการขยะที่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพได้มีการคาดการณ์ว่าภายใน 20 ปีข้างหน้า จะมีขยะหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมทั่วโลก จำนวนมากถึง 700 ล้านตัน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบนบก และระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ จากการศึกษางานวิจัยพบว่า มีการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์จากการบริโภคสัตว์น้ำมาอย่างต่อเนื่องและมีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา พบว่า 5 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีการปล่อยขยะพลาสติกลงสู่ทะเลเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก สำหรับประเทศไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก พร้อมกับประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ดังนั้น การจัดการขยะพลาสติกจึงต้องเป็นวาระสำคัญที่ต้องดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วนในระดับภูมิภาคที่ใช้ทะเลหรือมหาสมุทรร่วมกัน

จากปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาคอาเซียน นำไปสู่ความร่วมมือในการจัดการขยะพลาสติกระดับภูมิภาค เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีการเสริมสร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและสร้างเครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในนามเครือข่ายนวัตกรรมพลาสติกอินโด-แปซิฟิก (The Indo-Pacific Plastics Innovation Network หรือ IPPIN) ซึ่งเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาคที่ทำงานร่วมกันของประเทศต่าง ๆ เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือในการดำเนินการด้านการวิจัย การประกอบการ และการลงทุน รวมทั้งร่วมจัดการกับปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาค โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย และดำเนินการโดยหน่วยงานวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลีย (The Commonwealth Scientific and Industrial Research Organization หรือ CSIRO) พร้อมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานในประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซียและจะขยายผลไปยังประเทศลาวและกัมพูชาต่อไป ผ่านการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติเชิงพื้นที่ ซึ่งในปีนี้ CSIRO..ได้มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเพื่อร่วมหยุดยั้งปัญหาขยะพลาสติกในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยได้จัด การประชุม CSIRO Ending Plastic Waste Symposium 2024 ขึ้น ในวันที่ 6 – 8 สิงหาคม พ.ศ. 2567 ณ นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือของเครือข่ายนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ พร้อมทั้ง มีการนำเสนอข้อมูลผลการดำเนินงานของ IPPIN และทิศทางการดำเนินงานในอนาคต ในการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.