สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 28 กรกฎาคม 2567
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ (https://www.prachachat.net/sd-plus/sdplus-sustainability/news-1613486)
ดัชนีสมรรถนะด้านสิ่งแวดล้อม หรือบางท่านเรียกว่า ดัชนีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Performance Index : EPI) ถูกจัดทำทุกปีโดย Yale Center for Environmental Law and Policy (YCELP) ของมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยกลุ่มไอวี่ลีก เพื่อหาสถิติผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของประเทศต่าง ๆ โดยข้อมูลที่ใช้จัดอันดับมาจากองค์กรระหว่างประเทศ สถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ ที่ทำให้การประเมินสถานะของความยั่งยืนครอบคลุมที่สุด นอกจากนั้นได้รับการตรวจสอบโดยบุคคลที่สามเพื่อความยุติธรรม และจะไม่ยอมรับข้อมูลจากรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ โดยตรง สำหรับดัชนีปี 2024 เป็นการสำรวจสถานะของความยั่งยืนของ 180 ประเทศ โดยใช้ตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพ 58 ตัว แบ่งออกเป็น 11 หมวดประเด็น ภายใต้วัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ สิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ และความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ
เครื่องมือติดตามเป้าหมายโลก “แดเนียล เอสตี้” ศาสตราจารย์ Hillhouse และผู้อำนวยการ Yale Center for Environmental Law & Policy (YCELP) กล่าวว่า ดัชนีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมปี 2024 เน้นย้ำถึงความท้าทายด้านความยั่งยืนที่สำคัญ ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปจนถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ EPI เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ติดตามความคืบหน้าการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN Sustainable Development Goals) ความตกลงปารีส (Paris Agreement) 2015..และกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal..Global Biodiversity Framework) โดยช่วยระบุว่าประเทศใดที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในการจัดการกับประเด็นต่าง ๆ ทั้งความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม การให้ความสำคัญกับผู้นำด้านความยั่งยืน และผู้ล้าหลังในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม อันดับติดท็อป-รั้งท้ายประเทศเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ อันดับ 1 เอสโตเนีย 75.3 คะแนน อันดับ 2 ลักเซมเบิร์ก 75.0 คะแนน อันดับ 3 เยอรมนี 74.6 คะแนน อันดับ 4 ฟินแลนด์ 73.7 คะแนน อันดับ 5 สหราชอาณาจักร 72.7 คะแนน อันดับ 6 สวีเดน 70.5 คะแนน อันดับ 7 นอร์เวย์ 70.0 คะแนน อันดับ 8 ออสเตรีย 69.0 คะแนน อันดับ 9 สวิตเซอร์แลนด์ 68.0 คะแนน และ อันดับ 10 เดนมาร์ก 67.9 คะแนน ขณะที่ประเทศที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 10 อันดับ คือ อันดับ 180 เวียดนาม 24.5 คะแนน อันดับ 179 ปากีสถาน 25.5 คะแนน อันดับ 178 ลาว 26.1 คะแนน อันดับ 177 เมียนมา 26.9 คะแนน อันดับ 176 อินเดีย 27.6 คะแนน อันดับ 175 บังกลาเทศ 27.8 คะแนน อันดับ 174 เอริเทรีย 28.6 คะแนน อันดับ 173 มาดากัสการ์ 29.9 คะแนน อันดับ 172 อิรัก 30.4 คะแนน อันดับ 171 อัฟกานิสถาน 30.7 คะแนน ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 90 ของ 180 ประเทศ ด้วยคะแนน 45.4 ดัชนี EPI..สะท้อนถึงความสำคัญของความมั่งคั่งและธรรมาภิบาลในการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ โดยกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียไต่อันดับขึ้นสู่อันดับสูงสุดในด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ส่วนประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปมีแนวโน้มที่จะมีผลการดำเนินงานที่ดี โดยครองตำแหน่ง 20 อันดับแรก เพราะส่วนใหญ่มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่แข็งแกร่ง และสนับสนุนกฎระเบียบที่เข้มงวดและการลงทุนทางการเงินด้านสิ่งแวดล้อม