• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

การจัดการขยะต้นทางในเมืองใหญ่ ความท้าทายสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

 กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม   11 ตุลาคม 2567   

     การพัฒนาเศรษฐกิจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากสังคมชนบทเป็นสังคมเมืองอย่างรวดเร็ว เมืองใหญ่กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และเทคโนโลยี โดย UN ระบุว่าในปี 2565 มากกว่าครึ่งของประชากรไทยจะอาศัยในเขตเมือง และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 70% ภายในปี 2593 ซึ่งเมืองใหญ่ 5 อันดับแรกของประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา อุบลราชธานี เชียงใหม่ และขอนแก่น และด้วยความหนาแน่นของจำนวนประชากรและการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง จึงนำมาสู่การใช้ทรัพยากรเกินขีดความสามารถ และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้ง เมืองที่ขยายตัวก่อให้เกิดขยะมหาศาล ทั้งจากการดำเนินชีวิตประจำวันและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน หากขยะไม่ได้รับการจัดการที่ดี จะส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก โดยเฉพาะก๊าซมีเทนจากหลุมฝังกลบ โดยในปี 2566 กรุงเทพมหานคร เป็นลำดับแรกใน 5 เมืองใหญ่ ที่มีปริมาณขยะมูลฝอยสูงที่สุดถึงประมาณ 12,748 ตัน/วัน รองลงมาคือนครราชสีมา อุบลราชธานี เชียงใหม่ และขอนแก่น มีปริมาณขยะมูลฝอยประมาณ 2,588, 1,514, 1,475 และ 1,402 ตัน/วัน ตามลำดับ                    

     หลายเมืองใหญ่เริ่มนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการจัดการขยะ อาทิ การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste-to-Energy) รวมถึงการประยุกต์ใช้แนวคิด BCG (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในการจัดการขยะไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายหรือเทคโนโลยีเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชน โดยเฉพาะการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางจากครัวเรือน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะที่จะถูกส่งไปยังหลุมฝังกลบและเพิ่มประสิทธิภาพในการรีไซเคิลได้อย่างดี 

บทความนี้ขอยกตัวอย่างโครงการจัดการขยะต้นทางในกรุงเทพมหานครและขอนแก่น ดังนี้                    

     - “#ไม่เทรวม” โดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งเชิญชวนประชาชนเริ่มต้นคัดแยกขยะแบบง่าย ๆ ก่อนทิ้ง โดยให้แยกขยะทั่วไปหรือขยะแห้ง ลงในถุงดำ และเศษอาหาร ลงในถุงใสหรือถุงสีเขียว อีกทั้งรถขยะที่ใช้เก็บก็จะมีถังแยกสำหรับขยะเศษอาหารโดยเฉพาะ เพื่อให้มั่นใจว่าขยะที่คัดแยกไว้แล้วจะไม่ถูกนำไปรวมกันอีกในปลายทาง การคัดแยกขยะจะช่วยให้จัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถส่งขยะไปจัดการถูกที่ เช่น ส่งขยะไปรีไซเคิล ผลิตปุ๋ยหมัก หรือใช้เป็นเชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) เป็นต้น                    

     - “ขอนแก่น Zero Waste” เป็นโครงการที่เทศบาลนครขอนแก่นร่วมมือกับชุมชน ภายใต้แนวคิด “ขยะเกิดที่ไหน กำจัดที่นั่น” เพื่อจัดการขยะอย่างยั่งยืนตั้งแต่ต้นทาง โดยเน้นการคัดแยกขยะออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) ขยะอินทรีย์ ซึ่งจะนำไปทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ แล้วจึงแจกจ่ายให้แก่ชุมชน (2) ขยะรีไซเคิล รายได้จากการขายขยะจะนำเข้าสู่กองทุนฌาปนกิจที่เรียกว่า "กองทุนฌาปนกิจเปลี่ยนขยะเป็นบุญ" ซึ่งเมื่อสมาชิกเสียชีวิต จะมีการหักจากบัญชีคนละ 20 บาทเพื่อจ่ายให้กับครอบครัว (3) ขยะมูลฝอย มีการกำหนดวันที่รถเทศบาลจะมารับขยะและนำไปแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า และ (4) ขยะอันตรายและขยะติดเชื้อ มีถังและจุดทิ้งเฉพาะ เพื่อให้รถเทศบาลมาจัดเก็บและนำไปจัดการอย่างปลอดภัย โครงการดังกล่าวดำเนินการมานานกว่า 10 ปี จนชุมชนได้รับรางวัล “โครงการชุมชนปลอดขยะ Zero Waste” และเป็นต้นแบบเรียนรู้ด้านการจัดการขยะให้กับชุมชนอื่น ๆ                    

     การจัดการขยะต้นทาง ไม่ใช่เพียงแค่การลดปริมาณขยะ แต่ยังเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนให้หันมาคัดแยกขยะ การนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ในการจัดการขยะ รวมถึงการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชน ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เมืองสามารถรับมือกับความท้าทายนี้ได้ในอนาคต เมืองใหญ่ที่เติบโตอย่างยั่งยืน คือ เมืองที่สามารถจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

"ประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืนด้วยเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำและมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยการมีส่วนร่วมของประชาชน"


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.