สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 17 พฤศจิกายน 2567
ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/news/royal/1153629
อาคารกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่ากทม. และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าประชุมเปิดศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.)
โดยรองนายกฯ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการฯ หลังจากนายกรัฐมนตรีลงนามคำสั่ง เพื่อนำข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ซึ่งกำชับให้ทุกหน่วยงานเร่งขับเคลื่อนมาตรการรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 และให้นโยบายเน้นย้ำทุกหน่วยงานลดจุดความร้อนให้ได้ตามเป้าหมายทั้งในพื้นที่ 14 กลุ่มป่า และพื้นที่เกษตรโดยเฉพาะกลุ่มพืชสำคัญ โดยใช้กลไกความร่วมมือในทุกระดับเพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนเพื่อลดจุดความร้อนในประเทศเพื่อนบ้าน ควบคุมฝุ่นในเมืองทั้งการตรวจจับและระงับการใช้ยานพาหนะที่ปล่อยควันดำเกิน ค่ามาตรฐาน ตรวจกำกับโรงงานอย่างเข้มงวด และต้องมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ ทั้งในภาวะปกติและเพิ่มความเข้มข้นในภาวะวิกฤต โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นศูนย์กลางในการบัญชาการระดับจังหวัดและให้ข้อมูลเพื่อลดความตระหนกของประชาชน
ทั้งนี้ การประชุมในวันนี้ มีประเด็นพิจารณา ดังนี้ 1. ให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติให้เป็นไปตามปฏิทินการปฏิบัติงานภายใต้มาตรการรับมือสถานการณ์ ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ปี 2568 2. เห็นชอบในหลักการให้หน่วยงานที่มีความจำเป็นเสนอโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรงบกลาง ไปยังสำนักงบประมาณเป็นการเร่งด่วนเพื่อให้ทันต่อการดำเนินงานรับมือกับสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ที่จะเกิดขึ้นในช่วง ม.ค. – พ.ค. 2568 3. แต่งตั้งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการ 14 กลุ่มป่าเป้าหมาย เพื่อบัญชาการ เฝ้าระวัง ควบคุมไฟป่าและหมอกควันแบบไร้รอยต่อเขตป่าหรือเขตปกครอง และบูรณาการความร่วมมือของชุมชนรอบป่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทหาร เน้นความปลอดภัย ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย 4. แต่งตั้งคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 กรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ปัญหาในเขตเมือง 5. แต่งตั้งคณะทำงานสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ เพื่อเน้นการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทาง สร้างความรู้ ความเข้าใจ ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสุขภาพของประชาชน รวมถึงเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวด้วย