กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม 12 ตุลาคม 2567
คีล (Kiel) เป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของรัฐชเลสวิช-ฮ็อลชไตน์ (Schleswig-Holstein) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศเยอรมนี โดยมีประชากรประมาณ 247,700 คน (ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565) (European Parliament election, 2024) เป็นเมืองที่มีบริเวณติดทะเลจึงเป็นเมืองท่าที่พลุกพล่านและสำคัญแห่งหนึ่งของเยอรมนี นอกจากนั้น ยังเป็นเมืองที่มีชื่อเสียงในด้านอุตสาหกรรมการต่อเรือ และกิจกรรมการแข่งขันเรือใบที่ถือว่าใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงกลางเดือนมิถุนายน นอกจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของเมืองคีลแล้ว เมืองแห่งนี้ยังได้รับการรับรองว่าเป็นเมืองปลอดขยะแห่งแรกของเยอรมนี โดยได้รับ Zero Waste Cities Certification ซึ่งเป็นมาตรฐานของสหภาพยุโรปที่ให้การรับรองโดยเครือข่าย Zero Waste Europe เพื่อช่วยขับเคลื่อนเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคในการจัดการปัญหาขยะและนำเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้อย่างจริงจัง เพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองปลอดขยะ เมืองคีลได้มีการกำหนดและบังคับใช้มาตรการจัดการขยะจำนวนถึง 107 มาตรการ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 โดยมีเป้าหมายที่จะลดขยะให้ได้โดยเฉลี่ยต่อคน ร้อยละ 15 ภายในปี พ.ศ. 2578 รวมถึงตั้งเป้าจะลดขยะครัวเรือนและจากกิจการพาณิชย์ให้ได้ครึ่งหนึ่ง พร้อมกำหนดว่าจะสร้างขยะเพียง 50 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ตัวอย่างมาตรการที่มีการนำมาใช้ อาทิ การแจกเงินจำนวน 210 ดอลลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้จ่ายในการซื้อผ้าอ้อมที่ทำจากผ้าธรรมชาติแทนผ้าอ้อมสำเร็จรูปที่ใช้แล้วทิ้ง การแจกถุงบรรจุผักและผลไม้ที่สามารถใช้ซ้ำได้ในการจัดงานต่าง ๆ ของเมือง การยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียว การใช้ระบบ pay-as-you-throw ที่คิดค่าจัดการขยะครัวเรือนตามนำหนักขยะที่ทิ้ง การนำผมที่ตัดทิ้งจากร้านตัดผมมาใช้เป็นวัสดุกรองน้ำมันออกจากน้ำ การสนับสนุนการจัดงานในรูปแบบ sustainable events ที่ห้ามการใช้ช้อนส้อมหรือที่บรรจุอาหารแบบใช้แล้วทิ้งในงานกิจกรรมสาธารณะ หรือการแบ่งบันอาหารที่เหลือจากงานกิจกรรมสาธารณะต่าง ๆ หรือจากร้านอาหารและครัวเรือนให้แก่ผู้ยากไร้ เพื่อลดปริมาณขยะอาหาร เป็นต้น ขยะเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก อันได้แก่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนวีถีชีวิตไปในแนวทางที่ไม่บริโภคนิยมจนเกินไปและมุ่งลดขยะที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของโลกที่ต้องสร้างความสมดุลในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน