• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

NBT CONNEXT  13 พฤศจิกายน 2567

       นางทัศนียาพร  ดวงแก้ว  ประชาสัมพันธ์จังหวัดสุราษฎร์ธานี  กล่าวว่า  รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการ ซื้อขาย Carbon Credit โดยตั้งเป้าหมายว่าประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 เพื่อลดผลกระทบจากภาวะโลกเดือด โลกรวน เพราะภัยธรรมชาติทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นในทุกปี เช่นปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในภาคเหนือของประเทศไทย โดยการส่งเสริมคาร์บอนเครดิตจึงถูกนำมาใช้กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมทั่วโลก อธิบายอย่างง่ายแล้ว คาร์บอนเครดิต คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลด หรือกักเก็บ ได้จากการดำเนินโครงการคาร์บอนเครดิต สำหรับประเทศไทยสามารถดำเนินการได้ผ่านโครงการ T-VER  หรือ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ที่กำกับและดูแลโดย องค์การ บริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เช่น โครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ โครงการผลิตพลังงานความร้อนโดยใช้เชื้อเพลิงชีวมวล โครงการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน โครงการปลูกป่าไม้ และอนุรักษ์ป่า เป็นต้น ซึ่งต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และกระบวนการของแต่ละมาตรฐานในการทำโครงการ โดยปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ อบก. ให้การรับรอง จะเรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” สามารถนำไปซื้อ-ขาย แลกเปลี่ยน และใช้ในกิจกรรมการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้      

      สำหรับก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases : GHGs) คือ กลุ่มก๊าซในชั้นบรรยากาศโลกที่สามารถกักเก็บและดูดกลืนคลื่นความร้อนหรือรังสีอินฟราเรด (Infrared) ที่ส่งผ่านลงมายังพื้นผิวโลกจากดวงอาทิตย์ได้ดี ก่อนทำการปลดปล่อยพลังงานดังกล่าวออกมาในรูปของความร้อน ซึ่งทำให้โลกเกิด “ภาวะเรือนกระจก” ที่สามารถช่วยรักษาสมดุลของอุณหภูมิพื้นผิวดาวเคราะห์ไว้ได้ แต่ในปัจจุบันมีก๊าซบางชนิดสะสมอยู่ในชั้นบรรยากาศมากเกินสมดุล ซึ่งก๊าซเหล่านี้สามารถดูดกลืนรังสีคลื่นยาวช่วงอินฟราเรดและคายพลังงานความร้อนได้ดีพื้นผิวโลกและชั้นบรรยากาศ จึงมีอุณหภูมิสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศของโลก และสิ่งมีชีวิตพื้นผิวโลก.


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  12 พฤศจิกายน 2567

ที่มา https://www.dailynews.co.th/news/4068382/

‘บริษัท ซาบีน่า จำกัด’ (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ ‘ซาบีน่า’ (SABINA) ร่วมมือกับบริษัท ซิมเปิ้ล รีไซเคิล จำกัด ผู้นำธุรกิจรับซื้อและส่งต่อขยะรีไซเคิลใน จ.ยโสธร เปิดตัว ‘โครงการธนาคารขยะ’ณ โรงงานซาบีน่า จ.ยโสธร โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้พนักงานตระหนักถึงความสำคัญของการแยกขยะ และส่งเสริมการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ ด้วยการเปลี่ยนขยะรีไซเคิลให้เป็นรายได้เพิ่มแก่พนักงาน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทที่มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

โดยเริ่มจากการสร้างจิตสำนึกในการคัดแยกขยะ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ทุกคนสามารถทำได้ง่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อลดปริมาณขยะที่ถูกฝังกลบ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และบรรเทาปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะ นอกจากนี้ การนำขยะรีไซเคิลมาแลกเปลี่ยนเป็นรายได้ ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โรงงานยโสธร ซึ่งเป็นโรงงานหลักของบริษัทฯ จึงได้รับเลือกให้เป็นโรงงานนำร่องในการดำเนินโครงการนี้ เพื่อขยายผลไปสู่โรงงานอื่นๆ ต่อไป


NBT CONNEXT  11 พฤศจิกายน 2567

อัพเดทพายุ "หยินซิ่ง (YINXING)" เช้าวันนี้มีศูนย์กลาง บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน พายุนี้เริ่มอ่อนกำลังลงและจะอ่อนกำลังลงอีก เมื่อเคลื่อนตัวเข้าใกล้ชายฝั่งประเทศเวียดนาม ยังไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย แต่อาจจะทำให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันออกมีเมฆเพิ่มขึ้น เนื่องจากเคลื่อนตัวมาในขณะที่มีมวลอากาศเย็นแผ่ลงปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  10 พฤศจิกายน 2567

ที่มา https://nakornchiangrainews.com/tag/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%8A%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E/

ยุคที่ความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกกำลังลดลงอย่างน่าเป็นห่วง นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายมหาศาล แม้จะมีข้อมูลปริมาณมหาศาลอยู่ในมือ แต่การทำความเข้าใจภัยคุกคามที่แตกต่างกันไปของแต่ละสายพันธุ์ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ ดร. สก็อตต์ ยานโค นักนิเวศวิทยาสัตว์ป่าจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน เน้นย้ำถึงความจำเป็นของข้อมูลที่เจาะจงมากขึ้น เพื่อระบุสาเหตุเบื้องหลังการลดลงของประชากรสัตว์ป่า ซึ่งหากปล่อยไว้อาจนำไปสู่ภาวะสูญพันธุ์ได้ ในงานวิจัยล่าสุดที่ร่วมกับ ดร. ไบรอัน วีคส์ นักนิเวศวิทยาสัตว์ป่าวิวัฒนาการ แห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน และทีมวิจัยนานาชาติ ดร. ยานโค ชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่เปลี่ยนไปของเทคโนโลยีติดตามสัตว์ป่า ซึ่งกำลังปฏิวัติวงการอนุรักษ์

เทคโนโลยีติดตามสัตว์เป็นเครื่องมืออันทรงพลังที่ช่วยให้เราเข้าใจธรรมชาติได้ดีขึ้นและช่วยให้เราสามารถดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ การลงทุนในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีนี้จึงเป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของโลกและสิ่งมีชีวิตทั้งหมด


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  9 พฤศจิกายน 2567

ที่มา https://www.isranews.org/article/isranews-pr-news/133190-CPGroup-78.html

เมื่อเร็วๆนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดย ดร.แสนวสันต์ ยอดคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร ได้รับรางวัลบทความวิจัยยอดเยี่ยมด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความเป็นเลิศสำหรับชุมชน เรื่อง “การลดก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตปุ๋ยอินทรีย์แบบไม่พลิกกลับกองจากเศษใบไม้ในป่าชุมชนพื้นที่อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่” ภายใต้โครงการ “ป่าปลอดเผา” โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ในงานประชุมสัมมนาวิชาการรูปแบบพลังงานทดแทนเพื่อชุมชนแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 17 (TREC-17) ภายใต้หัวข้อ “เทคโนโลยีพลังงานทดแทนที่เหมาะสมสำหรับการขยายผลสู่ชุมชนอัจฉริยะ” โดยมีเป้าหมาย เป็นแนวทางในการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยชุมชนอย่างถูกวิธี ลดการเผาป่า ที่ก่อให้เกิดปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นควัน PM 2.5ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

งานวิจัยดังกล่าวฯ ได้รับรางวัลบทความยอดเยี่ยมด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความเป็นเลิศสำหรับชุมชน ซึ่งยกย่องผลงานที่มีความโดดเด่นในการนำไปใช้แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน และถือเป็นนวัตกรรมทางความคิดที่เป็นทางเลือกใหม่ของการจัดการใบไม้แห้งที่เป็นเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดไฟป่าและช่วยลดการเผาป่าจากการหาของป่า พร้อมทั้งยังสามารถลดต้นทุน โดยนำปุ๋ยหมักที่ได้ไปเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรในชุมชนอีกด้วย ตอบโจทย์ความยั่งยืนให้กับชุมชนได้


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  8 พฤศจิกายน 2567

ที่มา: https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=47410&deptcode=brc&news_views=82

นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ปัญหาการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ที่ขยายตลาดในกลุ่มลูกค้ารายใหม่โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ กำลังทำให้ประเทศอังกฤษ เผชิญปัญหาขยะจากบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียวถูกทิ้งเกลื่อนกลาด ก่อให้เกิดปัญหาปริมาณขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 4 เท่า โดยแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนจากบุหรี่ไฟฟ้าถูกทิ้งลงสู่สิ่งแวดล้อมมากกว่า 40 ตัน ทำให้สารโลหะหนักในบุหรี่ไฟฟ้า เช่น ตะกั่ว และปรอท รั่วไหลลงสู่สิ่งแวดล้อม เกิดการสะสมและปนเปื้อนในน้ำจนสร้างพิษต่อสิ่งมีชีวิตและสัตว์ป่า เกิดสารพิษตกค้าง และทำลายระบบนิเวศน์สิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขปัญหานี้รัฐบาลอังกฤษจึงออกกฎหมาย   ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้ครั้งเดียว โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2568

นายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากบทเรียนของประเทศอังกฤษ ที่อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้พบปัญหา ทั้งอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้น และยังเพิ่มปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง จนเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การคงมาตรการห้ามนำเข้า ห้ามผลิตและห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นมาตรการที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ในการป้องกันการเกิดนักสูบหน้าใหม่ รวมถึงเป็นการปกป้องระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมของประเทศได้อีกด้วย


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  7 พฤศจิกายน 2567

ที่มา: https://www.facebook.com/share/p/swDQc2avjgJx5RYi/

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจการจัดทำระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ณ ห้องประชุม 1001 ชั้น 10 อาคารทิปโก้ 2 โดยนายประเสริฐ ศิรินภาพร เลขาธิการ สผ. และศาสตราจารย์ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) การจัดทำระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ระหว่าง สผ. และ สวทช. เพื่อสนับสนุนและผลักดันการดำเนินงานการจัดทำระบบคลังข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ของ สผ. และ สวทช. เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนาม จำนวน 50 คน

การลงนามในครั้งนี้นอกจากจะเป็นการผนึกกำลังและใช้จุดแข็งของทั้งสององค์กร ทั้งความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและงานวิจัยของ สวทช. หรือ การบริหารจัดการด้านนโยบายและแผนของ สผ. นำมาต่อยอดสร้างฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ สำหรับการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจ การแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม การบริหารจัดการ การตอบสนองพันธกรณีและความตกลงระหว่างประเทศ ความร่วมมือในระดับภูมิภาค ตลอดจนสนับสนุนการใช้ TH – BIF ในการสืบค้นและอ้างอิงข้อมูลในงานวิชาการ งานวิจัย และสนับสนุนการปฏิบัติงานตามภารกิจที่รับผิดชอบ ให้บังเกิดผลในราชการและประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนร่วมกันต่อไป


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  6 พฤศจิกายน 2567

ที่มา https://nakornchiangrainews.com/santa-cruz-bans-filter-cigarettes-environmental-health-policy/

ซานตาครูซ (Santa Cruz County) ในสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศแบนการขายบุหรี่ที่มีไส้กรอง โดยถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญในสหรัฐฯ เพื่อลดมลพิษที่เกิดจากบุหรี่ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน การแบนนี้ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับดูแลของเทศมณฑลซานตาครูซ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2567 ทำให้เทศมณฑลซานตาครูซกลายเป็นเขตอำนาจศาลแรกในประเทศที่ใช้กฎหมายห้ามนี้อย่างเป็นทางการ

การดำเนินการห้ามขายบุหรี่ที่มีไส้กรองในซานตาครูซนี้ได้ใช้วิธีการร่วมมือ โดยกำหนดให้เมืองที่อยู่ในเขตเทศมณฑลซานตาครูซอย่างน้อย 2 ใน 4 เมืองต้องดำเนินกฎหมายที่คล้ายคลึงกัน เพื่อให้เกิดการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งและบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม การใช้แนวทางนี้ยังช่วยให้เกิดความสอดคล้องกับนโยบายระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายมีความครอบคลุมและเพิ่มประสิทธิภาพในการลดมลพิษจากบุหรี่อย่างแท้จริง

นโยบายดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่กำลังเกิดขึ้นทั่วสหรัฐฯ ตัวอย่างเช่นในรัฐฟลอริดาซึ่งได้ออกกฎหมายในปี พ.ศ. 2565 อนุญาตให้แต่ละเมืองบังคับใช้การห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ชายหาดและสวนสาธารณะ ซึ่งผลักดันให้มณฑลและเทศบาลมากกว่า 50 แห่งนำแนวทางนี้ไปปรับใช้ นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหามลพิษในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.