• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  22 พฤษภาคม 2567

ที่มา https://www.dailynews.co.th/news/3454514/

นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผวจ.เชียงใหม่ เป็นประธานเปิดกิจกรรม “จิตอาสาเราทำความดีด้วยหัวใจ” ทำแนวป้องกันไฟเปียก (Wet Fire Break) เพื่อป้องกันพื้นที่สำคัญและสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่า และกิจกรรมจิตอาสาสนับสนุนการสร้าง “ป่าเปียก” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร

โดยการดำเนินการสร้างป่าเปียกที่วัดพระธาตุดอยสะเก็ด ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2567 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งศูนย์ป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยเขต 10 ลำปาง ได้ดำเนินการสูบน้ำจากหนองบัวเจ้าหลวง ขึ้นมาบนวัดพระธาตุดอยสะเก็ดพระอารามหลวง เพื่อสร้างความชุ่มชื้นรอบพื้นที่กว่า 40 ไร่

กิจกรรมดังกล่าวมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยงานทุกพื้นที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องทั้งปี แม้ขณะนี้จะเป็นช่วงปลายฤดูฝุ่นควันแล้วก็ตาม โดยเชื่อมั่นว่าหากทุกพื้นที่ร่วมกันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตจะช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้ป่าได้เป็นอย่างดี ระบบนิเวศในป่าจะอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้ชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  21 พฤษภาคม 2567

ที่มา: https://www.naewna.com/local/805610

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนางสาววรนุช สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือ “งานเวียนเทียนด้วยต้นไม้ วันวิสาขบูชา 2567” และธรรมบรรยาย โดยพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ณ บริเวณองค์พระพุทธวิสุทธิมงคล ริมทะเลสาบ สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย

นายศานนท์ กล่าวว่า มี 2 ประเด็นหลักที่อยากให้เกิดความร่วมมือกัน เรื่องแรกคือกรุงเทพมหานครเป็นคนดูแลพื้นที่สาธารณะ ซึ่งเรามีสวนระดับเมืองประมาณ 50 แห่ง โดยกิจกรรมส่วนใหญ่จะเน้นการออกกําลังกาย แต่บางครั้งเราลืมเรื่องการออกกําลังใจ จึงจัดให้มีกิจกรรมเช่น ดนตรีในสวน และธรรมะในสวนที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย เรื่องที่สอง คือนโยบายโครงการต้นไม้ล้านต้น ซึ่งปัจจุบันเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเยอะมาก แต่ว่าระดับปัจเจกบุคคลหรือประชาชนยังน้อย ซึ่งกิจกรรมเวียนเทียนด้วยต้นไม้ ที่มูลนิธิปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ และภาคีเครือข่ายได้ส่งเสริม ลดมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ

ด้านนางสาววรนุช กล่าวเสริมว่า สำหรับนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น ล่าสุดมียอดปลูกแล้วกว่า 920,000 ต้น ซึ่งงานเวียนเทียนด้วยต้นไม้ในวันวิสาขบูชาปีนี้น่าจะช่วยเพิ่มจำนวนการปลูกมากขึ้น รวมทั้งยังสามารถสานต่อไปยังนโยบายสวน 15 นาทีอีกด้วย ซึ่งกรุงเทพมหานครทั้ง 50 เขต ได้ร่วมกับวัดในพื้นที่จัดกิจกรรม เปลี่ยนจากการใช้ธูปเทียนเปลี่ยนมาเวียนเทียนด้วยต้นไม้ โดยกรุงเทพมหานครได้สนับสนุนกล้าไม้และจัดเจ้าหน้าที่อํานวยความสะดวกแก่ประชาชนทุกท่าน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  20 พฤษภาคม 2567

ในยุคปัจจุบันที่ความยั่งยืน และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรศฐกิจและสังคม “ทักษะสีเขียว” มักนำมาใช้ในธุรกิจหรือองค์กร ที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการดำเนินงานที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ทักษะสีเขียว เป็นสิ่งจำเป็นไม่เพียงเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนในระยะยาวด้วย

รองศาสตราจารย์จตุรงค์ นภาธร คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศึกษาวิจัยพบว่าช่องว่างระหว่างระบบการศึกษาและพัฒนาทักษะในการปฏิบัติงานของประเทศไทยกับความต้องการของตัวองค์การหรือบริษัทในการปฏิบัติงานสีเขียวยังคงมีอยู่ กล่าวคือ ระบบการศึกษาและพัฒนาทักษะในประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตบุคลากรที่มีความรู้ ทักษะ และความสามารถในการปฏิบัติงานสีเขียวได้ทันที (industry-ready) ในจำนวนที่เพียงพอกับความต้องการขององค์การหรือบริษัทซึ่งก็อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้องค์การหรือบริษัทชั้นนำในประเทศไทยหลายแห่ง ที่หันมาใส่ใจกับการปฏิบัติงานสีเขียว/การรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นต้องลงทุนฝึกอบรมและพัฒนาพนักงานของตนเองให้มีความรู้และทักษะในการปฏิบัติงานสีเขียวตามที่ต้องการ ทั้งในรูปแบบของการฝึกอบรมในห้องเรียน การศึกษาดูงาน การฝึกอบรมในงาน (On-the-job training) การโค้ชขิ่ง การให้พนักงานที่มีประสบการณ์มากกว่าเป็นพี่เลี้ยงคอยสอนงานพนักงานใหม่หรือพนักงานที่มีประสบการณ์น้อยกว่า (Mentoring) การติดตามบุคคลต้นแบบ (Job Shadowing) และการประพฤติปฏิบัติตัวของผู้บริหารเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับพนักงาน (Role..Model)  การแก้ไขปัญหาด้านการพัฒนาทักษะสีเขียว ภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาล สถาบันอาชีวศึกษา มหาวิทยาลัย และองค์การหรือบริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องร่วมมือกัน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ  (https://www.bangkokbiznews.com/environment/1127477)


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  19 พฤษภาคม 2567

ที่มา: https://www.thairath.co.th/futureperfect/articles/2785890

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ มูลนิธิ SOS และหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดตัว “โครงการจัดตั้งธนาคารอาหารของประเทศไทย (Thailand’s Food Bank): การบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน คำตอบในการสร้างความมั่นคงทางอาหารและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม“

ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ “วิกฤติขยะอาหาร” ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหารของประชาชนกลุ่มเปราะบาง นอกเหนือจากการกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาขยะอาหารแล้ว การลดการสูญเสียอาหารตั้งแต่ต้นทางถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญในการลดวิกฤติปัญหาขยะอาหาร จากข้อมูลที่ได้มีการศึกษาพบว่า ประเทศไทยมีอาหารส่วนเกินมากถึงเกือบ 4 ล้านตันต่อปี ในขณะที่มีการรายงานตัวเลขของประชากรของประเทศที่มีรายได้น้อยและมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารอยู่ถึง 3.8 ล้านคน

การเปิดตัวธนาคารอาหารของประเทศไทยครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารส่วนเกิน การกอบกู้อาหาร และการส่งต่ออาหารส่วนเกินอันจะช่วยส่งเสริมให้ลดการเกิดขยะอาหาร และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศไปด้วยกัน และหวังเป็นต้นแบบของการสร้างแบบจำลองการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้สังคมไทย

คุณทวี อิ่มพูลทรัพย์ ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ SOS ประเทศไทย กล่าวว่า มูลนิธิ SOS ดำเนินงานอย่างมุ่งมั่นที่จะลดปัญหาขยะอาหารและส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร ด้วยการกอบกู้อาหารส่วนเกินจากผู้ผลิตอาหารในเครือข่ายของหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร้านสะดวกซื้อ โรงแรม และร้านอาหาร ซึ่งเป็นผู้บริจาคอาหาร และนำอาหารเหล่านี้ส่งต่อให้กับเครือข่ายผู้รับบริจาคอาหาร ทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ซึ่งกระบวนการกู้ภัยอาหารและการส่งต่ออาหาร ได้มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้แทนเอกชนผู้ผลิตอาหารในการร่วมกันดำเนินงานกู้ภัยอาหารจากบริจาคอาหาร ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการรับบริจาคอาหารที่ร่วมกับผู้นำชุมชน ปัจจุบันมูลนิธิได้ส่งต่ออาหารส่วนเกินไปแล้วกว่า 8.3 ล้านกิโลกรัม หรือคิดเป็น 35 ล้านมื้อ ให้แก่ชุมชนต่าง ๆ มากกว่า 3,600 แห่ง ซึ่งเท่ากับว่าเราได้ลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการนำอาหารไปฝังกลบถึง 21,166 ตัน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  18 พฤษภาคม 2567

ที่มา: https://japantoday.com/category/features/environment/school%27s-out-how-climate-change-threatens-education

ความร้อนแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้รัฐบาลเอเชียต้องปิดโรงเรียน ซึ่งความร้อนนั้นไม่ได้เป็นเพียงภัยคุกคามเพียงอย่างเดียว แต่บรรยากาศที่อุ่นขึ้นก็กักเก็บความชื้นได้มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดฝนตกหนัก น้ำท่วม ไฟป่า และมลภาวะทางอากาศ ซึ่งอาจทำให้โรงเรียนปิดได้เช่นกัน

Shumon Sengupta ผู้อำนวยการองค์กรพัฒนาเอกชน NGO Save the Children กล่าวว่า เดือนเมษายนถือเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกันที่บังกลาเทศประสบกับอุณหภูมิที่ร้อนจัด ซึ่งไม่เพียงแต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่ระยะเวลาของอุณหภูมิสูงยังยาวนานกว่าเดิมอีกด้วย ซึ่งโรงเรียนส่วนใหญ่ทั่วเอเชียไม่มีความพร้อมพอที่จะรับมือกับผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบดังกล่าวมีผลรายแรงกับชุมชนที่ยากจนกว่า เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถหาสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกสำหรับการเรียน และการปิดโรงเรียนทำให้นักเรียนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ เช่น คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต และหนังสือ

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคุกคามการศึกษาทางอ้อมอีกด้วย การวิจัยของ UNICEF ในเมียนมาร์พบว่า การขาดแคลนพืชผลที่เกิดจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและฝนที่ไม่อาจคาดเดาได้ทำให้ครอบครัวต่าง ๆ ต้องดึงเด็กออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยทำงานด้านการเกษตร ขณะที่ทางการออสเตรเลียได้ปิดโรงเรียนหลายครั้งเนื่องจากไฟป่า


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 17 พฤษภาคม 2567

ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์  (https://www.matichonweekly.com/column/article_767775)

หลายจังหวัดได้พายุฤดูร้อนพาน้ำฝนช่วยคลาย “ร้อนจัด” ลงมาให้เหลือแค่ “ร้อน” บ้าง (บางที่ก็เห็นใจบ้านเรือนเสียหายจากพายุ) และฤดูฝนกำลังมาช่วยคลายร้อนลงอีก แต่ก็ต้องเตรียมใจว่าอุณหภูมิความร้อนชื้นก็ยังอยู่ในไทยไปอีกหลายเดือนโลกที่เราอาศัยกำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ เพราะมนุษย์ผู้สร้างและผู้ทำให้เสื่อมในเวลาเดียวกัน หากเราไม่ย่อท้อต่อสู้กับภาวะโลกร้อนนี้ก็ยังมีหนทางอยู่เสมอ องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ให้ข้อมูลเรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพ คือปราการธรรมชาติที่ดีที่สุดของเราในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Biodiversity – our strongest natural defense against climate change) เนื้อหาส่วนหนึ่งกล่าวไว้น่าสนใจว่า กิจกรรมที่มนุษย์ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจกนั้น มีปริมาณครึ่งหนึ่งถูกดูดซับโดยพื้นดินและมหาสมุทร ซึ่งมาจากระบบนิเวศและเพราะความหลากหลายทางชีวภาพเป็นตัวช่วยเหมือนแหล่งกักเก็บคาร์บอนตามธรรมชาติ เท่ากับแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยอาศัยธรรมชาติมนุษย์จึงจำเป็นต้องรักษาปกป้อง การจัดการ และฟื้นฟูป่าไม้ไว้ให้มากที่สุด ที่น่าทึ่ง คือ พื้นที่พรุ (ป่าพรุ) และพื้นที่ชุ่มน้ำ แม้ว่าในโลกนี้จะมีพื้นที่เช่นนี้ไม่มากเพียง 3% ของพื้นที่โลก แต่มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอนไว้ถึง 2 เท่าของป่าทั้งหมด การอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าพรุ พื้นที่ชุ่มน้ำจะช่วยเก็บคาร์บอนไม่ให้ลอยออกไปสู่ชั้นบรรยากาศโลก พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย นักวิชาการแบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้ 1) พื้นที่ชุ่มน้ำทางทะเลและชายฝั่งทะเล (Marine and Coastal Wetlands) เช่น แนวปะการังชายฝั่ง หาดทราย แหล่งน้ำกร่อย หาดโคลน หาดเลน ป่าชายเลน ฯลฯ 2) พื้นที่ชุ่มน้ำภายในแผ่นดินใหญ่ (Inland Wetlands) เช่น ทะเลสาบ หนอง บึง ห้วย ป่าพรุ ฯลฯ 3) พื้นที่ชุ่มน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้น (Human-made Wetlands) เช่น อ่างเก็บน้ำ สระน้ำ บ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ พื้นที่เกษตรกรรมซึ่งมีน้ำท่วมขัง ฯลฯข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติยังบอกอีกว่า พื้นที่ชุ่มน้ำ เช่น ป่าชายเลนและหญ้าทะเลมีความสามารถในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนออกจากชั้นบรรยากาศได้ในอัตราที่สูงกว่าป่าบนบกถึง 4 เท่า แต่น่าห่วงใยมากในช่วงอากาศร้อนจัดที่ผ่านอุณหภูมิน้ำทะเลร้อนสุดสุด จนหญ้าทะเลในไทยตายไปจำนวนมากอย่างไรก็ตาม ป่าชายเลนและหญ้าทะเลที่ยังเหลืออยู่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการสู้กับสภาพภูมิอากาศแปรปรวนในวันวิสาขบูชาที่จะถึงนี้ นอกจากมีความสำคัญทางพระพุทธศาสนาแล้ว ยังนับเป็น “วันต้นไม้แห่งชาติ” ด้วย ถ้าปีนี้เราช่วยกันคิกออฟ มาช่วยกันอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปลูกเพิ่มพืชพันธุ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งทางบกและในน้ำ จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการดูดซับก๊าซคาร์บอนและลดความรุนแรงของความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ มูลนิธิสุขภาพไทยเคยจัดทำข้อมูลสมุนไพรในพระไตรปิฎก โดยสำรวจและวิเคราะห์ต้นไม้หรือสมุนไพรที่กล่าวไว้ ในพระไตรปิฎกของไทย 45 เล่ม นับพืชได้ 321 ชนิด ต่อมาได้มีการทบทวนพบว่ามีการเรียกชื่อต่างกันแต่เป็นพืชชนิดเดียวกัน เช่น บัว จึงนับจำนวนใหม่ได้ 311 ชนิด ในขณะที่เอกสารอินเดียในตำรายาอายุรเวทที่เกี่ยวพันกับพืชในพระไตรปิฎกนับได้ถึง 435 รายการ แม้จำนวนนับไม่เท่ากันซึ่งอาจมาจากการแปลและระบุชื่อพืชต่างกันก็ไม่ใช่สาระสำคัญ เพียงให้ช่วยปลูกสมุนไพรในวัดกันมากๆ น่าจะดีตัวอย่างแนะนำให้ปลูกเริ่มจากอักษร ก. ต้นกรรณิการ์ (Nyctanthes arbor-tristis L.) และนอกจากกระบากแล้ว ชวนปลูกสมุนไพรที่กล่าวถึงทุกชนิดที่ออกผลแล้วนำไปถวายพระพุทธเจ้า พืชเหล่านี้ใช้ประโยชน์ทั้งอาหารและยาสมุนไพรลองนึกเล่นๆ (ทำจริงๆ) ข้อมูลเข้าถึงทางเว็บไซต์ (วันที่ 7 พฤษภาคม 2567) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (http://binfo.onab.go.th/Temple/Dashboard.aspx)..วัดที่มีพระสงฆ์ทั่วประเทศ จำนวน 43,848 วัดหากตั้งเป้าหมายว่าทุกวัดควรมีพื้นที่สีเขียวหรือปลูกต้นไม้ ปลูกสมุนไพรให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่วัด เช่น วัดมีขนาด 10 ไร่ ก็ต้องมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อย 3 ไร่ มากกว่านี้ยิ่งดี และเน้นความหลากหลายทางชีวภาพด้วยสมุนไพรในพระไตรปิฎกมี 300 กว่าชนิด ปลูกให้ได้อย่างน้อย 150 ชนิดยิ่งดีวัดใดมีพื้นที่ชุ่มน้ำธรรมชาติ หนอง บึง ห้วย หรือพื้นที่ชุ่มน้ำสร้างเอง อ่างเก็บน้ำ สระน้ำ บ่อน้ำ ก็ให้พืชขึ้นตามธรรมชาติ อาจดูรกๆ แต่คือเครื่องดูดก๊าซคาร์บอนช่วยลดโลกร้อนที่ดีวิสาขบูชาปีนี้ เวียนเทียนด้วยต้นไม้ ถวายสมุนไพรให้เต็มวัด และจะเป็นเด็กวัดอาสาช่วยลงแรงปลูกรดน้ำให้ต้นไม้งอกงามให้ความร่มเย็นทางใจและลดโลกร้อนก็อนุโมทนาสาธุ


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  16 พฤษภาคม 2567

ที่มา https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_8231886#google_vignette

หลังจากริเริ่มโครงการมาตั้งแต่ปี 2566 ในปีนี้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ นำร่องร่วมมือ กับ “โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้า นครราชสีมา” โรงงานผลิตอาหารสัตว์บกโคกกรวด โรงงานผลิตอาหารสัตว์บก ธารเกษม โครงการรักษ์นิเวศ และกรมป่าไม้ จัดค่ายอนุรักษ์สภาพแวดล้อม “ปันรู้ ปลูกรักษ์” ณ โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จังหวัดลพบุรี โดยมี อาจารย์นัทภา วรรณประพันธ์ ผู้อำนวยการและคณะครูนำนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 สมาชิกชมรมอนุรักษ์สภาพแวดล้อม และนักเรียนที่สนใจด้านสิ่งแวดล้อมกว่า 40 คน

โครงการเขาพระยาเดินธงเป็นพื้นที่ต้นแบบด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า โดยซีพีเอฟ ร่วมกับกรมป่าไม้ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน จัดการเรียนรู้แบบ Play+Learn เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน บูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ STEM ประกอบด้วย ฐานเส้นทางของนักอนุรักษ์ การทำฝายชะลอน้ำเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้ผืนป่า ฐานเรียนรู้ชนิดเมล็ดพันธุ์ไม้ การเพาะชำกล้าไม้ การวัดกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ การเรียนรู้ความหลากหลายของผีเสื้อ แมลง และการเดินชมนก

นอกจากนี้ น้องๆ ยังได้ร่วมกิจกรรมภาพในฝันของนักอนุรักษ์ ระดมความคิดกันที่แหล่งอาหารสัตว์ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ หรือบึงนกกระจาบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอดูนก และแหล่งน้ำที่สำคัญในโครงการ พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การฟื้นฟูป่าเขาพระยาเดินธงจากป่าเสื่อมโทรมสู่สภาพปัจจุบันร่วมกับนายถนอมพงศ์ สังข์ธูป ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการปลูกป่า สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 (สระบุรี)


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  15 พฤษภาคม 2567

ที่มา: https://www.theguardian.com/environment/article/2024/may/08/venezuela-loses-its-last-glacier-as-it-shrinks-down-to-an-ice-field

เวเนซุเอลาได้สูญเสียธารน้ำแข็งแห่งสุดท้าย หลังจากที่ละลายไปมากเนื่องจากสภาพอากาศในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าเวเนซุเอลาเป็นประเทศแรกที่สูญเสียธารน้ำแข็งทั้งหมดในยุคปัจจุบัน โดยประเทศนี้มีธารน้ำแข็ง 6 แห่งในเทือกเขา Sierra Nevada de Mérida ซึ่งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 5,000 เมตร โดยธารน้ำแข็ง 5 แห่งได้หายไปภายในปี 2554 เหลือเพียงธารน้ำแข็ง Humboldt หรือที่รู้จักกันในชื่อ La Corona

นักวิทยาศาสตร์ได้คาดคะเนว่า ธารน้ำแข็ง Humboldt จะคงอยู่ต่อไปอีกอย่างน้อยหนึ่งทศวรรษ แต่ขณะนี้ จากการประเมินพบว่าธารน้ำแข็งละลายเร็วกว่าที่คาดไว้มาก และหดตัวลงเหลือพื้นที่น้อยกว่า 2 เฮกตาร์ เป็นผลทำให้การจำแนกประเภทถูกลดระดับจากธารน้ำแข็งเป็นทุ่งน้ำแข็ง

Maximiliano Herrera นักอุตุนิยมวิทยาและนักประวัติศาสตร์ด้านสภาพภูมิอากาศระบุว่า อินโดนีเซีย เม็กซิโก และสโลวีเนียเป็นประเทศถัดไปที่จะสูญเสียธารน้ำแข็ง โดยหมู่เกาะปาปัวและเม็กซิโกกำลังเผชิญกับอุณหภูมิที่สูงขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะเร่งการละลายของธารน้ำแข็ง ผู้เชี่ยวชาญยังคาดการณ์ด้วยว่า ปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศเอลนีโญจะทำให้อุณหภูมิอุ่นขึ้น ส่งผลให้เกิดการสูญเสียธารน้ำแข็งเขตร้อนมากขึ้น

Caroline Clason นักธรณีวิทยาและผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัย Durham กล่าวว่า การสูญเสีย La Corona ไม่ได้เป็นการสูญเสียน้ำแข็งเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการสูญเสียระบบนิเวศ ตั้งแต่แหล่งที่อยู่อาศัยของจุลินทรีย์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นการสูญเสียแหล่งน้ำ ไปจนถึงสภาพแวดล้อมที่มีคุณค่าทางวัฒนธรรมที่สำคัญ


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.