• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

NBT CONNEXT  1 ธันวาคม 2567

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ว่า “ จากการพยากรณ์อากาศ มีความชัดเจนว่าปริมาณน้ำฝนน่าจะเริ่มลดลง ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จึงเชื่อว่าภายใน 1 ธันวาคม สถานการณ์น่าจะเริ่มคลี่คลาย เพราะอุทกภัยภาคใต้นั้นแตกต่างจากภาคเหนือ เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนมากเพียงอย่างเดียว หากผลักดันน้ำลงสู่ทะเลได้ทุกอย่างก็จะดีขึ้น ซึ่งจากการติดตามความคืบหน้าจากผู้ว่าราชการจังหวัด พบว่าสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ขณะที่การประเมินความเสียหาย ทั้งบ้านเรือนประชาชน และระบบสาธารณูปโภค ต้องรอให้น้ำลดลงก่อนถึงจะเข้าไปตรวจสอบได้ รวมทั้งเรื่องสุขภาพของประชาชน เพราะช่วงที่วิกฤตที่สุดก็คือ หลังน้ำลด

ส่วนกรณีที่มีอาจารย์มหาวิทยาลัยถูกไฟดูด ขณะเกิดเหตุน้ำท่วมนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการกำชับกับการไฟฟ้า ให้ดูแลพื้นที่ในส่วนที่น้ำเข้าท่วม ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนระมัดระวัง การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าในครัวเรือน และทางจังหวัดได้มีการจัดเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราว ซึ่งมีการอพยพประชาชนเข้ามาพักพิง โดยตนได้มีการกำชับให้ดูแลชาวบ้านอย่างมีมาตรฐาน ทั้งเรื่องอาหารการกิน ที่นอนหมอนมุ้ง ตลอดจนสุขอนามัย สะอาดได้มาตรฐานไม่เป็นแหล่งเพาะเชื้อ พร้อมทั้งมีการอนุมัติเงินใช้ทดลองฉุกเฉินเพิ่มอีก 50 ล้านบาท ในจังหวัดเสี่ยงภัย รวมเป็นจังหวัดละ 70 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่เหมาะสม เชื่อว่าสามารถดูแลประชาชนได้ส่วนเงินเยียวยานั้น โดยในขณะนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) อยู่ระหว่างประสานกับจังหวัดที่ประสบภัย ซึ่งส่วนใหญ่ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยทั้งจังหวัดอยู่แล้ว จะทำให้สามารถดำเนินการได้เร็วมากยิ่งขึ้น

เมื่อการสำรวจความเสียหายหากเข้าเกณฑ์ ก็จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แล้วจะมีการโอนเงินเข้าสู่บัญชีผู้ประสบภัยโดยตรง แบบเดียวกับการเยียวยาอุทกภัยที่ภาคเหนือ พยายามจะเร่งเสนองบประมาณเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ได้ภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งเป็นการใช้งบกลางของนายกรัฐมนตรี จึงต้องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาข้อมูลก่อน

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์เยียวยา เป็นไปตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์นี้มาตั้งแต่อุทกภัยในภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ โดยนายกรัฐมนตรี ได้มีการสั่งการว่า ความเดือดร้อนขณะนี้ไม่จำเป็นต้องประเมินความเสียหาย เพราะจากสถานการณ์ที่น้ำนั้นมากกว่าปกติถึง 2 เท่า และไม่ได้มาตามฤดูกาล จึงควรใช้เกณฑ์สูงสุดในการเยียวยา โดยมีการวางหลักเกณฑ์ไว้ที่ครัวเรือนละ 9,000 บาท ซึ่งน่าจะต้องใช้หลักเกณฑ์นี้ไปจนถึงสิ้นปี ก่อนที่ปีหน้าจะต้องสู้กับปัญหาหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 และปัญหาภัยแล้งอีก “ 


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  30 พฤศจิกายน 2567

ที่มา https://www.tcijthai.com/news/2024/11/current/13997

กรมพัฒนาธุรกิจการค้าวิเคราะห์ว่า การดำเนินธุรกิจในอนาคต ทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก จึงเป็นความท้าทายที่สำคัญของภาคธุรกิจไทยที่ต้องเร่งปรับตัว ทำให้จำเป็นต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้ความต้องการที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมมีมากขึ้น

ธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม เป็นโอกาสใหม่ของธุรกิจไทยในปัจจุบัน ผู้สนใจอาจจำเป็นต้องเตรียมทักษะ บุคลากร และเทคโนโลยีด้านนี้ การมีที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมของไทยให้มีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันระดับโลก โดยธุรกิจที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านที่จำเป็นต่าง ๆ เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการ รองรับสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างเหมาะสมทั้งความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎหมายในและระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถวางกลยุทธ์ได้อย่างถูกต้อง ความเชี่ยวชาญด้านกระบวนการผลิตและการพัฒนาสินค้า/บริการ วัตถุดิบทดแทน และห่วงโซ่อุปทานที่ตรวจสอบย้อนกลับได้ และความเชี่ยวชาญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและผลกระทบภายหลังกระบวนการผลิตเช่น การบำบัดของเสีย การประเมินผลกระทบสังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  29 พฤศจิกายน 2567

ที่มา: https://tna.mcot.net/politics-1452846

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาโครงสร้างระบบราชการของกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 1/2567 โดยมีผู้บริหารกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ที่ประชุมได้เห็นชอบจัดตั้ง “กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น” เพื่อรองรับบทบาทและภารกิจของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ในการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิบัติงานการบริหารจัดการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ได้เห็นชอบเปลี่ยนชื่อ “สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด” เป็น “สำนักงานท้องถิ่นจังหวัด” ทั้ง 76 จังหวัด โดยมีอัตราตำแหน่งตามโครงสร้างที่มีอยู่เดิม ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการแบ่งส่วนราชการใน สถ. ต่อไป


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  28 พฤศจิกายน 2567

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ (https://www.prachachat.net/sd-plus/news-1703921)

51Talk ส่งเด็กไทยเข้าร่วม COP29..การประชุมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ บทพิสูจน์การสนับสนุนเยาวชนก้าวสู่เวทีระดับโลก ด้วยสุนทรพจน์ตระหนักถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อโลกที่ดีกว่า

51Talk (ไฟฟ์วันทอล์ก) แพลตฟอร์มหลักสูตรการศึกษาภาษาอังกฤษออนไลน์สำหรับเยาวชนระดับโลก ครอบคลุมการให้บริการมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก และมีผู้ใช้บริการแล้วกว่า 40 ล้านคน ส่งนักเรียนดาวเด่นจาก 4 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น ซาอุดีอาระเบีย และไทย ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในงานครั้งสำคัญระดับโลก อย่างการประชุมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 29 (the United Nations Climate Change Conference) หรือ COP29 ระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ที่เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน พร้อมเปิดโอกาสให้ทัศนศึกษาเรียนรู้เพิ่มเติมตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมงาน โดยการประชุมที่จัดขึ้นนี้มีผู้นำและตัวแทนจากทั่วโลกมากมายมาร่วมเสวนาเพื่อหาแนวทางจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ธาร ธีรภาสิริ หรือมียู วัย 12 ปี ตัวแทนเยาวชนชาวไทยหนึ่งเดียวได้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์บนเวทีระดับโลก COP29..ว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ มีจุดร่วมกันอย่างหนึ่งคือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ หากเราทำลายโลกได้ เราก็รักษาโลกได้เช่นกัน

ธารจึงขอเสนอแนวทาง SEEDS โดย S ย่อมาจาก Save หมายถึง การพยายามประหยัดให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำ หรือไฟฟ้า เช่น ปิดไฟและเครื่องปรับอากาศทุกครั้งก่อนออกจากห้อง E ย่อมาจาก Earth ให้คิดถึงโลกทุกครั้งเมื่อก้าวเดิน ควรมีการใช้ซ้ำ ลดการใช้ นำกลับมาใช้ใหม่ และปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ E ย่อมาจาก Encourage เป็นการบอกต่อและสนับสนุนให้คนอื่น ๆ ช่วยกันดูแลโลก D ย่อมาจาก Don’t Wait เพราะปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องเร่งด่วน ทุกคนลงมือทำได้ทันที และ S ย่อมาจาก Sustainability เช่น เลือกใช้พลังงานทดแทน เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แยกขยะนำไปรีไซเคิล เป็นต้น เพื่อช่วยเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบได้อย่างยั่งยืน แม้ SEEDS จะเป็นการกระทำเล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน แต่หากช่วยกันปลูกคนละไม้คนละมือมันจะกลายเป็นต้นไม้ใหญ่ที่คอยปกป้องเราและพาเราไปสู่โลกที่ดีกว่า

นอกจากเข้าร่วมเวทีใหญ่ของสหประชาชาติแล้ว ธารยังได้รับเชิญให้แสดงทรรศนะด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้หัวข้อ “Youth Leadership in Climate Action” ณ Thailand Pavilion จัดโดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อีกด้วย


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  27 พฤศจิกายน 2567

ที่มา https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000113622

ค่าเฉลี่ยขยะอาหารของโลกเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือคิดเป็นมูลค่ามหาศาลกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี (จากเดิม 74 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เทียบกับการประเมินของครั้งล่าสุดที่ผ่านมาใน Food Waste Index 2021 ขณะที่ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 86 กิโลกรัมต่อคนต่อปี (จากเดิม 79 กิโลกรัมต่อคนต่อปี) สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกและอยู่ในระดับเดียวกันกับประเทศเพื่อนบ้าน

ถึงเวลาแล้วที่เราต้องตระหนักว่า การร่วมด้วยช่วยกันแก้ปัญหาขยะอาหารไม่ใช่เพียงเรื่องของการรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่เป็นการเซฟเงินของเราเองด้วย การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ ของทุกคนในวันนี้ เช่น รับประทานอาหารให้หมดจาน, ซื้ออาหารมาตุนไว้แค่พอดี หรือลดการตกแต่งจานก่อนเสิร์ฟ อาจสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยิ่งใหญ่ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  26 พฤศจิกายน 2567

ที่มา: https://www.facebook.com/share/p/UWdm8QNi85nF8Xio/

วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 สผ. ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย จัดการประชุม CBD COP16 Debrief “เดินหน้าสู่เป้าหมาย ท้าทายโลกเปลี่ยนแปลง”  ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพ เพื่อเผยแพร่สาระสำคัญจากการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16 และต่อยอดความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายชาติ และแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ การประชุมฯ ได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ  ศิรินภาพร  เลขาธิการ สผ. เป็นประธานกล่าวเปิดงานประชุมฯ และปาฐกถาพิเศษนายฮานส์ อูลริช ซูดเบค อุปทูตสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย กล่าวต้อนรับและ นางกตัญชลี ธรรมกุล ผู้อำนวยการกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สผ. บรรยายสรุปสาระสำคัญจากการประชุม CBD COP16 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ เมืองซานดิเอโก เดอ กาลิ สาธารณรัฐโคลอมเบีย การประชุมฯ ในครั้งนี้ประกอบด้วยเวทีเสวนา 2 เรื่อง ได้แก่ “เรื่องเด่นประเด็นร้อน ใน CBD COP16” โดยผู้แทนจากกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ สผ. เพื่อนำเสนอประเด็นสำคัญให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องรับรู้ถึงความสำคัญและแนวทางการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของโลก รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการพัฒนางานตามภารกิจของหน่วยงานให้บรรลุเป้าหมายชาติและแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ เพื่อบรรลุแผนงานความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกต่อไปและ ภาคีร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายชาติและแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ โดยผู้แทนภาคีที่มีบทบาทสำคัญ มานำเสนอแนวทางการดำเนินงาน เพื่อผลักดันงานความหลากหลายทางชีวภาพให้บรรลุเป้าหมายระดับประเทศร่วมกันต่อไป


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  25 พฤศจิกายน 2567

ที่มา : Thaipbs (https://www.thaipbs.or.th/news/content/346569)

สนค. เผยธุรกิจอัพไซเคิลเป็นโอกาสธุรกิจใหม่ พัฒนาวัตถุดิบเหลือทิ้ง ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างเอกลักษณ์โดนเด่น เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ และส่งเสริมความยั่งยืน

วันนี้ (24 พ.ย.2567) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เติบโตอย่างก้าวกระโดด ประกอบกับการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกที่ทำให้การบริโภคของทุกภาคส่วนขยายตัวก่อให้เกิดปริมาณขยะจำนวนมาก ทั้งขยะมูลฝอยชุมชนและขยะพลาสติก

รายงาน Global..Waste..Management..Outlook..2024..ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า ขยะมูลฝอยชุมชนทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 3.8 พันล้านตัน ภายในปี 2593 และทำให้ต้นทุนในการจัดการขยะทั่วโลกเพิ่มขึ้น จาก 2.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2563 เป็น 6.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2593 สำหรับไทย ในปี 2566 มีขยะมูลฝอยชุมชน 26.95 ล้านตัน หรือเฉลี่ยประมาณ 73,840 ตัน/วัน

ผอ.สนค. กล่าวอีกว่า ความท้าทายในการจัดการขยะจำนวนมาก และต้นทุนในการดำเนินการที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณขยะ ก่อให้เกิดแนวคิดในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับขยะ ดังนั้นการอัพไซเคิล (upcycle) ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular..Economy)..ที่ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  24 พฤศจิกายน 2567

ทีมา https://www.bbc.com/thai/articles/clyrp253yd7o

องค์การสหประชาชาติกล่าวว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในโลกมีเพียงประมาณ 15% เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล ดังนั้นบริษัทที่ไร้ศีลธรรมจรรยาบรรณจึงพยายามกำจัดขยะไปที่อื่น โดยมักจะผ่านพ่อค้าคนกลางที่ขนขยะดังกล่าวออกนอกประเทศ

รายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลกระบุว่า พลาสติกและโลหะในขยะอิเล็กทรอนิกส์เมื่อเผาหรือทิ้งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และยังพบว่า ประเทศผู้รับขยะดังกล่าวหลายประเทศยังมีกระบวนการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างไม่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับการฝึกอบรม ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงและเด็กที่ทำงานโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม และต้องสัมผัสกับสารพิษ เช่น สารตะกั่ว

องค์การแรงงานระหว่างประเทศและองค์การอนามัยโลก ประมาณการว่า แรงงานสตรีและเด็กหลายล้านคนที่ทำงานในภาคการรีไซเคิลอย่างไม่เป็นทางการมีความเสี่ยง และการสัมผัสในระหว่างที่ทารกในครรภ์กำลังพัฒนา รวมถึงเด็กที่สัมผัสกับขยะเหล่านี้ อาจทำให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับพัฒนาการทางระบบประสาทและโรคที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางระบบประสาท

ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2025 อนุสัญญาบาเซิล จะกำหนดให้ผู้ส่งออกต้องสำแดงขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดและต้องได้รับอนุญาตจากประเทศผู้รับ เจ้าหน้าที่สืบสวนหวังว่าการดำเนินการนี้จะช่วยปิดช่องโหว่บางส่วนที่ผู้ลักลอบใช้ในการขนส่งขยะดังกล่าวทั่วโลก


© 2025 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.