• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  3 สิงหาคม 2567

ที่มา : SDG MOVE (https://www.sdgmove.com/2024/07/31/unesco-11-new-biosphere-reserves/)

          ยูเนสโก (UNESCO) อนุมัติการจัดตั้ง พื้นที่สงวนชีวมณฑล (biosphere reserve) 11 แห่ง ใน 11 ประเทศ ล่าสุด ได้แก่ เบลเยียม แกมเบีย โคลอมเบีย สาธารณรัฐโดมินิกัน อิตาลี มองโกเลีย เนเธอร์แลนด์ ฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลี สโลวีเนีย และสเปน ครอบคลุมพื้นที่กว้างรวม 37,400 ตารางกิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับขนาดประเทศเนเธอร์แลนด์​ ทำให้ปัจจุบัน มีพื้นที่สงวนชีวมณฑล รวมทั้งหมด 759 แห่ง ใน 136 ประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและมรดกทางวัฒนธรรม

เขตพื้นที่สงวนชีวมณฑลเป็นพื้นที่ธรรมชาติและวัฒนธรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก ภายใต้โครงการ Man and the Biosphere Program (MAB) เป็นเหมือนห้องปฏิบัติการธรรมชาติที่เราได้เรียนรู้และนำไปสู่การพัฒนาที่สมดุลระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ ครอบคลุมระบบนิเวศทั้งบนบกในน้ำ และชายฝั่งทะเล มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ คือ การอนุรักษ์ –..ปกป้องระบบนิเวศและภูมิทัศน์ รวมถึงความหลากหลายทางพันธุกรรม การพัฒนา –..ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม และ สนับสนุนการเรียนรู้ –..ส่งเสริมการศึกษาและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการวิจัยและการติดตามตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม พื้นที่สงวนชีวมณฑลใหม่ทั้ง 11 แห่งนี้ ที่ได้รับการอนุมัติเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.พื้นที่สงวนชีวมณฑลข้ามพรมแดนเค็มเพน-โบร๊ก (Kempen-Broek)

2.พื้นที่สงวนชีวมณฑลดาริเอ็น นอร์เต โชโคอาโน (Darién Norte Chocoano)

3.พื้นที่สงวนชีวมณฑลมาเดร เด ลัส อากัวส (Madre de las Aguas)

4.พื้นที่สงวนชีวมณฑลนิอูมิ (Niumi)

5.พื้นที่สงวนชีวมณฑลคอลลี ยูแกนี (Colli Euganei)

6.พื้นที่สงวนชีวมณฑลข้ามพรมแดนจูเลียน แอลป์ (Julian Alps)

7.พื้นที่สงวนชีวมณฑลคาร์ อูส เลค (Khar Us Lake)

8.พื้นที่สงวนชีวมณฑลยาปายอส (yApayaos)

9.พื้นที่สงวนชีวมณฑลชางเนียง (Changnyeong)

10.พื้นที่สงวนชีวมณฑลวัล ดาแรน (Val d’Aran)

11.พื้นที่สงวนชีวมณฑลอิราติ (Irati)


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  2 สิงหาคม 2567

ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/environment/1138084

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมีขยะ “ถุงพลาสติก” ตามชายหาดในสหราชอาณาจักรลดลงถึง 80% แต่นักรณรงค์ยังคงเรียกร้องให้มีการดำเนินการจัดการกับขยะที่ส่งผลกระทบต่อทะเลและชายฝั่งเพิ่มมากขึ้น

ตามข้อมูลจากโครงการทำความสะอาดชายหาดของสมาคมอนุรักษ์ทางทะเล (MCS) องค์กรการกุศลในสหราชอาณาจักรที่ทำงานร่วมกับธุรกิจ รัฐบาล และชุมชนในการทำความสะอาดและปกป้องมหาสมุทร พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วในระยะ 100 เมตรจะพบถุงพลาสติกเพียง 1 ใบ ซึ่งลดลง 80% เมื่อเทียบกับ ปี 2014 ที่พบถุงพลาสติก 5 ใบในระยะ 100 เมตร

MCS หวังว่าจะเห็นปริมาณขยะพลาสติกประเภทอื่น ๆ เช่น ช้อนส้อมพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ถ้วยโพลีสไตรีนก้านลูกโป่ง และภาชนะบรรจุอาหาร บนชายหาดลดลงเหมือนกับถุงพลาสติก เนื่องจากอังกฤษ เวลส์ และสกอตแลนด์เพิ่งประกาศแบนในช่วงสองปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ MCSยังเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มประเภทบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ใน “ระบบมัดจำคืนเงินบรรจุภัณฑ์” (Deposit Return Scheme) หรือ DRS ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

สำหรับ DRS เป็นโครงการเก็บค่ามัดจำสำหรับสินค้าขวดพลาสติก ขวดกระป๋อง โดยจะได้เงินคืนเมื่อผู้บริโภคนำบรรจุภัณฑ์มาคืนยังร้านค้าหรือตู้บริการที่กำหนด จะสร้างแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรีไซเคิลของผู้บริโภค โดยตามแผนเดิมจะเริ่มใช้ในปี 2027


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  1 สิงหาคม 2567

ที่มา: https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000065474

นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 35 ร่วมกับผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมี นายปวิช เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงฯ และกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมฯ

ที่ประชุมฯ ครั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียน ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของภูมิภาคอย่างบูรณาการ พร้อมทั้งได้ร่วมกันรับรอง (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับแถลงต่อที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) ณ สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน รับรอง (ร่าง) แถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับแถลงต่อที่ประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16 (CBD COP16) ณ สาธารณรัฐโคลอมเบีย และรับรองอุทยานมรดกอาเซียนแห่งใหม่ (New ASEAN Heritage Parks Nominations) จำนวน 4 แห่ง ได้แก่

1. Phou Xieng Thong

2. Twin Lakes Natural Park

3. Turtle Islands Wildlife Sanctuary

4. Apo Reef Natural Park


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  31 กรกฎาคม 2567

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ (https://www.thansettakij.com/climatecenter/sustainability/602995)

เมื่อทุกองค์กรมีเป้าหมายการพัฒนาธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืน ที่ต้องขยายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และกฎเกณฑ์การค้าโลกที่เปลี่ยนไป ได้กำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถมีขบวนการตรวจสอบย้อนกลับของสินค้า

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค ในผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยทำให้เป็นเครื่องมือประเทศในกลุ่มยุโรป นำมาเป็นกำแพงการกีดกันสินค้า หากปราศจากความรับผิดชอบของผู้ผลิต  ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกจึงไม่มสามารถหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้ว

ตามหลักการ EPR (Extended Producer Responsibility) หรือหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต ซึ่งสหภาพยุโรป เตรียมประกาศใช้กับประเทศศู่ค้าในปีนี้ ส่งผลให้ทั้งภาครัฐ เอกชน ไทยต้องเร่งเตรียมความพร้อมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและกฎหมาย เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้  หนึ่งในนั้นคือ พ.ร.บ.การจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืน หรือ กฎหมาย EPR ซึ่งเตรียมนำเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในปีนี้ และคาดว่าจะเริ่มประกาศใช้ในปี 2570

นายธงชัย ศิริธร รองประธานสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  กล่าวว่า หลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต หรือ EPR เป็นการขยายความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิต ครอบคลุมตลอดทั้งวงจรชีวิตของสินค้าและบรรจุภัณฑ์  ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต ไปจนถึงขั้นตอนการจัดการหลังการบริโภค ให้ถูกต้องตามหลักการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นกติกาใหม่ตามหลัก EPR บทบาทของผู้ผลิตจึงไม่ใช่แค่ผลิตสินค้าขายแล้วจบเท่านั้น แต่ยังต้องขยายความรับผิดชอบไปถึงการจัดการบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการรับคืน การเก็บรวบรวม การใช้ซ้ำ การนำกลับมาใช้ใหม่ การบำบัด เพื่อให้เกิดเป็นกระบวนการที่ยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ความสำคัญที่ภาคเอกชนต้องเตรียมรับมือกับกฎหมาย EPR ที่เตรียมประกาศใช้ในปี 2570 โดย TIPMSE ในฐานะองค์กรหลักของภาคเอกชน ได้เดินหน้าขับเคลื่อนและพัฒนากลไก EPR..ร่วมกับเครือข่ายภาคส่วนต่าง ๆ ในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านการพัฒนากฎหมาย และข้อเสนอมาตรการแรงจูงใจภาษี, การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure),การส่งเสริมการออกแบบตามหลัก Eco-Design,การพัฒนาระบบข้อมูล (Data Management) , การสื่อสารสร้างความเข้าใจ และสร้างความร่วมมือ

นอกจากนี้  ยังได้เริ่มนำร่องโครงการ EPR ภาคสมัครใจ (Voluntary EPR) เพื่อให้เกิดการทดลอง และเก็บข้อมูลลดอุปสรรค  ในการดำเนินจริงในอนาคต  ผ่านโครงการ PackBack เก็บกลับบรรจุภัณฑ์เพื่อวันที่ยั่งยืน ในปี 2564 ในพื้นที่ 3 เทศบาล จ.ชลบุรี ได้แก่ เทศบาลเมืองแสนสุข เทศบาลเมืองบ้านบึง และเทศบาลตำบลเกาะสีชัง และเตรียมขยายผลอีก 11 เทศบาลในปี 2567 เพื่อทดลองเก็บกลับบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยหลัก EPR


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  30 กรกฎาคม 2567

ที่มา https://www.tnnthailand.com/news/tech/171844/

นักวิจัยจากสถาบันวิจัยในอิตาลี พัฒนาหุ่นยนต์สี่ขาที่ได้รับการฝึกฝนให้ค้นหาและกำจัดขยะ โดยใช้สายเครื่องดูดฝุ่นที่ติดตั้งบริเวณข้อเท้า ดูดเอาขยะไปเก็บไว้ในเครื่องดูดฝุ่นที่สะพายหลัง หวังใช้เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยดูแลรักษาความสะอาดของพื้นที่แถบชายทะเล รวมถึงพื้นที่สาธารณะอื่น ๆ

เป้าหมายหุ่นยนต์ตัวนี้ คือ การเก็บขยะที่เป็นก้นบุหรี่ ซึ่งเป็นขยะรูปแบบหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุดตามพื้นถนนและชายหาด ด้วยการใช้กล้องตรวจจับภาพ ร่วมกับโครงข่ายประสาทเทียม ทำให้มันสามารถตรวจจับก้นบุหรี่บนพื้น และวางแผนเส้นทางให้เดินผ่านจุดที่ต้องการ จากนั้นสั่งเปิดสวิตช์สุญญากาศเพื่อดูดมันขึ้นมา และเดินต่อไปโดยไม่หยุด

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาตัวหัวดูดให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถดูดเก็บกลับมาแค่ขยะเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่นักวิจัยอาจจะต้องหาวิธีการพัฒนาต่อไป เพื่อให้แนวคิดนี้สามารถใช้งานได้จริง


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  29 กรกฎาคม 2567

ที่มา: https://www.thairath.co.th/lifestyle/2783275

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษ ในงานการสัมมนาวิชาการ ทศวรรษที่ก้าวผ่าน ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในหัวข้อ “ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน: ตัวเร่งปฏิกิริยาเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำในประเทศไทย” โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรธรรมาภิบาลฯ เข้าร่วม

นายกฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษตอนหนึ่งว่า ปัญหาโลกร้อน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ มลพิษสิ่งแวดล้อมข้ามแดน และปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ล้วนเป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญ ซึ่งปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้มักถูกหยิบยกขึ้นมาหารือในทุกเวทีระดับโลก ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบจาก Climate Change ซึ่งวิสัยทัศน์ Ignite Thailand ของรัฐบาลจะเป็นเป้าหมายที่สำคัญในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืน โดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน (Public-Private-People Partnership หรือ PPPP) รัฐบาลมีความมุ่งมั่นเพื่อตั้งรับต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงต่อสภาพอากาศที่รุนแรงนี้ ความร่วมมือ PPPP จะเป็นกรอบความร่วมมือที่รวบรวมความแข็งแกร่งของแต่ละภาคส่วน การเสริมสร้างขีดความสามารถ เพื่อบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่เพียงการพัฒนาทักษะ ประสบการณ์ และความรู้ในระดับบุคคลเท่านั้น แต่ครอบคลุมถึงการกำหนดโครงสร้างภายในนโยบาย และขั้นตอนการดำเนินงานในระดับองค์กร ซึ่งจะครอบคลุม 4 มิติหลักเพื่อเพิ่ม GDP ให้กับประเทศ ดังต่อไปนี้

1. มิติที่ 1 การพัฒนาอุตสาหกรรมตามวิสัยทัศน์ Ignite Thailand มุ่งไปสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมต่าง ๆ ของภูมิภาค

2. มิติที่ 2 การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy transition) การเปลี่ยนโครงสร้างพลังงานมาใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานสะอาดมากยิ่งขึ้น

3. มิติที่ 3 การจัดการความเสี่ยงจากสาธารณภัย (Disaster and risk management)

4. มิติที่ 4 การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่ห่วงโซ่สีเขียว (SMEs and green supply chain)


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  28 กรกฎาคม 2567

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ (https://www.prachachat.net/sd-plus/sdplus-sustainability/news-1613486)

ดัชนีสมรรถนะด้านสิ่งแวดล้อม หรือบางท่านเรียกว่า ดัชนีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Index : EPI) ถูกจัดทำทุกปีโดย Yale Center for Environmental Law and Policy (YCELP) ของมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวี่ลีก เพื่อหาสถิติผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศต่าง ๆ โดยข้อมูลที่ใช้จัดอันดับมาจากองค์กรระหว่างประเทศ สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ ที่ทำให้การประเมินสถานะของความยั่งยืนครอบคลุมที่สุด นอกจากนั้นได้รับการตรวจสอบโดยบุคคลที่สามเพื่อความยุติธรรม และจะไม่ยอมรับข้อมูลจากรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ โดยตรง สำหรับดัชนีปี 2024 เป็นการสำรวจสถานะของความยั่งยืนของ 180 ประเทศ โดยใช้ตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพ 58 ตัว แบ่งออกเป็น 11 หมวดประเด็น ภายใต้วัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ สิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

เครื่องมือติดตามเป้าหมายโลก “แดเนียล เอสตี้” ศาสตราจารย์ Hillhouse และผู้อำนวยการ Yale Center for Environmental Law & Policy (YCELP) กล่าวว่า ดัชนีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมปี 2024 เน้นย้ำถึงความท้าทายด้านความยั่งยืนที่สำคัญ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ EPI เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ติดตามความคืบหน้าการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals) ความตกลงปารีส (Paris Agreement) 2015..และกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal..Global Biodiversity Framework) โดยช่วยระบุว่าประเทศใดที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการจัดการกับประเด็นต่าง ๆ ทั้งความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม การให้ความสำคัญกับผู้นำด้านความยั่งยืน และผู้ล้าหลังในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม อันดับติดท็อป-รั้งท้ายประเทศเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ อันดับ 1 เอสโตเนีย 75.3 คะแนน อันดับ 2 ลักเซมเบิร์ก 75.0 คะแนน อันดับ 3 เยอรมนี 74.6 คะแนน อันดับ 4 ฟินแลนด์ 73.7 คะแนน อันดับ 5 สหราชอาณาจักร 72.7 คะแนน อันดับ 6 สวีเดน 70.5 คะแนน อันดับ 7 นอร์เวย์ 70.0 คะแนน อันดับ 8 ออสเตรีย 69.0 คะแนน อันดับ 9 สวิตเซอร์แลนด์ 68.0 คะแนน และ อันดับ 10 เดนมาร์ก 67.9 คะแนน ขณะที่ประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 10 อันดับ คือ อันดับ 180 เวียดนาม 24.5 คะแนน อันดับ 179 ปากีสถาน 25.5 คะแนน อันดับ 178 ลาว 26.1 คะแนน อันดับ 177 เมียนมา 26.9 คะแนน อันดับ 176 อินเดีย 27.6 คะแนน อันดับ 175 บังกลาเทศ 27.8 คะแนน อันดับ 174 เอริเทรีย 28.6 คะแนน อันดับ 173 มาดากัสการ์ 29.9 คะแนน อันดับ 172 อิรัก 30.4 คะแนน อันดับ 171 อัฟกานิสถาน 30.7 คะแนน ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 90 ของ 180 ประเทศ ด้วยคะแนน 45.4 ดัชนี EPI..สะท้อนถึงความสำคัญของความมั่งคั่งและธรรมาภิบาลในการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ โดยกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียไต่อันดับขึ้นสู่อันดับสูงสุดในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปมีแนวโน้มที่จะมีผลการดำเนินงานที่ดี โดยครองตำแหน่ง 20 อันดับแรก เพราะส่วนใหญ่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่แข็งแกร่ง และสนับสนุนกฎระเบียบที่เข้มงวดและการลงทุนทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อม


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  27 กรกฎาคม 2567

ที่มา https://www.the101.world/economic-cost-of-biological-invasion/

การระบาดของ ‘ปลาหมอคางดำ’ ทำให้นักการเงินอย่างผมต้องรื้อฟื้นความทรงจำเกี่ยวกับ ‘เอเลียนสปีชีส์’ (alien species) หรือที่แปลเป็นไทยว่าชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ซึ่งผมจำได้แบบงูๆ ปลาๆ ว่าเป็นสัตว์หรือพืชจากประเทศหนึ่งที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากที่ประเทศหนึ่ง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดนั้น

เมื่อพืชหรือสัตว์เดินทางข้ามเขตกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติมาสู่ดินแดนแห่งใหม่ เราจะเรียกพวกมันว่าชนิดพันธุ์ต่างถิ่น “แต่เมื่อใดก็ตามที่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นสามารถปรับตัวเข้ากับระบบนิเวศใหม่และขยายพันธุ์ได้เองตามธรรมชาติ พร้อมทั้งทำลายสมดุลในระบบนิเวศจนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน เราจะเรียกสิ่งมีชีวิตกลุ่มนี้ว่า ‘ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน’ (Invasive Alien Species)”

ส่วนปลาหมอคางดำที่กำลังระบาดในปัจจุบันก็ชัดเจนว่าเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน เพราะความทนทายาทซึ่งสามารถปรับตัวอยู่ในน้ำได้เกือบทุกประเภท แพร่พันธุ์รวดเร็ว และกินสารพัดอาหารทั้งพืช สัตว์ และลูกปลาต่างๆ ทำให้ปลาหมอคางดำอาจกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สร้างผลกระทบมหาศาลต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำของไทย ซึ่งในแวดวงวิชาการเรียกสถานการณ์เช่นนี้ว่า ‘การรุกรานทางชีวภาพ’ (biological invasion)

ปัจจุบัน ประเทศไทยไม่มีกฎหมายโดยตรงที่กำกับดูแลเรื่องชนิดพันธุ์ต่างถิ่น แต่เป็นการควบคุมแบบกระจัดกระจายในกฎหมายฉบับต่างๆ อาทิ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562, พระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ความตื่นตัวของประชาชนเรื่องชนิดพันธุ์ต่างถิ่นในตอนนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะรื้อโครงสร้างการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ปิดช่องโหว่ที่หละหลวมจนนำไปสู่การรุกรานทางชีวภาพ โดยการสร้างมาตรฐานกลางเพื่อการป้องปรามและจัดการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


© 2025 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.