• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  28 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ยังเฝ้าระวังฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พร้อมกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำรับมือเอลนีโญ เพื่อให้น้ำมีเพียงพอใช้อุปโภค-บริโภค

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังมีฝนฟ้าคะนองและมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ช่วง24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ยะลา ตราด แพร่ หนองบัวลำภู และพระนครศรีอยุธยา โดย กอนช. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนการบริหารจัดการน้ำรับมือเอลนีโญต่อเนื่องหลังยังพบมีแนวโน้มรุนแรง ทำให้ต้องเตรียมพร้อมต่อเนื่องในพื้นที่ที่เสี่ยงประสบภัยน้ำท่วม หรือขาดแคลนน้ำจากปริมาณฝนน้อย เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุด พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่รับทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำ 2 ปี ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ณ วันที่ 26 สิงหาคม มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมกัน 41,954 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 55% ของความจุอ่างฯ พบเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 18,014 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งจากการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับใช้ในช่วงหน้าแล้งปี 2566/67 ทั้งประเทศ คาดว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 22,825 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้มีปริมาณน้ำต้นทุนช่วงต้นหน้าแล้งมีอยู่อย่างจำกัด โดยเฉพาะใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น โดยไม่สามารถสนับสนุนน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชหน้าแล้งหรือข้าวนาปรังปี 2566/67 ได้ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรเปลี่ยนการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการเพาะปลูกข้าวนาปรัง

สำหรับการเพาะปลูกข้าวนาปีในปีนี้ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรในพื้นที่ 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จให้งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ โดยกรมชลประทานได้เร่งประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ควบคู่กับขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เพื่อให้ปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอใช้ตลอดหน้าแล้งปี 2566/67 ที่กำลังจะมาถึงนี้


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  27 สิงหาคม 2566

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีเตรียมพร้อมรับมือและปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยจากดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อความปลอดภัย ซึ่งก่อนจะเกิดดินถล่มมักมีสัญญาณเตือนก่อน เช่น ฝนตกหนักต่อเนื่อง ติดต่อกันเป็นเวลานานบนภูเขาสูง มากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน หรือนานกว่า 6 ชั่วโมง ระดับน้ำในแม่น้ำและลำห้วยเพิ่มสูงขึ้น น้ำมีสีขุ่นมากกว่าปกติ รวมถึงมีกิ่งไม้หรือท่อนไม้ ไหลปนมากับกระแสน้ำ มีเสียงดังผิดปกติมาจากภูเขาหรือลำห้วย อาทิ เสียงหักของต้นไม้ เสียงแตกของหิน เสียงไหลของโคลน สัตว์ป่ามีอาการแตกตื่น อาทิ ฝูงนกบินวนไปมาบนท้องฟ้า ดินมีสภาพอิ่มน้ำ หรือชุ่มน้ำมากกว่าปกติ

โดยวิธีการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือดินถล่ม ต้องเริ่มที่สำรวจสภาพความเสี่ยงภัย หากอยู่ในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม ให้เตรียมพร้อมรับมือ และหมั่นสังเกตความผิดปกติทางธรรมชาติ เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย โดยติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัย พร้อมปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงติดตั้งเครื่องวัดปริมาณน้ำฝนในพื้นที่เสี่ยง ศึกษาเส้นทางอพยพหนีภัย ซึ่งต้องอยู่ห่างจากแนวการไหลของดินและน้ำ ไม่อยู่ใกล้ลำน้ำ เพราะอาจได้รับอันตรายจากดิน หิน ต้นไม้ที่ไหลมาตามลำน้ำ หากพลัดตกน้ำ ให้หาต้นไม้ใหญ่ยึดเกาะและปีนให้พ้นน้ำ ห้ามว่ายน้ำหนี เพราะอาจกระแทกกับหินหรือซากต้นไม้ได้ ห้ามเข้าใกล้หรือกลับเข้าไปในบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย เพราะอาจเกิดดินถล่มซ้ำ ไม่ขับรถเร็วและชิดไหล่ทาง เพื่อลดความเสี่ยงจากหินหล่นหรือดินสไลด์ปิดทับเส้นทาง หากพบดินถล่มปิดทับเส้นทาง ห้ามขับรถผ่านเส้นทางดังกล่าว เพราะอาจได้รับอันตรายจากดินที่ทรุดตัว หากระดับน้ำในร่องน้ำเพิ่มสูงขึ้นและมีสีเดียวกับดินภูเขา มีร่องรอยดินสไลด์ ให้หยุดรถในบริเวณที่ปลอดภัยทันที


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  26 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากใน 20 พื้นที่ ช่วงวันที่ 29 สิงหาคม – 3 กันยายนนี้

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ฉบับที่ 16 หลังพบร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่ง เบื้องต้นวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พร้อมการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่มบริเวณต้นน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำและกรมทรัพยากรธรณี พบมีพื้นที่เสี่ยงต้องเฝ้าระวังอุทกภัย เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน เกิดน้ำป่าไหลหลากและ ดินโคลนถล่ม ช่วงวันที่ 29 สิงหาคม – 3 กันยายน คือ ภาคเหนือ ในจังหวัดเชียงใหม่ บริเวณอำเภอกัลยาณิวัฒนา จอมทอง และอมก๋อย , แม่ฮ่องสอน บริเวณอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ขุนยวม และสบเมย , กำแพงเพชร บริเวณอำเภอเมืองกำแพงเพชร โกสัมพีนคร ขาณุวรลักษบุรี คลองลาน ไทรงาม พรานกระต่าย และลานกระบือ , ตาก บริเวณอำเภอเมืองตาก ท่าสองยาง พบพระ แม่ระมาด แม่สอด วังเจ้า และอุ้มผาง , พิษณุโลก บริเวณอำเภอชาติตระการ นครไทย เนินมะปราง และบางระกำ , อุตรดิตถ์ บริเวณอำเภอน้ำปาด // ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในจังหวัดเลย บริเวณอำเภอนาแห้ว ผาขาว ภูเรือ และวังสะพุง , ชัยภูมิ บริเวณอำเภอคอนสาร และบ้านแท่น , ขอนแก่น บริเวณอำเภอชุมแพ ภูเวียง เวียงเก่า สีชมพู หนองนาคำ และหนองเรือ , สกลนคร บริเวณอำเภอบ้านม่วง วานรนิวาส และอากาศอำนวย , มหาสารคาม บริเวณอำเภอกันทรวิชัย , หนองบัวลำภู บริเวณอำเภอเมืองหนองบัวลำภู นากลาง นาวัง และศรีบุญเรือง, กาฬสินธุ์ บริเวณอำเภอยางตลาด

ส่วนภาคตะวันออก ในจังหวัดระยอง บริเวณอำเภอแกลง , จันทบุรี บริเวณอำเภอเมืองจันทบุรี ขลุง เขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ นายายอาม มะขาม และแหลมสิงห์ , ตราด บริเวณอำเภอเมืองตราด เกาะกูด เกาะช้าง เขาสมิง คลองใหญ่ บ่อไร่ และแหลมงอบ // ภาคใต้ ในจังหวัดชุมพร บริเวณอำเภอท่าแซะ และพะโต๊ะ , ระนอง บริเวณอำเภอเมืองระนอง และกระบุรี , พังงา บริเวณอำเภอเมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า และท้ายเหมือง , ภูเก็ต บริเวณอำเภอเมืองภูเก็ต กะทู้ และถลาง รวมทั้ง เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงระดับน้ำล้นตลิ่งและท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำจากแม่น้ำยัง บริเวณอำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และแม่น้ำสงคราม บริเวณอำเภอบ้านม่วง จังหวัดสกลนคร ถึง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม

ทั้งนี้ กอนช. ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์น้ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ หรือพื้นที่ชุมชนเมืองที่เคยเกิดน้ำท่วมขังไม่สามารถระบายได้ทัน พร้อมเตรียมแผนรับน้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ ควบคู่กับกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ และลอกท่อระบายน้ำ


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  25 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่จนเสี่ยงเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากใน 21 จังหวัด ขณะที่กรมชลประทานเร่งกำจัดผักตบชวาและสิ่งกีดขวางทางน้ำในลุ่มน้ำบางปะกง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.สกลนคร ตราด น่าน นราธิวาส เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยยังต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันนี้ (25 ส.ค.66) ในพื้นที่ 21 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เพชรบูรณ์ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร อุดรธานี อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต สตูล ตรัง และสุราษฎร์ธานี ขณะที่กรมชลประทานเร่งกำจัดผักตบชวา วัชพืช และสิ่งกีดขวางทางน้ำต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำและส่งน้ำเพื่ออุปโภค-บริโภคและการเกษตรอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง บริเวณ จ.นครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี สะพานบางขนาก และหน้าเขื่อนบางปะกง ภาพรวมปริมาณการกำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำทั้งหมดประมาณ 83,600 ตัน

ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ยังได้ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวง 2 หน่วยปฏิบัติการ และช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร 9 จังหวัด คือ ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สุรินทร์ นครราชสีมา อุทัยธานี นครสวรรค์ ชัยนาท และลพบุรี โดยสามารถเติมน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง คือ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ่างเก็บน้ำห้วยขุนแก้ว และอ่างเก็บน้ำห้วยหนองโรง


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  24 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังฝนตกหนักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พร้อมเร่งเดินหน้าแผนรับมือฤดูฝนนี้อย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกปานกลางถึงหนักบริเวณ จ.บึงกาฬ ตราด นราธิวาส กรุงเทพมหานคร เชียงราย และกาญจนบุรี ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังอ่อนที่มีแนวโน้มจะแรงขึ้นช่วงปลายปี ก่อนจะมีกำลังอ่อนลงและจะต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 2567 จึงกำชับให้เดินหน้าแผนรับมือฤดูฝนปีนี้อย่างเคร่งครัดและมาตรการเพิ่มเติมอีก 3 มาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ คือ จัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด // ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และสุดท้าย เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ โดยจะดำเนินการควบคู่กับ 12 มาตรการเดิมอย่างเคร่งครัด เพื่อบริหารจัดการน้ำภายใต้สภาวะเอลนีโญให้ผ่านพ้นไปอย่างราบรื่นและส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด ในส่วนของกรมชลประทานยังคงเร่งกำจัดวัชพืชในคลองหกสายล่างบริเวณพื้นที่ ตำบลพืชอุดม อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำช่วงน้ำหลาก

ทั้งนี้ ยังได้กำชับให้ สทนช. ภาค 1 ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์พื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำที่ กอนช. ประเมินไว้ เพื่อตรวจสอบสภาพพื้นที่จริงและวางแผนป้องกันปัญหาเร่งด่วนหากมีแนวโน้มจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เช่น พื้นที่ ต.นครเดิฐ อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย พบเป็นพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทานอยู่ช่วงการเพาะปลูกพืชหลายชนิด คือ นาข้าว พืชไร่ และพืชสวน ซึ่งพืชอยู่ช่วงระยะมีความต้องการน้ำมาก ขณะที่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำหลัก ทั้งบึงสวย หนองยาง หนองกระเบื้อง หนองปลิง และหนองนาคมีปริมาณน้ำน้อยอาจไม่เพียงพอสำหรับการใช้น้ำภาคการเกษตรได้ถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ คาดว่า อีกประมาณ 2 เดือนต่อจากนี้หากไม่มีปริมาณฝนตกเพียงพอในพื้นที่จะเกิดความเสียหายต่อพืชได้ สำหรับแผนการบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นได้สนับสนุนเครื่องสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ตามโครงการขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตรของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล บริเวณหนองปลิง รวมถึง การขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อการเกษตรพร้อมติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพิ่มเติมเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ จากการประเมินเบื้องต้นน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีปริมาณน้ำต้นทุนเพียงพอ แต่ต้องเน้นย้ำให้ประชาชนในพื้นที่ใช้น้ำอย่างประหยัด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  23 สิงหาคม 2566

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ระบุ ประเทศไทยมีน้ำใช้การอยู่ที่ 19,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยพบมีอ่างเก็บน้ำมีน้ำน้อย 8 แห่ง พร้อมคาดการณ์จะมีพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม 3 จังหวัด รวม 12 อำเภอ

นายธรรมพงศ์ เนาวบุตร ผู้อำนวยการกลุ่มวิเคราะห์และติดตามสถานการณ์น้ำ รักษาการในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า จากการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำของประเทศ พบช่วงวันที่ 9 – 15 สิงหาคม มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้งประเทศมีน้ำจากฝนตกไหลเข้าสะสมประมาณ 991 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ภาคเหนือสูงสุดบริเวณเขื่อนสิริกิติ์ ส่งผลให้ประเทศมีน้ำใช้การอยู่ที่ 19,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยพบอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงมีปริมาณน้ำน้อย 8 แห่ง คือ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่มอก บึงบอระเพ็ด เขื่อนจุฬาภรณ์ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด และอ่างเก็บน้ำปราณบุรี ทั้งนี้ ได้คาดการณ์ปริมาณฝนช่วงวันที่ 28 – 29 สิงหาคมนี้ จะมีฝนตกมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคตะวันออกในจังหวัดจันทบุรีและตราดจะมีฝนตกต่อเนื่องอาจเกิดน้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่มได้ เบื้องต้นคาดการณ์จะมีพื้นที่เสี่ยงภัย 3 จังหวัด รวม 12 อำเภอ คือ จันทบุรี บริเวณขลุง ท่าใหม่ เขาคิชฌกูฏ เมืองจันทบุรี มะขาม แก่งหางแมว // ระยอง บริเวณเขาชะเมา // ตราด บริเวณเกาะช้าง บ่อไร่ แหลมงอบ เมืองตราด เขาสมิง ทำให้ต้องกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบความมั่นคงและความปลอดภัยของแนวพนังกั้นน้ำ ระบบการระบายน้ำ การซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ และการเร่งกักเก็บน้ำ

ขณะที่สถานการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มต่อเนื่องถึงปีหน้า กอนช.จึงได้ออกมาตรการเพิ่มเติมจาก 12 มาตรการรับมือฤดูฝนเดิม 3 มาตรการ ทั้งการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญในพื้นที่ต่างๆเน้นเพื่อการอุปโภค-บริโภคเป็นหลัก // การควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง และสุดท้าย ขอความร่วมมือจากประชาชนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำด้านอุปโภค-บริโภค ภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรกรรม


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  22 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้เพิ่มเติม เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ขณะที่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยารับน้ำได้อีกกว่า 14,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทยมีฝนตกหนักบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.บึงกาฬ เชียงราย ประจวบคีรีขันธ์ ลพบุรี ระยอง และนราธิวาส โดยให้ สทนช. เร่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนมาตรการรับมือฤดูฝนปีนี้เพิ่มเติมเพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญ ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวม 41,789 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 55 สามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 34,548 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวม 10,258 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถรับน้ำได้อีกประมาณ 14,613 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ มีเกษตรกรทำนาปีทั่วประเทศไปแล้วประมาณ 14.40 ล้านไร่ หรือร้อยละ 85 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 980,000 ไร่ โดยลุ่มน้ำเจ้าพระยาทำนาปีไปแล้ว 7.34 ล้านไร่ หรือร้อยละ 91 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวไปแล้ว 960,000 ไร่ จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาพบสถานการณ์เอลนีโญมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ช่วงเดือน พฤศจิกายน 2566 - เมษายน 2567 มีปริมาณน้ำในเขื่อนใช้การได้ประมาณ 7,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเพียงพอสำหรับการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น

ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงผลผลิตทางการเกษตรเสียหาย จึงให้กรมชลประทานประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือเกษตรกรที่ได้ทำการเพาะปลูกข้าวนาปีรอบแรกและเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ งดเพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอ พร้อมเร่งเก็บกักน้ำช่วงปลายฤดูฝนให้ได้มากที่สุด


สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์  21 สิงหาคม 2566

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 21 จังหวัด ถึงวันที่ 25 สิงหาคมนี้ พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบริหารจัดการน้ำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนรับมือฝน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวว่า ประเทศไทยยังคงมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ช่วง 24 ชั่วโมงสูงสุดที่ผ่านมามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณ จ.พิษณุโลก กรุงเทพมหานคร ประจวบคีรีขันธ์ ตราด อุบลราชธานี และระนอง โดยยังต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากถึงวันที่ 25 สิงหาคมนี้ ในพื้นที่ 21 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน เพชรบูรณ์ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร อุดรธานี อำนาจเจริญ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี จันทบุรี ตราด ระนอง พังงา ภูเก็ต สตูล ตรัง และสุราษฎร์ธานี ซึ่งหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้จัดชุดบรรเทาสาธารณภัย 12 นาย ร่วมกับ กรมชลประทาน องค์การบริหารส่วนตำบลพระธาตุผาแดงเร่งแก้ปัญหาถนนทรุดตัวที่เกิดจากฝนตกหนักต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ทำให้เกิดดินสไลด์ทับท่อระบายน้ำ ด้วยการทำการติดตั้งแบบเทลีนท่อระบายน้ำ พร้อมวางท่อระบายน้ำ 15 ท่อนทั้ง 2 ฝั่งถนน บริเวณเส้นทาง บ.หนองบัว - บ.หัวฝาย อ.แม่สอด จ.ตาก ภาพรวมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ทั้งนี้ กอนช. กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องการบริหารจัดการน้ำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน พร้อมรับมือฝนปีนี้ตาม 12 มาตรการ โดยกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำประตูระบายน้ำห้วยหลวง จังหวัดหนองคาย พร้อมตรวจสอบและบำรุงรักษาระบบควบคุมการเปิด-ปิดบานระบายและการตรวจสอบเครื่องสูบน้ำ ส่วนโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำบ้านแดนเมืองและโครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง จังหวัดหนองคาย มีโครงข่ายระบบชลประทาน 13 โครงข่าย ครอบคลุมพื้นที่ 315,195 ไร่ รวมทั้ง แก้มลิงและอาคารประกอบ 20 แห่ง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่และบรรเทาอุทกภัยใจังหวัดหนองคายและอุดรธานี สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานเดิม 15,000 ไร่ แล้วยังเพิ่มพื้นที่ชลประทานใหม่อีก 300,195 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 284 หมู่บ้าน รวม 37 ตำบล 7 อำเภอในหนองคายและอุดรธานี โดยมีครัวเรือนได้รับผลประโยชน์ 29,835 ครัวเรือน ที่สำคัญยังเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อขยายพื้นที่ชลประทานในพื้นที่ใกล้เคียง


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.