• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  15 ตุลาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 4 จังหวัด ขณะที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาคงการระบายน้ำอยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นวันที่ 2 อาจกระทบพื้นที่นอกคันกั้นน้ำริมแม่เจ้าพระยา

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ประเทศไทย ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้ต้องระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในช่วง 1 - 3 วันนี้ บริเวณภาคเหนือ ใน จ.อุตรดิตถ์ // ภาคใต้ ใน จ.นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และสตูล ขณะที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาวันนี้ (15 ต.ค.66) คงการระบายน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เป็นวันที่ 2 จึงต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหลายพื้นที่นอกคันกั้นน้ำริมแม่เจ้าพระยา วัดไชโย คลองโผงเผง จ.อ่างทอง , อ.พรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี และอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี , คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20–80 เซนติเมตร โดย สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันวางแผนบริหารจัดการน้ำและจัดการจราจรทางน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยใช้เครื่องมือต่างๆที่มีอยู่ในพื้นที่ตอนบนหน่วงน้ำไว้ แล้วค่อยๆปล่อยลงมาพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมตัดยอดน้ำโดยผันน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งบางระกำและบึงบอระเพ็ดให้ได้มากที่สุด จากนั้นจะผันปริมาณน้ำส่วนหนึ่งออกฝั่งตะวันออกผ่านคลองชัยนาท -ปาสัก และฝั่งตะวันตกผ่านคลองมะขามเฒ่า แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย เพื่อควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาตามแผนที่วางไว้

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้แจ้งเตือนการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาและระดับน้ำที่จะเพิ่มขึ้นให้กับประชาชนได้ขนของไว้ที่สูงให้ทันท่วงที และเตรียมพร้อมรถสูบน้ำเคลื่อนที่ตามจุดต่างๆ สำหรับช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ พร้อมนำกระสอบทรายมาป้องกันตามแนวคันคลอง เพื่อป้องกันน้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  14 ตุลาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำและจัดการจราจรทางน้ำ ขณะที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำอยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำหลากจากตอนบน อาจกระทบพื้นที่นอกคันกั้นน้ำริมแม่เจ้าพระยา

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทย ยังคงมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ ส่วนช่วงวันที่ 15 - 19 ตุลาคมจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้ต้องระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วง 1- 3 วันนี้ บริเวณ ภาคเหนือ ใน จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน และตาก // ภาคตะวันออก ใน จ.ตราด ภาคใต้ จ.พังงา ทั้งนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำและจัดการจราจรทางน้ำ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยใช้เครื่องมือต่างๆที่มีอยู่ในพื้นที่ตอนบนหน่วงน้ำไว้แล้วค่อยๆปล่อยลงมาพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมตัดยอดน้ำโดยผันน้ำเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งบางระกำและบึงบอระเพ็ดให้ได้มากที่สุด จากนั้นจะผันปริมาณน้ำส่วนหนึ่งออกฝั่งตะวันออกผ่านคลองชัยนาท - ป่าสัก และฝั่งตะวันตกผ่านคลองมะขามเฒ่า แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย เพื่อที่จะควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ซึ่งวันนี้ (14 ต.ค.66) ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาปรับเพิ่มการระบายน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแล้ว จึงต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะหลายพื้นที่นอกคันกั้นน้ำริมแม่เจ้าพระยาอาจได้รับผลกระทบ

ด้าน กรมชลประทาน เร่งระดมกำลังเจ้าหน้าที่ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัย โดยใช้เครื่องจักรกลประเภท เครื่องสูบน้ำขับด้วยระบบไฮดรอลิก ขนาดท่อ 42 นิ้ว 1 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำชลหารพิจิตร และตำบลคลองด่าน อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ ในพื้นที่รับผิดชอบของ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร สำนักงานชลประทานที่ 11 สามารถสูบน้ำได้ 277,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง พร้อมเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  13 ตุลาคม 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งแผนรับน้ำหลากจากตอนบนของประเทศลงลุ่มน้ำเจ้าพระยาและจัดจราจรทางน้ำ พร้อมตัดยอดน้ำเข้าทุ่งบางระกำและบึงบอระเพ็ดผันน้ำออกฝั่งตะวันออกและตะวันตก โดยประชาชนยินยอมให้ดึงน้ำเข้าทุ่ง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ประเทศไทยเข้าสู่ปลายฤดูฝนทำให้ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน ส่งผลให้พื้นที่ดังกล่าวมีฝนตกต่อเนื่อง ประกอบกับมีปริมาณน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน โดยเฉพาะจากแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านเริ่มไหลลงมาในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างจนเกิดน้ำท่วมบางพื้นที่ โดย สทนช. , กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันวางแผนบริหารจัดการและจัดการจราจรทางน้ำเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น โดยใช้เครื่องมือชลประทานที่มีอยู่ในพื้นที่ตอนบนหน่วงน้ำไว้แล้วค่อยๆปล่อยลงมาลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง พร้อมตัดยอดน้ำผันเข้าไปเก็บไว้ในทุ่งบางระกำและบึงบอระเพ็ดให้ได้มากที่สุด จากนั้นจะผันปริมาณน้ำส่วนหนึ่งออกฝั่งตะวันออกผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก และฝั่งตะวันตกผ่านคลองมะขามเฒ่า แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย เพื่อควบคุมการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาไม่ให้เกิน 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีตามแผนที่วางไว้ ขณะนี้ทุ่งบางระกำสามารถตัดยอดน้ำเข้าไปกักเก็บไว้เต็มทุ่งได้แล้วประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ จากการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่อาจจะเพิ่มปริมาณน้ำเข้าทุ่งบางระกำอีกประมาณ 10 - 20 เซนติเมตร ส่วนบึงบอระเพ็ดกักเก็บน้ำไว้ได้แล้วประมาณ 83 ล้านลูกบาศก์เมตร กำลังหาช่องทางนำน้ำเข้าไปกักเก็บเพิ่มขึ้นให้ได้มากที่สุดเต็มศักยภาพรวมกันได้ประมาณกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตร จะเป็นผลดีทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนรับมือเอลนีโญได้เพิ่มขึ้น

เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ย้ำว่า จากการสร้างการมีส่วนร่วมและสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง 10 ทุ่ง คือ ทุ่งผักไห่-ทุ่งป่าโมก , ทุ่งเจ้าเจ็ด , ทุ่งพระยาบันลือ-พระพิมล , ทุ่งบางบาล-บ้านแพน , ทุ่งโพธิ์พระยา , ทุ่งเชียงราก , ทุ่งท่าวุ้ง , ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก , ทุ่งบางกุ่ม และทุ่งบางกุ้ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเก็บเกี่ยวข้าวนาปีเรียบร้อยแล้ว และประชาชนให้สัญญาที่จะไม่ทำนาปีต่อเนื่อง และยินดีจะรับน้ำในระดับความสูงประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร แต่จะต้องไม่ให้ท่วมถนนที่สัญจรเข้า - ออกหมู่บ้าน โดยไม่เรียกร้องค่าชดเชยใดๆทั้งสิ้น คาดว่า จะสามารถรับน้ำได้รวมกันประมาณ 500 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเริ่มทยอยรับน้ำเข้าทุ่งดังกล่าวแล้ว สำหรับการรับน้ำเข้าไปกักเก็บไว้ในทุ่งจะช่วยตัดยอดน้ำ บรรเทาปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจและพื้นที่สำคัญ แล้วยังช่วยเติมสารอาหารสร้างความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ลดการใช้ปุ๋ยเคมี คุณภาพน้ำในพื้นที่นาดีขึ้น ช่วยตัดวงจรการระบาดของแมลงศัตรูข้าว ทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวในฤดูกาลถัดไปลดลง และยังสร้างอาชีพเสริมจากการทำประมงน้ำจืดด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  12 ตุลาคม 2566

กรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น56,338 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 74% ของความจุรวมกัน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น15,220 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 61% ของความจุ

โดยกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ร่องมรสุมเลื่อนพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบนทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่งในพื้นที่ภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดควบคู่ไปกับการจัดจราจรน้ำ และตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อน อาคาร อ่างเก็บน้ำ รวมทั้งเครื่องจักร เครื่องมือต่างๆพร้อมทั้งผสานกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  11 ตุลาคม 2566

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เฝ้าระวังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยเสี่ยงน้ำท่วม หลังพบใน 3 จังหวัดเกิดน้ำท่วมหลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง

นางกัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า เนื่องจากหลายพื้นที่เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องจนเกิดน้ำท่วมในสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 แห่ง คือ เทศบาลเมืองสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย // องค์การบริหารส่วนตำบลโนนศิลาเลิง จังหวัดกาฬสินธุ์ และองค์การบริหารส่วนตำบลดงละคร จังหวัดนครนายก โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ก่อสร้างคันดินเพื่อป้องกันน้ำและติดตั้งตาข่ายดักขยะมูลฝอยเพื่อป้องกันขยะมูลฝอยไหลออกนอกพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ภาพรวม ณ ปัจจุบันสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของจังหวัดสุโขทัย ระดับน้ำลดลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยได้ตามปกติ แต่ในส่วนสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของจังหวัดกาฬสินธุ์และนครนายกสถานการณ์น้ำท่วมยังทรงตัว จึงไม่สามารถดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่ได้ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 2 แห่งได้ประสานขนส่งขยะมูลฝอยไปกำจัดบริเวณสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยในพื้นที่ใกล้เคียง

รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ย้ำว่า สถานที่กำจัดขยะมูลฝอยของกาฬสินธุ์และนครนายก ควรบริหารจัดการขยะมูลฝอยตามนโยบายการรวมกลุ่มพื้นที่ของจังหวัด ควบคู่กับส่งเสริมให้ชุมชน ภาคเอกชน สถานศึกษา และศาสนสถาน ดำเนินการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง แล้วนำขยะมูลฝอยกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ถูกนำไปกำจัด ทั้งนี้ คพ. จะติดตามเฝ้าระวังสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการลดความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและบรรเทาผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  10 ตุลาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังปริมาณน้ำหลากจากตอนบนของประเทศ หลังเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำอยู่ที่ 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลอ่าวไทย

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทย ยังคงได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออก ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งและมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคเหนือ โดยคาดการณ์ช่วงวันที่ 11 –14 ตุลาคมประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้ต้องระวังพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากช่วง 1-3 วันนี้ ในภาคเหนือ บริเวณ จ.เชียงใหม่ ลำปาง น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ และเพชรบูรณ์ // ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณ จ.กาฬสินธุ์ ขอนแก่น หนองบัวลำภู และอุดรธานี // ภาคใต้ บริเวณ จ.นครศรีธรรมราช และยะลา ขณะที่วันนี้ (10 ต.ค.66) ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำหลากจากทางตอนบนของประเทศ พร้อมตัดยอดน้ำเข้าระบบคลองชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เนื่องจากยังมีฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ วัดไชโย คลองโผงเผง จ.อ่างทอง , อ.พรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี และอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี , คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20–80 เซนติเมตร ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ใช้ระบบชลประทานในลุ่มน้ำเจ้าพระยาเร่งระบายน้ำจากตอนบนลงสู่ทะเลอ่าวไทย เพื่อลดผลกระทบน้ำเอ่อล้นตลิ่งนอกคันกั้นน้ำและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังได้บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำป่าสัก ด้วยการผันน้ำบางส่วนออกทางคลองระพีพัฒน์ ผ่านประตูระบายน้ำพระนารายณ์ ลงสู่คลองระพีพัฒน์ คลอง 13 และคลองพระองค์ไชยานุชิต เพื่อเร่งสูบระบายลงอ่าวไทย พร้อมตัดยอดน้ำบางส่วนออกทางคลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองหกวาสายล่าง คลองบางขนาก คลองนครเนื่องเขต และคลองสำโรง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำแบบ Hydro Flow เพิ่มอีก 7 เครื่อง บริเวณประตูระบายน้ำปลายคลอง 20 ประตูระบายน้ำปลายคลอง 19 ประตูระบายน้ำบางขนาก และประตูระบายน้ำท่าถั่ว เพื่อเร่งสูบน้ำลงสู่แม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกง ซึ่งช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเขื่อนพระรามหก และลดผลกระทบพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณ อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง และ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา รวมทั้ง ลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา และพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 ตุลาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังการระบายน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาหลังใกล้แตะที่ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำหลากจากตอนบนของประเทศ หลังเกิดฝนตกหนักหลายพื้นที่

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทย ยังคงได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ โดยคาดการณ์ช่วงวันที่ 10 –14 ตุลาคมประเทศไทยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทำให้ต้องระวังน้ำหลากดินถล่มและน้ำล้นตลิ่งถึงวันที่ 15 ตุลาคมในพื้นที่ 27 จังหวัด พร้อมระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ บริเวณแม่น้ำมูล // แม่น้ำท่าจีน // แม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยาคาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำ หากปริมาณน้ำตอนบนของประเทศเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลให้เขื่อนเจ้าพระยาจะต้องเพิ่มการระบายน้ำในอัตรามากกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ วัดไชโย คลองโผงเผง จ.อ่างทอง , อ.พรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี และอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี , คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 20–80 เซนติเมตร

ปัจจุบัน ณ วันนี้ (9 ต.ค.66) ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ C.13 อ.สรรพยา จ.ชัยนาท อยู่ที่ 1,498 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เพื่อเร่งระบายน้ำหลากจากทางตอนบนของประเทศ โดยการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาใกล้แตะที่ 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแล้ว จึงต้องเฝ้าระวังปริมาณน้ำเป็นพิเศษ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 ตุลาคม 2566

กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบริมน้ำเจ้าพระยา หลังปริมาณน้ำตอนบนของประเทศยังสูง

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมรับน้ำหลาก ดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง หลังคาดการณ์จะเกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก จะส่งผลให้มีน้ำในลำน้ำเพิ่มมากขึ้นและมีน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมลำน้ำช่วงวันที่ 9 - 15 ตุลาคม โดยเฉพาะแม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำ ซึ่งเขื่อนเจ้าพระยาต้องการระบายน้ำในอัตรามากกว่า 1,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที เบื้องต้นกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้คาดการณ์ปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำท่า C.2 จ.นครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 1800 - 1900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังและลำน้ำสาขาที่จะไหลมาสมทบประมาณ 200 - 300 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้ปริมาณน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยามีปริมาณระหว่าง 2,000 - 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 350 - 400 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,500 - 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีก 20 - 80 เซนติเมตร บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชน หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ทำหนังสือแจ้งเตือน 11 จังหวัดในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา คือ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร พร้อมร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ช่วยกันประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.