• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  10 สิงหาคม 2567

ที่มา: https://www.facebook.com/share/p/KsGZCnhLASvHyV7E/

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการ Phuket SandBox ต้นแบบอนุรักษ์หาดไทยภายใต้โครงการรักษ์ 72 หาดไทย เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรฎกาคม 2567 โดยมีนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยและคณะร่วมเข้าร่วม

นายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลได้น้อมนำแนวพระราชดำริ พระราชปณิธาน และพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน และจากการที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 ของประเทศที่มีปริมาณขยะพลาสติกหลุดรอดลงสู่ทะเลมากที่สุดของโลก รัฐบาลได้ตระหนักและดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยได้มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ดำเนินโครงการ Phuket SandBox ต้นแบบอนุรักษ์หาดไทย ภายใต้โครงการรักษ์ 72 หาดไทย เพื่อสร้างความตระหนักให้พี่น้องประชาชนในการช่วยกันอนุรักษ์ ดูแล รักษา ความสวยงามของชายหาดและท้องทะเลไทย ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สำคัญในการสร้างรายได้ให้กับประเทศต่อไป

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับโครงการรักษ์ 72 หาดไทย โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทส. ได้กำหนดพื้นที่เป้าหมาย 72 ชายหาด ในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 6 จังหวัด ได้แก่ 1) จังหวัดตราด 2) จังหวัดระยอง 3) จังหวัดชลบุรี 4) จังหวัดสุราษฎร์ธานี 5) จังหวัดตรัง และ 6) จังหวัดกระบี่ โดยมีโครงการ Phuket SandBox เป็นต้นแบบการดำเนินงานในการลดปัญหาขยะชายหาด ส่งเสริมการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสร้างความร่วมมือกับทั้งกลุ่มผู้ค้าบริเวณชายหาดและนักท่องเที่ยวเพื่อการจัดการขยะที่ถูกต้อง รวมถึงการส่งเสริมให้ธุรกิจที่สนับสนุนการท่องเที่ยวบริเวณชายหาดมีการดำเนินการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการนำแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) มาเป็นกรอบแนวคิดในการจัดทำมาตรการดำเนินงาน ประกอบด้วย 4 มาตรการ ดังนี้ มาตรการที่ 1 ส่งเสริมการผลิตและขายบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  มาตรการที่ 2 รณรงค์ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาตรการที่ 3 การจัดการขยะ อย่างถูกหลักวิชาการ มาตรการที่ 4 เก็บขยะตกค้างบริเวณชายหาด”


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  9 สิงหาคม 2567

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์ (https://www.khaosod.co.th/politics/news_9352083)

นายกฯ ลงพื้นที่ภูเก็ต อึ้ง เต่า-สัตว์ทะเล 40% ตายเพราะขยะ แนะสร้างจิตสำนึกให้คนรับรู้ สั่งดูแลบ้านพักจนท.-ขรก. เร่งทำแผนรับมือพื้นที่เสี่ยงดินถล่มทั่วประเทศ

เมื่อเวลา 11.10 น. วันที่ 8 ส.ค. 2567 ที่ จ.ภูเก็ต นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย และคณะ เดินทางมายังศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต เยี่ยมชมการบริหารจัดการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากในพื้นที่ทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต โดย นายกฯ รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ภาพรวมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร และดูเต่ากระ เต่าตนุ เต่าหญ้า ที่บาดเจ็บ จากขยะในทะเล ประมาณ 40% โดยมีสัตวแพทย์ อธิบายถึงการรักษา ซึ่งนายกฯ ได้สอบถามถึงปัญหาเศษขยะที่อยู่ในทะเล ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์ทะเลว่าเป็นขยะประเภทไหนโดยสัตวแพทย์แจ้งว่า ส่วนใหญ่จะเป็นขยะในทะเลทั่วไป ขยะมาจากกิจกรรมทำการประมง รวมถึงพลาสติกต่างๆ ซึ่งสร้างความเสียหายจากการเสียดสี ขูดขีดและเป็นรอยถลอกโดยเฉพาะเต่าที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก

นายกฯ ยังได้เยี่ยมชมบ้านพักของเจ้าหน้าที่ โดยบอกว่าเราให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของข้าราชการ จะได้ไม่ขาดแคลนบุคลากรที่อยากจะเข้ามารับใช้ประเทศชาติ เพื่อให้เขามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี โดยต้องสร้างให้เสมอภาคเท่าเทียมกันด้วย นายกฯ ยังได้ดูโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยเฉลิมพระเกียรติ โดยนายกฯ อยากให้สร้างการเรียนรู้ว่าเต่าและสัตว์ทะเลที่เจ็บป่วย 40% เกิดจากขยะ ตรงนี้ต้องสร้างจิตใต้สำนึกให้คนทราบด้วย โครงการนี้ถือเป็นโครงการดีๆ ควรสอดไส้ความรู้ไปด้วย จากนั้น นายกฯ ได้ประชุมพิจารณามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาดินโคลนถล่ม ที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน (ภูเก็ต) ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต โดยนายกฯ กล่าวว่า แผนระยะยาวก็ทำกันไป ซึ่งตนเดินทางมาที่นี่ตั้งแต่คราวที่แล้วที่มาพื้นที่สีแดงในเกาะภูเก็ต 3 จุด แต่ถ้าทั่วประเทศที่เป็นพื้นที่สีแดง ถ้าไม่ทำแผนป้องกันเมื่อเข้าฤดูฝนจะเกิดปัญหา ตรงนี้ขอฝากให้เป็นเรื่องเร่งด่วนนายกฯ กล่าวว่า เดินผ่านมาเห็นพิพิธภัณฑ์ที่กำลังก่อสร้างเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว และสนับสนุนการท่องเที่ยว เหนือสิ่งอื่นใดต้องปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องสัตว์ทะเลที่หายาก เพราะเสียชีวิตจากความสะเพร่าหรือมักง่ายของมนุษย์ ฉะนั้น ต้องปลูกฝังเรื่องการทิ้งขยะถือเป็นเรื่องสำคัญ อยากให้เร่งให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป

ส่วนบ้านพักข้าราชการ จริงๆแล้วข้าราชการที่อยู่ที่นี่มีประมาณ 80-100 กว่าครอบครัว ในหลายมิติเราอาจมองข้าม การเข้าสู่ระบบราชการ ตอนหลังไปภาคเอกชน เพราะมีผลตอบแทนที่ดีกว่า ข้าราชการปิดทองหลังพระอย่างองค์กรนี้ต้องอยู่ที่นี่ ไปอยู่ที่อื่นไม่ได้ เมื่ออยู่ที่นี่การเดินทางก็ลำบาก ฉะนั้น การสร้างที่อยู่อาศัยให้กับพนักงานถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งที่อยู่อาศัยตรงนี้มีมา 40-50 ปีแล้ว เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ที่ตนลงไปไม่ว่าตำรวจ ทหาร พยาบาล รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับสวัสดิการของข้าราชการ ให้ดำเนินการ เช่นเดียวกับกระทรวงอื่นๆ ส่วนเรื่องการป้องกันดินโคลนถล่ม ได้รับฟังข้อเสนอแนะและปัญหาต่างๆ ถือเป็นปัญหาที่ใหญ่พอสมควร ซึ่งการประสานงานกับทุกหน่วยงานสำคัญ แม้บางท่านไม่ได้อยู่ตรงนี้ กระทรวงคมนาคมหรือกรมทางหลวง การสร้างสะพานต่างๆ อาจเป็นอุปสรรคทางไหลของน้ำ จึงขอสั่งการผู้ว่าฯ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดี ทั้งนี้ อธิบดีกรมชลประทาน ได้เสนอแผนงานมาแล้ว ต้องทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ให้ดี อธิบายให้ฟังว่าประเด็นคืออะไร รวมถึงพื้นที่สีแดงที่มีความเสี่ยงสูง ที่เราเห็นในแผนที่ ซึ่งภูเก็ตมี 3 พื้นที่ มีมาตรการเร่งด่วนหรือไม่ ที่ต้องโฟกัส เพราะตอนนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้วเป็นช่วงอันตรายที่เราต้องดูแลกันต่อไป และให้กรมทรัพยากรธรณี ตั้งอุปกรณ์แจ้งเตือนภัย ที่ต้องมีการซักซ้อม เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกครัวเรือน ทั้งน้ำป่าภัยพิบัติ โคลนถล่มพร้อมกันนี้ให้ร่วมกันออกแบบการเฝ้าระวังและเตือนภัย ทั้งในจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่อื่นที่เป็นพื้นที่สีแดง โดยใช้ข้อมูลทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพราะความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  8 สิงหาคม 2567

ที่มา https://www.thairath.co.th/news/politic/2806380

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเดินทางมาเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ ว่าด้วยความร่วมมือการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ระหว่าง นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงฯ กับ นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.

การรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่รัฐบาล โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และได้วางแนวทางให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงปัญหาและแก้ปัญหาร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งระดับชุมชนและธุรกิจในทุกระดับ ให้มีพลังในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  7 สิงหาคม 2567

ที่มา: https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_9349558

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติ “The 2024 International Conference on Sustainable Energy and Environmental Technology for Circular Economy (SEECE-2024) โดย ศูนย์วิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม บางเขน ร่วมกับ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (สวพ.มก.)

ศาสตราจารย์ ดร. วันชัย ยอดสุดใจ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร. วีรชัย ชัยวรพฤกษ์ หัวหน้าภาควิศวกรรมเครื่องกล และรองศาสตราจารย์ ดร.ชินธันย์ อารีประเสริฐ หัวหน้าศูนย์วิศวกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม บางเขน ได้ร่วมกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมงานทั้งในและต่างประเทศที่มีความสนใจด้านพลังงานและเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม มาร่วมแบ่งปันองค์ความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการนำเสนองานวิจัยจากผู้เข้าร่วมงานทั้งในรูปแบบบรรยายและโปสเตอร์ ซึ่งครอบคลุมถึงหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  6 สิงหาคม 2567

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (https://www.bangkokbiznews.com/news/1138789)

“พัชรวาท” มอบนโยบายเครือข่าย “ทสม.” ชูเป็นหัวใจสำคัญ ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หนุนพัฒนาบทบาท เพิ่มศักยภาพรองรับโลกร้อน

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) โดยมีประธานและผู้แทนเครือข่าย ทสม. ระดับจังหวัด ทั้ง 76 จังหวัด ประธานและผู้แทนเครือข่าย ทสม. กรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการและผู้แทนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เข้าร่วมรับนโยบาย ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และผ่านระบบออนไลน์ รวมกว่า 1,000 คน

พล.ต.อ. พัชรวาท กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์ จะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะภาคประชาชน ซึ่งอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน หรือ ทสม. เป็นอาสาสมัครภาคประชาชนที่มีจิตอาสา เสียสละและมุ่งมั่นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ นับเป็นกำลังสำคัญของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการลดและแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย ดังนั้น เพื่อให้พี่น้อง ทสม. สามารถดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน จึงต้องมีแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนเครือข่าย ทสม. ดังนี้

1. สนับสนุนการดำเนินงานและพัฒนาบทบาทเครือข่าย ทสม. ให้เป็นกลไกความร่วมมือขับเคลื่อนแนวทางไปสู่การปฏิบัติจริงในการสร้างการรับรู้และแก้ไขปัญหาโลกร้อนแต่ละพื้นที่

2. พัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมองค์ความรู้ของ ทสม. และเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้พร้อมรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

3. สนับสนุนเครื่องมือให้มีแผนยุทธศาสตร์เครือข่าย ทสม. เป็นเข็มทิศในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกันทั้งในระดับพื้นที่และระดับประเทศ

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า ทสม. ทุกคน คือ หัวใจของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเป็นพลังสำคัญในดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยส่งต่อความยั่งยืนไปสู่ลูกหลานในอนาคตต่อไป ทั้งนี้ ปัจจุบัน ทสม. มีจำนวน 289,199 คน ทั่วประเทศ เป็นเสมือนโซ่ข้อกลาง เชื่อมประสานการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ให้มีความตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของฐานทรัพยากรต่างๆ ในพื้นที่ ตลอดจนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและมีวิถีชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

โดยการประชุมฯ วันนี้ นอกจากจะรับมอบนโยบายฯ จากรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเตรียมความพร้อมจัดทำแผนยุทธศาสตร์เครือข่าย ทสม. เชิงพื้นที่ 6 กลุ่มจังหวัด อีกทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและแนวทางการมีส่วนร่วมในการลดก๊าซเรือนกระจก เพื่อเสริมพลังขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมาย Net Zero ต่อไป


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  5 สิงหาคม 2567

ที่มา https://www.posttoday.com/smart-city/711880

ปัญหาขยะล้นเมือง กำลังเป็นหนึ่งในวิกฤตสำคัญที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทย ปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างมาก สาเหตุหลักของปัญหานี้มาจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การผลิตสินค้าที่เน้นการใช้ครั้งเดียวทิ้ง และการจัดการขยะที่ยังไม่ครอบคลุม

การแก้ไขปัญหาขยะล้นเมืองที่สำคัญและเป็นที่ยอมรับทั่วโลกคือ การรีไซเคิล การนำขยะกลับมาใช้ใหม่เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ ช่วยลดปริมาณขยะที่ถูกฝังกลบ ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

การรีไซเคิลเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา แต่เป็นส่วนที่สำคัญมาก การร่วมมือกันของทุกภาคส่วน จะช่วยให้เราสามารถจัดการกับปัญหาขยะได้อย่างยั่งยืน และสร้างสรรค์โลกที่น่าอยู่สำหรับคนรุ่นต่อไป


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  4 สิงหาคม 2567

ที่มา: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/86529

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบหมายให้ ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงฯ เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าโลก (WORLD RANGER DAY) ประจำปี 2567 ซึ่งตรงกับวันที่ 31 กรกฎาคมของทุกปี ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจากทั้ง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) กรมป่าไม้ (ปม.) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ตลอดจน ดร.ดินโด แคมปิลัน ผู้แทนองค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ (IUCN) และนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมในพิธี

ร.อ.รชฏ กล่าวว่า ในนามตัวแทนของผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ขอสดุดีและไว้อาลัยแด่วีรชนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ และขอเชิดชูเกียรติเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทั้ง 3 หน่วยงาน ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเสียสละ อุทิศตน ในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ เพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นมรดกและเพื่อประโยชน์ให้ลูกหลานของเราต่อไปในอนาคต ที่ผ่านมา ทส. ตระหนักถึงปัญหาของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า และได้ให้การดูแลช่วยเหลือทั้งด้านสวัสดิการ การสนับสนุนยานพาหนะ วัสดุอุปกรณ์ เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย มาช่วยในการปฏิบัติงานให้เป็นระบบ มีมาตรฐาน ลดความเสี่ยงของเจ้าหน้าที่ในการเข้าปะทะกับผู้ที่กระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ

โอกาสนี้ ร.อ.รชฏ ยังได้เป็นสักขีพยานในการรับมอบโล่และเงินช่วยเหลือ จากมูลนิธิฟรีแลนด์ และจากสมาคมอุทยานแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนสวัสดิการเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า อส. และมอบให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต พร้อมทั้งได้มอบโล่เกียรติคุณและเกียรติบัตรให้แก่หัวหน้าหน่วยงาน ที่มีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเสียชีวิต ตลอดจนมอบอุปกรณ์และเครื่องดำรงชีพที่จำเป็นในการออกปฏิบัติหน้าที่ ให้แก่ผู้แทนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจากทั้ง 3 หน่วยงาน ที่ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าปฏิบัติงานเป็นแนวหน้าในการอนุรักษ์คุ้มครองพื้นที่อนุรักษ์ ทั้งพื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่ทางทะเล ประมาณ 21,000 คน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  3 สิงหาคม 2567

ที่มา : SDG MOVE (https://www.sdgmove.com/2024/07/31/unesco-11-new-biosphere-reserves/)

          ยูเนสโก (UNESCO) อนุมัติการจัดตั้ง พื้นที่สงวนชีวมณฑล (biosphere reserve) 11 แห่ง ใน 11 ประเทศ ล่าสุด ได้แก่ เบลเยียม แกมเบีย โคลอมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน อิตาลี มองโกเลีย เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลี สโลวีเนีย และสเปน ครอบคลุมพื้นที่กว้างรวม 37,400 ตารางกิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับขนาดประเทศเนเธอร์แลนด์​ ทำให้ปัจจุบัน มีพื้นที่สงวนชีวมณฑล รวมทั้งหมด 759 แห่ง ใน 136 ประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและมรดกทางวัฒนธรรม

เขตพื้นที่สงวนชีวมณฑลเป็นพื้นที่ธรรมชาติและวัฒนธรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก ภายใต้โครงการ Man and the Biosphere Program (MAB) เป็นเหมือนห้องปฏิบัติการธรรมชาติที่เราได้เรียนรู้และนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ครอบคลุมระบบนิเวศทั้งบนบกในน้ำ และชายฝั่งทะเล มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ การอนุรักษ์ –..ปกป้องระบบนิเวศและภูมิทัศน์ รวมถึงความหลากหลายทางพันธุกรรม การพัฒนา –..ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม และ สนับสนุนการเรียนรู้ –..ส่งเสริมการศึกษาและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการวิจัยและการติดตามตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม พื้นที่สงวนชีวมณฑลใหม่ทั้ง 11 แห่งนี้ ที่ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.พื้นที่สงวนชีวมณฑลข้ามพรมแดนเค็มเพน-โบร๊ก (Kempen-Broek)

2.พื้นที่สงวนชีวมณฑลดาริเอ็น นอร์เต โชโคอาโน (Darién Norte Chocoano)

3.พื้นที่สงวนชีวมณฑลมาเดร เด ลัส อากัวส (Madre de las Aguas)

4.พื้นที่สงวนชีวมณฑลนิอูมิ (Niumi)

5.พื้นที่สงวนชีวมณฑลคอลลี ยูแกนี (Colli Euganei)

6.พื้นที่สงวนชีวมณฑลข้ามพรมแดนจูเลียน แอลป์ (Julian Alps)

7.พื้นที่สงวนชีวมณฑลคาร์ อูส เลค (Khar Us Lake)

8.พื้นที่สงวนชีวมณฑลยาปายอส (yApayaos)

9.พื้นที่สงวนชีวมณฑลชางเนียง (Changnyeong)

10.พื้นที่สงวนชีวมณฑลวัล ดาแรน (Val d’Aran)

11.พื้นที่สงวนชีวมณฑลอิราติ (Irati)


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.