• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  12 เมษายน 2567

ที่มา: https://mgronline.com/qol/detail/9670000031192

สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย หรือ TEI ตอกย้ำการเป็นองค์กรชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมขับเคลื่อนนโยบายการจัดการสิ่งแวดล้อมเชิงรุก สู่การปฏิบัติร่วมกับภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม จับมือ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม (DCCE) เตรียมเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติหลักสูตรการจัดการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล 14 – 15 พฤษภาคมนี้ ณ โรงแรมดิ อิมเพรส น่าน จังหวัดน่าน และระบบออนไลน์ Zoom

ธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเสาหลักด้านเศรษฐกิจของประเทศที่สามารถเพิ่มมูลค่า GDP และนำมาซึ่งรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก พร้อมทั้งเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวมทั้งจังหวัดน่านซึ่งจัดว่าเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวสูงและสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ โดยศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เลือกให้จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่เป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการจัดการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล โดยผู้ประกอบการโรงแรมและที่พัก และผู้สนใจจะได้รับความรู้ อาทิ โอกาสจากการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากการท่องเที่ยว และการระดมความคิดเห็นและการฝึกปฏิบัติการท่องเที่ยวคาร์บอนนิวทรัลที่จังหวัดน่าน

สำหรับการจัดการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนนิวทรัล (Carbon Neutral Tourism) คือ การท่องเที่ยวที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ของภาครัฐ ที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อลดผลกระทบจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จะเกิดกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการท่องเที่ยวรูปแบบดังกล่าวจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจของประเทศ และภาพลักษณ์ของประเทศ ใน 6 ด้าน คือ 1) ด้านการช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก 2) ด้านการสร้างการรับรู้และตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 3) ด้านการเพิ่มมูลค่าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว 4) ด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการสร้างภาพลักษณ์ 5) ด้านการสร้างโอกาสและการต่อยอดให้กับผู้ประกอบการและชุมชน และ 6) ด้านการดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  11 เมษายน 2567

ที่มา : mcot.net  (https://www.mcot.net/view/464XyVWf)

วช. แถลงข่าวเปิดตัว “การขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ครั้งที่ 1”

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงานแถลงข่าวการขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ครั้งที่ 1 เพื่อประเมินผลผลิตผลลัพธ์ ผลกระทบของโครงการวิจัย วิเคราะห์ และขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การนำไปใช้ประโยชน์จริง โดย ดร. วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มอบหมายให้ นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย รศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ผู้อำนวยการแผนงานศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการ และ ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานกรรมการดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ประเด็นเป้าหมายด้านการพัฒนาสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม วช. กล่าวสรุปการแถลงข่าว ณ ศูนย์สารสนเทศกลางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มุ่งเน้นการทำงานแบบบูรณาการในรูปแบบภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดผลสำเร็จ นำส่งสู่ผู้ใช้ประโยชน์ จึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง “ศูนย์ขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์งานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” เพื่อใช้เป็นกลไกการดำเนินงานในส่วนขยายผลงานวิจัย โดยการประเมินผลงานวิจัยและนวัตกรรมการติดตาม หลังโครงการเสร็จสิ้น ทำให้เห็นภาพรวมผลสำเร็จของงานวิจัยในมิติที่กว้างขึ้น ขับเคลื่อนผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่มือผู้ใช้ประโยชน์ โครงการวิจัยที่สามารถขับเคลื่อนขยายผลสู่การนำไปใช้ประโยชน์จริงทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผลงานวิจัยที่มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ผลงานวิจัยที่มีผู้แสดงเจตจำนงนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ และผลงานวิจัยที่มีการใช้ประโยชน์ในระดับนโยบายรศ.ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ผู้อำนวยการแผนงานศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ กล่าวถึง แผนงานวิจัยศูนย์ขับเคลื่อนผลงานวิจัยด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจาก วช. เพื่อประเมินผลผลิต ผลลัพธ์ ผลกระทบของโครงการวิจัย และขับเคลื่อนขยายผลสู่การใช้ประโยชน์ในกลุ่มเป้าหมายภาคส่วนต่าง ๆ นั้น โดยระยะแรกได้ดำเนินการประเมินโครงการวิจัยที่ได้รับทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ปี 2557 – 2563 จำนวนรวมทั้งสิ้น468 โครงการ ในเบื้องต้นพบว่ามีโครงการวิจัยที่สามารถขับเคลื่อนขยายผลสู่การนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างเป็นรูปธรรม แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 โครงการวิจัยที่มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยจัดตั้งธุรกิจเริ่มต้น และผลิตผลิตภัณฑ์จำหน่ายในท้องตลาดอย่างต่อเนื่องหรือผลิตเพื่อทดสอบตลาด กลุ่มเรื่องที่ 2 โครงการวิจัยที่มีผู้แสดงเจตจำนงนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ กลุ่มเรื่องที่ 3 โครงการวิจัยที่มีการใช้ประโยชน์ในระดับนโยบายโดยมีการประกาศใช้แล้ว


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  10 เมษายน 2567

ที่มา https://www.seub.or.th/bloging/news/global-news/2024-92/

ท่ามกลางการพัฒนาของมนุษย์อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ได้สร้างภัยเงียบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ผกผันไม่เสถียร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ที่ดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้มากกว่าหลายล้านปีหรือมากกว่านั้น

การศึกษาล่าสุดได้เน้นย้ำถึงอนาคตอันหายนะของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ ได้เผยให้เห็นความหลากหลายทางชีวภาพที่ใช้เวลาวิวัฒนาการหลายล้านปีนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกทำลายอย่างถาวร เช่น ในปี 2022 ปลาฉลามปากเป็ดจีน (Chinese Paddlefish) ที่มีการวิวัฒนาการมากกว่า 190 ล้านปีหนึ่งในปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีถิ่นกําเนิดในแอ่งแม่น้ำแยงซีและแม่น้ำฮวงโหของจีนได้รับการประกาศว่าสูญพันธุ์

ผลการศึกษาล่าสุดนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในความพยายามที่จะวางแผนการอนุรักษ์ในอนาคต การรวบรวมข้อค้นพบเหล่านี้เข้ากับกรอบความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกของสหประชาชาติ ซึ่งมีเป้าหมายที่จะป้องกันแนวโน้มการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพภายในปี 2030  ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปกป้องประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตบนโลกของเรา

เพื่อจัดการกับการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่กำลังจะเกิดขึ้น จำเป็นต้องมีแนวทางหลายแง่มุม แนวทางนี้ควรเกี่ยวข้องกับการสร้างพื้นที่คุ้มครองมากขึ้น การบังคับใช้กฎระเบียบด้านการประมงและการล่าสัตว์ที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และการส่งเสริมแนวทางปฏิบัติในการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน การศึกษาและความตระหนักรู้มีความสำคัญเท่าเทียมกัน เนื่องจากสามารถช่วยสร้างการสนับสนุนจากสาธารณะสำหรับโครงการริเริ่มด้านการอนุรักษ์ได้

ขณะที่เรายืนอยู่บนทางแยก การตัดสินใจของเราในวันนี้จะเป็นตัวกำหนดมรดกของเราสำหรับคนรุ่นอนาคต ระหว่างโลกที่ปราศจากมรดกทางธรรมชาติ หรือโลกที่สิ่งมีชีวิตในความหลากหลายอันน่าทึ่งยังคงเจริญรุ่งเรือง


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  9 เมษายน 2567

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/local/2776842

พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ทส. ร่วมประกาศความสำเร็จการจัดตั้งธนาคารขยะภายใต้หุ้นส่วนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ระหว่างองค์การสหประชาชาติประจำประเทศไทย กระทรวงมหาดไทย (มท.) โดยมี Mrs. Armida Salsiah Alisjahbana รองเลขาธิการสหประชาชาติ และเลขาธิการบริหารคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ สำหรับเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) Mrs. Gita Sabharwal ผู้ประสานงานสหประชาชาติ ร่วมเป็นสักขีพยาน

พล.ต.อ. พัชรวาท กล่าวต่อว่า ทส. มีนโยบายในการขับเคลื่อนการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างยั่งยืน เพราะปัญหาขยะกลายเป็นวิกฤติสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก การกำจัดขยะมูลฝอยของประเทศไทย พบว่ามีขยะอินทรีย์เป็นสัดส่วนมากที่สุด ส่วนขยะรีไซเคิลหากมีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน นอกจากจะสามารถลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแล้ว ยังสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้อีกด้วย ทส. จึงมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเชิงนโยบายและข้อมูลด้านวิชาการสนับสนุนการทำงานของกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้เกิดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางและนำขยะต่าง ๆ ที่ถูกคัดแยกไปใช้ประโยชน์ใหม่ มุ่งสู่การสร้างสังคมขยะเหลือศูนย์

ซึ่งความสำเร็จในครั้งนี้เป็นการเน้นย้ำการสร้างชีวิตที่มีสิ่งแวดล้อมที่สะอาดสำหรับทุกคน การจัดตั้งธนาคารขยะในระดับประเทศถือเป็นก้าวสำคัญที่สามารถขยายไปสู่การมีส่วนร่วมขององค์กรอื่น ๆ ให้เข้ามาร่วมมือสนับสนุนให้เกิดการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางอย่างเป็นระบบครบวงจร ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับสาธารณชนทุกภาคส่วน


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  8 เมษายน 2567

ที่มา : Siamsport (https://www.siamsport.co.th/news/pr/48558/)

กระทรวงทรัพยากรฯ ซีพี และทรู คอร์ปอเรชั่น จัดงานมอบรางวัล พร้อมเชิญชวนสัมผัสคุณค่าของธรรมชาติและสัตว์ป่าในนิทรรศการภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” ประจำปี 2565 – 2566 ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 21 เมษายนนี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มุ่งมั่นเดินหน้าปลูกจิตสำนึกเยาวชนและคนไทยทั้งประเทศ สร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ ผ่านการประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 29 วันนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลังเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยการดำเนินงานของ ซีพีเอฟ ซีพีออล์ และทรูคอร์ปอเรชั่น จัดพิธีมอบรางวัลโครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย’สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ประจำปี 2565 – 2566 รางวัลเกียรติยศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมจัดนิทรรศการภาพถ่ายอันทรงคุณค่าประจำปี 2565 และ ปี 2566 โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์  และดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าสายงานกลยุทธ์องค์กรและด้านการศึกษา บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดยผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศในปี 2565 – 2566 มีดังนี้

– ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 

– ประจำปี 2566 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทสัตว์มีค่า ภาพพฤติกรรมสัตว์ป่า นายธีรพงศ์ เพ็ชร์รัตน์ เจ้าของภาพ “ศึกชนช้าง”

– ประจำปี 2565 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทสัตว์มีค่า ภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นายปฤษฎิ์ เก่งสูงเนิน เจ้าของภาพ “More than Dream”

–  ถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

– ประจำปี 2566 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทป่ามีคุณ ภาพถ่ายระยะใกล้ นายศราวุฒิ ทองเมือง เจ้าของภาพ “Hoar Frost”

– ประจำปี 2565 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทป่ามีคุณ ภาพทิวทัศน์ นายสุชาติ เกื้อทาน เจ้าของภาพ “ไออุ่นแห่งขุนเขา”

สำหรับเกณฑ์การตัดสินการประกวดภาพถ่าย คณะกรรมการพิจารณาจากภาพถ่ายที่สื่อความหมายภายใต้แนวคิด “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” ความสวยงาม การจัดวางองค์ประกอบตามหลักทัศนศิลป์ และเทคนิคการถ่ายภาพ โดยแบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทสัตว์มีค่า กับประเภทป่ามีคุณ และแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับบุคคลทั่วไป และระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ทั้งนี้ ในปี 2565 และปี 2566 มีเยาวชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 1,126 คน รวม 4,041 ภาพ เป็นการตอกย้ำ และสร้างความตระหนัก ปลูกใจรักสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สมบัติอันล้ำค่าอันเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติให้ยั่งยืนสืบไป


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  7 เมษายน 2567

ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1120159

กระแสการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก หนุนให้ความต้องการการใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 80 และการที่หลายประเทศออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมได้สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มีการปรับตัวตาม

สำหรับประเทศไทย มีสตาร์ทอัพและธุรกิจที่หันมาผลิตแบตเตอรี่เพื่อใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการคิดค้นแนวทางการผลิตใหม่ ๆ ซึ่งหนึ่งในกระบวนการที่น่าสนใจ คือ การนำของเหลือใช้ที่มีจำนวนมหาศาลในไทยอย่าง “แกลบและขยะโซลาร์เซลล์” มาใช้เป็นวัสดุสำหรับผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน

ประเทศไทยมีแกลบเป็นของเหลือทิ้งทางการเกษตรปริมาณมหาศาล แต่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมมูลค่าไม่สูงมากและมูลค่าเหล่านั้นไม่ได้กลับไปสู่เกษตรกรหรือผู้ผลิตโดยตรง รวมถึงมีขยะโซล่าร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งานราว 4,000 ตัน ในปี 2565 และคาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าขยะโซล่าร์เซลล์จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงหลักล้านตัน มารีไซเคิลเป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่จากส่วนประกอบสำคัญอย่าง “ซิลิกอน”

เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกระบวนการนำโซลาร์เซลล์ที่พังมารีไซเคิลเป็นแผงโซลาร์เซลล์ใหม่ หรือผลิตเป็นอย่างอื่น เพราะมองว่าต้นทุนสูง ไม่คุ้มที่จะลงทุน ที่ผ่านมาจึงกำจัดด้วยการทิ้งในหลุมฝังกลบเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อฝนตกน้ำท่วม สารเคมีที่อยู่ในนั้นก็อาจจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมได้ อุตสาหกรรมการรีไซเคิลโซลาร์เซลล์ จึงไม่ใช่เศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืนของประเทศ


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  6 เมษายน 2567

ที่มา: https://www.komchadluek.net/news/crime/572317

จากกรณีที่กรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาแถลงข้อเท็จจริงตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า มีบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก ได้ขายกากแร่สังกะสีและกากแร่แคดเมียมที่ฝังกลบในจังหวัดตาก ให้กับบริษัทหนึ่งตั้งอยู่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เนื่องจากกากแร่ดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็ง

นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้เข้าตรวจสอบที่บริษัทหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ใน หมู่ที่ 2 ซอยกองพนันพล ถนนเอกชัย ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่นำกากแร่แคดเมียมจากจังหวัดตาก เข้ามากักเก็บไว้ที่โรงงานแห่งนี้ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และคณะ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และระบุว่า จากการตรวจสอบของทางเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครพบว่า มีกากแร่แคดเมียมที่มาจากทางจังหวัดตากจริงประมาณ 15,000 ตัน โดยทางอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครได้ทำการอายัติไว้แล้ว

อย่างไรก็ดี ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครจะออกคำสั่งประกาศเป็นเขตภัยพิบัติโดยห้ามบุคคลหรือสิ่งอื่นใด เข้าไปภายตัวอาคาร รวมถึงห้ามมีการหล่อหลอมแคดเมียมโดยเด็ดขาด และให้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ออกคำสั่งขนย้ายกากแร่แคดเมียมทั้งหมดออกจากจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อส่งกลับไปยังบริษัทต้นทางที่จังหวัดตาก เพราะกากแร่ตัวนี้ตาม EIA แล้ว ห้ามขนย้ายออกมาจากจังหวัดตาก โดยจะให้เวลารีบดำเนินการภายใน 7 วันนับจากนี้


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  5 เมษายน 2567

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์  (https://www.thairath.co.th/video/news/topnews/hotclip/785098)

เจ้า “เรือพลังดูด” หรือที่เรียกว่า Interceptor 019 เป็นเรือดักเก็บขยะจากแม่น้ำไม่ให้ไหลลงสู่ท้องทะเล ลำที่ 19 ของโลก เพิ่งนำมาติดตั้งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ถนนพระราม 3 เขตบางคอแหลมไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเครื่องจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จากแผงโซลาร์เซลล์และทำงานด้วยระบบอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง เครื่องนี้จะทำหน้าที่เป็นเครื่องดักขยะที่ช่วยลดปริมาณขยะจากแม่น้ำก่อนที่จะไหลลงสู่มหาสมุทร


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.