• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  28 เมษายน 2567

ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/environment/1123677

ฟื้นฟูระบบ ‘สวนยกร่อง’ รับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากการขยายตัวของเมืองการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) รวมชนิดและสายพันธุ์ของผลไม้เมืองร้อน ต้นแบบการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ พืช และระบบเกษตรเชิงนิเวศ เพิ่มพื้นที่สีเขียว แหล่งรับน้ำและป้องกันน้ำท่วม

การฟื้นฟูระบบสวนยกร่องที่เริ่มหายไปจากปัจจุบัน เริ่มมีการสนับสนุนให้กลับมาทำมากขึ้น เพื่อเป็นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจากการขยายตัวของที่อยู่อาศัยและโรงงาน น้ำเสีย น้ำเค็ม น้ำท่วม การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) และมูลค่าของที่ดินที่สูงขึ้น และได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของระบบสวนยกร่องว่า มีคุณค่าที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น การรวบรวมชนิดและสายพันธุ์ของผลไม้เมืองร้อน เป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้ในการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ พืช และระบบเกษตรเชิงนิเวศ ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ซึ่งเป็นปอดของเมืองและดูดซับ PM 2.5 ได้ และเป็นแหล่งรับน้ำและป้องกันน้ำท่วม


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  27 เมษายน 2567

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/environment/1122950

ไมโครพลาสติก (Microplastics) คือ อนุภาคพลาสติกที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร มักเกิดจากการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกขนาดใหญ่ หรือเกิดจากพลาสติกที่มีการสร้างให้มีขนาดเล็ก เพื่อให้เหมาะกับวัตถุประสงค์การใช้งาน ส่วนใหญ่มีรูปร่างทรงกลม ทรงรี หรือบางครั้งมีรูปร่างไม่แน่นอน

กรมวิทยาศาสตร์บริการ อธิบายว่า ไมโครพลาสติก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ Primary microplastics เป็นพลาสติกที่ถูกผลิตให้มีขนาดเล็กมาตั้งแต่ต้น เพื่อการใช้ประโยชน์เฉพาะด้าน เช่น เม็ดพลาสติกที่นำมาใช้เป็นวัสดุตั้งต้นของการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติก และ Secondary microplastics เป็นพลาสติกที่เกิดจากพลาสติกที่มีขนาดใหญ่ หรือมาโครพลาสติก (Macroplastic) ซึ่งสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นเวลานานเกิดการย่อยสลายหรือแตกหัก โดยกระบวนการย่อยสลายพลาสติกขนาดใหญ่ให้กลายเป็นพลาสติกขนาดเล็ก

ปัจจุบันไมโครพลาสติก กลายเป็นปัญหามลพิษทางทะเลที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่งทั่วโลก เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก ทำให้ยากต่อการเก็บและการกำจัด รวมถึงมีคุณสมบัติที่คงสภาพ ย่อยสลายได้ยาก เมื่อมีการระบายน้ำที่ผ่านการบำบัดน้ำเสียลงสู่สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ไมโครพลาสติกสามารถปนเปื้อน แพร่กระจาย สะสม และตกค้างในสิ่งแวดล้อมได้ง่าย โดยการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมทางทะเลพบได้ทั้งในน้ำ และตะกอนดิน หากสิ่งมีชีวิตในทะเลกินเอาไมโครพลาสติกเข้าไป ทำให้เกิดการสะสมในห่วงโซ่อาหาร และสามารถถ่ายทอดไปตามลำดับขั้นของการบริโภคอาหารในระบบนิเวศ ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมีรายงานเกี่ยวกับผลกระทบต่อร่างกายในสัตว์ที่กินเม็ดไมโครพลาสติกเข้าไป เช่น การทำลายเนื้อเยื่อหลอดเลือด และมีผลกระทบต่อระบบหัวใจ


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  26 เมษายน 2567

ที่มา : Mcot.net Digital (https://www.mcot.net/view/1KFdfthm)

          24 เม.ย.67 – พบครั้งแรกในไทย กรมอุทยานแห่งชาติฯ เผยค้นพบผึ้งหลวงหิมาลัยเป็นครั้งเเรกในประเทศไทย (New record) บ่งชี้มีความสำคัญต่อภาพรวมของความหลากหลายทางชีวภาพ

ประเทศไทยมีข่าวดีอีกแล้ว เมื่อนายทรงเกียรติ ตาตะยานนท์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นประธานแถลงข่าวถึง “การค้นพบผึ้งหลวงหิมาลัยครั้งแรกในประเทศไทย” มาพร้อมกับทีมนักวิจัย นายอิสราพงษ์ วรผาบ นักกีฏวิทยาชำนาญการ (กรมอุทยานแห่งชาติฯ) นายนนธวัช ฉัตรธนบูรณ์ ดร.ชวธัช ธนูสิงห์ และ ผศ.ดร.ณัฐพจน์ วาฤทธิ์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ร่วมศึกษาผึ้งหลวงหิมาลัย ซึ่งที่ผ่านมาเคยพบเฉพาะในแนวเทือกเขาหิมาลัยของเนปาลและอินเดีย

นายทรงเกียรติ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ บอกว่า ผึ้งหลวงหิมาลัย หรือ ApislaboriosaSmith , 1871 ที่พบในครั้งนี้ อยู่ในบริเวณหน้าผาสูงของอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ พบเจอตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อยู่ในช่วงเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อให้ได้ข้อมูลที่แน่ชัดของตัวผึ้งหลวงหิมาลัย ซึ่งผึ้งหลวงหิมาลัยเป็นผึ้งหลวงอีกชนิดนอกเหนือจากผึ้งหลวงทั่วไป หรือ Apis dorsataFabricius, 1793 ที่เราสามารถพบเห็นได้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย โดยมีการสร้างรังที่ขนาดใหญ่เป็นคอนเดี่ยว ลักษณะที่แตกต่างที่สำคัญของผึ้งหลวงหิมาลัย ได้แก่ ปล้องท้องที่มักมีสีดำสนิท และขนรอบบริเวณปล้องอกที่มีสีเหลืองทอง ผึ้งหลวงหิมาลัยสามารถพบในบริเวณภูเขาสูงตั้งแต่ <1,000 -4,500+ เมตรจากระดับน้ำทะเลและในพื้นที่มีอากาศเย็น (< 25°C) และยังเป็นแมลงผสมเกสรที่สำคัญและจำเพาะต่อสังคมพืชในระบบนิเวศที่สูง  “นอกจากนี้เป็นที่ทราบกันดีในวงการผู้เลี้ยงผึ้งและศึกษาผึ้งทั่วโลกว่าน้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งหลวงหิมาลัยในประเทศอินเดียและเนปาล มีคุณสมบัติทางกายภาพและเคมีที่แตกต่างจากน้ำผึ้งจากผึ้งหลวงทั่วไปและผึ้งชนิดอื่น ๆ ในธรรมชาติ และเป็นที่ต้องการอย่างสูงในตลาด”  อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านี้จำเป็นที่ต้องได้รับการศึกษาเพิ่มจากผึ้งหลวงหิมาลัยที่พบในประเทศไทยต่อไป การค้นพบในครั้งนี้ เป็นตัวชี้วัดที่มีความสำคัญต่อภาพรวมของความหลากหลาย  ทางชีวภาพและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่สูงภายในประเทศไทย ที่กำลังถูกรุกรานจากการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของผึ้งชนิดต่าง ๆ และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ แต่ก็ยังสามารถพบผึ้งหลวงหิมาลัยในประเทศไทยได้ ทั้งนี้ ผึ้งหลวงหิมาลัยที่พบยังเป็นผึ้งให้น้ำหวานในสกุล Apis..ชนิดที่ 5 ของประเทศไทย จากเดิมที่มีรายงานอยู่เพียง 4 ชนิด คือ ผึ้งหลวง (Apis.dorsata).ผึ้งมิ้ม (Apis..florea).ผึ้งม้าน (Apis..andreniformis)..และผึ้งโพรง (Apiscerana) ซึ่งไม่รวมผึ้งพันธุ์ (Apismellifera) ที่เป็นผึ้งสายพันธุ์ต่างถิ่น


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  25 เมษายน 2567

ที่มา https://www.dailynews.co.th/news/3373133/

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมีนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข นายชื่นชอบคงอุดม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่กรรมการและเลขานุการ ซึ่งมีผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว โดยสาระสำคัญในที่ประชุมได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบการขอขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดชลบุรี พ.ศ. 2563 ออกไปอีก 2 ปีเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างการบังคับใช้ของกฎหมายและรับทราบความก้าวหน้าการยกระดับการปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ประจำปี 2567 ขณะเดียวกันได้มีการรายงานสถานการณ์มลพิษของประเทศไทยปี 2566 การดำเนินงานกรณีการขนย้ายและจัดการกากอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนแคดเมียม จากจังหวัดตาก

ทั้งนี้ พล.ต.อ.พัชรวาท ได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์สารเคมีในปัจจุบันว่า เนื่องจากมีเหตุของการเผาไหม้และทำลายสารเคมีเกิดขึ้นต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ สร้างความตื่นตระหนกและส่งผลกระทบต่อประชาชน ดังนั้นจึงขอให้ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม จัดการดูแลโรงงานที่เก็บกากของเสียอุตสาหกรรมและสารอันตรายต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย และขอให้ยกระดับมาตรการ การตรวจสอบสารเคมีของแต่ละโรงงานอย่างเข้มงวด ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ให้ติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียดและเร่งด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างเต็มที่

ประชุมได้ให้ความเห็นชอบให้มีการจัดตั้งอนุกรรมการประจำจังหวัด เพื่อร่วมตรวจสอบสารเคมี นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ๘ โครงการ โดยกำชับให้เจ้าของโครงการ ทั้ง 8 โครงการ ต้องดำเนินการตามมาตรการฯ ในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  24 เมษายน 2567

ที่มา: https://www.thansettakij.com/news/general-news/594128

กรุงเทพมหานคร เชิญชวนเหล่าพ่อบ้าน แม่บ้าน พ่อค้า แม่ขาย ร้านรวง Street Food ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมง่าย ๆ เพียงนำน้ำมันใช้แล้ว มาแลกน้ำมันขวดใหม่ฟรีในกิจกรรม “น้ำมันใช้แล้ว แลกน้ำมันใหม่” ทุกวันพุธ สิ้นเดือน บริเวณชั้น บี 1 ฝั่งอาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง ตั้งแต่เวลา 11.00-14.00 น.

น้ำมันจากการประกอบอาหารที่ใช้แล้ว ถือเป็นขยะอันตรายที่ไม่ควรทิ้งลงท่อระบายน้ำ การกำจัดน้ำมันเก่าโดยไม่ถูกวิธีจะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังก่อให้เกิดคราบน้ำมันในท่อ ส่งผลให้เกิดคราบไขมันเกาะตัวกันเป็นก้อนไขมันอุดตันท่อระบายน้ำ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมได้ ซึ่งการนำน้ำมันเก่าไปรีไซเคิลและนำมาผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF จากน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้ว (used cooking oil) ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบิน โดยมีส่วนร่วมได้ง่าย ๆ เพียงทำตาม เก็บน้ำมันที่ใช้แล้วให้เรียบร้อย และนำน้ำมันที่ใช้แล้วมาแลกน้ำมันขวดใหม่ทุกวันพุธ สิ้นเดือน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  23 เมษายน 2567

ที่มา : Today.line.me  (https://today.line.me/th/v2/article/j7mzNJg)

จากกรณีวันที่ 21 เมษายน 67 ผศ.ดร.ธรณ์ ธรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ขอต้อนรับเพื่อนธรณ์สู่ประสบการณ์โลกเดือด แม้เอลนิโญใกล้จบ แต่ความร้อนยังไม่จบ บวกกับโลกร้อนที่มนุษย์สร้างขึ้น นี่คือโลกเดือด!“ โดยผศ.ดร.ธรณ์ อธิบายว่า ปริมาณฝนสะสมในอีก 3 วันข้างหน้า ดำสนิทเกือบทั้งประเทศ หมายถึง แทบไม่มีฝนจริงจังเลย ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งฝนที่มาในช่วงนี้ก็ต้องระวัง ลมแรง ตกหนัก ฟ้าผ่า ไฟดับ น้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่เล็กๆ เป็นฝน โลกร้อน ทะเลร้อน น้ำระเหยเยอะ อากาศร้อน เมฆจุไอน้ำได้เยอะขึ้น สำหรับพื้นที่อื่น โลกจะเดือด ต่อไป ร้อน แล้ง แห้ง แถมบางพื้นที่อาจมีฝนซ้ำเติมคนที่ทำมาหากินแบบพึ่งพาธรรมชาติ ทำสวน ทำประมง เลี้ยงสัตว์บก/สัตว์น้ำ ต้องระวังให้หนัก เพราะฝนยังไม่มา อุณหภูมิยังไม่ลดทางแก้หรือครับ ? ยากมากๆ เพราะเราทำร้ายโลกมาถึงตอนนี้ นับร้อยปีที่ก๊าซเรือนกระจกสะสมบนฟ้า ทะเลช่วยดูดซับความร้อนไว้ แต่ตอนนี้ทะเลบอกไม่ไหวแล้ว มันจึงมาถึงจุดที่ต้องบอกว่า ต้องหาทางรอด ปรับตัวเท่าที่ทำได้โลกเดือดยังส่งผลต่อเศรษฐกิจรุนแรง มั่งความแปรปรวนของลมฟ้าท้องน้ำ เรื่อยไปจนถึงภัยพิบัติ ทั้งพูดทั้งเขียนเรื่องนี้มาหลายครั้งแล้ว หวังว่าเพื่อนธรณ์คงเข้าใจ


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  22 เมษายน 2567

ที่มา : https://www.nationtv.tv/gogreen/378942825

วันที่ 22 เมษายน ของทุกปี “วันคุ้มครองโลก” ได้รับการประกาศจาก โครงการสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ (United Nations Environment Program “UNEP”) ตั้งแต่พ.ศ. 2513 โดยทั่วโลกจะจัดกิจกรรมวันคุ้มครองโลกเป็นประจำทุกปี

ประเทศไทย ได้มีจัดกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเช่นกัน โดยเริ่มจากการรณรงค์วันคุ้มครองโลก ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยโรงเรียนสอนภาษาสมาคมนักเรียนเก่าสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ ปี พ.ศ. 2533 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในประเทศไทย อันเป็นผลจากการเสียชีวิตของสืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นักวิชาการ และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่ตัดสินใจปลิดชีพตัวเองในวันที่ 1 ก.ย.2533 ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประเทศไทยมีการตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

คณะอาจารย์และนักศึกษาจาก 16 สถาบัน ได้ร่วมกันจัดงานวันคุ้มครองโลกขึ้นจากนั้นเป็นต้นมาจึงได้มีการรณรงค์อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้คนและหน่วยงานต่าง ๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผลกระทบอันร้ายแรงจากการกระทำของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและโลกของเรา


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  21 เมษายน 2567

ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/environment/1122739

นางชัยลดา ตันติเวชกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC เปิดเผยว่า สหพัฒน์ รวมพลังความร่วมมือของภาคธุรกิจ ภาคสังคม และภาคชุมชน ได้แก่ วัดจากแดง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) (OSP) และ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) ร่วมเดินหน้าโครงการ “สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยยังคงมุ่งสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องการบริหารจัดการขยะ ดูแลสิ่งแวดล้อมของชุมชน ณ บริเวณคุ้งบางกะเจ้า

สำหรับปีนี้ แคมเปญได้เปิดรับประเภทขยะเพิ่มขึ้น ได้แก่ ถุงวิบวับ หรือซองบรรจุภัณฑ์เรียกว่า Multi – Layer Plastic เพิ่มเติม ซึ่งวัดสามารถนำมาผ่านกระบวนการแยกเป็นเชื้อเพลิง และอะลูมิเนียมเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด สหพัฒน์พร้อมร่วมมือกับทางโครงการเพิ่มคะแนนในส่วนของถุงวิบวับเข้ามา เพื่อให้คนในชุมชนได้แยกขยะเพิ่มขึ้น และได้แลกสินค้าของสหพัฒน์ที่จัดจำหน่ายไปใช้ ทางโครงการก็สามารถนำซองขยะประเภทนี้ได้มีทางไปต่อ และใช้เกิดประโยชน์สูงสุดจากขยะกำพร้า สู่ขยะล่องหน

นอกจากนี้ ยังมีการปรับสินค้าให้เหมาะสมกับความต้องการของชาวบ้านเพื่อช่วยลดค่าครองชีพ นับว่ามีผลตอบรับที่ดี ชุมชนมีจิตสำนึก และเริ่มทำเป็นนิสัย ได้เห็นพัฒนาการ และผลลัพธ์ทางสังคม และสิ่งแวดล้อมในคุ้งบางกะเจ้าทั้งด้านปริมาณขยะที่ชุมชนคัดแยก และส่งมายังวัดจากแดงเพิ่มขึ้นทุกปี สำหรับจำนวนขยะที่เข้ามาแลกสินค้าของสหพัฒน์เพิ่มมากขึ้น เป็นไปตามเป้าหมายของโครงการที่มุ่งสร้างความแข็งแรงให้กับชุมชน โดยสหพัฒน์มีการเดินสายเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการแยกขยะ และแยกถุงวิบวับโดยเฉพาะ เพื่อส่งมาที่วัดจากแดงก่อนเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลต่อไป ซึ่งในอนาคตทางสหพัฒน์มีแผนจะขยายโครงการออกไปเนื่องจากมองว่ามีประโยชน์ต่อคนในชุมชน ทำให้ชุมชนแข็งแรงมีจิตสำนึกที่ดีและเกิดความร่วมมือร่วมใจของคนในพื้นที่

สำหรับผลการดำเนินงาน “สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า” ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ส่งเสริมการบริหารจัดการขยะในคุ้งบางกะเจ้ารวม 378,759 กิโลกรัม ลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 341,559 kgCO2e เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 37,951 ต้น และในปี 2567 มีเป้าหมายว่าโครงการจะสามารถขับเคลื่อนให้ชุมชน หน่วยงาน ร้านค้า จัดการคัดแยกขยะได้ 500,000 กิโลกรัม เพิ่มขึ้นกว่า 40% จากปีก่อน


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.