สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 15 ธันวาคม 2567
ที่มา https://www.seub.or.th/bloging/knowledge/2024-334/
‘มรดกโลก’ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2515 ผ่านอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ (Convention Concerning the Protection of the World Cultural and Natural Heritage) โดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) และได้กำหนดนิยามของมรดกโลกไว้ว่า ‘มรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติที่มีคุณค่าโดดเด่นเป็นเลิศในระดับสากล ควรค่าที่จะรักษาไว้’
โดยได้แบ่งประเภทของแหล่งมรดกโลกทั้งหมด 3 ประเภท คือ 1. มรดกโลกทางวัฒนธรรม (Cultural World Heritage) 2. มรดกโลกทางธรรมชาติ (Natural World Heritage) และ 3. มรดกโลกแบบผสมระหว่างวัฒนธรรมและธรรมชาติ (Mixed Cultural and Natural World Heritage)
ปัจจุบันประเทศไทย มีพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ ทั้งหมด 3 แห่ง ได้แก่ 1. เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง 2. กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และ 3. กลุ่มป่าแก่งกระจาน
การเป็นมรดกโลกไม่เพียงแต่เป็นการแสดงความสำคัญของพื้นที่เท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่คอยย้ำเตือนถึงความรับผิดชอบและความตระหนักในการปกป้องและส่งต่อทรัพยากรที่มีคุณค่าเหล่านี้ให้กับคนรุ่นหลัง เพราะการได้สถานะมรดกโลกนั้นยากแล้ว แต่การรักษาความเป็นมรดกโลกไว้เป็นสิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่า