• +662 441 5000
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ข่าวสิ่งแวดล้อม

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  8 เมษายน 2567

ที่มา : Siamsport (https://www.siamsport.co.th/news/pr/48558/)

กระทรวงทรัพยากรฯ ซีพี และทรู คอร์ปอเรชั่น จัดงานมอบรางวัล พร้อมเชิญชวนสัมผัสคุณค่าของธรรมชาติและสัตว์ป่าในนิทรรศการภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” ประจำปี 2565 – 2566 ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 21 เมษายนนี้ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร มุ่งมั่นเดินหน้าปลูกจิตสำนึกเยาวชนและคนไทยทั้งประเทศ สร้างแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าและป่าไม้ ผ่านการประกวดภาพถ่าย “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 29 วันนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผนึกกำลังเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยการดำเนินงานของ ซีพีเอฟ ซีพีออล์ และทรูคอร์ปอเรชั่น จัดพิธีมอบรางวัลโครงการปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกวดภาพถ่าย’สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ’ ประจำปี 2565 – 2566 รางวัลเกียรติยศถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พร้อมจัดนิทรรศการภาพถ่ายอันทรงคุณค่าประจำปี 2565 และ ปี 2566 โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์  และดร.เนตรชนก วิภาตะศิลปิน หัวหน้าสายงานกลยุทธ์องค์กรและด้านการศึกษา บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น โดยผู้ได้รับรางวัลเกียรติยศในปี 2565 – 2566 มีดังนี้

– ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 

– ประจำปี 2566 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทสัตว์มีค่า ภาพพฤติกรรมสัตว์ป่า นายธีรพงศ์ เพ็ชร์รัตน์ เจ้าของภาพ “ศึกชนช้าง”

– ประจำปี 2565 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทสัตว์มีค่า ภาพสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นายปฤษฎิ์ เก่งสูงเนิน เจ้าของภาพ “More than Dream”

–  ถ้วยประทานสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

– ประจำปี 2566 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทป่ามีคุณ ภาพถ่ายระยะใกล้ นายศราวุฒิ ทองเมือง เจ้าของภาพ “Hoar Frost”

– ประจำปี 2565 ระดับบุคคลทั่วไป ประเภทป่ามีคุณ ภาพทิวทัศน์ นายสุชาติ เกื้อทาน เจ้าของภาพ “ไออุ่นแห่งขุนเขา”

สำหรับเกณฑ์การตัดสินการประกวดภาพถ่าย คณะกรรมการพิจารณาจากภาพถ่ายที่สื่อความหมายภายใต้แนวคิด “สัตว์มีค่า ป่ามีคุณ” ความสวยงาม การจัดวางองค์ประกอบตามหลักทัศนศิลป์ และเทคนิคการถ่ายภาพ โดยแบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท คือ ประเภทสัตว์มีค่า กับประเภทป่ามีคุณ และแบ่งการประกวดออกเป็น 2 ระดับ คือ ระดับบุคคลทั่วไป และระดับนักเรียน นิสิต นักศึกษา ทั้งนี้ ในปี 2565 และปี 2566 มีเยาวชน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น 1,126 คน รวม 4,041 ภาพ เป็นการตอกย้ำ และสร้างความตระหนัก ปลูกใจรักสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สมบัติอันล้ำค่าอันเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติให้ยั่งยืนสืบไป


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  7 เมษายน 2567

ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1120159

กระแสการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก หนุนให้ความต้องการการใช้แบตเตอรี่ลิเทียมไอออนเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 80 และการที่หลายประเทศออกนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมได้สร้างแรงกระเพื่อมให้วงการอุตสาหกรรมแบตเตอรี่มีการปรับตัวตาม

สำหรับประเทศไทย มีสตาร์ทอัพและธุรกิจที่หันมาผลิตแบตเตอรี่เพื่อใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการคิดค้นแนวทางการผลิตใหม่ ๆ ซึ่งหนึ่งในกระบวนการที่น่าสนใจ คือ การนำของเหลือใช้ที่มีจำนวนมหาศาลในไทยอย่าง “แกลบและขยะโซลาร์เซลล์” มาใช้เป็นวัสดุสำหรับผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน

ประเทศไทยมีแกลบเป็นของเหลือทิ้งทางการเกษตรปริมาณมหาศาล แต่ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมมูลค่าไม่สูงมากและมูลค่าเหล่านั้นไม่ได้กลับไปสู่เกษตรกรหรือผู้ผลิตโดยตรง รวมถึงมีขยะโซล่าร์เซลล์ที่หมดอายุการใช้งานราว 4,000 ตัน ในปี 2565 และคาดการณ์ว่าอีก 20 ปีข้างหน้าขยะโซล่าร์เซลล์จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นถึงหลักล้านตัน มารีไซเคิลเป็นขั้วไฟฟ้าในแบตเตอรี่จากส่วนประกอบสำคัญอย่าง “ซิลิกอน”

เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกระบวนการนำโซลาร์เซลล์ที่พังมารีไซเคิลเป็นแผงโซลาร์เซลล์ใหม่ หรือผลิตเป็นอย่างอื่น เพราะมองว่าต้นทุนสูง ไม่คุ้มที่จะลงทุน ที่ผ่านมาจึงกำจัดด้วยการทิ้งในหลุมฝังกลบเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เมื่อฝนตกน้ำท่วม สารเคมีที่อยู่ในนั้นก็อาจจะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมได้ อุตสาหกรรมการรีไซเคิลโซลาร์เซลล์ จึงไม่ใช่เศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืนของประเทศ


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  6 เมษายน 2567

ที่มา: https://www.komchadluek.net/news/crime/572317

จากกรณีที่กรรมาธิการ (กมธ.) การอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร ได้ออกมาแถลงข้อเท็จจริงตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า มีบริษัทแห่งหนึ่งในจังหวัดตาก ได้ขายกากแร่สังกะสีและกากแร่แคดเมียมที่ฝังกลบในจังหวัดตาก ให้กับบริษัทหนึ่งตั้งอยู่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เนื่องจากกากแร่ดังกล่าวเป็นสารก่อมะเร็ง

นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายพุทธิกรณ์ วิชัยดิษฐ อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 5 สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้เข้าตรวจสอบที่บริษัทหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ใน หมู่ที่ 2 ซอยกองพนันพล ถนนเอกชัย ตำบลบางน้ำจืด อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่นำกากแร่แคดเมียมจากจังหวัดตาก เข้ามากักเก็บไว้ที่โรงงานแห่งนี้ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และคณะ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง และระบุว่า จากการตรวจสอบของทางเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครพบว่า มีกากแร่แคดเมียมที่มาจากทางจังหวัดตากจริงประมาณ 15,000 ตัน โดยทางอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาครได้ทำการอายัติไว้แล้ว

อย่างไรก็ดี ทางผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครจะออกคำสั่งประกาศเป็นเขตภัยพิบัติโดยห้ามบุคคลหรือสิ่งอื่นใด เข้าไปภายตัวอาคาร รวมถึงห้ามมีการหล่อหลอมแคดเมียมโดยเด็ดขาด และให้ทางอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร ออกคำสั่งขนย้ายกากแร่แคดเมียมทั้งหมดออกจากจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อส่งกลับไปยังบริษัทต้นทางที่จังหวัดตาก เพราะกากแร่ตัวนี้ตาม EIA แล้ว ห้ามขนย้ายออกมาจากจังหวัดตาก โดยจะให้เวลารีบดำเนินการภายใน 7 วันนับจากนี้


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  5 เมษายน 2567

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์  (https://www.thairath.co.th/video/news/topnews/hotclip/785098)

เจ้า “เรือพลังดูด” หรือที่เรียกว่า Interceptor 019 เป็นเรือดักเก็บขยะจากแม่น้ำไม่ให้ไหลลงสู่ท้องทะเล ลำที่ 19 ของโลก เพิ่งนำมาติดตั้งอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ พระชนมพรรษา ถนนพระราม 3 เขตบางคอแหลมไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยเครื่องจะขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จากแผงโซลาร์เซลล์และทำงานด้วยระบบอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง เครื่องนี้จะทำหน้าที่เป็นเครื่องดักขยะที่ช่วยลดปริมาณขยะจากแม่น้ำก่อนที่จะไหลลงสู่มหาสมุทร


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  4 เมษายน 2567

ที่มา https://www.thansettakij.com/sustainable/zero-carbon/592502

ครม.เห็นชอบในหลักการร่างประกาศ กำหนดเขตพื้นที่และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ในหลายบริเวณท้องที่ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ดูแลเสริมภาพลักษณ์รับการท่องเที่ยว

ร่างประกาศกระทรวงดังกล่าวเป็นการปรับปรุงจากประกาศฉบับเดิม เพื่อให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และให้การอนุรักษ์คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และน่านน้ำ ให้มีความต่อเนื่องป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบอันเกิดมาจากการขยายตัวของชุมชน และอุตสาหกรรมท่องเที่ยว รวมถึงรักษาทัศนียภาพอันเป็นลักษณะเฉพาะพื้นที่ไว้ ควบคู่กับการเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวที่จะก่อให้เกิดรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างยั่งยืน ซึ่งประกาศกระทรวงฯ ฉบับเดิมนั้นจะสิ้นสุดอายุการใช้บังคับในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  3 เมษายน 2567

ที่มา: https://www.thaipr.net/general/3460216

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล แถลงข่าวการจัดงานวันน้ำบาดาลแห่งชาติ (National Groundwater Day) ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “สืบสานพระราชปณิธาน รักษ์น้ำบาดาล ต่อยอดความยั่งยืน” พร้อมจัดสัมมนาเสริมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำบาดาล และมอบรางวัลเครือข่ายน้ำบาดาลดีเด่น ประจำปี 2567 ระหว่างวันที่ 2 – 3 เมษายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

นางอรนุช หล่อเพ็ญศรี อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวว่า สืบเนื่องจากวันที่ 3 เมษายน 2565 เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงเปิดโครงการจัดหาน้ำบาดาลขนาดใหญ่แก้ปัญหาภัยแล้งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่บ้านปากชัดหนองบัว หมู่ที่ 2 ตำบลหนองฝ้าย อำเภอเลาขวัญ จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ  และสิ่งแวดล้อม ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อกำหนดเป็นวันน้ำบาดาลแห่งชาติ โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2565 ให้วันที่ 3 เมษายนของทุกปี เป็น “วันน้ำบาดาลแห่งชาติ” (National Groundwater Day) ซึ่งเป็นการกำหนดวันในเชิงสัญลักษณ์ เพื่อใช้ในการรณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ทุกภาคส่วนได้น้อมรำลึกและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์กับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล และร่วมกันสืบสานพระราชปณิธานในการร่วมกันดูแล รักษา ปกป้องทรัพยากรน้ำบาดาลให้เกิดความยั่งยืน

อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กล่าวเพิ่มเติมว่า งานวันน้ำบาดาลแห่งชาติ ประจำปี 2567 นี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ภายใต้แนวคิด “สืบสานพระราชปณิธาน รักษ์น้ำบาดาล ต่อยอดความยั่งยืน” มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างการรับรู้ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงประโยชน์ของน้ำบาดาล และใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์น้ำให้น้ำบาดาลอยู่คู่กับคนไทยตลอดไป


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  2 เมษายน 2567

ที่มา : MGR Online (https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9670000028387)

         องค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) ได้จัดงาน TBCSD : Business for Biodiversity การสร้างเครือข่ายภาคธุรกิจเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ณ โรงแรมเซ็นทารา ไลฟ์ ศูนย์ราชการ และคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนให้กับองค์กรภาคธุรกิจไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานที่ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึง บทบาทขององค์กรภาคธุรกิจไทยในการร่วมขับเคลื่อนประเด็นธุรกิจเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ (Business for Biodiversity) โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และเลขาธิการองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) เป็นประธานกล่าวเปิดงาน กล่าวว่า “ปัจจุบันองค์กรภาคธุรกิจได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติต่างๆ และสนับสนุนภาครัฐในการขับเคลื่อนนโยบายด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้แก่ วาระแห่งชาติ BCG Economy Model และการมุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนหรือ Carbon Neutrality และ Net Zero GHG Emission ในอนาคต ซึ่งหลายโครงการได้เกิดผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถผลักดันจนเกิดการขับเคลื่อนตอบสนองนโยบายของประเทศให้ก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้ง การมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศ ได้แก่ PM2.5 ขยะพลาสติก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate..Change)..เป็นประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกกำลังได้รับผลกระทบหลากหลายรูปแบบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยประเด็นปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นตามมา คือ วิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity..Loss) นับเป็น 1 ใน 3 วิกฤตฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมของโลกควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและปัญหามลภาวะ ซึ่ง “ความหลากหลายทางชีวภาพ” (Biodiversity) นับว่าเป็น “ต้นทุนทางเศรษฐกิจ” ที่มีความสำคัญอย่างมากและต้องได้รับการดูแล ฟื้นฟู อนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน แต่เมื่อเราทราบว่าในอนาคตจะเกิดวิกฤตการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพขึ้นนั้น องค์กรภาคธุรกิจไทยควรที่จะต้องเริ่มนำแนวคิดเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปผนวกอยู่ในแผนการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรมอันเป็นกุญแจสำคัญสู่ระบบนิเวศที่ยั่งยืน เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการแข่งขันในอนาคต ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่ๆ รวมถึง การเข้าถึงกลไกการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ อีกด้วย”


สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  1 เมษายน 2567

ที่มา https://www.springnews.co.th/keep-the-world/sustainable/849097

“ยูเอ็น” เผยข้อมูล ในแต่ละปีโลกมี “ขยะอาหาร” สูงกว่า 1,000 เมตริกตัน โดยเกิดมาจากการผลิตอาหารมากเกินความจำเป็น ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด “ก๊าซเรือนกระจก” ด้านธุรกิจไทยเร่งลดขยะประเภทนี้

ปัญหาขยะ ‘ขยะอาหาร’ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของโลก โดยเฉพาะประเทศไทยแม้ว่าจะมีภาคธุรกิจที่พยายามลดปัญหาขยะประเภทนี้ โดยล่าสุด โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เผยแพร่รายงานดัชนีขยะอาหารระบุ ปี 2565 ทั่วโลกมี “ขยะอาหาร” (Food Waste) สูงถึง 1,050 เมตริกตัน

โดยนักวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลจากครัวเรือน ร้านอาหาร และร้านค้าปลีกในแต่ละประเทศทั่วโลก ทำให้พบว่าในแต่ละปีผู้คนสร้าง “ขยะอาหาร” คนละประมาณ 79 กิโลกรัม เท่ากับว่ามีอาหารอย่างน้อย 1,000 ล้านจานถูกทิ้งในแต่ละวันซึ่งเป็นการประเมินขั้นต่ำ ในความเป็นจริงตัวเลขอาจจะมากกว่านี้

ทั้งนี้ขยะอาหาร 60% มาจากการบริโภคในครัวเรือน อีก 28% มาจากร้านอาหารหรือผู้ให้บริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม ส่วน 12% ที่เหลือมาจากร้านค้าปลีก ทั้งนี้ตัวเลขนี้ยังไม่รวมขยะอาหารอีก 13% ที่เน่าเสียหรือสูญเสียไประหว่างขั้นตอนการเก็บเกี่ยว หรือการผลิต

อย่างไรก็ตามขยะอาหารกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เริ่มตั้งแต่การสูญเสียทรัพยากรทั้งน้ำและที่ดินในการปลูกพืชอาหารและเลี้ยงสัตว์ โดยพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ถูกบุกรุกเพื่อทำการเกษตรกรรม แต่ดูเหมือนว่าพื้นที่ป่าที่เสียไปจะไม่ได้ถูกใช้อย่างเกิดประโยชน์มากเท่าที่ควร เพราะในรายงานระบุว่า ขยะอาหารมีพื้นที่เกือบเท่ากับ 30% ของพื้นที่เกษตรกรรมของโลก


© 2024 Faculty of Environment and Resource Studies, Mahidol University . All Rights Reserved.