• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  14 พฤศจิกายน 2566

นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และโฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ผลการตรวจวัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในช่วงเช้าวันนี้ (14 พ.ย.66) อ้างอิงจากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลคุณภาพอากาศกรุงเทพมหานคร พบว่า ค่า PM2.5 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อวาน (13 พ.ย. 66) ที่ผ่านมา แต่ยังอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุกพื้นที่ที่มีการตรวจวัด โดยสามารถตรวจวัดค่าฝุ่น PM2.5 ทั่วทุกพื้นที่กรุงเทพมหานครได้ในช่วง 12.1 - 37.1 มคก./ลบ.ม. โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 22.8 มคก./ลบ.ม.

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้วิเคราะห์ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เพื่อคาดการณ์แนวโน้มสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบต่อฝุ่น PM2.5 พบว่า ในช่วงวันที่ 14 - 22 พ.ย. นี้ การระบายอากาศไม่ดีถึงอ่อน ประกอบกับอากาศเริ่มไม่ยกตัวอาจส่งผลให้เกิดการสะสมตัวของฝุ่นละอองในอากาศได้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายนเป็นต้นไป และในวันนี้พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีโอกาสเกิดฝนฟ้าคะนองร้อยละ 20 ของพื้นที่

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลจุดความร้อน (hotspot) ผ่านดาวเทียม จากหน่วยงาน NASA ยังไม่พบจุดความร้อนที่สูงผิดปกติจากค่าความร้อนบนผิวโลกบริเวณพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน ผ่านทาง Application AirBKK , www.airbkk.com , Application Air4Thai , www.air4thai.com , และ ช่องทางไลน์ LINE ALERT และ LINE Official Account @airbangkok ในขณะเดียวกัน หากพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษสามารถแจ้งเบาะแส ได้ทาง Traffy Fondue ตลอด 24 ชั่วโมง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  13 พฤศจิกายน 2566

นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันแรกที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ได้เริ่มทำการปล่อยน้ำเสียที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีตกค้างจากการรื้อถอนโรงไฟฟ้าที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่ทะเล ซึ่งส่งผลให้ประชาชนผู้บริโภคของไทยอาจยังมีความวิตกกังวลต่อความปลอดภัยในการบริโภคอาหารทะเลที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น

ดร.ถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมง ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ ในการเฝ้าระวังและตรวจสอบสารกัมมันตรังสีที่อาจตกค้างในอาหารทะเลนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยตรวจสอบ ณ ด่านนำเข้าทั้งท่าอากาศยานและท่าเรือ รวมถึงร้านอาหารญี่ปุ่นภายในประเทศอย่างเข้มงวด ภายใต้ภารกิจความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน

จากการดำเนินการที่ผ่านมา ได้มีการสุ่มตัวอย่างสัตว์น้ำเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์สารกัมมันตรังสี (ซีเซียม-134 (Cs-134) และซีเซียม-137 (Cs137)) จำนวนทั้งสิ้น 135 ตัวอย่าง โดยสินค้าที่สุ่มตรวจเป็นสัตว์น้ำจำพวก ปลา กุ้ง หมึก หอย ปู และตัวอย่างอาหารแปรรูป โดยผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารทะเลนำเข้าดังกล่าว ไม่พบการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีแต่อย่างใด

รองอธิบดีกรมประมง เน้นย้ำว่า ขอให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัยของการบริโภคอาหารทะเลที่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นและเชื่อมั่นในการตรวจสอบเฝ้าระวังอย่างเข้มงวดของกรมประมงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากพบเห็นอาหารทะเลนำเข้าต้องสงสัยต่อการปนเปื้อน หรือต่อความปลอดภัย สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนกรมประมง ศูนย์บริการนำเข้าส่งออกสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต โทรศัพท์ 0-2579-1878 และ 0-2579-3614-5


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  12 พฤศจิกายน 2566

นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า จากข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ขยายพื้นที่ดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินเพื่อรับมือสถานการณ์อุทกภัยและภัยแล้ง ถือเป็นการสำรองน้ำเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ในปัจจุบันจำนวน 4,775 แห่งทั่วประเทศ ประกอบด้วย ระบบเปิด หรือสระเติมน้ำ จำนวน 383 แห่ง และระบบปิดที่เป็นบ่อเติมน้ำ จำนวน 4,400 แห่ง จากการสำรวจพบว่ายังมีความต้องการทั่วประเทศนับหมื่นแห่ง เพื่อรองรับปรากฎการเอลนีโญ ที่จะเกิดภัยแล้งรุนแรงขึ้น ขณะที่การลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีที่จังหวัดพิษณุโลกได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขยายการดำเนินการในพื้นที่ต่างๆ โดยเร็วที่สุด พร้อมประเมินความสำเร็จของอำเภอวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 ตุลาคมให้เป็นจังหวัดนำร่องจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินจำนวน 60 แห่ง ซึ่งเริ่มดำเนินการระหว่างเดือนพฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ 2567 เป็นระบบสระเติมน้ำที่มีประสิทธิภาพสามารถนำน้ำมาใช้ไม่ต่ำกว่า 6 แสนลูกบาศก์เมตรในพื้นที่เกษตรกว่า 600 ไร่ พร้อมกันนี้ยังได้ศึกษาในพื้นที่อีอีซี เบื้องต้นในพื้นที่เกษตรสามารถดำเนินการได้ทันที แต่พื้นที่ในเขตอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการศึกษาเกี่ยวกับคุณภาพอากาศและน้ำในพื้นที่เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของสารพิษ

รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า ประเทศไทยยังขาดแคลนน้ำมากถึง 40,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับเขื่อนเจ้าพระยา 3 เขื่อน และปัจจุบันการก่อสร้างเขื่อนทำได้ยาก การทำธนาคารน้ำใต้ดิน จึงเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหา ทั้งการรองรับน้ำส่วนเกินที่มีมากกว่า 2 แสนล้านลูกบากศ์เมตร ซึ่งสามารถนำมากักเก็บไว้และบริหารจัดการในการรับมือน้ำท่วมและภัยแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  11 พฤศจิกายน 2566

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/sustainable/2738662

เพจเฟซบุ๊ก ขยะมรสุม MONSOONGARBAGE THAILAND ได้โพสต์ข้อความรนรงค์ให้ยกเลิกลอยกระทงในทะเลและแหล่งน้ำเปิด เนื่องจากในแต่ล่ะปี การลอยกระทงในแหล่งน้ำเปิดที่ไร้การจัดการ ได้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก จากขยะตะปูโลหะที่เกลื่อนชายหาดลำคลองและตกค้างเป็นเดือน

ทาง ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า การลอยกระทงในแม่น้ำลำคลอง หากไม่มีการดูแลที่ดี หรือมีทุ่นกั้น ซึ่งสุดท้ายจะลงมาสู่ท้องทะเลและเป็นอันตรายต่อคนอื่น ทำลายการท่องเที่ยวและสัตว์ทะเลต่าง ๆ พร้อมกับเสนอมาตรการการลอยกระทงในปีหน้าได้แก่

ห้ามลอยกระทงในทะเล เพราะไม่สามารถจัดการเก็บกวาดได้ควรจัดงานลอยกระทงในแหล่งน้ำปิด และมีระบบจัดการในการเก็บและกำจัดอย่างเหมาะสมการลอยกระทงตามแหล่งน้ำไหล ต้องมีทุ่นกั้นป้องกัน เพื่อไม่ให้กระทงไหลไปตามน้ำสู่ทะเลจัดงานกระทงต้องวางแผน รวมไปถึงงบจัดการขยะจากกระทง

ทั้งหมดนั้น กระทงควรใช้วัสดุจากธรรมชาติ หากเป็นไปได้ การลอยด้วยกระทงวัสดุธรรมชาติ การจัดการลอยกระทงในบ้านหรือในงานที่ควรมีการดูแลและภาครัฐควรมีมาตรฐานรับรองการจัดงานที่ดูแลสิ่งแวดล้อมในภายหลังด้วย


สำนักข่าว กรมประ่ชาสัมพันธ์  10 พฤศจิกายน 2566

กรมชลประทาน เร่งบริหารจัดสรรน้ำให้เพียงพอและต้องสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ช่วงหน้าแล้ง พร้อมวางแผนเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 66/67 ทั้งประเทศเกือบ 6 ล้านไร่

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทาน ได้วางแผนจัดสรรน้ำหน้าแล้งปี 2566/67 ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำที่ทั้งประเทศมีรวมกัน 40,387 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำทุกกิจกรรมในพื้นที่ต่างๆ ตามลำดับความสำคัญ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภค - บริโภค รักษาระบบนิเวศ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมมีรวมกัน 21,810 ล้านลูกบาศก์เมตร และสำรองน้ำไว้ต้นฤดูฝน ระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2567 รวม 18,577 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยวางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 66/67 ทั้งประเทศ 5.79 ล้านไร่ ขณะนี้จัดสรรน้ำทั้งประเทศไปแล้ว 1,161 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 6 ของแผนฯ โดยเฉพาะลุ่มเจ้าพระยาจัดสรรน้ำรวม 6,100 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำต้นทุน 11,085 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังปี 66/67 รวม 3.03 ล้านไร่ เบื้องต้นจัดสรรไปแล้ว 174 ล้านลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ยังได้เตรียมพร้อมรับมือหน้าแล้งตาม 9 มาตรการรับมือหน้าแล้งปี 66/67 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมติดตามเฝ้าระวังสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยเร่งเก็บกักน้ำช่วงปลายฤดูฝนและจัดหาแหล่งน้ำสำรอง จัดเตรียมเครื่องจักร - เครื่องมือประจำจุดเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ที่สำคัญประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำให้เกษตรกร และกลุ่มผู้ใช้น้ำ รับรู้รับทราบต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นของประชาชนให้ได้มากที่สุด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  9 พฤศจิกายน 2566

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ กรมพัฒนาที่ดิน ได้เร่งผลิตสารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็นจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ให้เพียงพอ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรและประชาชน โดยในอัตราแนะนำเติมสารบำบัดน้ำเสีย พด.6 1 ลิตร ต่อน้ำเสีย 10 ลูกบาศก์เมตร ทุก 10 วัน และส่งเสริมการนำวัสดุอินทรีย์ที่มีอยู่ภายในชุมชนมาใช้ประโยชน์ทำปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์สำหรับปรับปรุงบำรุงดิน รวมถึงรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างยั่งยืน และให้สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัดทั่วประเทศ แจกจ่ายสารบำบัดน้ำเสียและขจัดกลิ่นเหม็นจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 พร้อมให้คำแนะนำ ให้ความรู้ในการบำบัดน้ำเน่าเสีย และสำหรับในกรณีเร่งด่วนประชาชนสามารถใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ขยายเชื้อในกากน้ำตาล น้ำสะอาด โดยหมักเป็นเวลา 4 วัน นอกจากจะใช้บำบัดเสียแล้ว ยังสามารถกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญได้อีกด้วย

ในกรณีการปรับปรุงดินหลังน้ำลด กรมพัฒนาที่ดินได้เตรียมความพร้อมในการให้ความรู้และการจัดการดิน โดยแนะนำให้ฟื้นฟูดินตามชนิดพืช โดยทั่วไปให้ทำการระบายน้ำออก ถ้าในผักให้ทำการยกร่อง ส่วนนาข้าวให้ใช้น้ำหมักชีวภาพจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 เพื่อให้ตอซังย่อยสลายได้เร็วขึ้น และทำการไถกลบ และใส่ปุ๋ยหมักจากสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เพื่อเพิ่มความร่วนซุยของดิน รวมถึงใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 ร่วม เพื่อกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าในไม้ผล ซึ่งเกษตรกรและประชาชนสามารถขอรับบริการผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ พด. เพื่อนำไปปรับปรุงดินหลังน้ำลด ได้ที่ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 1 – 12 และสถานีพัฒนาที่ดินประจำจังหวัดทั่วประเทศ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน โทร 1760


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  8 พฤศจิกายน 2566

กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช คุมเข้มลดการเผาไหม้ในเขตป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติช่วงหน้าไฟป่าปี 2567 พร้อมควบคุมพฤติกรรมของชุมชนด้วยการให้ลงทะเบียนแจ้งเผาล่วงหน้าเท่านั้น

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวถึงแผนรับมือสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5 ปี 2567 ว่า ไฟป่าที่เกิดขึ้นในแต่ละปีของประเทศไทยสาเหตุส่วนใหญ่ยังมาจากการเก็บหาของป่าการเผาพื้นที่เกษตรกรรมการรุกล้ำจากพื้นที่เกษตรการล่าสัตว์และการเลี้ยงปศุสัตว์ โดยเฉพาะในเขตป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติ โดยปีนี้เขตป่าอนุรักษ์มีพื้นที่เผาไหม้กว่า 12.7 ล้านไร่ พบมากสุดในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัดถึง 9.8 ล้านไร่ สำหรับแนวทางการป้องกันไฟป่าปี 2567 แบ่งเป็น 2 มาตรการ 3 ระยะ 5 กิจกรรม ด้วยการจัดการเชื้อเพลิงพื้นที่เสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ โดยการชิงเผาให้เลือกเฉพาะพื้นที่ไฟไหม้ซ้ำซาก ทำการควบคุมไฟป่าให้ได้ และปิดประกาศให้ประชาชนทราบ พร้อมให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงานพื้นที่จัดการเชื้อเพลิงก่อนถึงหน้าไฟป่า รวมทั้ง ตรึงพื้นที่กำหนดจุดเฝ้าระวังป้องกันไฟป่าและร่วมกับชุมชนเฝ้าระวังตามจุดจะช่วยให้ตรวจพบไฟป่าได้รวดเร็วขึ้น ทั้งนี้ แหล่งกำเนิดที่ตบก่อให้เกิดไฟป่ามาจากประชาชนในพื้นที่ป่าและรอบชุมชน ซึ่งก่อนถึงหน้าไฟป่าจำเป็นต้องประกาศปิดป่าและอนุญาตให้ประชาชนเข้าพื้นที่ป่าได้เฉพาะผู้ที่มาลงทะเบียนแจ้งล่วงหน้าเท่านั้น เพื่อควบคุมประชาชนที่ไม่เคารพกฎหมายและกติกาแล้วลักลอบเข้าไปเผาในเขตป่าเพื่อล่าสัตว์และหาของป่า ถือเป็นการควบคุมพฤติกรรมของชุมชนในพื้นที่

รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ย้ำว่า กรมอุทยานฯ ได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่และประชาชนเฝ้าระวังป้องกันไฟฟ้า 3,893 จุดทั่วประเทศแบ่งเป็นจุดตรวจและจุดสกัด 1,311 จุด โดยเจ้าหน้าที่รัฐ และจุดเฝ้าระวัง 2,582 จุด โดยประชาชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อร่วมการปฏิบัติการเฝ้าระวังป้องกันไฟป่าไม่ให้ขยายวงกว้าง ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 2,500 จุดอยู่ระหว่างของบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อมาจัดจ้างประชาชนในพื้นที่เฝ้าระวังไฟป่าช่วงหน้าไฟป่าประมาณ 5 เดือน รวมทั้ง ยังมีภาคเอกชนเข้ามาร่วมสนับสนุนเพิ่มเติมเช่นกัน


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  7 พฤศจิกายน 2566

กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเช้าวันนี้คุณภาพอากาศดีต่อเนื่อง หลังมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ช่วยลดการสะสมของฝุ่นละออง พร้อมระวังค่าฝุ่น PM 2.5 สูงขึ้นช่วงปลายสัปดาห์นี้

นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเช้าวันนี้ (7 พ.ย.66) ภาพรวมคุณภาพอากาศอยู่ในระดับคุณภาพดีมากถึงปานกลาง โดยค่าฝุ่นปรับตัวลดลงอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เนื่องจากหลายพื้นที่มีฝนตกหนักลงมาช่วยลดการสะสมของฝุ่นละอองลงได้ โดยช่วงวันที่ 9 - 13 พฤศจิกายนอาจต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษบางพื้นที่ค่าฝุ่นสูงขึ้น เนื่องจากมวลอากาศเย็นเคลื่อนตัวเข้ามาปกคลุมประเทศไทย ส่งผลให้อากาศถูกกดทับและลมนิ่ง ทั้งนี้ จำเป็นต้องควบคุมและลดการระบายฝุ่นละอองจากแหล่งกำเนิดต่างๆต่อเนื่อง เพื่อลดปริมาณการปล่อยทั้งจากยานพาหนะ ด้วยการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ให้มีประสิทธิภาพและเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสม่ำเสมอ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล // ขอให้ประชาชนหันมาใช้รถโดยสารสาธารณะให้มากขึ้นแทนรถยนต์ส่วนบุคคล และงดการเผาในที่โล่ง เพราะเป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นที่ส่งผลกระทบรุนแรง

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่มีฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานควรเฝ้าระวังสุขภาพ ลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเอง หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์ โดยสามารถติดตามตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ได้ทางเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน Air4thai และ AirBKK


  1. คุณภาพอากาศใน กทม.และปริมณฑลเช้าวันนี้อยู่เกณฑ์มาตรฐาน หลังช่วง 2 วันที่ผ่านมามีฝนตกหนักหลายพื้นที่ช่วยลดการสะสมของฝุ่นละออง พร้อมคาดการณ์สัปดาห์นี้ฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มดีขึ้น
  2. ค่าฝุ่น PM 2.5 ในเขต กทม.และปริมณฑลเช้าวันนี้ปรับตัวลดลง แต่ยังพบเกินค่าในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 16 พื้นที่ พร้อมคาดการณ์สัปดาห์หน้าแนวโน้มดีขึ้น
  3. ผู้ว่า กทม. ร่วมปลูกต้นไม้ที่ศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อม สานต่อนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น
  4. ค่าฝุ่น PM 2.5 ในเขต กทม.และปริมณฑลเช้าวันนี้ เกินค่าในระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 50 พื้นที่ โดยต้องระวังเป็นพิเศษถึง 5 พ.ย.นี้
© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.