สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1 กันยายน 2567
ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/environment/1142389
กรมส่งเสริมการเกษตร และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ได้วางเป้าหมายร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย
กรมส่งเสริมการเกษตรได้วางแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยวิธีการเกษตรกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู (Climate Smart and Regenerative Agriculture) ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีหมุนเวียนและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนต่าง ๆ เช่น ต้นทุนเอกชน ที่เกิดขึ้นกับผู้ผลิตจากการใช้ปัจจัยการผลิตต่างๆ ในการผลิต และต้นทุนสังคม ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับสังคมจากการผลิตสินค้านั้น ๆ เช่นการปล่อยควันพิษ การปล่อยน้ำเสีย เป็นต้น
ตลอดจนการสร้างและพัฒนาระบบอาหารให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพและโภชนาการของมนุษย์ ลดการทำลายและลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) เป็นการเติบโตที่ก่อให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน และสร้างโอกาสอย่างเสมอภาคกันระหว่างคนทุกกลุ่มในสังคมที่ดีขึ้น การสร้างผลประโยชน์ร่วมกันจะรับประกันให้เกิดการกระจายตัวของผลประโยชน์จากการเติบโต และการสร้างโอกาสอย่างเสมอภาค สร้างรายได้สุทธิที่พอเพียงกับรายจ่ายครัวเรือนตลอดทั้งปี และมีสัดส่วนการออมการลงทุนที่สร้างความมั่นคงด้านการเงินครัวเรือน ซึ่งจะทำให้สามารถยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศได้