สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 16 ธันวาคม 2567
สภาผู้บริโภคเรียกร้องทบทวนประกาศรับรอง “เทคโนโลยีปรับแต่งจีโนม” ชี้ขัดต่อความปลอดภัยทางชีวภาพ เสี่ยงกระทบระบบนิเวศ เกษตรอินทรีย์ และผู้บริโภค
สภาผู้บริโภคยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอให้เพิกถอนประกาศกระทรวง เรื่อง “การขอรับรองสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร พ.ศ. 2567” เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อเกษตรกรทั่วไป เกษตรอินทรีย์ ความเสียหายต่อระบบนิเวศ และอาจนำไปสู่การผูกขาดจากการจดสิทธิบัตร ซึ่งในอนาคตผู้บริโภคอาจเสี่ยงกินอาหารที่ไม่ปลอดภัย หรือได้รับสารอาหารที่มีสิ่งปนเปื้อนที่อาจเป็นอันตราย ประกอบกับประกาศฉบับดังกล่าวยังขัดแย้งกับพิธีสารคาร์ตาเฮน่า (Cartagena protocol on biosafety)* อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุน และขาดการประเมินอย่างรอบด้านอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรระบุว่า เทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (Genome Editing, GEd) ไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น ไม่จัดว่าเป็นพืชดัดแปลงพันธุกรรม หรือ GMOs และมีความปลอดภัยสูง แต่ตามนิยามของพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ กลับระบุว่า สิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม จัดเป็นสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม (Living Modified Organism) หรือ LMO ดังนั้น Ged จึงจัดเป็นพันธุวิศวกรรม ไม่ใช่การปรับปรุงพันธุ์ทั่วไป ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวจากการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของยีนในสิ่งมีชีวิต ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลควรยึดแนวทางในการควบคุม กำกับ หรือสนับสนุน ตามวัตถุประสงค์ของพิธีสารคาร์ตาเฮนา เพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพจากความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมและเพื่อมั่นใจว่าจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่อาจส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
ขอให้มีการทบทวนและเพิกถอนประกาศฉบับนี้ของประกาศกระทรวงเกษตร ดังนี้
1.นิยามในประกาศขัดแย้งกับพิธีสารคาร์ตาเฮน่าและไม่เป็นกลางทางวิชาการ
2.กล่าวอ้างถึงความปลอดภัยในการปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อมโดยไม่มีการประเมินความเสี่ยง
3.ข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม
4.ขาดความพร้อมในการตรวจสอบและระบุสิ่งมีชีวิตและผลิตภัณฑ์ของสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม
5.ระบบเกษตรอินทรีย์ไม่ยอมรับสิ่งมีชีวิตและผลิตภัณฑ์ของสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาจากเทคโนโลยีการปรับแต่งพันธุกรรม
ที่มา : สภาองค์กรของผู้บริโภค (https://www.tcc.or.th/genome-editing/)