• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 ธันวาคม 2566

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง โดยถึงวันที่ 26 ธันวาคมนี้หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่างของไทย ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักได้ เบื้องต้นพบพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและดินถล่ม 2 จังหวัด 7 อำเภอ คือ จ.ยะลา บริเวณ อ.บันนังสตา และธารโต และนราธิวาส บริเวณ อ.จะแนะ ศรีสาคร รือเสาะ ระแงะ สุคิริน โดยต้องระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 26 ธันวาคมนี้ใน จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส พร้อมระวังอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ใน จ.พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาส โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง จ.ยะลา ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมไม่ให้เกิดผลกระทบ หรือเกิดผลกระทบบริเวณท้ายเขื่อนน้อยที่สุด รวมทั้ง ระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของคลองท่าแนะ แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำบางนรา แม่น้ำโก-ลก และคลองตันหยงมัส


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 ธันวาคม 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “Save wildlife for your life : รักษาธรรมชาติ ไม่ซื้อ ไม่ล่า ไม่ค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย” เพื่อรณรงค์ให้หยุดการซื้อ-ขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย

พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นประธานเปิดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2566 ภายใต้แนวคิด “Save wildlife for your life : รักษาธรรมชาติ ไม่ซื้อ ไม่ล่า ไม่ค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย” ณ ศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี พร้อมมอบป้ายเชิงสัญลักษณ์สนับสนุนโครงการเพิ่มศักยภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ที่เป็นเหยื่อของเสือโคร่งเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งจาก Siam Winery โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ความสำเร็จการอนุรักษ์สัตว์ป่าจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งการดูแลและคุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า การป้องกันสัตว์ป่าไม่ให้ถูกล่า โดยเฉพาะการรณรงค์ให้หยุดการซื้อ-ขายสัตว์ป่าผิดกฎหมาย รัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องการซื้อ-ขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายต่อเนื่อง ซึ่งเห็นจากการออกกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องที่เน้นให้ทุกฝ่ายเห็นถึงภัยเงียบของการซื้อ-ขายสัตว์ป่าผิดกฎหมายที่ส่งผลต่อความสมดุลในระบบนิเวศ เกิดโรคระบาด ทำลายชีวิต ทำลายระบบเศรษฐกิจ และส่งผลต่อสุขอนามัยของมนุษย์ จึงจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์และเผยแพร่งานด้านการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ

ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงสถานการณ์สัตว์ป่าปัจจุบัน ที่ผ่านมากรมอุทยานฯได้ให้ความช่วยเหลือสัตว์ป่าบาดเจ็บ การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคสัตว์ป่า และการแก้ปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ รวมถึง การรณรงค์ให้สัตว์ป่าได้อยู่ในธรรมชาติท่ามกลางระบบนิเวศที่เหมาะสมมีความสมดุล ไม่ซื้อ ไม่ค้า และไม่เลี้ยงสัตว์ป่าผิดกฎหมาย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 ธันวาคม 2566

คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน กำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคุมเข้มมาตรการควบคุมต้นตอแหล่งกำเนิดฝุ่นละออง PM 2.5 ปี 2567 อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะควบคุมการเผาในที่โล่งของจังหวัดในปริมณฑลต้องลงทะเบียนการเผาทุกครั้ง

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน ที่มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธาน ได้กำชับให้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมการขนส่งทางบก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร ปริมณฑลดำเนินการตามมาตรการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ปี 2567 เนื่องจากสถานการณ์ฝุ่นช่วงนี้มีค่าเพิ่มสูงขึ้นหลายพื้นที่ ด้วยการต้องควบคุมต้นตอที่ทำให้เกิดฝุ่นอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะต้องควบคุมไม่ให้มีการเผาในช่วง 2-3 เดือนนี้อย่างเข้มงวด เคร่งครัดจับปรับรถยนต์ควันดำ และเพิ่มความเข้มงวดกวดขันบังคับการใช้กฎหมายวินัยจราจร รวมทั้ง ให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศกรุงเทพมหานคร ที่มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯเพิ่มเติม หลังได้จัดตั้งศูนย์ฯแล้วในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และ 5 จังหวัดในปริมณฑล เพราะกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่สำคัญของประเทศที่ประสบวิกฤติฝุ่น PM 2.5 พร้อมเปลี่ยนการกำหนดให้ทุกหน่วยรายงานความก้าวหน้ามายังกระทรวงทรัพย์ฯ ให้ถี่ขึ้นจากเดิมทุก 15 วัน เป็นทุก 7 วัน เนื่องจากสภาพอุตุนิยมวิทยาเริ่มเข้าสู่ปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งและปริมาณฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐานหลายพื้นที่ โดยจะรุนแรงต่อเนื่องจนถึงช่วงต้นปี 2567 ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่ภาคกลางรอบกรุงเทพเทพมหานคร โดยเฉพาะปริมณฑลพบการเผาในที่โล่งและพื้นที่เกษตรกรรมมากขึ้น ซึ่งต้องวางระบบใหม่ให้เข้มงวดมากขึ้น เช่น ก่อนปรับหน้าดินต้องแจ้งหรือขออนุญาตอย่างถูกต้องก่อน // ต้องลงทะเบียนการเผาและการปลูกพืช 3 ชนิดทุกครั้ง คือ ข้าวโพด ข้าว และอ้อย ไม่เช่นนั้นจะได้รับโทษทางกฎหมาย เพราะจะไม่ได้รับการชดเชยความเสียอีกแล้ว สำหรับกระทรวงสาธารณสุขกำชับให้เชื่อมโยงศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PHEOC) กับศูนย์สื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และศูนย์ปฏิบัติการระดับจังหวัดฯ เพื่อบูรณาการและสื่อสารข้อมูลที่ครอบคลุมทุกมิติทั้งการแก้ปัญหาฝุ่นและด้านสุขภาพอนามัยของประชาชน

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบผลักดันให้จัดตั้งงบประมาณเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 แบ่งเป็น การขอรับการจัดสรรงบกลางเพื่อเป็นเงินสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นปี 2567 และการจัดตั้งงบประมาณโดยกำหนดเป็น “แผนงานยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5” ปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เพื่อเป็นเครื่องมือและกลไกบริหารจัดการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ของทุกหน่วยงาน จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีเป้าหมายร่วมกัน คือ ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 และจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) ต้องลดลง ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเพื่อมอบหมายให้สำนักงบประมาณเพิ่มเติมเรื่องแผนงานยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 ธันวาคม 2566

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรุงเทพมหานคร ร่วมกันหาแนวทางการแก้ปัญหาลิงแสมเพิ่มประชากรจำนวนมากจนสร้างความเดือนร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่เขตบางขุนเทียนในระยะเร่งด่วนและระยะยาว

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า จากการหารือแนวทางการแก้ปัญหาลิงแสมในพื้นที่เขตบางขุนเทียนของกรุงเทพมหานคร ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช หลังมีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากลิงแสมออกมาหากินและสร้างความเสียหายในชุมชน โดยเฉพาะบริเวณอนุสาวรีย์คุณกะลา ซอยเทียนทะเล 22 ตรงโครงการบ้านเอื้ออาทรแสมดำ ซอยแสมดำ 17 และบริเวณบางกระดี่ หมู่ที่ 8 ปัจจุบันมีประชาชนได้รับผลกระทบจากลิงแสมที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำนวนมาก เพราะลิงมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างมากในหลายพื้นที่ โดยที่ผ่านมากรมอุทยานฯและหน่วยงานในพื้นที่ร่วมกันแก้ปัญหามาต่อเนื่อง เช่น ในเขตบางขุนเทียน เคยเข้าไปดักจับและทำหมันลิงตั้งแต่ปี 2565 และมีแผนจะทำหมันลิงอีกครั้งปี 2567 เบื้องต้นอยากให้เป็นโครงการร่วมกันระหว่างกรมอุทยานฯและกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำหมันลิงให้กับสัตวแพทย์ของกรุงเทพมหานครให้สามารถดำเนินการได้เองในอนาคต ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาวอาจต้องมีการจัดทำ Zoning ที่ต้องปรับภูมิทัศน์ให้เหมาะสมเป็นที่อยู่อาศัยของลิง มีอาหารที่เพียงพอ และมีการบริหารจัดการดูแลพื้นที่ที่ดี เพื่อเป็นการจำกัดพื้นที่ของลิงที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่อไป ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของพื้นที่บางขุนเทียนในอนาคต

ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร อาจต้องลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อนและที่ต้องการอนุรักษ์ลิงไว้ในพื้นที่เพื่อความสมดุลของระบบนิเวศ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อแนวทางการแก้ปัญหาระยะยาว โดยกรมอุทยานฯพร้อมให้ความช่วยเหลือและเป็นที่ปรึกษา ส่วนระยะเร่งด่วนได้ให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯเร่งลงพื้นที่ร่วมกับกรุงเทพมหานครสำรวจสถานการณ์ในพื้นที่ที่มีปัญหาวิกฤติ เช่น บริเวณซอยเทียนทะเล 22 สำรวจพฤติกรรมของลิงและปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึง จำนวนประชากรลิงเหมาะสมที่จะอยู่อาศัยในพื้นที่ได้ แล้วนำมาวางแนวทางการแก้ปัญหาระยะเร่งด่วนต่อไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  20 ธันวาคม 2566

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุมเผยแพร่สรุปผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP 28) และการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้อง จัดโดย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เพื่อเปิดเวทีให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้แลกเปลี่ยนแนวคิดและทิศทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย โดยเฉพาะการวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและโอกาสของไทยจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ถือเป็นการใช้โอกาสนี้สื่อสารสาระสำคัญจากการเข้าร่วมประชุม COP 28 การวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แผนการดำเนินงานในการสร้างความเข้าใจให้กับทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ภาคประชาสังคม ประชาชน สื่อมวลชน และร่วมกันขับเคลื่อนประเทศให้เท่าทันโลกในการตั้งรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำได้จริงหากทุกคนร่วมมือกัน ซึ่งไทยให้ความสำคัญอย่างมากกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งด้านการลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบรรเทาความสูญเสียและความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ผู้นำหลายประเทศประกาศสนับสนุนทางการเงินกว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อรับมือ กลไกทางการเงิน การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่ไม่ใช่เพียงแต่รัฐภาคีเท่านั้น และให้ความสำคัญกับการจัดการที่คำนึงถึงธรรมชาติเชื่อมโยงกับชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายระยะยาวในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกตามเส้นทาง 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีส ที่จะกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของทุกภาคีและประเทศไทยด้วย

ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การประชุม COP 28 ที่ผ่านมามีหลายประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามและนำมาประกอบการดำเนินงานภายในประเทศ เช่น การทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) ที่มีการพิจารณาเป็นครั้งแรก // การจัดตั้งกรอบงาน UAE สำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการจัดทำเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ // การลดก๊าซเรือนกระจกที่ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่เป็นธรรม – Just Transition // การเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  19 ธันวาคม 2566

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้คาดการณ์จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 – 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้ตอนล่างถึงวันที่ 20 ธันวาคมนี้ จึงกำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด เพื่อแจ้งเตือนประชาชนอย่างทันท่วงทีและลดผลกระทบที่จะเกิดได้มากที่สุด

ขณะที่พื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกอยู่ช่วงการบริหารจัดการน้ำหน้าแล้ง จึงให้โครงการชลประทานและสำนักเครื่องจักรกลในพื้นที่เฝ้าระวังจุดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปาและเตรียมพร้อมเครื่องจักร – เครื่องมือ ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยได้ทันที รวมทั้งวางแผนบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ควบคู่กับประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและรณรงค์การเพาะปลูกพืชให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด เพื่อลดความเสี่ยงที่ผลผลิตจะเสียหายได้ สำหรับสถานการณ์น้ำปัจจุบัน ณ วันที่ 18 ธันวาคม พบอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 60,249 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักคือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 17,906 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยกรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำช่วงหน้าแล้งปี 2566/67 ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคเป็นหลัก รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรม และสำรองไว้ใช้ต้นฤดูฝนหน้า

เบื้องต้นจัดสรรน้ำช่วงหน้าแล้งทั้งประเทศ ไปแล้วกว่า 5,124 ล้านลูกบาศก์เมตรโดยลุ่มเจ้าพระยาใช้น้ำไปแล้วประมาณ 1,282 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันทั้งประเทศเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 2.41 ล้านไร่ ส่วนลุ่มเจ้าพระยาเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 1.78 ล้านไร่ ภาพรวมการบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผนที่วางไว้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  18 ธันวาคม 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพิ่มประสิทธิภาพการสูบผันน้ำลุ่มเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสัก จากคลองพระองค์ไชยานุชิต-อ่างเก็บน้ำบางพระ ผ่านโครงข่ายน้ำภาคตะวันออก สร้างความมั่นคงด้านน้ำให้กับพื้นที่ EEC

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า การสูบผันน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสักผ่านทางคลองพระองค์ไชยานุชิตไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี ใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออกปีนี้สามารถสูบผันน้ำเต็มศักยภาพได้ปริมาณมากกว่าทุกปีที่่ผ่านมา ภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมการลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออกและคณะกรรมการลุ่มน้ำบางปะกงให้ดำเนินการตามแผน โดยได้ลงพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องจนสามารถขยายระยะเวลาการสูบผันน้ำมาสิ้นสุดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา สำหรับปริมาณน้ำที่สูบผันน้ำจากคลองพระองค์ไชยานุชิตมากักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำบางพระปีนี้มีปริมาณทั้งหมด 64.69 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็น ช่วงแรก ตั้งแต่ที่ 8 กรกฎาคม – 30 พฤศจิกายน 58.25 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่เหลือเป็นปริมาณน้ำที่สูบผันน้ำในช่วงที่ขยายระยะเวลา ตั้งแต่วันที่ 1 - 15 ธันวาคม ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ CSR และประชาชนในพื้นที่คลองพระองค์ไชยานุชิตกำหนดสูบผันน้ำในอัตราประมาณ 500,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และจะหยุดสูบเมื่อระดับน้ำหน้าสถานีสูบพระองค์ฯมีค่าความเค็มไม่เกิน 0.5 กรัมต่อลิตร และการบริหารจัดการน้ำผ่านประตูระบายน้ำบึงฝรั่ง ไม่น้อยกว่า 10 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวขัองได้หารือร่วมกันขยายกรอบเวลาการสูบผันน้ำเพิ่มเติมหากมีปริมาณน้ำเพียงพอ และอยู่ในเงื่อนไขไม่กระทบต่อการใช้น้ำของเกษตรกรต้นทาง

เลขาธิการ สทนช. กล่าวด้วยว่า ยังมีการสูบผันน้ำแม่่น้ำบางปะกงมายังอ่างเก็บน้ำบางพระอีกด้วย โดยปีนี้สามารถสูบน้ำได้รวม 24.85 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อสูบผันน้ำมาเก็บไว้แล้วจะจัดสรรน้ำไปใช้ในกิจกรรมต่างๆ ควบคู่กับทำให้อ่างเก็บน้ำบางพระปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 88 ล้านลูกบาศก์เมตร หากรวมกับอ่างเก็บน้ำในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดชลบุรีและระยอง 11 แห่ง มีปริมาณน้ำรวม 632.54 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอกับความต้องการใ่ช้น้ำของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมช่วงหน้าแล้งปี 2566/67 และช่วงต้นฤดูฝนปี 2567 แน่นอน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 ธันวาคม 2566

นายชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานการประชุุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดลำปาง ปี พ.ศ. 2566-2567 โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน และบูรณาการทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) มักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนเป็นประจำทุกปี ภายใต้วิสัยทัศน์ "คนลำปางร่วมใจ สร้างฟ้าใส ไร้หมอกควัน" โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มวางมาตรการและเตรียมการป้องกัน เพื่อให้จังหวัดลำปางเกิดจุดความร้อน Hotspot น้อยที่สุด

จากผลการดำเนินงานในปี 2566 จังหวัดลำปาง มีจุดความร้อน (Hotspot) จำนวน 7,898 จุด อยู่ในลำดับที่ 6 เมื่อเทียบกับ 17 จังหวัดภาคเหนือ อำเภอที่มีจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ อำเภองาว 1,122 จุด อำเภอเถิน 1,116 จุด อำเภอแจ้ห่ม 889 จุด พื้นที่ที่มีความร้อนสูงสุด ได้แก่ป่าสงวนแห่งชาติ 3,575 จุด ป่าอนุรักษ์ 3,448 จุด เขต สปก.391 จุด และอำเภอที่มีจุดความร้อนต่ำสุด คืออำเภอเกาะคา 237 จุด

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบายเร่งแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เร่งแก้ปัญหาลดพื้นที่การเผาไหม้ซ้ำซากในพื้นที่ 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตร ตั้งเป้าลดพื้นที่ไฟไหม้ให้ได้ร้อยละ 50 จากปี 2566 รวมถึงการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ควบคุมฝุ่นในเขตเมือง การตรวจจับควันดำ โดยเน้นย้ำการบูรณาการกับทุกภาคส่วนในการรับมือสถานการณ์ฯ เพื่อมุ่งเป้าให้ประเทศไทยมีอากาศสะอาด ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.