• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

นับถอยหลังใช้กฎหมาย EPR รีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจไทยพร้อมแค่ไหน

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  31 กรกฎาคม 2567

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ (https://www.thansettakij.com/climatecenter/sustainability/602995)

เมื่อทุกองค์กรมีเป้าหมายการพัฒนาธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืน ที่ต้องขยายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และกฎเกณฑ์การค้าโลกที่เปลี่ยนไป ได้กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถมีขบวนการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้า

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ในผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยทำให้เป็นเครื่องมือประเทศในกลุ่มยุโรป นำมาเป็นกำแพงการกีดกันสินค้า หากปราศจากความรับผิดชอบของผู้ผลิต  ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกจึงไม่มสามารถหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว

ตามหลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) หรือหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ซึ่งสหภาพยุโรป เตรียมประกาศใช้กับประเทศศู่ค้าในปีนี้ ส่งผลให้ทั้งภาครัฐ เอกชน ไทยต้องเร่งเตรียมความพร้อมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกฎหมาย เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้  หนึ่งในนั้นคือ พ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน หรือ กฎหมาย EPR ซึ่งเตรียมนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปีนี้ และคาดว่าจะเริ่มประกาศใช้ในปี 2570

นายธงชัย ศิริธร รองประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  กล่าวว่า หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ EPR เป็นการขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดทั้งวงจรชีวิตของสินค้าและบรรจุภัณฑ์  ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงขั้นตอนการจัดการหลังการบริโภค ให้ถูกต้องตามหลักการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นกติกาใหม่ตามหลัก EPR บทบาทของผู้ผลิตจึงไม่ใช่แค่ผลิตสินค้าขายแล้วจบเท่านั้น แต่ยังต้องขยายความรับผิดชอบไปถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ การบำบัด เพื่อให้เกิดเป็นกระบวนการที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ความสำคัญที่ภาคเอกชนต้องเตรียมรับมือกับกฎหมาย EPR ที่เตรียมประกาศใช้ในปี 2570 โดย TIPMSE ในฐานะองค์กรหลักของภาคเอกชน ได้เดินหน้าขับเคลื่อนและพัฒนากลไก EPR..ร่วมกับเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ ในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านการพัฒนากฎหมาย และข้อเสนอมาตรการแรงจูงใจภาษี, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure),การส่งเสริมการออกแบบตามหลัก Eco-Design,การพัฒนาระบบข้อมูล (Data Management) , การสื่อสารสร้างความเข้าใจ และสร้างความร่วมมือ

นอกจากนี้  ยังได้เริ่มนำร่องโครงการ EPR ภาคสมัครใจ (Voluntary EPR) เพื่อให้เกิดการทดลอง และเก็บข้อมูลลดอุปสรรค  ในการดำเนินจริงในอนาคต  ผ่านโครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน ในปี 2564 ในพื้นที่ 3 เทศบาล จ.ชลบุรี ได้แก่ เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึง และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง และเตรียมขยายผลอีก 11 เทศบาลในปี 2567 เพื่อทดลองเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลัก EPR


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.