• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  2 กันยายน 2567

ที่มา : มติชนออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/local/news_4767627)

ครบ 49 ปี สผ. ชวนมองสิ่งแวดล้อมไทยในอนาคต-ความท้าทายความมั่นคงระบบนิเวศ​ เมื่อวันที่ 1 กันยายน นายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวว่า สผ. ได้จัดงานประชุมวิชาการมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ สผ. ครบรอบ 49 ปี จึงได้กำหนดจัดงานประชุมวิชาการ ประจำปี 2567 ภายใต้หัวข้อ 49 ปี สผ. ก้าวไปด้วยกันสู่อนาคตไทยที่ยั่งยืน “ONEP for All, ONEP for Future” โดยเป็นการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ผลการดำเนินงานและผลงานวิชาการที่สำคัญของ สผ. รวมถึงทิศทางการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทุกภาคส่วนได้รับทราบและเข้าใจบทบาทและภารกิจของหน่วยงาน

รวมทั้งเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ องค์ความรู้ ประสบการณ์ และนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกันในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบาย แผน และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปในทิศทางเดียวกันโดยคำนึงถึงการสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน นายประเสริฐกล่าวว่า ​สำหรับความน่าสนใจในงานประชุมวิชาการประจำปีนี้ จัดให้มีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานสำคัญด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การแสดงบูธผลงานความร่วมมือกับเครือข่าย ชุมชนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคราชการ การบรรยายหัวข้อ “การเสวนา 49 ปี สผ. ก้าวไปด้วยกันสู่อนาคตไทยที่ยั่งยืน “ONEP for All, ONEP for Future” และการแสดงความคิดเห็นต่อการจัดการความท้าทายที่มีต่อระบบนิเวศ หัวข้อ “Future Living : มองสิ่งแวดล้อมไทยในอนาคต” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งจากภาครัฐ เอกชน และเยาวชนมาร่วมพูดคุยในประเด็นต่างๆ เป็นต้น

​               นายประเสริฐ กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการประจำปี 2567 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 4 กันยายน 2567 เวลา 08.30-16.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม ชั้น 4 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการแลกเปลี่ยนผลงานทางวิชาการ ที่จะสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสารแก่สาธารณะที่ถูกต้อง ในการร่วมกันสืบสานงานไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสามารถติดตามรับชมการจัดงานผ่านระบบออนไลน์ได้ทาง Facebook Live สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  1 กันยายน 2567

ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/environment/1142389

กรมส่งเสริมการเกษตร และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ได้วางเป้าหมายร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย

กรมส่งเสริมการเกษตรได้วางแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยวิธีการเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู (Climate Smart and Regenerative Agriculture) ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีหมุนเวียนและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนต่าง ๆ เช่น ต้นทุนเอกชน ที่เกิดขึ้นกับผู้ผลิตจากการใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ ในการผลิต และต้นทุนสังคม ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับสังคมจากการผลิตสินค้านั้น ๆ เช่นการปล่อยควันพิษ การปล่อยน้ำเสีย เป็นต้น

ตลอดจนการสร้างและพัฒนาระบบอาหารให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพและโภชนาการของมนุษย์ ลดการทำลายและลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) เป็นการเติบโตที่ก่อให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน และสร้างโอกาสอย่างเสมอภาคกันระหว่างคนทุกกลุ่มในสังคมที่ดีขึ้น การสร้างผลประโยชน์ร่วมกันจะรับประกันให้เกิดการกระจายตัวของผลประโยชน์จากการเติบโต และการสร้างโอกาสอย่างเสมอภาค สร้างรายได้สุทธิที่พอเพียงกับรายจ่ายครัวเรือนตลอดทั้งปี และมีสัดส่วนการออมการลงทุนที่สร้างความมั่นคงด้านการเงินครัวเรือน ซึ่งจะทำให้สามารถยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศได้


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  31 สิงหาคม 2567

ที่มา: https://www.thaitv5hd.com/web/content.php?id=38031

นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ MEA หรือการไฟฟ้านครหลวง และ ดร.ธนวันต์ สินธุนาวา นายกสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การขับเคลื่อนสถานศึกษาคาร์บอนต่ำ (Low Carbon) โครงการ Energy Mind Award Season 2 ระหว่าง MEA และสมาคมพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย) พร้อมมอบรางวัลกิจกรรมการประกวดคลิปสั้นหัวข้อ “การอนุรักษ์พลังงาน และสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน โดยมี นายสมบัติ จันทร์กระจ่าง รองผู้ว่าการ MEA เป็นผู้มอบรางวัล

นอกจากนี้ MEA ได้เปิดสตูดิโอให้เยาวชนเยี่ยมชมการทำงานเบื้องหลังถ่ายทำผลิตรายการ และเยี่ยมชมศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าชิดลมที่มีเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทันสมัยในการควบคุมระบบไฟฟ้า SCADA/EMS/DMS (Supervisory Control and Data Acquisition/Energy Management System/Distribution Management System) ใช้ในการตรวจสอบสถานะของการจ่ายกระแสไฟฟ้า วิเคราะห์สถานการณ์หรือสภาพการจ่ายกระแสไฟฟ้า การทำงานของระบบควบคุมไฟฟ้า ช่วยให้การบริหารจัดการควบคุมแรงดันและการจ่ายกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ มีคุณภาพและมีความปลอดภัย

ผู้ว่าการ MEA กล่าวว่า MEA ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ให้ความสำคัญในด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายที่จะต่อยอดจากการดำเนินงานที่ผ่านมา โดยพัฒนาสถานศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้ก้าวไปสู่การเป็นสถานศึกษาต้นแบบด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม สร้างเสริมนักเรียนให้เป็นเยาวชนที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมและเป็นแกนนำด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ปลูกฝังและสร้างเยาวชนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียว (Green Youth) ส่งมอบสู่สังคมไทย เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมต่อไป


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  30 สิงหาคม 2567

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ (https://www.prachachat.net/economy/news-1640751)

วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ระดมสมองผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ –.ผู้เชี่ยวชาญ เกาะติดน้ำท่วม ปี 67 เปิด 4 ปัจจัยหลัก “น้ำเหนือไหลหลาก พายุเข้าและฝนตกหนักท้ายเขื่อน บวกน้ำทะเลหนุน” หากป้องกันไม่ดีอาจทำน้ำท่วมภาคกลางและกรุงเทพฯ เหมือนปี 54

วันที่ 28 สิงหาคม 2567 ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวภายในงานเสวนา “เกาะติดสถานการณ์ วิกฤติน้ำท่วม โอกาสและทางออก” ที่จัดโดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่า โอกาสที่น้ำจะท่วมภาคกลางและกรุงเทพฯ เหมือน ปี 2554 หรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญ คือ

1. มวลน้ำจากภาคเหนือไหลลงมาซึ่งภาคเหนือมีเขื่อนเก็บกักน้ำอยู่ยกเว้นแม่น้ำยมหากฝนตกลงมามากและ มวลน้ำมีมากไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.13 ที่จังหวัดชัยนาทหากระบายน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยาเฉลี่ย 2800 ถึง 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีจะทำให้จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา มีน้ำท่วมมากขึ้นและหากมีการตรวจวัดที่สถานีสูบน้ำ C.29 ที่สถานีหน้าศูนย์ศิลปาชีพบางไทรเกิน 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีจะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงจังหวัดปทุมธานี นนทบุรีถึงกรุงเทพฯมีระดับสูงขึ้นเกิน 1 เมตรจากปกติ ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งได้

2. ในช่วงเดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปีจะมีพายุเข้ามาอย่างน้อย 1-2 ลูกหรืออาจจจะมากกว่าซึ่งหากฝนตกท้ายเชื่อนสิริกิติ์และภูมิพลมาก และตกแบบ ฝนตกหนักเฉพาะจุดอย่างต่อเนื่อง (Rain Bomb) เป็นเวลานานมีโอกาสทำให้น้ำไหลเข้าท่วมมากขึ้น

3. ในช่วงเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่มีน้ำทะเลหนุน หากการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่คลองต่างๆและอ่าวไทยไม่ได้มากจะทำให้น้ำท่วมนานขึ้น

4. การบริหารจัดการน้ำ การเตรียมตัวของเมืองในการขุดลอกคูคลอง การกั้นตลิ่งการระบายน้ำลงทะเลและการพร่องน้ำจากเขื่อนก่อนซึ่งจะต้องทำแต่เนิ่นๆ…ก่อนน้ำเหนือหลากลงมาดังนั้นปัจจัยที่สำคัญ ที่น้ำจะท่วมถึงจังหวัดปทุมธานี นนทบุรีและกรุงเทพฯในเดือนกันยายนและตุลาคม ก็คือน้ำเหนือไหลหลาก ประกอบกับพายุเข้าและฝนตกหนักท้ายเขื่อน รวมถึงน้ำทะเลหนุน และการจัดการป้องกันน้ำท่วมไม่ดีไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอก็อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องระวังสถานการณ์สภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าเดือนตุลาคม – กันยายน จะมีพายุเข้ามาจำนวน 2 ลูก ขณะที่ยังมีฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ น้ำยังเอ่อล้นและยังไม่สามารถระบายได้ทันท่วงที หากในช่วงเดือนตุลาคม – กันยายน ร่องความกดอากาศต่ำเลื่อนลงมาบริเวณตรงกลางประกอบกับเกิดฝนตกหนักอาจจะส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมหนักได้“ณ เวลานี้ น้ำไม่ท่วมกรุงเทพแน่นอน เพราะเมื่อเทียบกับ ปี54 ที่มีพายุเข้า 5 ลูก แต่ในปีนี้ยังไม่มีพายุเข้า ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำฝน ปี54 พื้นที่ 4 เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้ 4,647 ล้านลบ.เมตร แต่ ปีนี้ เขื่อนหลักสามารถรองรับน้ำได้ถึง 12,071 ล้าน ลบ.ม.” ดร.สนธิกล่าว


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  29 สิงหาคม 2567

ที่มา https://www.dailynews.co.th/news/3799738/

ยุคที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมสีเขียวกลายเป็นความหวังใหม่ของการพัฒนาที่ยั่งยืนล่าสุด กลุ่มนิสิตวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ได้สร้างสรรค์ผลงานด้วยการนำเศษวัสดุเหลือทิ้งจากลูกตาลโตนดมาผลิตเป็นกระดาษ

กลุ่ม “ดาษลูกโหนด” เกิดจากการรวมตัวของนิสิตชั้นปีที่ 3 และ 4 หลักสูตรวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมดิจิทัล ภายใต้การดูแลของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีรนาฏ คิดดี เป็นส่วนหนึ่งของโครงการออมสินยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น ประจำปี 2567 ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นและสร้างนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยได้รับความร่วมมือจากชุมชนหลาดใต้โหนด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ในการถ่ายทอดความรู้ด้านงานศิลป์ให้แก่นิสิต ซึ่งนิสิตได้นำเทคนิคการทำกระดาษนี้ไปถ่ายทอดสู่ชุมชนต่อไป เป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างการเรียนการสอนและความเป็นผู้ประกอบการให้แก่นิสิต ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร. พีรนาฏ คิดดี เผยว่า โครงการนี้สอดคล้องกับ BCG Model หรือโมเดลเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green ซึ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า การนำวัสดุเหลือทิ้งกลับมาใช้ใหม่ และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  28 สิงหาคม 2567

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_9382715

กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้การจัดงานเปิดตัวคู่มือกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ: Active Learning on Biodiversity and Climate change เป็นคู่มือครู เรียนรู้ Climate Change ไปพร้อมกับเด็ก ๆ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้สิ่งแวดล้อมชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ เน้นลงมือปฏิบัติจริง เพื่อเตรียมความพร้อมในการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดี สส. เป็นประธานเปิดงาน

ดร.พิรุณ กล่าวว่า บทบาทภารกิจของกรม คือการขับเคลื่อนประเทศตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ทั้ง Mitigation และ Adaptation ในมิติต่าง ๆ ที่ครอบคลุมในทุกระดับตั้งแต่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม การเกษตร และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานตาม Article 6 หรือ มาตรา 6 ภายใต้ UNFCCC โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมการศึกษา การฝึกอบรม และการรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตระหนักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญและจำเป็นในการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ Climate Change ได้แก่ เด็กและเยาวชนในทุกระดับ โดยกรมได้ให้ความสำคัญและทำงานในภาคการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ Eco – School โครงการ Zero Waste School เพื่อสนับสนุนหน่วยงานหลักอย่างกระทรวงศึกษาธิการ ในการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรทางการศึกษา ให้นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ หรือ Climate Literacy จึงได้ร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมกันจัดทำสื่อการสอน คู่มือกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ: Active Learning on Biodiversity and Climate change เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ครูผู้สอนเรื่อง Climate Change สามารถนำไปประยุกต์หรือบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนได้

นางเซเวอรีน เลโอนาร์ดี รองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้รับมอบอำนาจให้คุ้มครองสิทธิของเด็ก รวมถึงสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นว่า พื้นฐานที่สำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เด็ก เยาวชนเรื่อง Climate Change เริ่มจากการศึกษา และพื้นฐานความเข้าใจถึงผลกระทบ แนวทางการรับมือ รวมถึงวิธีการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อลดผลกระทบ และในฐานะภาคีหลักในการร่วมจัดทำคู่มือในครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการขับเคลื่อนเรื่อง Climate Education สำหรับประเทศไทย และยังคงมีแผนการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคตอีกด้วย


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  27 สิงหาคม 2567

ที่มา : infoquest.co.th (https://www.infoquest.co.th/2024/424350)

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวถึงเทรนด์ Fast Fashion ว่า ปัจจุบันธุรกิจ Fast Fashion มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว และสร้างงานให้กับผู้คนทั่วโลกเป็นจำนวนมาก แต่กระบวนการผลิตในหลายขั้นตอน กลับส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่

การปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 10% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ทั่วโลก สูงกว่าอุตสาหกรรมการบิน และการขนส่งทางเรือรวมกัน และคาดว่าภายในปี 2573 อาจเพิ่มขึ้นเกือบ 50%การใช้น้ำเป็นจำนวนมาก และมลภาวะทางน้ำและอากาศที่มาจากกระบวนการย้อมและตกแต่ง การผลิตเสื้อเชิ้ตฝ้ายหนึ่งตัวต้องใช้น้ำถึง 2,700 ลิตร เทียบเท่ากับปริมาณที่ 1 คน ดื่มได้กว่า 2.5 ปี อีกทั้งกระบวนการย้อมและตกแต่ง ยังสร้างมลภาวะทางน้ำสูงมาก จากการใช้สารเคมีที่เป็นพิษ และอันตรายในการผลิตการเพิ่มขึ้นของขยะที่ย่อยสลายยาก ซึ่งเสื้อผ้าราว 1 แสนล้านตัวที่ผลิตขึ้นในแต่ละปีทั่วโลก กลายเป็นขยะ ในหลุมฝังกลบกว่า 92 ล้านตัน และคาดว่าภายปี 2576 ขยะเสื้อผ้าจะเพิ่มเป็น 134 ล้านตันต่อปี โดยมีเพียง 1% ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ นอกจากนี้ เสื้อผ้ามีส่วนประกอบของขยะพลาสติกที่ย่อยสลายได้ยาก อย่างไมโครพลาสติก ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและธรรมชาติที่เสื่อมโทรม โดยเฉพาะในกระบวนการปลูกวัตถุดิบ อาทิ การปลูกฝ้าย ที่มีการใช้ยาฆ่าแมลง และสารกำจัดวัชพืชปริมาณมาก ซึ่งเป็นพิษต่อระบบประสาทของสิ่งมีชีวิต ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และความเสื่อมโทรมของหน้าดิน

*ผลกระทบด้านสังคม ได้แก่

1. การสร้างวัฒนธรรมการบริโภคเกินพอดี ที่ไม่ได้ส่งผลแค่ปริมาณขยะที่เพิ่มสูงขึ้น ยังทำให้คนไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของการซื้อสินค้า จากการโฆษณาส่งเสริมการขายที่กระตุ้นให้คนซื้อมากกว่าความจำเป็น และการทำให้ค่านิยมเปลี่ยน อาทิ การขายไลฟ์สไตล์ของ Influencer

2. ปัญหาสุขภาพ สินค้า Fast Fashion มักมีการปนเปื้อนของสารเคมี โดยเฉพาะไมโครพลาสติก ที่สามารถสะสมในร่างกาย และเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวได้ ทั้งต่อผู้สวมใส่ และรุนแรงขึ้นต่อกลุ่มแรงงานที่ทำงานในภาคการผลิตดังกล่าว

3. การละเมิดลิขสิทธิ์ เกิดขึ้นได้ง่ายและบ่อยครั้ง โดยเฉพาะการคัดลอกดีไซน์ของแบรนด์หรู หรือดีไซเนอร์ชื่อดัง มาผลิตสินค้าเลียนแบบในราคาที่ถูกกว่า

4. การละเมิดสิทธิแรงงาน จากการพยายามควบคุมต้นทุนการผลิต จึงมักลดต้นทุนด้านแรงงานด้วยการละเมิดสิทธิแรงงาน ทั้งการใช้งานเกินเวลา การล่วงละเมิดทางเพศการใช้แรงงานเด็กแบบผิดกฎหมาย ซึ่งมักพบในประเทศที่เป็นฐานการผลิตในเอเชีย


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  26 สิงหาคม 2567

ที่มา https://www.thansettakij.com/climatecenter/net-zero/605000

กรมการข้าวและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้รับการอนุมัติจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (GCF) อนุมัติเงินสนับสนุน 38 ล้านยูโร ในการดำเนินงานโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Thai Rice GCF)

โครงการดังกล่าวนี้ มีเป้าหมายในการปรับตัว เพื่อรับกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของชาวนารายย่อยในพื้นที่เป้าหมาย 21 จังหวัด เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำนาได้อย่างน้อย 2.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายใต้ระยะดำเนินการของโครงการ ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะเริ่มคิกออฟ ประมาณเดือนตุลาคม 2567 นี้

รูปแบบของการดำเนินงานของโครงการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) จะขับเคลื่อนโครงการในเชิงบูรณาการได้อย่างเป็นระบบผ่าน 10 กิจกรรมหลัก เช่น การสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีปล่อยคาร์บอนตํ่า การปรับพื้นที่แปลงนาด้วยระบบเลเซอร์การจัดการน้ำระดับแปลงนา เป็นต้น

เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมนอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจำในภาคอุตสาหกรรมของไทยได้มากกว่า 2.4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าแล้ว ยังสามารถช่วยลดการใช้น้ำถึง 50% เพิ่มผลผลิต การทำนา 20% เพิ่มรายได้ให้แก่ชาวนา 20% สร้างงานให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงปรับปรุงคุณภาพดินและป้องกันการเสื่อมสภาพของพื้นที่เพาะปลูกได้อีกด้วย


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.