• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ยูเอ็นเตือน เศรษฐกิจดิจิทัลกระตุ้นการเติบโต แต่ทำลายสิ่งแวดล้อมรุนแรง

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  13 กรกฎาคม 2567

ที่มา : เดลินิวส์ออนไลน์ (https://www.dailynews.co.th/news/3631549/)

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) เตือนว่า การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยั่งยืน เนื่องจากระบบดิจิทัลใช้พลังงานไฟฟ้าสูง และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ว่า อังค์ถัด ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรภายใต้สหประชาชาติ (ยูเอ็น) เตือนว่า การขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ต้องแลกมาด้วยต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ต้องใช้น้ำ และพลังงานจำนวนมหาศาล แม้การเปลี่ยนผ่านจะช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก อังค์ถัดเรียกร้องให้จัดหากลยุทธ์ที่ยั่งยืน เพื่อรับมือกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา “การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลยังคงดำเนินไปอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนชีวิตและการดำรงชีวิต แต่การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลอย่างไร้การควบคุมก็มีความเสี่ยงที่จะทิ้งผู้คนไว้ข้างหลัง และส่งผลให้ความท้าทาย ด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น” นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวในรายงาน ขณะเดียวกัน กูเตร์เรสเตือนว่า การพึ่งพาเครื่องมือดิจิทัล ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การสูญเสียวัตถุดิบ, การใช้น้ำและพลังงาน, การปล่อยมลพิษทางอากาศ และการสร้างของเสีย “สิ่งเหล่านี้ถูกเน้นย้ำด้วยเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ)” อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าเอไอที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ด้านนางรีเบกา กรินสแปน เลขาธิการอังค์ถัด เรียกร้องให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ที่สุดของโลก เป็นผู้นำด้านการผลิตข้อมูลที่ได้มาตรฐาน หลังเมื่อเร็วๆ นี้ กูเกิลรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นร้อยละ 48 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 5 ปีจนถึงปี 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากการขับเคลื่อนศูนย์ข้อมูลที่สนับสนุนการดำเนินงานของเอไอ เช่นเดียวกับรายงานความยั่งยืนล่าสุดของไมโครซอฟต์ ซึ่งระบุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 ในปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับปี 2563 แม้บริษัททั้งสองแห่งเคยให้คำมั่นจะดำเนินนโยบายความกลางทางคาร์บอน ให้สำเร็จภายในสิ้นทศวรรษนี้ เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โกลด์แมน แซคส์ ธนาคารเพื่อการลงทุนของสหรัฐ กล่าวว่า คำมั่นสัญญาของเทคโนโลยีเจเนอเรทีฟ เอไอ จะทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีต้องใช้เงินประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 36 ล้านล้านบาท) เพื่อการลงทุนในศูนย์ข้อมูล, ชิป และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ของเอไอ “แต่การใช้จ่ายครั้งยังมีให้เห็นไม่มากนัก” พร้อมตั้งคำถามว่า “การใช้จ่ายจำนวนมากนี้ จะได้ผลตอบแทนในแง่ของผลประโยชน์ และผลตอบแทนจากเอไอหรือไม่”ด้านนางชามิกา สิริมันน์ ผอ.ฝ่ายเทคโนโลยีและโลจิสติกส์ อังค์ถัด กล่าวว่า คำถามที่ว่าเอไอควรใช้ทำอะไร เพื่อสาธารณประโยชน์หรือค้นหาข้อมูล, การตลาด หรือการขาย ยังไม่เกิดขึ้น “แต่ก่อนที่จะสายเกินไป เราต้องเริ่มการสนทนานี้เสียก่อน”ในรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลปี 2567 อังค์ถัดได้ยกตัวอย่างผลกระทบของเศรษฐกิจดิจิทัลต่อสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่า ภาคเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่าง 0.69 ถึง 1.6 กิกะตันในปี 2563 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 1.5-3.2 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก และใกล้เคียงกับการขนส่งทางอากาศหรือทางเรือ ด้านการผลิตคอมพิวเตอร์ขนาด 2 กิโลกรัม ต้องใช้วัตถุดิบประมาณ 800 กิโลกรัม โดยความต้องการแร่ธาตุสำคัญ เช่น กราไฟต์, ลิเทียม และโคบอลต์อาจเพิ่มขึ้นร้อยละ 500 ภายในปี 2593ขณะเดียวกัน มีการใช้ไฟฟ้า 460 เทระวัตต์-ชั่วโมง ในปี 2565 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 เท่าภายในปี 2569 ในไอร์แลนด์ การใช้ไฟฟ้าของศูนย์ข้อมูลเพิ่มขึ้นมากกว่า 4 เท่าระหว่างปี 2558-2565 และปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 18 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 28 ภายในปี 2574 แต่การใช้พลังงานทั่วโลกในการขุดบิตคอยน์ เพิ่มขึ้นประมาณ 34 เท่าระหว่างปี 2558-2566 ที่ประมาณ 121 เทระวัตต์-ชั่วโมง ส่งผลให้การขุดบิตคอยน์ในเบลเยียมและฟินแลนด์ นำหน้าประเทศอื่น ๆ


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.