สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3 กุมภาพันธ์ 2568
ที่มา: https://www.bangkokbiznews.com/environment/1164590
ทีมนักวิจัยจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวัสดุแห่งสหพันธรัฐสวิส หรือ EMPA ได้พัฒนาแบตเตอรี่ที่ใช้เชื้อราผลิตไฟฟ้าสำหรับจ่ายไฟให้กับเซนเซอร์วัดอุณหภูมิและอุปกรณ์ขนาดเล็ก สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพและไม่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม โดยนักวิทยาศาสตร์สร้างเซลล์เชื้อเพลิงเซลล์ (fuel cell) จากเชื้อราสองชนิด ได้แก่ Saccharomyces cerevisiae (ยีสต์ขนมปัง) และ Trametes pubescens (ราผุสีขาว) ซึ่งมีคุณสมบัติในการบำบัดน้ำเสียและลดพิษของโลหะหนักในพืชผล
ผู้เขียนการศึกษากล่าวว่า เชื้อราทั้ง 2 ชนิด สามารถนำมาพิมพ์แบบ 3 มิติร่วมกับนาโนคริสตัลเซลลูโลสและนาโนไฟบริลเซลลูโลสได้ และเชื้อราทั้งสองชนิดเติบโตภายในหมึกที่ทำจากเซลลูโลส การเติมคาร์บอนแบล็กและเกล็ดกราไฟต์ลงในหมึกทำให้หมึกมีคุณสมบัติเป็นสื่อไฟฟ้า จึงสามารถใช้เป็นอิเล็กโทรดในแบตเตอรี่ราได้ โดยเฉพาะเซลล์เชื้อเพลิงจุลินทรีย์ ซึ่งสิ่งมีชีวิตทั้งหมด เผาผลาญสารอาหารอินทรีย์จากอาหารเพื่อผลิตพลังงาน เซลล์เชื้อเพลิงราที่นักวิจัยพัฒนาขึ้นใช้กลไกที่คล้ายคลึงกันในการแปลงพลังงานส่วนหนึ่งเป็นไฟฟ้า เมื่อทดสอบแล้ว แบตเตอรี่เชื้อราสามารถสร้างแรงดันไฟฟ้าได้ระหว่าง 100 – 200 mV
ข้อได้เปรียบที่ใหญ่ที่สุดของแบตเตอรี่เชื้อราตามที่ Empa คือ ไม่มีพิษและย่อยสลายได้ทางชีวภาพอย่างสมบูรณ์ โดยนักวิจัยระบุว่า “เมื่อทำงานเสร็จแล้ว มันจะสลายตัวจากภายใน” ดังนั้นจึงจำเป็นต้องพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สีเขียวที่ใช้ส่วนประกอบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปลอดสารพิษ และหมุนเวียนได้มากขึ้น โดยเป้าหมายต่อไปของทีม EMPA คือการเพิ่มอายุการใช้งานและกำลังไฟฟ้าของแบตเตอรี่เชื้อราเพื่อให้สามารถนำไปใช้กับส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ได้