• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

เยือน! มหานครฉงชิ่ง จีนแผ่นดินใหญ่ เมืองที่อากาศแย่ สู่..เมืองสีเขียว

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  4 พฤศจิกายน 2567

ที่มา : Springnews   (https://www.springnews.co.th/keep-the-world/sustainable/853787)

พาเยือน! มหานครฉงชิ่ง จีนแผ่นดินใหญ่ เมืองที่ในอดีตขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่อากาศแย่ สู่..เมืองสีเขียวในปัจจุบัน เขาทำได้ไง?

ทั่วโลกกำลังเร่งพัฒนาเมืองของตัวเองสู่ความเป็นเมืองสีเขียว ทั้งปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อมารองรับการขยายตัว รวมถึงการปลูกฝังจิตสำนึกของพลเมืองให้หันมารักษ์โลก ใส่ใจสิ่งแวดล้อม บางเมืองใช้นวัตกรรม และเทคโนโลยีเข้ามาจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและได้ผลผลลัพธ์ที่ดี พลิกโฉมจากเมืองที่อากาศยอดแย่สู่เมืองมหานครสีเขียว เขาทำได้อย่างไร? #สปริงนิวส์ ได้มีโอกาสเยือน “มหานครฉงชิ่ง” จีนแผ่นดินใหญ่ ในโครงการ “มองจีนยุคใหม่ สิ่งที่สื่อไทยควรรู้” ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 24-30 ตุลาคม 67 ที่ผ่านมา จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย

โดยการได้ไปศึกษาดูงานในหลายที่ในมหานครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเมืองของจีนมากมาย มหานครฉงชิ่ง มหานครที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน มีเนื้อที่ราว 82,400 ตารางกิโลเมตร เกือบเท่ากับภาคกลางของประเทศไทย มีประชาก 32 ล้านคน โดยมหานครแห่งนี้เป็นเมืองเศรษฐกิจทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งมหานครแห่งนี้ตั้งอยู่ท่ามกลางหุบเขา แต่จีนสามารถเนรมิตให้เป็นเมืองการค้าการลงทุนที่สำคัญได้

ย้อนไปเมื่อ10 ปีก่อน เมืองเศรษฐกิจของแผ่นดินใหญ่แห่งนี้ เคยประสบปัญหามลพิษอากาศอย่างมาก มีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรม การเผาไหม้ถ่านหิน และเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้รัฐบาลเร่งออกนโยบายทุกทางเพื่อแก้ปัญหา ที่รู้จักกันก็คือ สงครามปกป้องท้องฟ้าสีคราม (Blue sky defense battle) รวมถึงนโยบายการส่งเสริมพลังงานสะอาด โดยเมืองแห่งนี้มี Green Chongqing ที่สำคัญ อาทิ

1. ภูมิทัศน์สวยงาม ต้นไม้ใหญ่ พร้อมพื้นที่สีเขียวสองข้างถนนถูกจัดการเป็นอย่างดี

2. องค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGO..ได้เข้ามามีส่วนช่วยเฝ้าระวังมลพิษ และทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนมากขึ้น รวมทั้งกระตุ้นเยาวชน และสังคมให้เรียนรู้ และปกป้องธรรมชาติ เช่น กรณีศูนย์เรียนรู้ธรรมชาติ การอนุรักษ์นกอินทรี

3. ขยายชุมชนเกษตรอินทรีย์ โดยนำองค์ความรู้สมัยใหม่เข้ามาใช้ในการทำเกษตร มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในเขตชนบท สร้างงานให้กับคนในท้องถิ่น โดยได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ อย่างกรณีเมืองดาชู (Dashu Town)

4. ป้ายทะเบียนรถยนต์แยก 2 สี ชัดเจน ให้เข้าใจว่าป้ายทะเบียนสีเขียวคือ รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือ EV (Electricity vehicle) ซึ่งมีประมาณ 20% ในเมืองนี้ และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนป้ายทะเบียนสีน้ำเงินคือ รถที่ใช้เชื้อเพลิงแบบเดิม

พัฒนาเทคโนโลยีระบบชาร์จสำหรับรถยนต์ EV และขยายจุด/สถานีชาร์จแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในเขตเมือง แม้ยังมีจำกัดในเขตพื้นที่ชนบท


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.