กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม 13 ตุลาคม 2567
ปัญหาขยะได้กลายเป็นวิกฤตระดับโลกที่ทุกประเทศต้องเผชิญ ส่งผลกระทบทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน การแสวงหาวิธีแก้ไขอย่างยั่งยืนจึงเป็นภารกิจที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือเมืองเล็ก ๆ อย่าง Kamikatsu (คามิคัตสึ) ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกลายเป็นเมืองต้นแบบด้านการจัดการขยะ ด้วยการริเริ่มโครงการ "Zero Waste" ที่มุ่งลดปริมาณขยะเป็นศูนย์ โดยความสำเร็จของโครงการนี้เห็นได้ชัดจากการที่ภายในระยะเวลาเพียงสองทศวรรษ Kamikatsu สามารถลดปริมาณขยะที่ต้องเผาลงกว่า 80% เมื่อเทียบกับการจัดการขยะในอดีต Kamikatsu ตั้งอยู่ในจังหวัด Tokushima บนพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเล 700 เมตร ล้อมรอบด้วยภูเขาและนาขั้นบันได มีประชากรประมาณ 1,457 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 1 มกราคม 2563) ในอดีต Kamikatsu ประสบปัญหาการจัดการขยะที่รุนแรง ประชาชนทิ้งขยะอย่างไม่เป็นระเบียบ อีกทั้งวิธีการกำจัดขยะก็สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้เมืองตัดสินใจปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดการขยะ จึงเป็นที่มาของการริเริ่มโครงการ Zero Waste ในปี 2003 ด้วยเป้าหมายที่จะกลายเป็นเมืองปลอดขยะ ในช่วงเริ่มต้นของโครงการ เมืองให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชน เริ่มจากการให้ความรู้เรื่องการแยกขยะภายในครัวเรือนอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งจัดตั้งสถานีแยกขยะทั่วเมือง นอกจากนี้ ยังได้ก่อตั้ง "Zero Waste Academy" ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการขยะ และเป็นกลไกสำคัญที่นำพา Kamikatsu ไปสู่ความสำเร็จในการเป็นเมืองปลอดขยะต้นแบบ นอกจากนี้ Kamikatsu ได้พัฒนาระบบการแยกขยะที่มีเอกลักษณ์ โดยเริ่มต้นจากการที่ชาวเมืองแยกขยะที่บ้านตนเองเป็น 4 - 5 ประเภท โดยการลดขยะ (reduce) รีไซเคิล (recycle) และการใช้ซ้ำ (reuse) แล้วนำขยะไปคัดแยกต่อที่ Komi Station (สถานีแยกขยะ) ซึ่งมีจุดแยกขยะละเอียดมากถึง 45 ประเภท จากนั้นขยะที่ถูกแยกจะถูกจัดเก็บในกล่องตามประเภทที่กำหนดไว้ และจะจัดส่งไปยัง ศูนย์รวบรวมขยะ (Waste Collection Center) เพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ตัวอย่างเช่น ข้าวของเครื่องใช้บางอย่างที่ยังสามารถใช้งานได้ จะถูกส่งต่อไปยังร้าน Kuru-Kuru Re-use Shop เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้ามือสอง หรือส่งไปที่ Kuru-Kuru Upcycling Craft Center เพื่อทำการซ่อมหรือดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ กระบวนการเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดหมุนเวียนทรัพยากรภายในชุมชน ความสำเร็จอันน่าประทับใจของโครงการนี้คือ ในปี 2020 Kamikatsu สามารถลดปริมาณขยะที่ต้องกำจัดได้กว่า 80% โดยนำขยะไปรีไซเคิล ซึ่งมีเพียง 20% เท่านั้นที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ และจัดการด้วยการเผายังเตาเผาขยะในเมืองใหญ่ ขยะที่เป็นขยะอินทรีย์ถูกนำไปหมักทำเป็นปุ๋ย โดยใช้ถังพลาสติกสำหรับการหมักแบบธรรมชาติและถังไฟฟ้าสำหรับการย่อยสลายที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ซึ่งวิธีนี้ทำให้ขยะอินทรีย์ของที่นี่ถูกกำจัดได้หมด นอกจากนี้ Kamikatsu ยังได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยถูกนำไปใช้เป็นต้นแบบในการจัดการขยะให้กับเมืองอื่น ๆ ทั่วโลกอีกด้วย การจัดการขยะของเมือง Kamikatsu เป็นโมเดลที่น่าสนใจและได้รับการยอมรับจากหลายประเทศเพื่อใช้เป็นต้นแบบในการจัดการขยะ อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของการดำเนินการนี้จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจัง เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะที่บ้าน เนื่องจากความร่วมมือของประชาชนเป็นหัวใจสำคัญในการแยกขยะ การรีไซเคิล และการลดปริมาณขยะตั้งแต่ต้นทาง ภาครัฐควรมีบทบาทในการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้หรือจัดหาทรัพยากรหรือเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เมืองคาร์บอนต่ำที่ยั่งยืนในอนาคตต่อไป