สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 11 กันยายน 2567
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ (https://www.bangkokbiznews.com/environment/1144048)
มนุษย์สร้าง “มลพิษจากพลาสติก” ปีละ 57 ล้านตัน และแพร่กระจายไปทั่วโลก จากมหาสมุทรที่ลึกที่สุดไปยังยอดเขาที่สูงที่สุด แม้แต่ร่างกายของผู้คนเองก็ยังมีพลาสติกปนเปื้อนอยู่ โดยข้อมูลจากศึกษาวิจัยใหม่ ที่ระบุว่ามากกว่าสองในสามมาจาก “กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา”
ผู้คนทั่วโลกราว 1,500 ล้านคน อยู่ในประเทศที่ไม่มีบริการจัดเก็บขยะ และวิธีการกำจัดขยะพลาสติก ที่ไม่ถูกวิธีของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการทิ้งตามข้างทาง ทิ้งลงในแหล่งน้ำ หรือเผาขยะที่ไม่ถูกวิธี ได้ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยลีดส์ ในสหราชอาณาจักร ตรวจสอบขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งตามข้างทาง หรือพื้นที่เปิดโล่ง ไม่ได้กำจัดอย่างถูกวิธี เช่น การฝังกลบหรือเผา ในแต่ละท้องถิ่นจากกว่า 50,000 เมืองทั่วโลก พบว่า รัฐบาลส่วนใหญ่ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียใต้ และแอฟริกาใต้สะฮารา ล้มเหลวในการเก็บรวบรวม และกำจัดขยะ
คอสตาส เวลิส ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมจากลีดส์ ผู้เขียนรายงาน ประเมินว่า ขยะพลาสติก 52.1 ล้านตัน หรือประมาณ 1 ใน 5 ของขยะพลาสติกทั้งหมดทั่วโลกกลายเป็นมลพิษทุกปี โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศยากจน ซึ่งไม่มีการจัดการขยะที่เหมาะสม ขยะพลาสติกส่วนใหญ่กลับถูกเผาในบ้าน บนถนน หรือ ในหลุมฝังกลบขนาดเล็ก โดยไม่มีการควบคุมสิ่งแวดล้อมใด ๆ
เมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย ครองตำแหน่งเมืองที่สร้างมลพิษจากพลาสติกมากที่สุด ส่วนอันดับท็อป 5 ที่เหลือ ประกอบไปด้วย นิวเดลี ประเทศอินเดีย, ลูอันดา ประเทศแองโกลา, การาจี ประเทศปากีสถาน และอัลกาฮิราห์ ประเทศอียิปต์ หากจะเทียบเป็นรายประเทศแล้ว พบว่า “อินเดีย” เป็นประเทศที่สร้างมลภาวะจากพลาสติกมากที่สุด โดยในแต่ละปีผลิตขยะ 10.2 ล้านตันต่อปี ซึ่งมากกว่าปริมาณขยะจากประเทศอันดับ 2 และ 3 อย่าง ไนจีเรีย และอินโดนีเซียถึง 2 เท่า ขณะที่จีน แม้จะก่อมลภาวะอยู่ในอันดับ 4 แต่ก็จัดการขยะ และลดการเกิดขยะลงได้อย่างดี ส่วนท็อป 8 ของประเทศที่ก่อมลภาวะจากพลาสติกอื่นๆ ได้แก่ ปากีสถาน บังกลาเทศ รัสเซีย และบราซิล ซึ่งจากข้อมูลของการศึกษาพบว่า 8 ประเทศนี้ได้สร้างมลภาวะจากพลาสติกมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกส่วนมลพิษจากขยะพลาสติกในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐ และอังกฤษ อยู่ในลำดับที่ 90 และ 135 ตามลำดับ
โดยทั่วไป ประเทศที่มีรายได้น้อยจะผลิตขยะพลาสติกต่อคนน้อยกว่ามาก แต่ขยะเหล่านั้นกลับก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่ามาก เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ในประเทศที่มีรายได้สูง ขยะส่วนใหญ่จะถูกรวบรวม และแปรรูป โดยการทิ้งเกลื่อนกลาดเป็นสาเหตุหลักของมลพิษจากพลาสติก
การศึกษายังพบว่า การเผาพลาสติกอย่างไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดมลภาวะทางพลาสติกสูงถึง 57% อีก 43% มาจากการทิ้งขยะไม่เป็นที่ ซึ่งทั้งสองกรณีก่อให้เกิด ไมโครพลาสติก และนาโนพลาสติก ที่สามารถแพร่กระจายไปทั่ว ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งโลก นับเป็นภัยคุกคามสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์ ดังที่เห็นจากงานวิจัยต่างๆที่พบไมโครพลาสติกมีอยู่ในร่างกายมนุษย์ เช่น หัวใจ สมอง และอัณฑะ แต่แพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ค่อยแน่ใจว่าไมโครพลาสติกเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างไร