• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ปชส.สุราษฎร์ธานี เผย Carbon Credit โอกาสทางธุรกิจเพื่อการฟื้นฟูโลก

NBT CONNEXT  13 พฤศจิกายน 2567

       นางทัศนียาพร  ดวงแก้ว  ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี  กล่าวว่า  รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการ ซื้อขาย Carbon Credit โดยตั้งเป้าหมายว่าประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกเดือด โลกรวน เพราะภัยธรรมชาติทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในทุกปี เช่นปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของประเทศไทย โดยการส่งเสริมคาร์บอนเครดิตจึงถูกนำมาใช้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก อธิบายอย่างง่ายแล้ว คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด หรือกักเก็บ ได้จากการดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิต สำหรับประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ผ่านโครงการ T-VER  หรือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ที่กำกับและดูแลโดย องค์การ บริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เช่น โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ โครงการผลิตพลังงานความร้อนโดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวล โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน โครงการปลูกป่าไม้ และอนุรักษ์ป่า เป็นต้น ซึ่งต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และกระบวนการของแต่ละมาตรฐานในการทำโครงการ โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ อบก. ให้การรับรอง จะเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” สามารถนำไปซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยน และใช้ในกิจกรรมการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้      

      สำหรับก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases : GHGs) คือ กลุ่มก๊าซในชั้นบรรยากาศโลกที่สามารถกักเก็บและดูดกลืนคลื่นความร้อนหรือรังสีอินฟราเรด (Infrared) ที่ส่งผ่านลงมายังพื้นผิวโลกจากดวงอาทิตย์ได้ดี ก่อนทำการปลดปล่อยพลังงานดังกล่าวออกมาในรูปของความร้อน ซึ่งทำให้โลกเกิด “ภาวะเรือนกระจก” ที่สามารถช่วยรักษาสมดุลของอุณหภูมิพื้นผิวดาวเคราะห์ไว้ได้ แต่ในปัจจุบันมีก๊าซบางชนิดสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมากเกินสมดุล ซึ่งก๊าซเหล่านี้สามารถดูดกลืนรังสีคลื่นยาวช่วงอินฟราเรดและคายพลังงานความร้อนได้ดีพื้นผิวโลกและชั้นบรรยากาศ จึงมีอุณหภูมิสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลก และสิ่งมีชีวิตพื้นผิวโลก.


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.