สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 28 มิถุนายน 2567
ที่มา : MGR Online (https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000054737)
การขับเคลื่อนของกทม. “จัดการขยะเศษอาหาร” ที่ต้นตอ หรือแหล่งกำเนิด ตั้งแต่ต้นปีนี้ เห็นผลลัพธ์ชัดเจนขึ้น ผ่านกลไก Green Partnership ในโครงการ “ไม่เทรวม” โดยเฉพาะการเข้าไปรุกที่ศูนย์การค้า และร้านอาหารทั่วกรุง ล่าสุดคงเห็นได้จากความร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล และการเข้าร่วมของร้านอาหารมีชื่อกว่าพันแห่งทั้ง 50 เขต
นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการไม่เทรวม ว่า กทม. ให้ความสำคัญกับการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง คัดแยก และนำไปใช้ประโยชน์ ควบคู่กับการรณรงค์ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ ณ แหล่งกำเนิด ตามนโยบายสร้างต้นแบบการแยกขยะต่อยอดให้การแยกระดับเขตสมบูรณ์ครบวงจรเกิดผลเป็นรูปธรรมและลดปริมาณมูลฝอยเศษอาหารที่ถูกทิ้งรวมมากับมูลฝอยทั่วไป “ในปีงบประมาณ 2567 กทม. ตั้งเป้าลดขยะให้ได้ 200 ตัน/วัน และเพิ่มขึ้นในปี 2568 เป็น 500 ตัน/วัน ปี 69 จำนวน 1,000 ตัน/วัน สำหรับในปีนี้มีหน่วยงานที่เข้าร่วม แบ่งเป็น ตลาด 184 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 76 ตัน/วัน สถานศึกษา 457 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 19.4 ตัน/วัน ห้างสรรพสินค้า114 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 23.3 ตัน/วัน และโรงแรม 136 แห่ง แยกเศษอาหารได้ 17.7 ตัน/วัน โดยในปีที่ผ่านมา (2566) พบว่าจำนวนขยะลดลงจากปี 2565 เฉลี่ย 204 ตัน/วัน หรือ 74,460 ตัน/ปี หรือคิดเป็นเงิน 141,474,000 บาท สำหรับในเฟสต่อไปต้องดึงประชาชนมาเข้าร่วมโครงการให้มากขึ้น โดยใช้มาตรการทางด้านเศรษฐศาสตร์ หรือภาษี ค่าธรรมเนียม และต้องทำให้เห็นว่าเมื่อแยกขยะแล้ว กทม.ก็ไม่เทรวม” ปัจจุบันนี้มีร้านอาหารทั้งหมด 1,059 แห่ง (เฉพาะร้านเดี่ยว ไม่รวมที่อยู่ในห้าง) ใน กทม. ที่ร่วมโครงการ ‘ไม่เทรวม’ และรวมกันแล้วสามารถแยกขยะเศษอาหารได้วันละ 39,581 กิโลกรัม (หรือวันละเกือบ 40 ตัน)ที่ผ่านมาจะเป็นแหล่งกำเนิดใหญ่ๆ ที่ทำเรื่องคัดแยกได้ดี แต่ข้อมูลนี้พบว่าร้านเล็กๆ น้อยๆ ก็ร่วมกัน ทำให้เราสามารถแยกและลดขยะไปกำจัดได้อย่างมาก ในภาพรวมปัจจุบันเราสามารถแยกเศษอาหารได้แล้ววันละ 277 ตัน หรือรวมทั้งหมด 8,587 ตัน ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่วันละ 200 ตัน สำหรับร้านอาหาร 1,059 แห่งนี้ เราสามารถแบ่งวิธีการจัดการเศษอาหารได้ด้วย เช่น สำนักงานเขตจัดเก็บและนำไปใช้ประโยชน์ (ทำปุ๋ย/น้ำหมัก/ส่งเกษตรกร) 23.6%, สำนักงานเขตประสานเกษตรกรมารับตรงที่ร้าน 76% และร้านทำปุ๋ยหมักเอง 0.4% เมื่อร้านเหล่านี้แยกเศษอาหารแล้ว (ซึ่งยากที่สุด) ขยะที่เหลือที่เป็นขยะแห้งส่วนมากก็ขายได้ โดยเราก็เชื่อมให้ร้านรู้จักผู้รับซื้อที่เป็นภาคี กทม. เพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน และปัจจุบันยังมีภาคีหลายเจ้าที่พร้อมรับขยะกำพร้า (มูลค่าต่ำ เช่น ถุงแกง ซองขนม และซองกาแฟ) ได้ทำเป็นเชื้อเพลิงต่อด้วย “พูดได้เลยว่าวันนี้ขยะทุกชิ้นมีทางไปแล้วถ้าเราจัดการอย่างถูกวิธี”