• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

ปารีส 2024: โอลิมปิกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมครั้งแรกของโลก

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  22 กรกฎาคม 2567

ที่มา: https://www.posttoday.com/smart-life/711316

มหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีสจะไม่ได้เป็นการแข่งกีฬาที่วัดกันแค่เหรียญรางวัลอีกต่อไป แต่ยังวัดความรับผิดชอบของประเทศเจ้าภาพที่มีต่อโลกและสิ่งแวดล้อม โอลิมปิก 2024 ที่จะเปิดฉากขึ้น ณ กรุงปารีส ในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ ทางเจ้าภาพอย่างฝรั่งเศสตั้งเป้าว่าจะลดการสร้างสิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ เนื่องจากฝรั่งเศสเคยเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกมาแล้วสองครั้งในปี 1900 และ 1924 รวมถึงเคยเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 1998 ประเทศจึงมีสิ่งอำนวยความสะดวกเกือบทั้งหมดที่จำเป็นอยู่แล้ว และแทนที่จะทุ่มงบไปกับการสร้างสนามกีฬาใหม่ ภาครัฐเลือกที่จะปรับปรุงสิ่งก่อสร้างเดิมที่มีอยู่ราว 95% ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยวัสดุที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและดำเนินการตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ทางผู้จัดยังให้คำมั่นว่า การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 จะเป็นการแข่งขันที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเมื่อเทียบกับครั้งก่อนๆ โดยปารีสจะลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินท์ให้เหลือประมาณ 1.75 ล้านตัน หรือราวครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับการแข่งขันโอลิมปิกที่ลอนดอน 2012 และริโอ 2016 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์

ขณะที่อดีตรองนายกเทศมนตรีฝ่ายการวางผังเมืองกรุงปารีสให้ความเห็นว่า โอลิมปิกเปรียบเสมือนโอกาสอันดีที่เร่งให้เมืองเกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภาครัฐได้ปรับปรุงพื้นที่สาธารณะ เช่น การทำความสะอาดแม่น้ำแซนครั้งใหญ่ การปลูกต้นไม้ใหม่เพิ่ม 300,000 ต้น ขณะที่ระบบขนส่งสาธารณะก็ถูกปรับปรุงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เลนสำหรับจักรยานที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ด้วยระยะทางกว่า 250 ไมล์ การขยายเส้นทางรถไฟใต้ดินเพื่ออำนวยความสะดวกการเชื่อมต่อพื้นที่ชานเมืองกับตัวเมือง ฯลฯ ซึ่งหากฝรั่งเศสไม่ได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันโอลิมปิกโครงการเหล่านี้อาจใช้เวลานานถึง 10 หรือ 20 ปี นอกจากนี้ ยังมีการใช้วัสดุรีไซเคิลอย่างลูกขนไก่ในการผลิตโต๊ะข้างเตียงในหมู่บ้านนักกีฬา การใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิลผลิตเป็นเก้าอี้ในสเตเดี้ยมต่างๆ การปรับปรุงหลังคาสนามกีฬาบางแห่งให้ใช้พลังงานจากโซลาร์เซลล์ ซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรฐานใหม่ในอีเวนท์การแข่งขันกีฬาระดับโลก

หมู่บ้านนักกีฬา กับวัสดุ Eco-Friendly สำหรับหมู่บ้านนักกีฬาในการแข่งขันโอลิมปิก 2024 ทางผู้จัดระบุว่าจะออกแบบให้เป็นย่านเมืองใหม่ใน Saint-Denis ซึ่งเป็นชานเมืองตอนเหนือของกรุงปารีส และจะเป็นผลดีต่อชาวเมืองในท้องถิ่นจากมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกหยิบมาใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 หลังการแข่งขันเสร็จสิ้น หมู่บ้านนักกีฬาราว 1 ใน 3 จะถูกใช้เป็นโครงการบ้านพักของรัฐบาล กระจายอยู่ตามเขตชานเมืองฝั่งเหนือของกรุงปารีส ครอบคลุมพื้นที่ Saint-Ouen, Saint-Denis และ L’Ile Saint Denis โดยโครงการนี้ถูกออกแบบให้เป็นชุมชนคาร์บอนต่ำ ประกอบด้วยอาคาร 82 หลัง เหมาะสำหรับการพักอาศัยในอนาคตที่อุณหภูมิโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงออกแบบอาคารให้ส่งเสริมและดูแลความหลากหลายทางชีวภาพ เช่น หลังคาที่ออกแบบมาให้เป็นที่อยู่อาศัยของนกและสัตว์ขนาดเล็ก ภายในโครงการจะมีศูนย์บำบัดน้ำเสียขนาดเล็กที่ทำหน้าที่เก็บและกรองน้ำเสียที่สามารถนำไปใช้สำหรับการเกษตรภายในครัวเรือนได้ นอกจากนี้ ยังมีอาคารกรองน้ำฝนสำหรับการใช้ด้านสุขภัณฑ์ และระบบคัดแยกของเสียเพื่อนำไปแปลงเป็นปุ๋ยต่อไป ประเด็นสำคัญสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปีนี้คือ เครื่องปรับอากาศในหมู่บ้านนักกีฬา ที่ถูกออกแบบมาให้ไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ เนื่องจากตัวอาคารมีฉนวนกันความร้อนที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งแตกต่างจากการแข่งขันกีฬาครั้งก่อนๆที่ห้องพักนักกีฬาจะมีเครื่องปรับอากาศอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ด้วยวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งปารีส ทำให้บางทีมชาติต้องหอบหิ้วเครื่องปรับอากาศแบบพกพามากันเอง ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมมองว่า หากโลกต้องการบรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2050 การจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลกทุกรายการจำเป็นต้องมีการพิจารณาแนวทางใหม่อย่างจริงจัง เช่น การกระจายสถานที่จัดงาน จากเดิมที่ผู้ชมหลายล้านคนต้องเดินทางด้วยเครื่องบินเพื่อไปกระจุกตัวในเมืองเมืองเดียว โอลิมปิก 2024 นับเป็นก้าวแรกในการจุดประกายให้โลกเห็นถึงความมุ่งมั่นของฝรั่งเศสในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นแรงบันดาลใจให้งานอีเวนท์อื่นๆ ระดับโลก ทั้งยังเป็นบทพิสูจน์ว่ามหกรรมกีฬาขนาดใหญ่สามารถจัดขึ้นควบคู่กับความยั่งยืนได้จริงหรือไม่


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.