• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  29 พฤษภาคม 2567

ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/environment/1128218

แนวคิดของการหยุดและย้อนกลับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพภายในปี 2030 เป็นภารกิจที่เป็นหัวใจของแผนความหลากหลายทางชีวภาพหรือกรอบความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกของคุนหมิง-มอนทรีออล นํามาใช้ในช่วง COP15 แผนนี้เพื่อดูโลก “อยู่ร่วมกับธรรมชาติภายในปี 2050” ประกอบด้วยสี่เป้าหมายและ 23 เป้าหมายเป้าหมายที่ 15 เน้นย้ำอย่างชัดเจนถึงความจําเป็นในการประเมินและเปิดเผยโดยธุรกิจ

ธรรมชาติสนับสนุนเศรษฐกิจโลก มากกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP ของโลก 44 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ต้องพึ่งพาธรรมชาติในระดับปานกลางหรือมากผ่านการใช้น้ํา แร่ธาตุ และการควบคุมสภาพอากาศ เป็นต้น

รายงานความเสี่ยงระดับโลก ส่งสัญญาณว่าความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมเป็นครึ่งหนึ่งของความเสี่ยง 10 อันดับแรกในอีก 10 ปีข้างหน้า และจัดอันดับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศร่วมกันว่าเป็นความเสี่ยงระดับโลกที่ใหญ่เป็นอันดับสามสําหรับมนุษยชาติ

การวิจัยของแสดงให้เห็นว่าการลงทุนในเศรษฐกิจเชิงบวกตามธรรมชาติสามารถปลดล็อกโอกาสทางธุรกิจมูลค่า 10.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และสร้างงาน 395 ล้านตําแหน่งภายในปี 2573 เช่น การใช้การเกษตรเชิงปฏิรูปการจัดการป่าไม้ที่ยั่งยืน และการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานที่โปร่งใสมากขึ้น สิ่งนี้จะช่วยเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจสามระบบที่รับผิดชอบการสูญเสียธรรมชาติเกือบ 80% อาหาร โครงสร้างพื้นฐาน และพลังงาน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  28 พฤษภาคม 2567

ที่มา : Thaipr.net  (https://www.thaipr.net/general/3476260)

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันการถูกคุกคามและการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แทบไม่น่าเชื่อโดยองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลเปิดเผยข้อมูลช่วงพ.ศ. 2513-2561 ชนิดพันธุ์ในกลุ่มสัตว์มีกระดูกสันหลัง ลดลงกว่าร้อยละ 68 ความหลากหลายทางชีวภาพในโลกจึงกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยง สอดคล้องกับรายงาน Global Risks Report 2024 ที่ระบุว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและการล่มสลายของระบบนิเวศเป็นความเสี่ยงของโลกในอันดับต้น ๆ ร่วมกับสภาพภูมิอากาศสุดขั้วและการเปลี่ยนแปลงระบบของโลกในระดับวิกฤต ซึ่งกำลังส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีและความอยู่รอดของมนุษย์เรา ความเสี่ยงเหล่านี้เกิดจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของสิ่งมีชีวิต ซึ่งเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่เกษตรและเมือง และกิจกรรมของมนุษย์โดยเฉพาะมีการขุดเจาะน้ำมัน การทำเหมืองแร่ การตัดไม้ทำลายป่า และกิจกรรมอื่น ๆ ทั้งบนบกและในทะเล อาจส่งผลกระทบต่อความชุกชุม การกระจาย และการเคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด และแน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหามลพิษ การใช้ประโยชน์มากเกินไป และการรุกรานจากสิ่งมีชีวิตต่างถิ่น ล้วนขับเคลื่อนให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจึงเรียกว่าเป็นยุคเสี่ยงของความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไม่ใช่เรื่องของธรรมชาติเท่านั้น คุณธนิรัตน์ ธนวัฒน์ นักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ได้เรียบเรียงข้อมูลข้อมูลและงานวิจัยโดยหยิบยกประเด็นใกล้ตัวเรามาฝากคือ การรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ดีต่อสุขภาพของมนุษย์

มนุษย์เราล้วนพึ่งพาอาหารจากพืชและสัตว์ทั้งบนบกและในทะเล แล้วทราบกันหรือไม่ว่า การบริโภคอาหารในแต่ละวันให้มีความหลากหลายทางชีวภาพหรือหลากหลายสายพันธุ์จะช่วยให้เราได้รับสารอาหารรอง (Micronutrients) อย่างเพียงพอ ซึ่งมีความสำคัญพอ ๆ กับการบริโภคอาหารให้ครบ 5 หมู่ ผักผลไม้ที่มีสายพันธุ์ต่างกันแม้เพียงน้อยนิดจะมีสารอาหารรองที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่ผักผลไม้ในสายพันธุ์เดียวกัน แต่มีรายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน ก็จะมีสารอาหารรองแตกต่างกัน ดังนั้นพื้นที่ทางธรรมชาติเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่ว่าป่าไม้ แม่น้ำ คูคลอง บึง พื้นที่สีเขียวในเมือง ได้เอื้อประโยชน์ด้านต่างๆ พื้นที่ทางธรรมชาติยังมีคุณค่าทางจิตใจของคนเมือง ทำให้สภาพแวดล้อมน่าอยู่ ช่วยผ่อนคลายจากความเครียด สร้างเสริมสุขภาพกายที่ดีจากมีพื้นที่เปิดโล่งที่มีอากาศถ่ายเท เป็นพื้นที่ออกกำลังกาย ทำกิจกรรมนันทนาการรูปแบบต่าง ๆ และช่วยเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีของเด็กรุ่นใหม่ แต่น่าเสียดายว่าพื้นที่ทางธรรมชาติหลายแห่งถูกเปลี่ยนไปเพราะมองว่าเป็น “พื้นที่รกร้าง” ไม่ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ หารู้ไม่ว่า พื้นที่เหล่านั้นเป็นพื้นที่รองรับและซับน้ำ ช่วยลดผลกระทบจากน้ำท่วมและภัยแล้งในหลายเมืองทั่วโลก ขณะเดียวกันก็ให้ความชุ่มชื้นและความร่มรื่นช่วยลดอุณหภูมิของเมืองจากปรากฎการณ์เกาะความร้อนเมือง (Urban heat island : UHI) ส่วนพื้นที่ธรรมชาติขนาดใหญ่ ได้ช่วยในด้านน้ำสะอาด อากาศสะอาด ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของศัตรูพืชและเชื้อโรค และควบคุมสภาพภูมิอากาศหลายเมืองทั่วโลกจึงเริ่มคิดและออกแบบเมืองคู่กับการรักษาพื้นที่ทางธรรมชาติ เพราะตระหนักถึงความจำเป็นในการคุ้มครองแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ล้วนช่วยสร้างเสริมสุขภาพที่ดี เพราะเชื่อว่าพื้นที่ทางธรรมชาติ เมืองน่าอยู่ สู่สุขภาพดี


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  27 พฤษภาคม 2567

ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/environment/1127377

เบลเยียมผุดไอเดีย เพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง ด้วยการแจกต้นไม้ให้ประชาชนนำไปปลูกพร้อมเสนอจัดทำสวนหน้าบ้านให้ฟรี แถมเงินสำหรับซื้อถังเก็บน้ำไว้รดน้ำต้นไม้อีกด้วย

เมืองแอนต์เวิร์ป ในเบลเยียม ริเริ่มแคมเปญ “Neighbourhood in Bloom” (Buurt in Bloei) ซึ่งจะแจกต้นไม้ 2,000 ต้น ให้แก่ชาวเมืองที่มีพื้นที่ว่างสำหรับปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง และเป็นความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่โลกกำลังเผชิญ เช่น คลื่นความร้อน น้ำท่วม และมลพิษทางอากาศ

แอนต์เวิร์ปมีเป้าหมายที่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพและน่าอยู่มากขึ้นสำหรับชาวเมือง นอกจากจะแจกต้นไม้แล้ว สภาเมืองยังเสนอจะสร้างสวนหน้าอาคารให้แก่ชาวเมืองที่สนใจอยากมีสวนไว้หน้าบ้านของตัวเอง ผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านใจกลางเมืองสามารถขอไม้ดอก พุ่มไม้ ไม้เถา และต้นไม้นานาชนิดจากสภาเมืองได้ฟรี


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  26 พฤษภาคม 2567

ที่มา : Future Perfect  (https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2787905)

เปิดผลสำรวจปี 2567 ชี้ชัด “ปัญหาสิ่งแวดล้อม-มลภาวะ” ครองแชมป์ความกังวลสูงสุดของคนไทย ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างมากถึง 74% วันที่ 23 พ.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลสำรวจจากมาร์เก็ตบัซซ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยให้เห็นว่า “สิ่งแวดล้อม-มลภาวะ” ยังคงเป็นความกังวลอันดับหนึ่งของประชาชน โดยครองแชมป์ปัญหาที่คนไทยกังวลมากที่สุดในปี 2567 การสำรวจนี้จัดทำต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี 2562 โดยสอบถามประชาชนไทยเกี่ยวกับ “5 อันดับแรกของความกังวลต่อสาธารณะ” โดยผลการสำรวจล่าสุดในปี 2567 มีผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 1,000 คน ในเดือนเมษายน 2567 พบว่าสิ่งแวดล้อมยังคงติดอันดับสิ่งที่คนไทยกังวลมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 30 ของผู้ตอบแบบสอบถาม รองลงมาคือเรื่องของค่าครองชีพ คิดเป็นร้อยละ 28 ของผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งทั้งสองหัวข้อนี้ก็เป็นสิ่งที่คนไทยกังวลมากที่สุดจากการสำรวจในปี 2566 เช่นกัน โดยการสำรวจนี้อยู่ในบริบทที่เกี่ยวกับความกังวลหลักๆ ของประชาชนที่มีต่อประเทศ ซึ่งรวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันของหน่วยงานรัฐ, งานสาธารณสุข, การจราจร, อาชญากรรม และสภาพเศรษฐกิจโดยรวม จากผลสำรวจปี 2567 ชี้ให้เห็นว่าความกังวลของคนไทยด้านสิ่งแวดล้อมยังทวีความรุนแรงขึ้น สูงถึงร้อยละ 74 และรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 62 ในปี 2565 ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนร้อยละ 37 ยังมีความกังวลอีกว่าสภาพแวดล้อมจะเลวร้ายลงไปอีกในอีก 5 ปีข้างหน้า แม้จะมีความกังวล แต่กลับพบว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ขณะที่พฤติกรรมที่ร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่พบมากที่สุด คือ ไม่สนับสนุนการซื้อขาย/บริโภคสินค้าของป่า ของลักลอบหรือผิดกฎหมาย (ร้อยละ 37) รองลงมา คือ การลดการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน (ร้อยละ 34) และการใช้ถุงและบรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (ร้อยละ 33) ผลสำรวจยังชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังมีช่องว่างให้รณรงค์และส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอย่างยั่งยืนต่อไป

มร.แกรนท์ บาร์โทลี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารมาร์เก็ตบัซซ กล่าวว่า ในบรรดาความกังวลของประชาชนนั้น ปัญหาสิ่งแวดล้อม และค่าครองชีพที่สูงขึ้น ยังคงเป็นความกังวลหลักของประเทศไทย แม้ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมจะครองอันดับหนึ่ง แต่การเลือกใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันกลับเป็นเรื่องที่ท้าทายมากขึ้น ดังนั้นจึงต้องพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เพื่อให้ประชาชนมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืนมากขึ้น  ขณะที่ผลการสำรวจ ยังเผยว่า ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากขึ้นสำหรับภาคธุรกิจ โดยจะเห็นว่ามีบริษัทหรือองค์กรที่ให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมากขึ้น โดยในปีนี้มีถึง 4 บริษัทที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นองค์กรที่ให้การสนับสนุนและมีส่วนร่วมเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมในระดับเกินกว่า 40% ได้แก่ ทรู, ปตท., ซัมซุง และเอไอเอส  มร.แกรนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า คนไทยมีความคิดเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับผู้รับผิดชอบหลักในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ประชาชนคาดหวังให้รัฐบาลมีบทบาทสำคัญ แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนเองก็มีความรับผิดชอบร่วมด้วยเช่นกัน โดยคาดหวังให้ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม สิ่งที่ชัดเจนคือ คนไทยต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงและพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงนั้น ผลการสำรวจยังระบุว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่คนไทยกังวลมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาวะโลกร้อน (ร้อยละ 30) มลภาวะทางอากาศ (ร้อยละ 27) และการเปลี่ยนแปลงของอากาศ/อุณหภูมิ (ร้อยละ 22) สำหรับสาเหตุของปัญหามลภาวะทางอากาศ คนไทยมีความเห็นที่หลากหลาย โดยสาเหตุ 5 อันดับแรก ได้แก่ ควันจากท่อไอเสียในการใช้รถยนต์ (ร้อยละ 30) การเผาขยะหรือผลิตผลทางการเกษตร (ร้อยละ 26) การใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟมหรือพลาสติก (ร้อยละ 23) สารเคมีที่ใช้ในการก่อสร้าง รวมถึงฝุ่นควันต่างๆ (ร้อยละ 22) และการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากถ่านหิน น้ำมัน หรือก๊าซธรรมชาติ (ร้อยละ 21)


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  25 พฤษภาคม 2567

ที่มา https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2787733

“บ้านเรากำลังเผชิญกับวิกฤติขยะอาหาร ที่ทั้งหมดมาจากสินค้าเกษตรและสินค้าแปรรูป ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหารของประชาชนกลุ่มเปราะบาง การลดการสูญเสียอาหารตั้งแต่ต้นทางเลยเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการลดวิกฤติปัญหาขยะอาหาร จากข้อมูลที่ได้มีการศึกษาพบว่า ไทยมีอาหารส่วนเกินมากถึงเกือบปีละ 4 ล้านตัน ในขณะที่มีการรายงานตัวเลขของประชากรของประเทศที่มีรายได้น้อย และมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารอยู่ถึง 3.8 ล้านคน เราจึงร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ดำเนินการศึกษาและวิจัยเชิงนโยบาย เพื่อสร้างต้นแบบการดำเนินงาน เพื่อบริหารจัดการอาหารส่วนเกินของไทย โดยเปิดตัวต้นแบบธนาคารอาหารของประเทศเป็นครั้งแรก”

การเปิดตัวต้นแบบธนาคารอาหารของประเทศไทย หรือ (Thailand’s Food Bank) เป็นไปเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารส่วนเกิน การกอบกู้อาหาร และการส่งต่ออาหารส่วนเกินอันจะช่วยส่งเสริมให้ลดการเกิดขยะอาหาร และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศไปด้วยกัน และหวังเป็นต้นแบบของการสร้างแบบจำลองการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้สังคมไทย โดยนำร่องที่ชุมชนย่านลาดพร้าว ณ โรงเรียนคลองทรงกระเทียม เขตลาดพร้าว กรุงเทพฯ


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  24 พฤษภาคม 2567

ที่มา: https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ/2787702

นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการเดินหน้าสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยสามารถปรับตัวรับกับเทรนด์ของโลกที่มุ่งไปสู่ความยั่งยืนว่า ในช่วงที่ผ่านมาทั่วโลกหันมาใช้สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพราะผู้บริโภคมองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวและตนเองได้รับผลกระทบในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น จึงต้องการมีส่วนร่วมในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยการเลือกซื้อสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

สำหรับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นายภูสิตขยายความว่าเป็นสินค้าจากผู้ผลิตที่แสดงถึงมาตรฐานจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต สินค้า Eco Products ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน ไม่ก่อขยะหรือ มลพิษ นำกลับมาใช้ใหม่ได้ สินค้า Fast-moving consumer goods ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หลอดดูดน้ำ ก้านสำลีย่อยสลายได้ อาหารและเครื่องดื่มจากโปรตีนทางเลือก สินค้าที่ใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลได้ เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ

ในการส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีการผลิตที่ยั่งยืนนั้น นายภูสิต กล่าวว่า ยังมีปัญหา 3 ด้านหลัก คือ ด้านแรก ขาดความรู้ ความเข้าใจการขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขาดนวัตกรรมและเทคโนโลยี  ด้านที่สอง การพัฒนาสินค้าสร้างมูลค่าเพิ่มตามแนวทาง BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) โดยผู้ประกอบการยังขาดระบบบริหารจัดการ และด้านสุดท้าย คือช่องทางตลาด โดยสินค้าไทยยังขาดการสร้างเรื่องราวของสินค้าว่าเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG อย่างไร ช่วยสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร ขาดการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ และความร่วมมือระหว่างธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทำให้ความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทานไม่ราบรื่น และขาดความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและบริษัทเทคโนโลยี เพื่อร่วมมือและร่วมทุน ผลักดันงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

นายภูสิตกล่าวว่า กรมได้ช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวไปสู่การผลิตที่ยั่งยืน โดยเร่งพัฒนาองค์ความรู้ เช่น มีหลักสูตรฝึกอบรมที่สอดแทรกเนื้อหาการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่า 100 หลักสูตร มีโครงการสำคัญเสริมศักยภาพ เช่น โครงการเสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมผู้ประกอบการไทยสู่ความยั่งยืน โครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลก ที่เน้นการออกแบบหมุนเวียน มุ่งสู่ความยั่งยืน (SDGs)


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  23 พฤษภาคม 2567

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์  (https://www.thairath.co.th/news/society/2787602)

นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ชี้ “ภาวะโลกเดือด” ทำให้เครื่องบินมีโอกาสตก “หลุมอากาศ” เพิ่มมากขึ้น พร้อมอธิบายปัจจัยที่ส่งผลกระทบ..วันที่ 22 พฤษภาคม 2567 มีรายงานว่า ดร.สนธิ คชวัฒน์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Sonthi..Kotchawat ระบุว่า โลกร้อนขึ้น โอกาสที่เครื่องบินจะตกหลุมอากาศมากขึ้น..เพราะอะไร?..1. เครื่องบินที่บินในบริเวณซีกโลกตะวันตก หรือบินจากโลกตะวันตกมายังซีกโลกตะวันออก มีโอกาสที่จะตกหลุมอากาศบ่อยขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิในบรรยากาศของโลกที่สูงขึ้น ทำให้ลมกรด หรือ Jet..stream..ซึ่งเป็นลมที่ใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการบินแปรปรวน 2. Jet Streams หรือลมกรดเป็นกระแสลมที่ไหลเวียนในระดับความสูง ประมาณ 7.0 ถึง 16 กม. เหนือจากพื้นโลก มีความเร็วสูงมากถึง 200-400 กม./ชม. เป็นลมที่พัดจากทิศตะวันตกมายังทิศตะวันออกของโลก ดังนั้นถ้าเครื่องบินบินจากซีกตะวันตกมาทางซีกตะวันออก ก็ควรวางแผนการบินให้บินตามกระแสของ Jet stream..จะทำให้มีความเร็วเพิ่มขึ้น ช่วยประหยัดพลังงาน และลดเวลาในการบินสั้นลง แต่หากจะบินจากตะวันออกมาทางตะวันตก ก็ควรบินหลบ Jet stream ให้มากที่สุด เพราะจะสวนกระแสลม ทำให้ใช้เวลาการบินมากขึ้น..อุณหภูมิในบรรยากาศของโลกที่สูงขึ้น เนื่องจากโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ทำให้ลมกรด หรือ Jet stream ลดความเร็วลงในบางช่วง มีงานวิจัยระบุว่าอุณหภูมิในบรรยากาศที่สูงขึ้น ในแถบทวีปอาร์กติกซึ่งร้อนขึ้นเกือบสี่เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก กำลังส่งผลให้กระแสลมกรด (jet..stream)..ซึ่งเป็นลมที่มีกำลังแรงพัดอยู่บนชั้นบรรยากาศในบางช่วงมีความเร็วลดลง ทำให้เกิดอากาศแปรปรวน ในขณะที่อากาศปลอดโปร่ง (Clear..Air Turbulance) มากขึ้น (ทั้งที่ไม่ได้บินผ่านเมฆหรือพายุ)..เนื่องจากช่วงที่ความเร็วของลมกรดลดลง จะทำให้ความหนาแน่นของมวลอากาศในช่วงบริเวณดังกล่าวบางลง ซึ่งทำให้เกิด “หลุมอากาศ” ขึ้น ในขณะที่เครื่องบินได้บินผ่านหลุมอากาศ แรงยกจากปีกของเครื่องบินจะลดลงอย่างกะทันหัน ทำให้ตัวเครื่องตกลงไปในหลุมอากาศ ซึ่งจะตกมากหรือน้อย อยู่ที่ขนาดของความหนาแน่นของมวลอากาศ นักวิจัยชี้ว่าอัตราการเกิดหลุมอากาศ จะเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าภายในปี 2050 และอาจมีเครื่องบินต้องเผชิญกับหลุมอากาศที่รุนแรงมากขึ้นถึง 40% ทั้งนี้ ดร.สนธิ คชวัฒน์ ยังโพสต์อีกว่า เครื่องบินอาจตกหลุมอากาศบ่อยขึ้น แม้บินอยู่ในท้องฟ้าที่ปลอดโปร่ง..สัมพันธ์กับการที่โลกเข้าสู่ภาวะ “โลกเดือด“..1. โลกร้อนทำให้อุณหภูมิบนผิวโลกสูงขึ้น 1.2 ถึง 1.4 องศา จากยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ยิ่งระดับความสูงจากผิวโลกขึ้นไปเกือบ 20 กม. อุณหภูมิบรรยากาศยิ่งร้อนขึ้น จึงไปทำให้ลมระดับบน ที่ระยะความสูงระหว่าง 7.0 ถึง 16 กม. จากผิวโลกที่เรียกว่าลมกรด หรือ Jet stream ซึ่งมีความเร็วเฉลี่ย 200 ถึง 400 กม. ต่อ ชม. และเคลื่อนที่จากซีกโลกตะวันตกไปยังตะวันออก มีความเร็วลดลงในบางช่วงบางขณะ..ซึ่งจะทำให้ความหนาแน่นของมวลอากาศบริเวณนั้นลดลงด้วย ทำให้เกิดความแปรปรวนของอากาศ ทั้งที่อากาศช่วงนั้นปลอดโปร่ง ไม่มีพายุหรือเมฆฝนใดๆ เรียกว่า Clear Air Turbulance หรือ CAT หากมีเครื่องบินบินผ่าน แรงยกจากปีกของเครื่องบินจะลดลงอย่างกะทันหัน และเครื่องจะตกลงไปในมวลอากาศที่บางลงซึ่งเรียกว่า การตกหลุมอากาศ (Air Pocket) 2. โลกร้อนขึ้น อุณหภูมิในบรรยากาศโลกสูงขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะเครื่องบินตกหลุมอากาศมากขึ้น ทั้งๆ ที่เครื่องบินบินอยู่ในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งได้ ซึ่งเรื่องนี้เกิดบ่อยขึ้น นักวิจัยในสหรัฐอเมริกาค้นพบว่า ตั้งแต่ปี 1979 ถึง ปี 2020 มีเครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงเพิ่มขึ้น จากก่อนหน้านั้นถึงร้อยละ 55 และมีความสัมพันธ์ โดยตรงกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกบนพื้นโลก สู่บรรยากาศทำให้โลกร้อนขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ดำเนินการใดๆ ในปี 2050 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเรียกว่า “สภาวะโลกเดือด” อาจจะทำให้เครื่องบินตกหลุมอากาศอย่างรุนแรงมากขึ้นถึง 40% จากปี 2023 แม้ในขณะที่บินผ่านในบรรยากาศที่ปลอดโปร่งก็ตาม


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  22 พฤษภาคม 2567

ที่มา https://www.dailynews.co.th/news/3454514/

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “จิตอาสาเราทำความดีด้วยหัวใจ” ทำแนวป้องกันไฟเปียก (Wet Fire Break) เพื่อป้องกันพื้นที่สำคัญและสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่า และกิจกรรมจิตอาสาสนับสนุนการสร้าง “ป่าเปียก” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร

โดยการดำเนินการสร้างป่าเปียกที่วัดพระธาตุดอยสะเก็ด ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งศูนย์ป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลำปาง ได้ดำเนินการสูบน้ำจากหนองบัวเจ้าหลวง ขึ้นมาบนวัดพระธาตุดอยสะเก็ดพระอารามหลวง เพื่อสร้างความชุ่มชื้นรอบพื้นที่กว่า 40 ไร่

กิจกรรมดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยงานทุกพื้นที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งปี แม้ขณะนี้จะเป็นช่วงปลายฤดูฝุ่นควันแล้วก็ตาม โดยเชื่อมั่นว่าหากทุกพื้นที่ร่วมกันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตจะช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้ป่าได้เป็นอย่างดี ระบบนิเวศในป่าจะอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.