• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  11 มกราคม 2567

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมติดตามความคืบหน้าการดําเนินการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าและการเชื่อมโยงระบบขนส่ง ที่ห้องประชุมกองบิน 41 อ.เมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกล่าวเปิดการประชุมว่า มีความห่วงใยในสถานการณ์ปัญหาหมอกควันและไฟป่า ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนภาคเหนือหลายจังหวัดในขณะนี้ จึงเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการความร่วมมือกัน ยึดหลักการดำเนินงานสถานการณ์ต้องดีขึ้นทุกวัน พร้อมแบ่งหน้าที่และพื้นที่รับผิดชอบ X-Ray แก้ไขโดยเร่งด่วน หากมีปัญหาอุปสรรคให้แจ้งและรายงานให้ทราบทุกวันขณะที่ การบริหารจัดการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า ต้องมีแนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาว เพื่อความยั่งยืน การดูแลประชาชนด้านสุขภาพ ขอให้จังหวัดและทุกส่วนราชการ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดูแลให้ครอบคลุมทุกมิติ

สำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลประชาชนให้มีหน้ากากกรองฝุ่น เข้าถึงเครื่องฟอกอากาศที่มีประสิทธิภาพ และราคาที่เข้าถึงได้ สร้างจิตสำนึกร่วมกัน ให้ประชาชนรับรู้ข่าวสารและยกระดับความตื่นตัวให้ประชาชนรู้ถึงพิษภัยของ PM2.5 ร่วมมือกันช่วยกันดูแลพื้นที่ป่า ลดการเผา ส่วนในระยะยาว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายคืนอากาศบริสุทธิ์ให้ภาคเหนือ ขอให้ช่วยกันคิดและรีบปฏิบัติให้ได้ ทั้งเรื่องการคมนาคมและการดำรงชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยทั้งนี้ จากการลงพื้นที่และพูดคุยกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด วานนี้ (10 ม.ค.67 ) หากเปรียบเทียบตัวเลขปีนี้กับปีที่แล้วปัญหาฝุ่นลดลงหลายเท่าตัว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถทำให้ตัวเลขฝุ่น PM2.5 ลดลงได้อย่างมีนัยยะ ส่งผลให้เศรษฐกิจของภาคเหนือดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการท่องเที่ยว รวมถึงการเปลี่ยนแปลงระบบการคมนาคม การสร้างถนนเพิ่มขึ้น โดยกระทรวงคมนาคมได้นำเสนอเรื่องนี้และจะมีการจัดสรรงบประมาณในการจัดการเรื่องเหล่านี้ต่อไป ชื่นชมทุกหน่วยงานที่ประสานงานกันได้อย่างดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจในการบริหารงาน เหมาะแก่การเป็นแม่แบบที่จะไปใช้ในจังหวัดต่างๆ ให้มีการปฏิบัติร่วมกันอย่างดีเยี่ยมในทุกจังหวัด


Thai PBS  10  มกราคม 2567

อ่านให้ฟัง00:03"พัชรวาท"บินสำรวจพบรอบ กทม.เช่น พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี เผานาต้นตอฝุ่นPM2.5 เตรียมประสาน มท. สั่งการผู้ว่าฯ คุมเข้ม สอดคล้องกับ "จิสด้า" Hotspot ทั้งประเทศ 310 จุด

วันนี้ (10 ม.ค.2567) พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ขึ้นเฮลิคอปเตอร์บินสำรวจพื้นที่มีจุด hotspot ซึ่งพบว่าหลายจังหวัดมีการเผาบริเวณนาข้าว เช่น พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี และปทุมธานี

เตรียมประสานไปยังกระทรวงมหาดไทย (มท.) เพื่อให้ช่วยกำชับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นผู้อำนวยการปฏิบัติการระดับจังหวัดให้เข้าตรวจสอบ และระงับยับยั้งต้นตอจุดความร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า ทส.ได้ประกาศการเข้าสู่ช่วงฤดูฝุ่นอย่างเป็นทางการ ต้องเตรียมการรับมือตามมาตรการที่ได้กำหนดไว้อย่างเข้มข้นจริงจัง เพื่อให้ปัญหาและผลกระทบต่อประชาชนเบาบางลง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 มกราคม 2567

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง การหารือร่วมกับ นายฉู ตง หยู (Mr. Qu Dongyu) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเกษตรและอาหารที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ให้แก่ประเทศอื่น ๆ โดยจำเป็นต้องร่วมมือด้านวิชาการและเทคโนโลยีกับ FAO ในหลายๆเรื่อง และสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุนแก่เกษตรกรรายย่อยเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อภาคเกษตร จึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานในระดับนานาชาติ ทั้งด้านการศึกษา การวิจัย และการพัฒนา รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกษตรกรสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเตรียมความพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูลต่างๆกับองค์กรระหว่างประเทศและประเทศอื่นๆ ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนในอนาคต เช่นเดียวกับด้านองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้แสดงความชื่นชมถึงการดำเนินงาน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สนับสนุนโครงการต่างๆของ FAO เป็นเวลากว่า 70 ปี และพร้อมจะสนับสนุนประเทศไทยในการถ่ายถอดความรู้และประสบการณ์ที่ไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะในด้านดินและน้ำ ซึ่งสืบเนื่องจากพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยจะมีข้อริเริ่มจัดการประชุมนานาชาติด้านดินและน้ำในประเทศไทย ในฐานะที่ไทยเป็นที่ตั้งของสำนักงาน FAO ประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก โดยจะประสานงานกันอย่างใกล้ชิดต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 มกราคม 2567

นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสภาพอากาศที่หลายพื้นที่ประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า กรุงเทพมหานครดูแลปัญหาฝุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยมีมาตรการ 3 ด้านคือ การเฝ้าระวัง คือพยากรณ์ฝุ่นให้แม่นยำ ขยายเครือข่ายตรวจวัดฝุ่น 1,000 จุด ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 50 เขต พร้อมแจ้งเตือนประชาชนผ่านแอปพลิเคชันไลน์ ด้านจัดการกับต้นเหตุของฝุ่น ทั้งตรวจควันดำ จัดโครงการเปลี่ยนน้ำมันเครื่องยนต์ดีเซลที่เป็นปัจจัยหลักเกิดฝุ่น ห้องเรียนปลอดฝุ่นและโครงการต้นไม้ล้านต้น และสุดท้ายด้านการป้องกันประชาชน

อย่างไรก็ตาม ในกรุงเทพมหานคร ต้นเหตุของปัญหาฝุ่น PM2.5 ส่วนใหญ่เกิดจากเครื่องยนต์ดีเซล ดังนั้นในเดือนกุมภาพันธ์นี้ จึงรณรงค์ให้รถเครื่องยนต์ดีเซลเปลี่ยนน้ำมันเครื่องและไส้กรองเพื่อร่วมกันลดการเกิดฝุ่น PM2.5 ทั้งนี้ หากสถานการณ์ค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน(สีแดง) จะมีมาตรการเฝ้าระวังแจ้งเตือน การประกาศพื้นที่ควบคุมเขตรำคาญ ประกาศหยุดการก่อสร้าง ประกาศงดค่าเดินทางบีทีเอสเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวและมาตรการทำงานจากที่บ้านพัก พร้อมกันนี้ ในส่วนของพื้นที่ ปริมณฑล กรุงเทพมหานครจะประสานพื้นที่ปริมณฑลให้หน่วยงานเครือข่ายร่วมกันลดปัญหาฝุ่น PM2.5 ต่อไป

สำหรับประชาชนหากต้องการรับคำปรึกษาเรื่องสุขภาพ โทรสายด่วนสุขภาพ สำนักการแพทย์ HOTLINE 1646 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง หรือสามารถพบแพทย์ผ่านทาง Telemedicine แอปพลิเคชัน "หมอ กทม." เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการได้อย่างรวดเร็วและปรึกษา "คลินิกมลพิษทางอากาศ" จำนวน 8 แห่ง เช่น ที่โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสินและโรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร หรือต้องการติดตามค่าฝุ่นที่แม่นยำได้ทางแอปพลิเคชัน AirBKK


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  7 มกราคม 2567

ที่มา: https://www.springnews.co.th/keep-the-world/environment/846517

รัฐสภาของจีนมีการอภิปรายประเด็นบนโลกออนไลน์ถึงวาระ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าควรใช้ดอกไม้ไฟหรือไม่ ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นร้อนแรงและบังคับได้ยาก เนื่องจากกลุ่มคนบางส่วนมองว่า พลุสามารถสร้างมลพิษทางอากาศได้

ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวมีขึ้น เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศและระเบียบความปลอดภัยจากอัคคีภัย แม้ว่าในปี 2560 ทางการได้ระบุว่า มี 444 เมืองออกนโยบายสั่งห้ามจุดพลุดอกไม้ไฟ ซึ่งบางเมืองก็ได้ปรับตัวด้วยการลดปริมาณของพลุลง และอนุญาตให้มีการเล่นพลุประทัดหรือโชว์ดอกไม้ไฟในพื้นที่และเวลาที่จำกัด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ได้กลับมาถูกถกเถียงอีกครั้ง ซึ่งมีการทำแบบสำรวจบนโลกออนไลน์โดย Beijing Youth Daily โดยผู้ตอบแบบสอบถามกว่า 80% สนับสนุนให้มีการจุดดอกไม้ไฟในช่วงเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งเป็นวันหยุดสำคัญในปฏิทินจีน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  6 มกราคม 2567

ที่มา : https://www.dailynews.co.th/news/3044285/

กระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนไปเร็วนี้ทำให้อายุการใช้เสื้อผ้าสั้นลง การผลิตเสื้อผ้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมนับแต่การเลือกใช้วัตถุดิบถึงการจัดการเสื้อผ้าที่หมดอายุ ปัจจุบันแบรนด์เสื้อผ้าหลายแบรนด์ให้ความสำคัญกับ sustainable fashion

เสื้อผ้าจากเส้นใยรีไซเคิล เสื้อผ้ารักษ์โลกในสถานการณ์ภาวะโลกเดือดเช่นนี้ ไม่เพียงเป็นที่สนใจเป็นเทรนด์ของวงการแฟชั่น แต่ยังส่งต่อถึงการจัดการปัญหาขยะ ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ชวนมองอุตสาหกรรมสิ่งทอ การขับเคลื่อนความยั่งยืน การลดวิกฤติขยะเสื้อผ้าจากกระบวนการผลิตที่เน้นความรวดเร็วฉับไวฉบับฟาสต์แฟชั่น

ปัจจุบันจึงพูดกันถึง sustainable fashion ซึ่งก็จะลิงก์ไปกับวิธีการผลิตแบบเดิม เส้นใยสีย้อมธรรมชาติ ฯลฯ สอดคล้องกับ Soft Power ส่วนการมีส่วนร่วมเซฟโลกสร้างความยั่งยืนนั้น ดร.ชาญชัย ให้มุมมองว่า คงต้องมองที่พฤติกรรมการใช้ ทั้งนี้ภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญ ให้ความรู้กับผู้บริโภค ผู้ผลิตต้องมีความโปร่งใส การผลิตเป็นอย่างไร สื่อสารแสดงข้อมูลนี้ให้กับผู้บริโภค โดยข้อมูลเหล่านี้สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์สินค้าได้ ทำให้สินค้าไม่ต้องแข่งขันกับราคา สถาบันฯเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และหากทุกภาคส่วนช่วยกัน อุตสาหกรรมแฟชั่นไทยจะเติบโตขึ้นทั้งในแง่ความยั่งยืน ความน่าเชื่อถือในความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องมุ่งแข่งแต่ด้านราคา


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  5 มกราคม 2567

นายแสงสุรี ซองทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 3 จังหวัดตรัง ร่วมกับนักศึกษาฝึกงานและสหกิจศึกษาจากมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง ทำการสำรวจเก็บข้อมูลการสะสมตัวของมวลทรายและติดตามการเจริญเติบโตของสังคมพืชป่าชายหาด บริเวณแนวรั้วไม้ดักทรายหาดปากเมง อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จังหวัดตรัง ประจำเดือนมกราคม 2567

เบื้องต้นพบว่า มีการสะสมตัวของมวลทรายแนวเดิม รั้วไม้ไผ่เฉลี่ย 13.5 และ 0.8 เซนติเมตร พบพันธุ์ไม้ทั้งหมด 16 ชนิด จำนวน 157 ต้น มีพันธุ์ไม้เด่นที่พบคือ ต้นหูกวาง (Terminalia catappa L.) จำนวน 41 ต้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลเบื้องต้น ในเดือนที่ผ่านมาทำให้ทราบว่ามีอัตราลดลงของกล้าไม้ในแปลงศึกษาการเจริญเติบโตของสังคมพืชป่าชายหาด เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  4 มกราคม 2567

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำช่วงหน้าแล้งปี 2566/67 ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคเป็นหลัก รักษาระบบนิเวศ ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และสำรองไว้ใช้ช่วงต้นฤดูฝนหน้า ภาพรวมจนถึงขณะนี้จัดสรรน้ำช่วงหน้าแล้งทั้งประเทศไปแล้วกว่า 6,961 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,053 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันทั้งประเทศมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 4.65 ล้านไร่ หรือร้อยละ 80 ของแผนฯ ซึ่งเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 3.45 ล้านไร่ ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ยังต้องติดตามพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังอย่างใกล้ชิด ควบคู่กับประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำให้เกษตรกรและประชาชนรับทราบต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตเสียหายและรณรงค์ให้เกษตรกรเก็บกักน้ำไว้ในบ่อสำรอง เพื่อสำรองไว้ใช้แล้งหน้า สิ่งสำคัญขอเชิญชวนให้เกษตรกรหันมาทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เพราะช่วยลดการใช้น้ำได้ถึงร้อยละ 20 - 30 แล้วยังช่วยประหยัดน้ำและช่วยลดการใช้ปุ๋ย ทำให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตได้ด้วยสำหรับสถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 2 มกราคม 2567 พบอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 58,736 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 17,233 ล้านลูกบาศก์เมตร


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.