• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  17 ธันวาคม 2566

นายชนาธิป เสมแย้ม รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานการประชุุมเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) จังหวัดลำปาง ปี พ.ศ. 2566-2567 โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดลำปาง เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน และบูรณาการทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) มักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนเป็นประจำทุกปี ภายใต้วิสัยทัศน์ "คนลำปางร่วมใจ สร้างฟ้าใส ไร้หมอกควัน" โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เริ่มวางมาตรการและเตรียมการป้องกัน เพื่อให้จังหวัดลำปางเกิดจุดความร้อน Hotspot น้อยที่สุด

จากผลการดำเนินงานในปี 2566 จังหวัดลำปาง มีจุดความร้อน (Hotspot) จำนวน 7,898 จุด อยู่ในลำดับที่ 6 เมื่อเทียบกับ 17 จังหวัดภาคเหนือ อำเภอที่มีจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ อำเภองาว 1,122 จุด อำเภอเถิน 1,116 จุด อำเภอแจ้ห่ม 889 จุด พื้นที่ที่มีความร้อนสูงสุด ได้แก่ป่าสงวนแห่งชาติ 3,575 จุด ป่าอนุรักษ์ 3,448 จุด เขต สปก.391 จุด และอำเภอที่มีจุดความร้อนต่ำสุด คืออำเภอเกาะคา 237 จุด

ทั้งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วย พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มอบนโยบายเร่งแก้ปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ เร่งแก้ปัญหาลดพื้นที่การเผาไหม้ซ้ำซากในพื้นที่ 10 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่เกษตร ตั้งเป้าลดพื้นที่ไฟไหม้ให้ได้ร้อยละ 50 จากปี 2566 รวมถึงการแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ควบคุมฝุ่นในเขตเมือง การตรวจจับควันดำ โดยเน้นย้ำการบูรณาการกับทุกภาคส่วนในการรับมือสถานการณ์ฯ เพื่อมุ่งเป้าให้ประเทศไทยมีอากาศสะอาด ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  16 ธันวาคม 2566

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดงานกิจกรรม "ห้องเรียนสู้ฝุ่น" สู่ "ฝุ่นศึกษา" พร้อมกล่าวว่า การแก้ปัญหาฝุ่นอย่างยั่งยืน คือต้องสร้างตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวให้เกิดขึ้น ซึ่งนโยบายสร้างเรียนปลอดฝุ่นถือว่าเป็นการปลูกฝังตั้งแต่ในระดับห้องเรียน ถึงแหล่งกำเนิด ผลกระทบ รวมไปถึงการป้องกัน และขยายผลสู่ชุมชน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องขับเคลื่อนจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน ซึ่งกิจกรรมในปีถือว่าเป็นปีที่ 2 ที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากโรงเรียนจากทั่วประเทศและภาคีเครือข่ายที่ให้การสนับสนุน

ด้านพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า สิ่งสำคัญของการแก้ไขปัญหาฝุ่น คือการแก้ไขที่ต้นตอ สำหรับกรุงเทพมหานครคือการจราจรขนส่ง คือสาเหตุหลัก ซึ่งที่ผ่านมามีการตรวจควันดำไอเสียรถยนต์อย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีบางส่วนที่เป็นรถยนต์ที่ปล่อยควันขาว แต่มี PM 2.5 เจือปนออกมาด้วย จากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูณณ์ของเครื่องยนต์ โดยในวันที่18 ธันวาคมนี้จะมีโครงการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง กรุงเทพมหานคร กระทรวงพลังงาน กระทรวทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการขอความร่วมมือผู้ประกอบการยานยนต์และบริษัทพลังงาน ในการจัดโปรโมชั่นเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง และไส้กรอง เพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่นจากการจราจรบนท้องถนน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  15 ธันวาคม 2566

กรมทรัพยากรธรณี ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากช่วง 2 –3 วันนี้ ในพื้นที่ภาคใต้ 6 จังหวัด หลังเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง

ศูนย์ปฏิบัติการธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี ได้ออกประกาศขอให้อาสาสมัครเครือข่ายกรมทรัพยากรธรณีและประชาชนทั่วไปเฝ้าระวังภัยดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากช่วง 2 - 3 วันนี้ ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำป่าไหลหลากและดินถล่มบริเวณอำเภอศรีบรรพต ตะโหมด ศรีนครินทร์ กงหรา ป่าบอน จังหวัดพัทลุง // อำเภอสะบ้าย้อย หาดใหญ่ รัตภูมิ จังหวัดสงขลา // อำเภอเบตง ธารโต บันนังสตา จังหวัดยะลา // อำเภอจะแนะ แว้ง ตากใบ สุไหงโก-ลก ศรีสาคร สุคิริน รือเสาะ ยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่องวัดปริมาณน้ำฝนในรอบ 24 ชั่วโมงได้มากกว่า 100 มิลลิเมตร ประกอบกับ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ทำให้มีฝนตกหนักสะสมอาจส่งผลให้เกิดแผ่นดินถล่มได้

ทั้งนี้ ขอให้อาสาสมัครเครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งธรณีพิบัติภัยของกรมทรัพยากรธรณี เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังภัยและวัดปริมาณน้ำฝนอย่างต่อเนื่อง หากเกิดเหตุให้แจ้งเตือนสถานการณ์ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลากให้ประชาชนในหมู่บ้านได้รับทราบ และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพร้อมปฏิบัติตามแผนเฝ้าระวังด้วย


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  14 ธันวาคม 2566

นางสาวตริตาภรณ์ สนใจ นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลวันนี้ (14 ธ.ค.66) ภาพรวมคุณภาพอากาศอยู่ในระดับดีมากถึงเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยค่าฝุ่นยังปรับตัวลดลงทุกพื้นที่ แต่พบบางพื้นที่ยังอยู่ในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ตำบลนครปฐม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแขม ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ ริมถนนลาดกระบัง เขตลาดกระบัง

โดยจำเป็นต้องเฝ้าระวังต่อเนื่องในช่วงนี้จนถึงวันที่ 19 ธันวาคมนี้ เพราะฝุ่น PM2.5 มีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้หากอากาศนิ่งและลมสงบ อาจส่งผลให้เกิดการสะสมของฝุ่นละอองขนาดเล็กในระดับใกล้ผิวพื้นในรูปแบบฝาชีครอบและถูกกดทับได้ ทั้งนี้ จำเป็นต้องควบคุมและลดการระบายฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดต่างๆ ต่อเนื่อง เพื่อลดปริมาณการปล่อยทั้งจากยานพาหนะ ด้วยการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล จึงขอให้ประชาชนหันมาใช้รถโดยสารสาธารณะให้มากขึ้นแทนรถยนต์ส่วนบุคคล เช่น รถไฟฟ้า และงดการเผาในที่โล่ง เพราะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นที่ส่งผลกระทบรุนแรง

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ โดยสามารถติดตามตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ได้ทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Air4thai และ AirBKK


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  13 ธันวาคม 2566

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการว่าจะทำอย่างไรต่อไป ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่เราก็ไม่ได้นอนใจ ซึ่งรัฐบาลก็เริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรณรงค์ห้ามเผาป่า รับทราบดีว่าช่วงเวลานี้ของทุกปีจะเป็นช่วงที่ค่าฝุ่น PM2.5 จะสูงขึ้น แต่เราก็พยายามจะบริหารจัดการต่อไป ไม่ได้นิ่งนอนใจ ส่วนหนึ่งปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นมาจากการเผา รวมถึงภาคกลางด้วยที่มีการเผาซากของพืชผลทางการเกษตร ซึ่งต้องให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปดูแลตรงนี้ด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้ประสานทางกองทัพให้เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องนี้ด้วย โดยภาคเหนือ ได้มีการพูดคุยกันแม่ทัพภาคที่ 3 และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ก็ช่วยดูแลเฝ้าระวังเรื่องการเผาป่า ซึ่งการสัมมนา "SUSTAINABILITY FORUM 2024” เรื่อง Clean Energy for Thailand Economy through Sustainability ในวันนี้ เชื่อว่าเป็นการสร้าง การรับรู้ให้ทุกคนทราบว่าปัญหานี้ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันรับผิดชอบในการที่จะทำให้ปัญหาฝุ่นลดลง ขณะเดียวกัน ประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเมียนมาและ สปป.ลาว ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะมีปัญหาฝุ่น PM2.5 ทุกปี และได้มีการพูดคุยกันจะต้องบริหารจัดการเรื่องการเผาซากผลผลิตทางการเกษตร เพราะมีภาคเอกชนของไทย ไปจ้างการปลูกพืชที่ สปป.ลาว ด้วย ซึ่งได้มีการพูดคุยว่า หากจะนำผลผลิตกลับเข้ามาขายในประเทศไทย จะต้องบริหารจัดการเรื่องการเผาให้ได้ ส่วนที่ประเทศเมียนมา ก็ต้องให้ทหารเข้าไปช่วยพูด เราไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามพูดคุยตลอดเวลา

นายกรัฐมนตรี ยังยกตัวอย่างมาตรการทางภาษีของผู้ประกอบการในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ว่า ภาคเอกชน ที่ไปจ้างปลูกข้าวโพดที่ฝั่ง สปป.ลาว แล้วจะนำกลับมาขายในประเทศไทย หากมีการตรวจสอบพบว่า มีการเผาซากผลผลิต เราก็จะชาร์จภาษีกับผู้ประกอบการ และจะนำเงินส่วนนี้มาช่วยในการแก้ไขปัญหาไฟป่า รวมถึงการบำบัดซากตอซังข้าว หรือข้าวโพด พัฒนาไปทำอย่างอื่นได้ เช่น ค่าขนส่ง เชื่อว่าผู้ประกอบการทุกคนจะเห็นด้วย เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ ที่พนักงานและลูกหลานของผู้ประกอบการก็ได้รับผลกระทบจากอากาศที่ไม่บริสุทธิ์


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  12 ธันวาคม 2566

นายนรินทร์ ประทวนชัย รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า เตรียมจัดงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ประจำปี 2566 ตรงกับวันที่ 26 ธันวาคมของทุกปี โดยปีนี้จัดงานวันที่ 23 ธันวาคม ภายใต้แนวคิดหลัก “Save wildlife for your life : รักษาธรรมชาติ ไม่ซื้อ ไม่ล่า ไม่ค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย” บริเวณศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 3 (ประทับช้าง) จังหวัดราชบุรี เพื่อให้ชุมชน เยาวชน และประชาชนเห็นความสำคัญของสถานการณ์สัตว์ป่า ทั้งการซื้อ การค้า การเลี้ยงสัตว์ป่าผิดกฎหมาย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือสัตว์บาดเจ็บ การเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรคสัตว์ป่าและการแก้ปัญหาสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของความสำคัญด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสัตว์ป่าอย่างยั่งยืนของประเทศ

ทั้งนี้ ช่วงปี 2565 - 2566 ที่ผ่านมา จากรายงานการกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับคดีสัตว์ป่าด้วยการลาดตระเวน การหาแหล่งข่าวจากสื่อออนไลน์และการแจ้งเรื่องร้องเรียนผ่านสายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 พบมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีสัตว์ป่า 523 คดี เพิ่มขึ้นจากช่วงปีก่อน 110 คดี ซึ่งบ่งชี้ถึงสถานการณ์สัตว์ป่าในปัจจุบันมีการค้าสัตว์ป่าเป็นภัยคุกคามระดับชาติที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน เพื่อยับยั้งอุปสงค์และอุปทานเกี่ยวกับการค้าสัตว์ป่าลงและยับยั้งกระบวนการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ก่อนจะกลายเป็นภัยคุกคามที่นำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์ป่าในอนาคต โดย พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำชับให้ป้องกันและแก้ปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำผิดด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มุ่งเน้นไปที่กลุ่มขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายภายในประเทศและบริเวณแนวชายแดน จุดผ่านแดนถาวร จุดผ่านแดนชั่วคราว จุดผ่อนปรนช่องทางธรรมชาติ ซึ่งอยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน เบื้องต้นกรมอุทยานฯได้กำหนดแนวทางการป้องกันการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายให้เข้มงวดรัดกุมมากขึ้น

สำหรับกิจกรรมภายในงานวันคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติฯ มีการจัดแสดงนิทรรศการด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าของกรมอุทยานฯและหน่วยงานภาคีเครือข่าย กิจกรรมเสวนา “การบูรณาการความร่วมมือการป้องกันการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายระหว่างประเทศ” การเปิดให้บริการขออนุญาตให้เพาะพันธุ์สัตว์ป่า ค้าสัตว์ป่าและครอบครองสัตว์ป่า กิจกรรมสันทนาการส่งเสริมด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่า การแสดงดนตรีเพื่อการอนุรักษ์


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  11 ธันวาคม 2566

นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธาณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีความรุนแรงเพิ่มขึ้น จากรายงานการติดตามตรวจสอบคุณภาพอากาศ กรมควบคุมมลพิษ ได้รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เมื่อเวลา 07.00 น. พบว่าเกินมาตรฐานอยู่ในระดับสีส้มและเกินค่ามาตรฐานหลายจังหวัด ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สุโขทัย และกรุงเทพมหานคร มีปริมาณค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐานส่วนใหญ่ทำให้เริ่มมีผลกระทบต่อ มีทั้งระยะสั้น อาทิ แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัด รวมถึงอาจมีอาการในระดับรุนแรงถึงขั้นแน่นหน้าอก ส่วนระยะยาว จะส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงได้มีศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข(EOC) ติดตามดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ ขอให้ประชาชนตรวจสอบคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน หากค่าฝุ่นละอองอยู่ในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ให้ลดหรืองดกิจกรรมกลางแจ้ง หรือสวมหน้ากากป้องกันฝุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบทางสุขภาพรุนแรงกว่าคนทั่วไป


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  10 ธันวาคม 2566

ประเทศไทย แสดงความก้าวหน้าการปรับตัวและมาตรการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้อย่างต่อเนื่องบนเวทีการประชุม COP 28 พร้อมผลักดันการปรับตัวในภาคเกษตรเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและรักษาความมั่นคงทางอาหาร

พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ได้เข้าร่วมการประชุม High-level Segment ภายในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP 28) ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พร้อมกล่าวถ้อยแถลงว่าประเทศไทยและคนไทยตื่นตัวเรื่องโลกร้อนมากขึ้น โดยยืนยันประเทศไทยได้ทำตามสิ่งที่ให้คำมั่นไว้อย่างแน่นอนและการเข้าร่วมประชุม COP 28 เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าการดำเนินงานในประเทศที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อยกระดับการดำเนินงานต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยได้ปรับปรุงแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนดในปี 2030 ครอบคลุมทุกภาคส่วนเศรษฐกิจ คาดว่า จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดภายในปี 2025 โดยจะต้องปรับเปลี่ยนระบบนิเวศเศรษฐกิจให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่คำนึงถึงประชาชนทุกภาคส่วน ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยได้เร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่มีกลไกการเงินเหมาะสมและเข้าถึงได้เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างเป็นระบบ ควบคู่กับจัดทำแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ เพื่อเป็นกรอบหลักสร้างภูมิคุ้มกันอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน และจะสนับสนุนเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวฯอีกด้วย และสุดท้าย ไทยกำลังผลักดันตัวอย่างของการปรับตัวในภาคเกษตร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกควบคู่กับการรักษาความมั่นคงทางอาหาร ผ่านโครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนภูมิอากาศสีเขียว

สำหรับประเด็นการการเจรจาสำคัญบนเวที Cop 28 ยังได้การจัดทำเป้าหมายระดับโลกด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป้าหมายด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งภาคีประเทศกำลังพัฒนายังคงเรียกร้องให้เร่งระดมเงินให้ได้ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2052 เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (NDC 2030) ให้บรรลุเป้าหมายตามที่แต่ละภาคีได้ให้คำมั่นไว้ การขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีส กองทุนสำหรับการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Loss & Damage Facility) เพื่อช่วยประเทศที่มีความเปราะบาง ลดการสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


  1. คพ. ติดตั้งเครื่องตรวจวัดระดับเสียงภายในพื้นที่จัดงานกาชาด 9 จุด ควบคุมการใช้เครื่องเสียงระหว่างการจัดงานไม่ให้เกิน 80 เดซิเบลเอ โดยปีนี้พัฒนานำแอพพลิเคชั่น Sound24Thai มาใช้
  2. สทนช. เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ต่อเนื่อง พร้อมระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากใน 10 จังหวัด
  3. ไทย จะนำเสนอความก้าวหน้าของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และแสดงบทบาทในเชิงบวกการให้ความร่วมมือกับประชาคมโลก บนเวทีการประชุม COP 28 ณ รัฐดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
  4. ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ใน กทม.และปริมณฑลปรับตัวสูงขึ้นทุกพื้นที่ โดยพบสูงในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 11 พื้นที่
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.