สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 28 สิงหาคม 2567
ที่มา: https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_9382715
กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้การจัดงานเปิดตัวคู่มือกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ: Active Learning on Biodiversity and Climate change เป็นคู่มือครู เรียนรู้ Climate Change ไปพร้อมกับเด็ก ๆ ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้สิ่งแวดล้อมชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ เน้นลงมือปฏิบัติจริง เพื่อเตรียมความพร้อมในการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมในอนาคต โดยมี ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดี สส. เป็นประธานเปิดงาน
ดร.พิรุณ กล่าวว่า บทบาทภารกิจของกรม คือการขับเคลื่อนประเทศตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ทั้ง Mitigation และ Adaptation ในมิติต่าง ๆ ที่ครอบคลุมในทุกระดับตั้งแต่ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม การเกษตร และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานตาม Article 6 หรือ มาตรา 6 ภายใต้ UNFCCC โดยมีสาระสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมการศึกษา การฝึกอบรม และการรณรงค์ให้ประชาชนเกิดความตระหนักเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญและจำเป็นในการสร้างความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ Climate Change ได้แก่ เด็กและเยาวชนในทุกระดับ โดยกรมได้ให้ความสำคัญและทำงานในภาคการศึกษามาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการ Eco – School โครงการ Zero Waste School เพื่อสนับสนุนหน่วยงานหลักอย่างกระทรวงศึกษาธิการ ในการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรทางการศึกษา ให้นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ หรือ Climate Literacy จึงได้ร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมกันจัดทำสื่อการสอน คู่มือกิจกรรมสิ่งแวดล้อมศึกษา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ: Active Learning on Biodiversity and Climate change เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ครูผู้สอนเรื่อง Climate Change สามารถนำไปประยุกต์หรือบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนได้
นางเซเวอรีน เลโอนาร์ดี รองผู้อำนวยการองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ได้รับมอบอำนาจให้คุ้มครองสิทธิของเด็ก รวมถึงสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม ได้เล็งเห็นว่า พื้นฐานที่สำคัญในการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เด็ก เยาวชนเรื่อง Climate Change เริ่มจากการศึกษา และพื้นฐานความเข้าใจถึงผลกระทบ แนวทางการรับมือ รวมถึงวิธีการสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อลดผลกระทบ และในฐานะภาคีหลักในการร่วมจัดทำคู่มือในครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการขับเคลื่อนเรื่อง Climate Education สำหรับประเทศไทย และยังคงมีแผนการทำงานร่วมกันต่อไปในอนาคตอีกด้วย