สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 8 พฤศจิกายน 2567
ที่มา: https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=47410&deptcode=brc&news_views=82
นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ปัญหาการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ที่ขยายตลาดในกลุ่มลูกค้ารายใหม่โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ กำลังทำให้ประเทศอังกฤษ เผชิญปัญหาขยะจากบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวถูกทิ้งเกลื่อนกลาด ก่อให้เกิดปัญหาปริมาณขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 4 เท่า โดยแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจากบุหรี่ไฟฟ้าถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่า 40 ตัน ทำให้สารโลหะหนักในบุหรี่ไฟฟ้า เช่น ตะกั่ว และปรอท รั่วไหลลงสู่สิ่งแวดล้อม เกิดการสะสมและปนเปื้อนในน้ำจนสร้างพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสัตว์ป่า เกิดสารพิษตกค้าง และทำลายระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหานี้รัฐบาลอังกฤษจึงออกกฎหมาย ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียว โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2568
นายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากบทเรียนของประเทศอังกฤษ ที่อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้พบปัญหา ทั้งอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้น และยังเพิ่มปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง จนเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การคงมาตรการห้ามนำเข้า ห้ามผลิตและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นมาตรการที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ในการป้องกันการเกิดนักสูบหน้าใหม่ รวมถึงเป็นการปกป้องระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมของประเทศได้อีกด้วย