สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 20 กุมภาพันธ์ 2568
ที่มา : www.77kaoded.com (https://www.77kaoded.com/news/mr-somroj-sumranchararat/14868)
สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 9 ร่วมจัดกิจกรรมเนื่องในวันพื้นที่ชุ่มน้ำโลก ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่ยมที่ มย.2 (ผาอิง) ตำบลสะเอียบ อำเภอสองอำเภอสอง จังหวัดแพร่ มีนายดุลยธรรม ทวิชสังข์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 9 นายเพลิน ขวัญนาค ผู้แทนสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 นายปรีชา โตมี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดแพร่ นายวีรพล กึกก้อง ผู้แทนสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 แพร่ ถ่ายก้องไมตรี เทศสูงเนิน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ยม นายณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ นายวิชา นรังศรี ประธานมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ และนายศุภชัย บุญทิพย์ นายอำเภอสอง ร่วมกิจกรรม โดยมี นายชัยสิทธิ์ ชัยสัมฤทธิ์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธาน
ในกิจกรรมดังกล่าว ถือเป็นการรณรงค์ให้ความรู้ความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งมีความสำคัญต่อระบบนิเวศของประเทศไทยและของโลก การรับรู้ความเสื่อมถอยของระบบธรรมชาติพื้นที่ชุ่มน้ำ ที่หมดไปกับการพัฒนา ทำอย่างไรจะช่วยกันฟื้นฟูป้องกันให้พื้นที่ชุ่มน้ำยังคงอยู่ต่อไป นอกจากนั้นยังมีนิทรรศการการจัดการขยะ การปลูกผักอินทรีย์ในชุมชน พร้อมทั้งการแสดงของชนเผ่าพื้นเมือง อาทิ ชุมชนชาวอาข่าบ้านแม่พร้าว
นางสาวจิรัชญา จันทร์คำ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์ ทรัพยากรน้ำที่ 2 แพร่ สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 9 กรมทรัพยากรน้ำ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวเป็นการสร้างจิตสำนึก ในการปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำตามคอนเซ็ป ประจำปี 2568 “การปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่ออนาคตของเรา” ซึ่งมีทุกภาคส่วนให้ความสำคัญมาร่วมงานรวมทั้งเด็กเยาวชนในพื้นที่โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติแม่ยม แบ่งพื้นที่ชุ่มน้ำระดับชาติ
นายวิชา นรังศรี ประธานมูลนิธิพื้นที่ชุ่มน้ำไทย กล่าวว่าทางมูลนิธิมีการสำรวจทรัพยากรชีวภาพมีความหลากหลายในพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและระบบนิเวศ นำกลับมาวิเคราะห์พบว่า พื้นที่ชุ่มน้ำมันหลายแห่ง ถูกคุกคามทำให้คุณภาพน้ำลดลงจำนวนมากสาเหตุหลักๆประการแรกคือการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ริมน้ำ ที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง 2.อุตสาหกรรมทำให้แหล่งน้ำปนเปื้อนมลพิษ 3.สิ่งกีดขวางลำน้ำจากโครงการก่อสร้างของรัฐเป็นปัญหาต่อการขยายพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำหลายชนิด และอีกประการคือการจับสัตว์น้ำที่ใช้เครื่องมือไม่เหมาะสมรวมทั้งภัยแล้งที่เป็นปัญหาใหญ่ทำให้ระบบนิเวศคุณภาพลดลง เกิดการพังทลายของหน้าดินไหลลงแหล่งน้ำเป็นตะกอนทับถมทำให้เกิดปัญหากับแหล่งน้ำนี่คือปัญหาใหญ่ๆ และโดยเฉพาะพื้นที่ชุ่มน้ำในอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลกว่า 1000 เมตรเป็นแหล่งที่อยู่สำคัญของนกยูง ซึ่งพื้นที่เหล่านี้น่าจะถูกยกระดับให้เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ