สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 30 สิงหาคม 2567
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ (https://www.prachachat.net/economy/news-1640751)
วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ระดมสมองผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ –.ผู้เชี่ยวชาญ เกาะติดน้ำท่วม ปี 67 เปิด 4 ปัจจัยหลัก “น้ำเหนือไหลหลาก พายุเข้าและฝนตกหนักท้ายเขื่อน บวกน้ำทะเลหนุน” หากป้องกันไม่ดีอาจทำน้ำท่วมภาคกลางและกรุงเทพฯ เหมือนปี 54
วันที่ 28 สิงหาคม 2567 ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวภายในงานเสวนา “เกาะติดสถานการณ์ วิกฤติน้ำท่วม โอกาสและทางออก” ที่จัดโดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่า โอกาสที่น้ำจะท่วมภาคกลางและกรุงเทพฯ เหมือน ปี 2554 หรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่สำคัญ คือ
1. มวลน้ำจากภาคเหนือไหลลงมาซึ่งภาคเหนือมีเขื่อนเก็บกักน้ำอยู่ยกเว้นแม่น้ำยมหากฝนตกลงมามากและ มวลน้ำมีมากไหลผ่านสถานีวัดน้ำ C.13 ที่จังหวัดชัยนาทหากระบายน้ำออกจากเขื่อนเจ้าพระยาเฉลี่ย 2800 ถึง 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีจะทำให้จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา มีน้ำท่วมมากขึ้นและหากมีการตรวจวัดที่สถานีสูบน้ำ C.29 ที่สถานีหน้าศูนย์ศิลปาชีพบางไทรเกิน 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีจะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยาช่วงจังหวัดปทุมธานี นนทบุรีถึงกรุงเทพฯมีระดับสูงขึ้นเกิน 1 เมตรจากปกติ ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งได้
2. ในช่วงเดือนกันยายนจนถึงเดือนตุลาคมของทุกปีจะมีพายุเข้ามาอย่างน้อย 1-2 ลูกหรืออาจจจะมากกว่าซึ่งหากฝนตกท้ายเชื่อนสิริกิติ์และภูมิพลมาก และตกแบบ ฝนตกหนักเฉพาะจุดอย่างต่อเนื่อง (Rain Bomb) เป็นเวลานานมีโอกาสทำให้น้ำไหลเข้าท่วมมากขึ้น
3. ในช่วงเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่มีน้ำทะเลหนุน หากการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาลงสู่คลองต่างๆและอ่าวไทยไม่ได้มากจะทำให้น้ำท่วมนานขึ้น
4. การบริหารจัดการน้ำ การเตรียมตัวของเมืองในการขุดลอกคูคลอง การกั้นตลิ่งการระบายน้ำลงทะเลและการพร่องน้ำจากเขื่อนก่อนซึ่งจะต้องทำแต่เนิ่นๆ…ก่อนน้ำเหนือหลากลงมาดังนั้นปัจจัยที่สำคัญ ที่น้ำจะท่วมถึงจังหวัดปทุมธานี นนทบุรีและกรุงเทพฯในเดือนกันยายนและตุลาคม ก็คือน้ำเหนือไหลหลาก ประกอบกับพายุเข้าและฝนตกหนักท้ายเขื่อน รวมถึงน้ำทะเลหนุน และการจัดการป้องกันน้ำท่วมไม่ดีไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอก็อาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องระวังสถานการณ์สภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าเดือนตุลาคม – กันยายน จะมีพายุเข้ามาจำนวน 2 ลูก ขณะที่ยังมีฝนตกหนักบริเวณภาคเหนือ น้ำยังเอ่อล้นและยังไม่สามารถระบายได้ทันท่วงที หากในช่วงเดือนตุลาคม – กันยายน ร่องความกดอากาศต่ำเลื่อนลงมาบริเวณตรงกลางประกอบกับเกิดฝนตกหนักอาจจะส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมหนักได้“ณ เวลานี้ น้ำไม่ท่วมกรุงเทพแน่นอน เพราะเมื่อเทียบกับ ปี54 ที่มีพายุเข้า 5 ลูก แต่ในปีนี้ยังไม่มีพายุเข้า ขณะที่ภาพรวมปริมาณน้ำฝน ปี54 พื้นที่ 4 เขื่อนหลักยังสามารถรองรับน้ำได้ 4,647 ล้านลบ.เมตร แต่ ปีนี้ เขื่อนหลักสามารถรองรับน้ำได้ถึง 12,071 ล้าน ลบ.ม.” ดร.สนธิกล่าว