• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 ธันวาคม 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเสนอร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.... ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อเสนอรัฐสภาพิจารณา คาด มีผลบังคับใช้กลางปีหน้า เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนในการคุมเข้มมลพิษจากแหล่งกำเนิด

รอ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความคืบหน้าร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.... ว่า วันพรุ่งนี้ (26 ธ.ค.66) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเสนอร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เพื่อส่งเรื่องต่อยังรัฐสภาพิจารณา หลังกฤษฎีกาได้ตรวจแก้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว เนื่องจากอยู่ในสมัยการประชุมที่จะปิดวาระช่วงสัปดาห์แรกของเดือนเมษายน 2567 ทำให้มีเวลาพิจารณากฎหมาย 4 เดือน โดยระหว่างนั้นจะพิจารณากฎหมายลำดับรอง 30 ฉบับไปพร้อมกัน คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ได้ช่วงกลางปี 2567 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายเฉพาะที่นำมาแก้ปัญหามลพิษในประเทศ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและมีเอกภาพในการบริหารจัดการได้ดีทั้งระบบ โดยกระทรวงทรัพย์ฯจะมอบกฎหมายฉบับนี้เป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้กับประชาชนเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงอากาศสะอาดได้ทุกคนและทั่วถึง

ด้าน นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กฎหมายอากาศสะอาดมีทั้งหมด 9 หมวด 104 มาตรา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือเฉพาะที่นำมาบังคับใช้แก้ปัญหามลพิษของประเทศ โดยเฉพาะลดมลพิษจากแหล่งกำเนิด ทั้งด้านคมนาคม ภาคป่าไม้ ภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้า และหมอกควันข้ามแดนที่เน้นดำเนินการในแต่ละช่วงเวลา โดยช่วงเกิดมลพิษมีประมาณ 3 เดือน แล้วมีช่วงคุมเข้มก่อนเกิดมลพิษ 8 เดือน และช่วงเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอีก 1 เดือน ดังนั้น ในช่วงเวลา 8 เดือนที่ต้องคุมเข้มตามมาตรการอย่างพื้นที่ภาคเกษตร พบมีแหล่งกำเนิดมลพิษประมาณร้อยละ 12 จากการเผาในที่โล่ง โดยเฉพาะไร่ข้าวโพด จึงต้องปรับเปลี่ยนภาคเกษตรกรรมที่ปลูกพืชเชิงเดียวมาปลูกพืชยืนต้นแทน เช่น กาแฟ ไผ่ อโวคาโด มะม่วง สิ่งสำคัญกฎหมายฉบับนี้ยังช่วยแก้ปัญหาเรื่องการบูรณาการ เนื่องจากเดิมผู้ว่าราชการจังหวัดสามารถสั่งการได้เพียงประมาณ 30 หน่วยงาน แต่ที่เหลืออีก 130 หน่วยงานระดับสั่งการอยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้การทำงานขาดเอกภาพ เมื่อกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้แล้วผู้ว่าราชการจังหวัดจะสามารถประสานงานได้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะกรณีมีแนวโน้มจะเกิดภาวะมลพิษทางอากาศกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมประกาศเป็นเขตเฝ้าระวัง ส่วนเขตประสบมลพิษทางอากาศต้องเป็นพื้นที่มีแนวโน้มเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตและกระทบประชาชนต่อเนื่อง โดยไม่มีแนวโน้มมลพิษทางอากาศลดลง หรือเกิดปัญหาซ้ำซากต่อเนื่องหลายฤดูกาล พร้อมทั้ง จะนำเทคโนโลยี เช่น ดาวเทียม โดรน เข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและตรวจสอบการกระทำผิด ควบคู่กับนำมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้ เช่น ภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาด ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษทางอากาศ การกำหนดและโอนสิทธิในการระบายมลพิษทางอากาศ การประกันความเสี่ยง

ขณะที่ นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ในฐานะคณะทำงานร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ.... กล่าวว่า ขณะนี้เป้าการลดมลพิษของประเทศดำเนินการไปแล้วประมาณร้อยละ 30 - 40 และจำนวนวันการเกิดมลพิษต้องลดลง คาดว่า เมื่อกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้แล้วจะช่วยลดมลพิษได้มากถึงร้อยละ 50 - 60


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 ธันวาคม 2566

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยถึงวันที่ 26 ธันวาคมนี้หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่างของไทย ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักได้ เบื้องต้นพบพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและดินถล่ม 2 จังหวัด 7 อำเภอ คือ จ.ยะลา บริเวณ อ.บันนังสตา และธารโต และนราธิวาส บริเวณ อ.จะแนะ ศรีสาคร รือเสาะ ระแงะ สุคิริน โดยต้องระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 26 ธันวาคมนี้ใน จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พร้อมระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ใน จ.พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาส โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมไม่ให้เกิดผลกระทบ หรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด รวมทั้ง ระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของคลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 ธันวาคม 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “Save wildlife for your life : รักษาธรรมชาติ ไม่ซื้อ ไม่ล่า ไม่ค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย” เพื่อรณรงค์ให้หยุดการซื้อ-ขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นประธานเปิดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “Save wildlife for your life : รักษาธรรมชาติ ไม่ซื้อ ไม่ล่า ไม่ค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย” ณ ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี พร้อมมอบป้ายเชิงสัญลักษณ์สนับสนุนโครงการเพิ่มศักยภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจาก Siam Winery โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ความสำเร็จการอนุรักษ์สัตว์ป่าจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งการดูแลและคุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า การป้องกันสัตว์ป่าไม่ให้ถูกล่า โดยเฉพาะการรณรงค์ให้หยุดการซื้อ-ขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการซื้อ-ขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายต่อเนื่อง ซึ่งเห็นจากการออกกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องที่เน้นให้ทุกฝ่ายเห็นถึงภัยเงียบของการซื้อ-ขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่ส่งผลต่อความสมดุลในระบบนิเวศ เกิดโรคระบาด ทำลายชีวิต ทำลายระบบเศรษฐกิจ และส่งผลต่อสุขอนามัยของมนุษย์ จึงจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์และเผยแพร่งานด้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงสถานการณ์สัตว์ป่าปัจจุบัน ที่ผ่านมากรมอุทยานฯได้ให้ความช่วยเหลือสัตว์ป่าบาดเจ็บ การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคสัตว์ป่า และการแก้ปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ รวมถึง การรณรงค์ให้สัตว์ป่าได้อยู่ในธรรมชาติท่ามกลางระบบนิเวศที่เหมาะสมมีความสมดุล ไม่ซื้อ ไม่ค้า และไม่เลี้ยงสัตว์ป่าผิดกฎหมาย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 ธันวาคม 2566

คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคุมเข้มมาตรการควบคุมต้นตอแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM 2.5 ปี 2567 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะควบคุมการเผาในที่โล่งของจังหวัดในปริมณฑลต้องลงทะเบียนการเผาทุกครั้ง

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ที่มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ได้กำชับให้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑลดำเนินการตามมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ปี 2567 เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นช่วงนี้มีค่าเพิ่มสูงขึ้นหลายพื้นที่ ด้วยการต้องควบคุมต้นตอที่ทำให้เกิดฝุ่นอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะต้องควบคุมไม่ให้มีการเผาในช่วง 2-3 เดือนนี้อย่างเข้มงวด เคร่งครัดจับปรับรถยนต์ควันดำ และเพิ่มความเข้มงวดกวดขันบังคับการใช้กฎหมายวินัยจราจร รวมทั้ง ให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศกรุงเทพมหานคร ที่มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯเพิ่มเติม หลังได้จัดตั้งศูนย์ฯแล้วในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และ 5 จังหวัดในปริมณฑล เพราะกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่สำคัญของประเทศที่ประสบวิกฤติฝุ่น PM 2.5 พร้อมเปลี่ยนการกำหนดให้ทุกหน่วยรายงานความก้าวหน้ามายังกระทรวงทรัพย์ฯ ให้ถี่ขึ้นจากเดิมทุก 15 วัน เป็นทุก 7 วัน เนื่องจากสภาพอุตุนิยมวิทยาเริ่มเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งและปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานหลายพื้นที่ โดยจะรุนแรงต่อเนื่องจนถึงช่วงต้นปี 2567 ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่ภาคกลางรอบกรุงเทพเทพมหานคร โดยเฉพาะปริมณฑลพบการเผาในที่โล่งและพื้นที่เกษตรกรรมมากขึ้น ซึ่งต้องวางระบบใหม่ให้เข้มงวดมากขึ้น เช่น ก่อนปรับหน้าดินต้องแจ้งหรือขออนุญาตอย่างถูกต้องก่อน // ต้องลงทะเบียนการเผาและการปลูกพืช 3 ชนิดทุกครั้ง คือ ข้าวโพด ข้าว และอ้อย ไม่เช่นนั้นจะได้รับโทษทางกฎหมาย เพราะจะไม่ได้รับการชดเชยความเสียอีกแล้ว สำหรับกระทรวงสาธารณสุขกำชับให้เชื่อมโยงศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PHEOC) กับศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดฯ เพื่อบูรณาการและสื่อสารข้อมูลที่ครอบคลุมทุกมิติทั้งการแก้ปัญหาฝุ่นและด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบผลักดันให้จัดตั้งงบประมาณเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 แบ่งเป็น การขอรับการจัดสรรงบกลางเพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปี 2567 และการจัดตั้งงบประมาณโดยกำหนดเป็น “แผนงานยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5” ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นเครื่องมือและกลไกบริหารจัดการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของทุกหน่วยงาน จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 และจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ต้องลดลง ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อมอบหมายให้สำนักงบประมาณเพิ่มเติมเรื่องแผนงานยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 ธันวาคม 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรุงเทพมหานคร ร่วมกันหาแนวทางการแก้ปัญหาลิงแสมเพิ่มประชากรจำนวนมากจนสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่เขตบางขุนเทียนในระยะเร่งด่วนและระยะยาว

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการหารือแนวทางการแก้ปัญหาลิงแสมในพื้นที่เขตบางขุนเทียนของกรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หลังมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากลิงแสมออกมาหากินและสร้างความเสียหายในชุมชน โดยเฉพาะบริเวณอนุสาวรีย์คุณกะลา ซอยเทียนทะเล 22 ตรงโครงการบ้านเอื้ออาทรแสมดำ ซอยแสมดำ 17 และบริเวณบางกระดี่ หมู่ที่ 8 ปัจจุบันมีประชาชนได้รับผลกระทบจากลิงแสมที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำนวนมาก เพราะลิงมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายพื้นที่ โดยที่ผ่านมากรมอุทยานฯและหน่วยงานในพื้นที่ร่วมกันแก้ปัญหามาต่อเนื่อง เช่น ในเขตบางขุนเทียน เคยเข้าไปดักจับและทำหมันลิงตั้งแต่ปี 2565 และมีแผนจะทำหมันลิงอีกครั้งปี 2567 เบื้องต้นอยากให้เป็นโครงการร่วมกันระหว่างกรมอุทยานฯและกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำหมันลิงให้กับสัตวแพทย์ของกรุงเทพมหานครให้สามารถดำเนินการได้เองในอนาคต ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวอาจต้องมีการจัดทำ Zoning ที่ต้องปรับภูมิทัศน์ให้เหมาะสมเป็นที่อยู่อาศัยของลิง มีอาหารที่เพียงพอ และมีการบริหารจัดการดูแลพื้นที่ที่ดี เพื่อเป็นการจำกัดพื้นที่ของลิงที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่อไป ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของพื้นที่บางขุนเทียนในอนาคต

ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร อาจต้องลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนและที่ต้องการอนุรักษ์ลิงไว้ในพื้นที่เพื่อความสมดุลของระบบนิเวศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว โดยกรมอุทยานฯพร้อมให้ความช่วยเหลือและเป็นที่ปรึกษา ส่วนระยะเร่งด่วนได้ให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯเร่งลงพื้นที่ร่วมกับกรุงเทพมหานครสำรวจสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีปัญหาวิกฤติ เช่น บริเวณซอยเทียนทะเล 22 สำรวจพฤติกรรมของลิงและปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึง จำนวนประชากรลิงเหมาะสมที่จะอยู่อาศัยในพื้นที่ได้ แล้วนำมาวางแนวทางการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 ธันวาคม 2566

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุมเผยแพร่สรุปผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP 28) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดโดย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อเปิดเวทีให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนแนวคิดและทิศทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยเฉพาะการวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและโอกาสของไทยจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ถือเป็นการใช้โอกาสนี้สื่อสารสาระสำคัญจากการเข้าร่วมประชุม COP 28 การวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แผนการดำเนินงานในการสร้างความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม ประชาชน สื่อมวลชน และร่วมกันขับเคลื่อนประเทศให้เท่าทันโลกในการตั้งรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำได้จริงหากทุกคนร่วมมือกัน ซึ่งไทยให้ความสำคัญอย่างมากกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทาความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผู้นำหลายประเทศประกาศสนับสนุนทางการเงินกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อรับมือ กลไกทางการเงิน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่ไม่ใช่เพียงแต่รัฐภาคีเท่านั้น และให้ความสำคัญกับการจัดการที่คำนึงถึงธรรมชาติเชื่อมโยงกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายระยะยาวในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกตามเส้นทาง 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีส ที่จะกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของทุกภาคีและประเทศไทยด้วย

ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การประชุม COP 28 ที่ผ่านมามีหลายประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามและนำมาประกอบการดำเนินงานภายในประเทศ เช่น การทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) ที่มีการพิจารณาเป็นครั้งแรก // การจัดตั้งกรอบงาน UAE สำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการจัดทำเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ // การลดก๊าซเรือนกระจกที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่เป็นธรรม – Just Transition // การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19 ธันวาคม 2566

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้คาดการณ์จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ตอนล่างถึงวันที่ 20 ธันวาคมนี้ จึงกำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด เพื่อแจ้งเตือนประชาชนอย่างทันท่วงทีและลดผลกระทบที่จะเกิดได้มากที่สุด

ขณะที่พื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกอยู่ช่วงการบริหารจัดการน้ำหน้าแล้ง จึงให้โครงการชลประทานและสำนักเครื่องจักรกลในพื้นที่เฝ้าระวังจุดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปาและเตรียมพร้อมเครื่องจักร – เครื่องมือ ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยได้ทันที รวมทั้งวางแผนบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ควบคู่กับประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและรณรงค์การเพาะปลูกพืชให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะเสียหายได้ สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน ณ วันที่ 18 ธันวาคม พบอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 60,249 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 17,906 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำช่วงหน้าแล้งปี 2566/67 ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคเป็นหลัก รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรม และสำรองไว้ใช้ต้นฤดูฝนหน้า

เบื้องต้นจัดสรรน้ำช่วงหน้าแล้งทั้งประเทศ ไปแล้วกว่า 5,124 ล้านลูกบาศก์เมตรโดยลุ่มเจ้าพระยาใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,282 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันทั้งประเทศเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 2.41 ล้านไร่ ส่วนลุ่มเจ้าพระยาเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 1.78 ล้านไร่ ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  18 ธันวาคม 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพิ่มประสิทธิภาพการสูบผันน้ำลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสัก จากคลองพระองค์ไชยานุชิต-อ่างเก็บน้ำบางพระ ผ่านโครงข่ายน้ำภาคตะวันออก สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่ EEC

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า การสูบผันน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสักผ่านทางคลองพระองค์ไชยานุชิตไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกปีนี้สามารถสูบผันน้ำเต็มศักยภาพได้ปริมาณมากกว่าทุกปีที่่ผ่านมา ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกและคณะกรรมการลุ่มน้ำบางปะกงให้ดำเนินการตามแผน โดยได้ลงพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจนสามารถขยายระยะเวลาการสูบผันน้ำมาสิ้นสุดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา สำหรับปริมาณน้ำที่สูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิตมากักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำบางพระปีนี้มีปริมาณทั้งหมด 64.69 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็น ช่วงแรก ตั้งแต่ที่ 8 กรกฎาคม – 30 พฤศจิกายน 58.25 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เหลือเป็นปริมาณน้ำที่สูบผันน้ำในช่วงที่ขยายระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 - 15 ธันวาคม ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ CSR และประชาชนในพื้นที่คลองพระองค์ไชยานุชิตกำหนดสูบผันน้ำในอัตราประมาณ 500,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และจะหยุดสูบเมื่อระดับน้ำหน้าสถานีสูบพระองค์ฯมีค่าความเค็มไม่เกิน 0.5 กรัมต่อลิตร และการบริหารจัดการน้ำผ่านประตูระบายน้ำบึงฝรั่ง ไม่น้อยกว่า 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวขัองได้หารือร่วมกันขยายกรอบเวลาการสูบผันน้ำเพิ่มเติมหากมีปริมาณน้ำเพียงพอ และอยู่ในเงื่อนไขไม่กระทบต่อการใช้น้ำของเกษตรกรต้นทาง

เลขาธิการ สทนช. กล่าวด้วยว่า ยังมีการสูบผันน้ำแม่่น้ำบางปะกงมายังอ่างเก็บน้ำบางพระอีกด้วย โดยปีนี้สามารถสูบน้ำได้รวม 24.85 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อสูบผันน้ำมาเก็บไว้แล้วจะจัดสรรน้ำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ควบคู่กับทำให้อ่างเก็บน้ำบางพระปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 88 ล้านลูกบาศก์เมตร หากรวมกับอ่างเก็บน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดชลบุรีและระยอง 11 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 632.54 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอกับความต้องการใ่ช้น้ำของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมช่วงหน้าแล้งปี 2566/67 และช่วงต้นฤดูฝนปี 2567 แน่นอน


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.