• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  14 มิถุนายน 2567

ที่มา: https://www.thaipr.net/exhibition/3482440

บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) มุ่งมั่นพัฒนา ‘พื้นที่’ ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ด้วยวิสัยทัศน์ Imagining better futures for all ภายใต้บทบาท Place Maker เชื่อมโยงทั้ง Place-People-Planet เดินหน้าตามเป้าหมายองค์กร Net Zero 2050 จัดงานกรีนเอ็กซ์โป Better Futures Projects 2024 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ภายใต้คอนเซ็ปต์ ANSWER THE CALL นิทรรศการสาย ACTION ลงแรงทำเพื่อโลก ระหว่างวันที่ 17 – 23 มิถุนายน 2567 ที่ชั้น 1 โซน Dazzle และโซน Beacon 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ และตลาด Action Market @centralwOrld Offices พร้อมชวนลูกค้า พันธมิตร หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั่วประเทศ ลงมือทำเพื่อดูแลโลกร่วมกันครั้งยิ่งใหญ่

โดยภายในงาน อัดแน่น 4 ไฮไลต์กิจกรรมสายกรีน ให้ทุกคนร่วมสร้างประสบการณ์รักษ์โลก ดังนี้ 1.)  ท่อง ACTion Exibition เปิดนิทรรศการเพื่อโลก ชวนทุกคนมาออกไอเดีย Create a Better Now จะลงมือทำเพื่อดูแลโลกอย่างไร พร้อมเพลิดเพลินกับห้อง Save the Sea ACTperience powered by EPSON สัมผัสประสบการณ์การกู้โลกใต้ทะเล 2.) เทค ACTion พบกับ Chair to Share เก้าอี้นี้ มีไว้แชร์ โชวเคสจากแบรนด์ชั้นนำ ได้แก่ Levi’s®, Sabina, Casetify พร้อมเปิดให้ทุกคนมาร่วมแชร์เรื่องดี ๆ ทำเพื่อโลกอย่างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน 3.) โทร บอกโลก ที่ Answer the Call Phone Booth ชวนทุกคนมาบอกถึงสิ่งที่อยากบอก ไม่ว่าจะบอกถึงเด็กรุ่นใหม่ คนรุ่นใหญ่ หรือบอกหน่วยงานต่าง ๆ 4.) ทอล์ก รักษ์โลก พบกับเสวนา Central Pattana Green Partnership 2024 ครั้งแรกที่เซ็นทรัลพัฒนา ผนึกพลังพันธมิตรกว่า 200 ราย มาร่วมถกประเด็นฮอต โลกร้อน ชวนแบรนด์สายแอคชั่นลงแรงทำเพื่อโลก ในวันที่ 19 มิถุนายน 2567 เวลา 09.00 – 12.00 น. ณ ห้อง At Work ชั้น 3 centralwOrld Offices

นอกจากนี้ ยังมีโซนพื้นที่กิจกรรมจากแบรนด์ต่างๆ ครอบคลุมทั้ง shop-eat-work-play-stay-live พร้อมบูธกิจกรรมจาก SCG และ RECYCLE DAY จุดรับรีไซเคิลแลกแต้ม และให้ทุกคนได้ช้อปปิ้งพร้อมโชว์ใบเสร็จ เพื่อแลกรับคะแนน The1 จากร้านค้า Green Stores ที่ร่วมรายการ


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่่งแวดล้อม  13 มิถุนายน 2567

ที่มา : รัฐบาลไทย (https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/84381)

“พัชรวาท” ต้อนรับ รัฐมนตรีสิ่งแวดล้อมมาเลเซีย หารือความร่วมมือการดำเนินงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไทย – มาเลเซีย วันที่ 12 มิถุนายน 2567 เวลา 14.00 น. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) พร้อมด้วยนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้บริหารจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรธรณี กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ให้การต้อนรับ นายนิค นัซมี บิน นิค อะฮ์มัด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมประเทศมาเลเซีย และคณะ ในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ รมว.ทส. และร่วมหารือถึงความร่วมมือการดำเนินงานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศไทยกับ มาเลเซียณ ห้องประชุม ชั้น 20 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย พล.ต.อ.พัชรวาท ได้กล่าวต้อนรับถึงความสัมพันธ์ของประเทศไทยและมาเลเซีย ที่มีความผูกพันกันอย่างใกล้ชิดและยาวนาน โดยมีความร่วมมือด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ อาทิ การต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย การบริหารจัดการทรัพยากรธรณี การแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน ซึ่งกระทรวงฯ ได้เสนอร่างบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าและพืชป่าที่ผิดกฎหมาย ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แห่งราชอาณาจักรไทย และกรมสัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ คาบสมุทรมาเลเซีย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แห่งประเทศมาเลเซีย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย และในโอกาสนี้ ได้เชิญนายนิค นัซมี บิน นิค อะฮ์มัด เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการระดับรัฐมนตรีสิ่งแวดล้อม เรื่อง มลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 25 ที่ประเทศไทยจะเป็นประธานและเจ้าภาพ ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมอวานี พลัส ริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ และได้ขอให้มาเลเซียเร่งรัดพิจารณาร่างบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อจะลงนามร่วมกันได้ในระหว่างช่วงการประชุมดังกล่าวด้าน นายนิค นัซมี บิน นิค อะฮ์มัด ได้กล่าวแสดงความขอบคุณกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ให้การต้อนรับและร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล โดยมีความสนใจเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาระบบการรับรองคาร์บอนเครดิต ซึ่งมาเลเซียสนใจที่จะพัฒนาในประเทศของตน และเห็นว่าระบบให้การรับรองคาร์บอนเครดิตของไทย ได้แก่ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) มีพัฒนาการมากที่สุดในภูมิภาคนี้ และประสงค์จะมีความร่วมมือในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านนี้ต่อไป นอกจากนี้ ได้แจ้งถึงวาระการเป็นประธานอาเซียนของประเทศมาเลเซียในปี พ.ศ. 2568 โดยคาดหวังว่าจะได้ประสานงานและดำเนินความร่วมมือกับประเทศไทยและอาเซียนต่อไป ซึ่งกระทรวงฯ ยินดีให้การสนับสนุนมาเลเซียอย่างเต็มที่


สำนักข่าว เอ็นบีที คอนเนค  12 มิถุนายน 2567

ที่กรมควบคุมมลพิษ นางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และนายวิจารย์  สิมาฉายา ผู้อำนวยการมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ลงนามความร่วมมือการพัฒนาและส่งเสริมฉลากถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปและสิทธิภาพสูง เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคอย่างบ้านพักอาศัย หรืออาคารที่มีปริมาณน้ำเสียไม่เกิน 30 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน มีการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์บำบัดน้ำเสียแบบติดกับที่ ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมของประเทศไทยที่มีมาอย่างต่อเนื่องที่มีสาเหตุหลักมาจากการระบายน้ำเสียที่ไม่ผ่านการบำบัดหรือบำบัดน้ำเสียไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด โดยเฉพาะแหล่งกำเนิดประเภทชุมชนที่มีปริมาณน้ำเสียเกิดขึ้นราว 11 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน แต่ได้รับการบำบัดโดยระบบบำบัดน้ำเสียรวมเพียง 2.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวันเท่านั้น หากมีการผลักดันให้ฉลากถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปและสิทธิภาพสูง เป็นที่ยอมรับและนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ก็จะเป็นการส่งเสริมมาตรการการลดปริมาณและความสกปรกของน้ำเสียชุมชน ณ แหล่งกำเนิด นำไปสู่การลดผลกระทบต่อคุณภาพในแหล่งน้ำต่าง ๆ ของประเทศต่อไป

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า กรมควบคุมมลพิษ ได้ติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทั่วประเทศ พบว่าปัญหาน้ำเสียในชุมชน เป็นปัญหาหลักของคุณภาพน้ำในประเทศไทย การพัฒนาและส่งเสริมฉลากถังบำบัดน้ำเสียสำเร็จรูปและสิทธิภาพสูง จึงจะทำให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงการใช้ถังบำบัดน้ำเสียได้ง่าย ในราคาย่อมเยา และติดตั้งได้ทุกครัวเรือน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  11 มิถุนายน 2567

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/news/3517386/

ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 8 มิถุนายน เป็นวันทะเลโลก โดยในปีนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจัดกิจกรรมขึ้นโดยจะมีกิจกรรมหลักที่ Sea Life Bangkok Ocean World สยามพารากอน กรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด “Awaken New Depths ปลุกกระแส แก้วิกฤตมหาสมุทร” พร้อมเปิดตัวแอปพลิเคชั่นที่มีชื่อว่า “Marine Warning” ระบบเตือนภัยท่องเที่ยวทางทะเล ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นแจ้งเตือนภัยบริเวณที่อาจเกิดภัยพิบัติขึ้นได้ รวมถึงข้อปฏิบัติเมื่อเผชิญเหตุพร้อมวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อได้รับบาดเจ็บจากแมงกะพรุนพิษและภัยทางทะเลอื่น ๆ

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กับบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่นำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผ่านการทำงานของระบบเตือนภัยท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว รวมทั้งติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และรายงานสถานการณ์ด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล และเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจในการเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตามนโยบายของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ต้องการให้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มประสิทธิภาพในการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล โดยให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติสามารถเช็คข้อมูลสถานการณ์เพื่อวางแผนเส้นทางท่องเที่ยวทางทะเลให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

นายชาทิตย์ ห้วยหงษ์ทอง ประธานกรรมการบริหาร บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า เชฟรอนมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ให้การสนับสนุนกรม ทช. ในการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยท่องเที่ยวทางทะเล เพื่อให้ประชาชน และนักท่องเที่ยวได้เข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างทันท่วงที โดยได้ประสานความร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งได้ส่งทีมงานด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ ร่วมหาแนวทางในการพัฒนาระบบ ตอบโจทย์ด้านความปลอดภัย โดยแอปพลิเคชั่นนี้มีระบบแจ้งเตือนภัยทางทะเลในกรณีต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ข้อควรระวัง รวมถึงแนวทางรับมือและการปฐมพยาบาล ตลอดจนองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ทางทะเล ซึ่งการสนับสนุนในครั้งนี้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของเชฟรอน ในฐานะบริษัทพลังงานที่มุ่งให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอันดับหนึ่งต่อชุมชนและบุคลากร รวมถึงปกป้องสิ่งแวดล้อม


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  10 มิถุนายน 2567

ที่มา : Salika.com (https://www.salika.co/2024/06/09/reduce-foam-box-waste-to-construction-material/)

ต้องยอมรับว่าในยุคนี้มีการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการลดปริมาณขยะหลายประเภท ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความตระหนักร่วมกันในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้น ซึ่งกลไกของเทคโนโลยี นวัตกรรม และงานวิจัย นี่เองที่จะมีส่วนในการช่วยลดปริมาณขยะได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะขยะโฟมที่ย่อยสลายยาก ซึ่งวันนี้เป็นที่น่ายินดีว่าขยะประเภทนี้ได้ถูกนำไปเพิ่มมูลค่าเป็น วัสดุก่อสร้างมวลเบา หรือวัสดุก่อสร้างเชิงวิศวกรรม ตอบสนองความต้องการใช้งาน เปิดกว้างรูปแบบสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมก่อสร้างยุคใหม่ ด้วยกระบวนการผลิตไม่ซับซ้อน ต้นทุนต่ำ วัตถุดิบหาได้ในประเทศ สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อย่างยั่งยืน โดยผลงานวิจัยนี้เป็นของ นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ที่สามารถคิดค้นนวัตกรรมแปลงขยะโฟมขาวให้เป็นทุน ร่วมแก้โจทย์การลดปริมาณขยะพลาสติกที่ย่อยสลายช้าสร้างมลภาวะ ด้วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ขยะโฟมขาว PS สู่วัสดุก่อสร้างมวลเบา หรือวัสดุก่อสร้างเชิงวิศวกรรม ได้สำเร็จ

         รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ได้เป็นประธานในพิธีเปิดการแถลงข่าวผลงานวิจัยและนวัตกรรม “การเปลี่ยนขยะโฟมขาว PS..สู่ วัสดุก่อสร้างมวลเบา” ซึ่งเป็นผลงานของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย มีคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการออกแบบ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. โดยการแถลงข่าวนี้เป็นหนึ่งในกิจกรรมงานวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2567ที่จัดขึ้น ณ มทส. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัยได้อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานวิจัยและนวัตกรรม “การเปลี่ยนขยะโฟมขาว PS..สู่ วัสดุก่อสร้างมวลเบา” ว่า “จากสภาพปัญหาปัจจุบันของปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะขยะพลาสติก ขยะโฟมกล่องบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการย่อยสลาย หรือวิธีการกำจัดที่ต้องใช้มูลค่าสูง นวัตกรรมนี้ มุ่งไปที่ขยะโฟมขาวชนิดโฟม Polystyrene..(PS) ที่ถูกใช้เป็นวัสดุกันกระแทก และกล่องรักษาความเย็น ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง” “ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวคิดในการเปลี่ยนขยะโฟมขาว ให้เป็น วัสดุก่อสร้างมวลเบา ตามหลักการประยุกต์ใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์มวลเบา (Lightweight..Product..Design Applications)..โดยนำวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม หรือบรรจุภัณฑ์ที่ขึ้นรูปจากโฟมขาว ที่พบทั่วไป นำมาเพิ่มมูลค่า (Upcycling) ทำให้ได้ วัสดุมวลเบาเชิงวิศวกรรม (Lightweight Engineered) รูปแบบใหม่ ที่มีคุณสมบัติพิเศษเหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมการก่อสร้าง” “โดยนวัตกรรมนี้มีคุณสมบัติโดดเด่น คือ เป็นวัสดุมีน้ำหนักเบา สามารถปรับรูปแบบ ขนาด รูปร่าง ได้ตามความต้องการใช้งาน เช่น แผ่นตัวหนอนปูพื้นทางเดิน แผ่นปูผนังหินทรายประดิษฐ์สำหรับประดับตกแต่งอาคาร รวมถึงใช้เป็นวัสดุทดแทนกรวดทราย เพื่อใช้ในการหล่อผลิตภัณฑ์กระถางต้นไม้ที่มีน้ำหนักเบา เป็นต้น”


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  9 มิถุนายน 2567

ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/environment/1129856

ชาวยุโรปผลิตขยะสิ่งทอประมาณ 11 ล้านตัน เฉลี่ยแล้วชาวยุโรป 1 คน จะทิ้งขยะสิ่งทอประมาณ 11 กิโลกรัมต่อปี แต่มีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกนำกลับมารีไซเคิลหรือใช้ใหม่

เพื่อแก้ปัญหาขยะสิ่งทอ อียูกำหนดให้มีหนังสือเดินทางผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ระบุข้อมูลที่ชัดเจนสามารถย้อนกลับไปหาที่มาของแหล่งวัสดุได้ ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบต่อผลิตภัณฑ์ของตนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่เริ่มการผลิตจนการกำจัดขยะ

รัฐสภายุโรปกำหนดให้ประเทศในสหภาพยุโรปจะต้องแยกสิ่งทอแยกออกจากขยะชนิดอื่น ภายในวันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ เพื่อเตรียมการใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล

ปีเตอร์ ฮลาดิก รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อม เน้นย้ำถึงเป้าหมายของกฎหมายนี้ทำขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าขยะสิ่งทอจะได้รับการรีไซเคิล และนำกลับมาใช้มากขึ้น อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในการรีไซเคิล


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  8 มิถุนายน 2567

ที่มา: https://www.dailynews.co.th/news/3503910/

พระอธิการกัมปนาท สุเขธิโต เจ้าอาวาสวัดหมูสี ประธานกลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ กล่าวว่า กลุ่มเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์รอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ได้ร่วมกันจัดงาน “วันอนุรักษ์เขาใหญ่” เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ในวันที่ 8 มิถุนายน 2567 ณ บริเวณหน้าด่านประตูทางขึ้นอุทยานฯ เขาใหญ่ ประตูด่านศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา

นายวัชรากร นามสีฐาน นายกสมาคมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเขาใหญ่ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติในปัจจุบัน ของพื้นที่ปากช่อง เขาใหญ่ เทียบกับเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมานั้น ถือว่าผิดกันมาก จากสภาพอากาศทั่วไปในช่วงกลางวันเย็นสบายตลอดทั้งวัน แต่ในปัจจุบันสภาพอากาศร้อนขึ้น ซึ่งเกิดจากสภาพพื้นที่เปลี่ยนไป การขยายชุมชนออกไปรอบแนวเขาใหญ่ ทำให้พื้นที่ป่าลดลงเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อก่อน สัตว์ป่าแต่ละชนิดสามารถหาดูได้ยาก แต่ในปัจจุบัน สัตว์ป่าเริ่มออกมาหากินนอกเขตอุทยานฯ และไม่ยอมกลับเข้าพื้นที่ ทำให้พฤติกรรมสัตว์ป่าเปลี่ยนแปลงไป จึงอยากให้ทุกฝ่ายเห็นความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ผืนป่าและสัตว์ป่า ไว้ให้ลูกหลานได้ดูได้ศึกษาต่อไป จึงขอเชิญชวนผู้ที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์ เข้าร่วมงาน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  7 มิถุนายน 2567

ที่มา : Trueid (https://news.trueid.net/detail/Z7yeWK4Na6y7)

ปักกิ่ง, 6 มิ.ย. (ซินหัว) — แถลงการณ์จากกระทรวงนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของจีนเมื่อวันพุธ (5 มิ.ย.) ระบุว่าจีนมีการดำเนินงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมดีขึ้นในปี 2023 โดยคุณภาพของอากาศและน้ำพัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความเข้มข้นเฉลี่ยของฝุ่นพีเอ็ม 2.5 (PM2.5) ตามเมืองกลุ่มเฝ้าติดตามของกระทรวงฯ จำนวน 339 แห่ง อยู่ที่ 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในปี 2023 ลดลงจากเป้าหมายรายปีเกือบ 3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และลดลงร้อยละ 28.6 จากปี 2016ส่วนน้ำผิวดินร้อยละ 89.4 ของพื้นที่เฝ้าติดตามมีคุณภาพค่อนข้างดี จัดอยู่ที่หรือสูงกว่าระดับ 3 ในระบบคุณภาพน้ำ 5 ระดับ ซึ่งเพิ่มขึ้น 1.5 จุดเมื่อเทียบปีต่อปี ขณะสัดส่วนพื้นที่น้ำทะเลภายใต้เขตอำนาจของจีนที่มีคุณภาพดีที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 97.9 เพิ่มขึ้น 0.5 จุดเมื่อเทียบปีต่อปีอนึ่ง เมื่อวันพุธ (5 มิ.ย.) ตรงกับวันสิ่งแวดล้อมโลกขององค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งมุ่งกระตุ้นการตระหนักรู้และการลงมือปฏิบัติเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อมบนโลก โดยปีนี้มุ่งเน้นการฟื้นฟูที่ดิน การแปรสภาพเป็นทะเลทราย และการต้านทานภัยแล้งเมื่อวันจันทร์ (3 มิ.ย.) เจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของจีน ซึ่งร่วมกิจกรรมวันสิ่งแวดล้อมโลกที่จัดโดยสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติประจำจีน เผยว่าจีนได้ฟื้นฟูระบบนิเวศอันครอบคลุมภูเขา แม่น้ำ ป่าไม้ พื้นที่เพาะปลูก ทะเลสาบ ทุ่งหญ้า และทะเลทราย กว่า 100 ล้านหมู่ (ราว 42 ล้านไร่)


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.